บทนำ
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis หรือ Lower urinary tract infection) คือ โรคที่เกิดจากกระเพาะปัสสาวะติดเชื้อแบคทีเรียเป็นโรคพบบ่อยโรคหนึ่ง โดยพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ โดยทั่วไปพบสูงในช่วงอายุ 20-50 ปี พบในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชายมาก ทั้งนี้อธิบายได้จาก ท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นกว่าของผู้ชายมาก เชื้อโรคบริเวณปากท่อปัสสาวะ จึงเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า นอกจากนั้น ปากท่อปัสสาวะของผู้หญิงยังเปิดออกสู่ภายนอกในบริเวณใกล้กับ ช่องคลอด และทวารหนัก จึงมีโอกาสติดเชื้อทั้งจากช่องคลอด และจากทวารหนักได้สูงกว่าในผู้ชาย
เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มีได้หลายชนิด แต่ประมาณ 75-95% เกิดจากเชื้อ อีโคไล (E. coli)
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ พบเกิดได้ทั้งจากการอักเสบเฉียบพลัน ที่มีอาการเกิดทันที และรักษาหายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือจากการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งมักมีอาการอักเสบเป็นๆหายๆเรื้อ รัง แต่มีอาการรุนแรงน้อยกว่าการอักเสบเฉียบพลัน
กระเพาะปัสสาวะอักเสบมีปัจจัยเสี่ยงจากอะไรบ้าง?
ปัจจัยเสี่ยงของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คือ
- ผู้หญิง ด้วยเหตุผลทางสรีรวิทยาดังกล่าวแล้วในบทนำ
- ผู้สูงอายุ เพราะสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศไม่ดี โดยเฉพาะผู้ที่ขาดคนดูแล นอกจากนั้นมักไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว มักนั่งๆนอนๆ และดื่มน้ำน้อย ปัสสาวะจึงแช่ค้าง หรือกักคั่งในกระเพาะปัสสาวะ เชื้อโรคจึงเจริญเติบโตได้ดี
- การกลั้นปัสสาวะนาน ส่งผลให้ปัสสาวะแช่ค้าง เชื้อโรคในปัสสาวะจึงเจริญเติบโตได้ดี
- ดื่มน้ำน้อย จึงส่งผลให้ไม่ค่อยได้ปัสสาวะ ปัสสาวะจึงแช่ค้างได้ง่าย เชื้อโรคในปัสสาวะจึงเจริญได้ดี
- โรคเบาหวาน เพราะเป็นโรคก่อการอักเสบติดเชื้อของเนื้อเยื่อต่างๆได้ง่ายรวมทั้งของกระเพาะปัสสาวะ
- โรคที่ต้องนั่งๆนอนๆตลอดเวลา เช่น โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์/อัมพาต จะส่งผลให้ปัสสาวะแช่ค้างอยู่นาน
- เมื่อต้องใช้สายสวนปัสสาวะ โดยเฉพาะต้องคาสายสวนปัสสาวะนานๆ หรือตลอดเวลา เช่น หลังผ่าตัด หรือ ในโรคอัมพฤกษ์/อัมพาต เพราะกระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะจะเกิดการบาดเจ็บจากสายสวนนั้น จึงติดเชื้อได้ง่าย รวมทั้งอาจติดเชื้อจากเชื้อที่ตัวสายสวนปัสสาวะเองด้วย
- มีโรคเรื้อรังของท่อปัสสาวะ หรือท่อปัสสาวะตีบ จากสาเหตุต่างๆ เช่น โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์/ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (เช่น โรคหนองใน โรคหนองในเทียม) จึงมักมีปัสสาวะแช่ค้างในกระเพาะปัสสาวะ แบคทีเรียจึงเจริญเติบโตได้เร็ว
- โรคติดเชื้อของไต โรคนิ่ว ทั้ง นิ่วในไต และนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)
- หญิงตั้งครรภ์ เพราะการกดเบียดทับของครรภ์ต่อกระเพาะปัสสาวะ มักก่อปัญหาปัสสาวะไม่หมด เกิดปัสสาวะแช่ค้างในกระเพาะปัสสาวะ จึงเกิดการติดเชื้อได้ง่าย
- ใช้สเปรย์ดับกลิ่นบริเวณอวัยวะเพศ เพราะจะก่อการระคายเคืองเนื้อเยื่อปากท่อปัสสาวะและปากช่องคลอด (ในผู้หญิง) เพิ่มโอกาสเกิดการบาดเจ็บและการติดเชื้อของเนื้อเยื่อ
- ผู้หญิงซึ่งใช้วิธีคุมกำเนิดด้วยยาฆ่าอสุจิ หรือการใช้ฝาครอบปากมดลูก (Diaphragm) เพราะเป็นสาเหตุก่อการระคายเคือง และบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อปากท่อปัสสาวะและปากท่อช่องคลอด ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- ในผู้ชาย มักพบสัมพันธ์กับต่อมลูกหมากโต และ/หรือต่อมลูกหมากอักเสบ ส่งผลให้ปัสสาวะไม่หมด ปัสสาวะจึงแช่ค้างในกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้แบคทีเรียเจริญได้ดี กระเพาะปัสสาวะจึงอักเสบได้ง่าย
กระเพาะปัสสาวะอักเสบมีอาการอย่างไร?
อาการพบบ่อยของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คือ
- ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะครั้งละน้อยๆ ปวด เบ่ง แสบ โดยเฉพาะตอนสุดปัสสาวะ
- ปัสสาวะเป็นเลือด อาจมองเห็นด้วยตาเปล่า คือ ปัสสาวะสีชมพู หรือเป็นเลือด หรือตรวจพบเม็ดเลือดแดงได้จากการตรวจปัสสาวะ
- ปัสสาวะขุ่น (ปัสสาวะปกติต้องใส) หรือ อาจเป็นหนองขึ้นกับความรุนแรงของโรค และ/หรือมีกลิ่นผิดปกติ
- ปวดท้องน้อย
- มีไข้ มีได้ทั้งไข้สูงและไข้ต่ำ (พบได้บ่อยกว่า) แต่มักไม่มีไข้เมื่อเป็นการอักเสบเรื้อรัง
- บางครั้งอาจมีสารคัดหลั่งบริเวณอวัยวะเพศร่วมด้วย เมื่อเกิดจากติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- อาจมีคลื่นไส้อาเจียนได้ เมื่อเป็นการติดเชื้อเฉียบพลัน
- อาจมีนิ่วปนออกมาในปัสสาวะ เมื่อเกิดร่วมกับ นิ่วในไต หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
แพทย์วินิจฉัยกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจปัสสาวะ และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) การตรวจเพาะเชื้อจากปัสสาวะ หรือการส่องกล้องตรวจกระ เพาะปัสสาวะ
รักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คือ การให้ยาปฏิชีวนะ การรักษาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น รักษาโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เมื่อสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดชนิดคลายการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ และการดื่มน้ำมากๆ เช่น วันละอย่างน้อย 8-10 แก้วเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม เช่น โรคหัวใจล้มเหลว
กระเพาะปัสสาวะอักเสบมีผลข้างเคียงไหม?
ผลข้างเคียงจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คือ การลุกลามเป็นการอักเสบของไต ซึ่งเมื่อเรื้อรัง อาจส่งผลให้เกิดโรคไตเรื้อรังได้ หรือเมื่อการอักเสบติดเชื้อรุนแรง อาจลุกลามเป็นการอักเสบติดเชื้อในกระแสโลหิต/เลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ / ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด) ซึ่งทั้งสองกรณี เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
กระเพาะปัสสาวะอักเสบรุนแรงไหม?
โดยทั่วไป กระเพาะปัสสาวะอักเสบเป็นโรคไม่รุนแรง รักษาได้เสมอ แต่ถ้ามีอาการมากและไม่พบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง อาจกลายเป็นการติดเชื้อรุนแรงได้ ดังกล่าวแล้ว
ดูแลตัวเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีอาการดังกล่าว ควรพบแพทย์เสมอ เพราะกระเพาะปัสสาวะอักเสบมักเป็นโรคที่ไม่หายจากการดูแลตนเองเนื่องจากมีสาเหตุที่หลากหลาย และควรต้องได้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งการซื้อยากินเอง อาจทำให้ได้ยาไม่ตรงกับชนิดของเชื้อโรค ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาไม่ถูก ต้อง จึงอาจส่งผลให้โรคไม่หาย และอาจกลายเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง จากเกิดเชื้อดื้อยาได้
การดูแลตนเอง ภายหลังพบแพทย์แล้ว คือ
- ดื่มน้ำสะอาดมากๆ อย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
- ไม่กลั้นปัสสาวะนาน
- พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ
- ไม่ควรใช้สเปรย์ดับกลิ่นบริเวณอวัยวะเพศ เพราะจะก่อการระคายเคืองเนื้อเยื่อปากท่อปัสสาวะและปากช่องคลอด เพิ่มโอกาสเกิดการบาดเจ็บและการติดเชื้อของเนื้อเยื่อ
- ในผู้หญิงเมื่อทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ หรือในการขับถ่าย ต้องทำจากด้านหน้าไปด้านหลังเสมอ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนแบคทีเรียจากปากทวารหนักสู่ปากช่องคลอดและปากท่อปัสสาวะซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะได้
- ในผู้หญิง ไม่ใช้วิธีคุมกำเนิดด้วยยาฆ่าอสุจิ หรือการใช้ฝาครอบปากมดลูก (Diaphragm) เพราะเป็นสาเหตุก่อการระคายเคือง และบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อปากท่อปัสสาวะและปากท่อช่องคลอด ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อรุนแรง และลดเชื้อแพร่ไปสู่ผู้อื่น
- พบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือ เมื่ออาการต่างๆเลวลง หรือ เมื่อกังวลในอาการ หรือปัสสาวะเป็นเลือด เพราะอาจเป็นอาการของโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ได้
ป้องกันกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้อย่างไร?
การป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ที่สำคัญ คือ
- ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
- ไม่กลั้นปัสสาวะนาน พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ ไม่นั่งแช่นานๆ
- รักษาควบคุมโรคต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยง
- รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและในการขับถ่าย ควรล้าง/เช็ด เมื่ออุจจาระ/ปัสสาวะ จากด้านหน้าไปด้านหลัง (ในผู้หญิง) ไม่ควรใช้สเปรย์ หรือ ยาดับกลิ่นตัวในบริเวณอวัยวะเพศ เพราะก่อการระคายเคืองเยื่อเมือกของอวัยวะเพศ จึงเพิ่มโอกาสติดเชื้อ และเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ง่ายขึ้น
- ในผู้หญิง ไม่ควรใช้วิธีคุมกำเนิดด้วยการใช้น้ำยาฆ่าอสุจิ หรือการใช้ฝาครอบปากมดลูก เพราะเพิ่มโอกาสติดเชื้อต่อช่องคลอด ปากท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ
- การอาบน้ำในอ่าง อาจเพิ่มโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐานเสมอ เพื่อสุขภาพแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ รวมทั้งการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ที่มา https://haamor.com/th/กระเพาะปัสสาวะอักเสบ/