เกลื้อน (Pityriasis versicolor)


1,404 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ผิวหนัง  ระบบโรคผิวหนัง 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ผื่น 

บทนำ

โรคเกลื้อน หรือ Pityriasis versicolor หรือ Tinea versicolor เป็นโรคเชื้อราที่เกิดขึ้นเฉพาะกับผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (ผิวหนังชั้นนอก) เท่านั้น คำว่า Versi color แปลว่า หลายสี เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ จะมีรอยโรคบนผิวหนังที่มีสีแตก ต่างกันไปในแต่ละคนได้ โรคเกลื้อนไม่มีภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ไม่อันตรายถึงชีวิต ไม่ทำให้พิการ ที่สำคัญคือ ไม่ได้ติดต่อกันโดยการสัมผัส และโรคเกลื้อนมียารักษาให้หายได้

พบโรคเกลื้อนในประเทศที่มีภูมิอากาศร้อนชื้นมากกว่าในประเทศที่มีภูมิ อากาศหนาวเย็น ตัวอย่างเช่น ในประเทศซามัว ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ พบผู้ที่เป็นโรคเกลื้อนได้ถึงประมาณ 50% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ในขณะที่ประเทศสวีเดนพบผู้ป่วยเพียงประมาณ 1 % เท่านั้น มักพบโรคในช่วงฤดูร้อนมาก กว่าในฤดูหนาว ผู้หญิงและผู้ชายพบได้เท่าๆกัน ส่วนใหญ่จะพบในวัยรุ่น ส่วนในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ พบได้น้อยมาก สำหรับในประเทศไทย ไม่มีรายงานจำนวนผู้ ป่วยที่ชัดเจน แต่จากสถิติผู้ป่วยที่มาที่แผนกผิวหนังของโรงพยาบาลต่างๆ พบโรคเกลื้อนอยู่ในอันดับต้นๆ

อะไรเป็นสาเหตุของโรคเกลื้อน?

สาเหตุของโรคเกลื้อนเกิดจากเชื้อราที่ชื่อ Malassezia spp. (เดิมชื่อ Pity rosporum spp.) ซึ่งปกติจะอาศัยอยู่บนผิวหนังชั้นนอกของคนเรา โดยไม่ได้ทำให้เกิดโรคอะไร เชื้อมีรูปร่างเป็นเม็ดกลมๆ ซึ่งเรียกว่า ยีสต์ (Yeast) แต่เมื่อมีปัจ จัยบางอย่างเกิดขึ้น เชื้อราที่อยู่บนผิวหนังของเราเหล่านี้ ก็จะเปลี่ยนรูปร่างจากเม็ดกลมๆกลายเป็นเส้น ซึ่งเรียกว่าไฮฟี (Hyphae) รูปร่างของเชื้อราแบบนี้นี่เอง ที่จะทำให้เกิดรอยโรคบนผิวหนังขึ้นมา

สาเหตุ/ปัจจัยที่ทำให้เชื้อราเปลี่ยนรูปร่าง และก่อโรคขึ้นมานั้น ยังไม่ทราบชัดเจน แต่พบเกี่ยวข้องกับปัจจัยบางอย่าง เช่น สภาพอากาศที่ร้อน ชื้น ร่วมกับมีพันธุกรรมบางชนิดที่ทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อ มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบก พร่อง หรือขาดสารอาหารบางชนิด เป็นต้น

นอกจากนี้ การค้นพบว่า เชื้อราส่วนใหญ่นั้นอาศัยอยู่ตามหน้าอก และแผ่นหลัง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่มาก ประกอบกับการที่โรคเกลื้อนมักพบใน ช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงที่ต่อมไขมันทำงานมาก จึงสันนิษฐานว่าปริมาณและชนิดของไขมันบนผิวหนังน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อราชนิดนี้เปลี่ยนรูปและก่อโรคขึ้นมา แต่การศึกษาวิจัยบางรายงานพบว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับไขมันบนผิวหนัง แต่น่าจะเกี่ยวข้องกับชนิดกรดอะมิโนบางตัวมากกว่า

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น โรคเกลื้อนจึงไม่ใช่โรคติดต่อ และการสัมผัสผิวหนังของผู้ป่วย ก็ไม่ได้ทำให้เป็นโรคเกลื้อน

เชื้อ Malassezia spp. ที่พบทำให้เกิดโรคเกลื้อนได้มีอยู่ 11ชนิด (Species) แต่ชนิดที่พบเป็นสาเหตุได้บ่อยคือ Malassezia globosa รองลงมาคือ Malassezia sympodialis และ Malassezia furfur

โรคเกลื้อนมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคเกลื้อน คือ ผู้ป่วยจะมีผื่นรูปวงกลม หรือวงรี แบบแบนราบที่มีขอบเขตชัดเจน ผิวสัมผัสของผื่นจะไม่เรียบ มีลักษณะเป็นขุยละเอียด และมีได้หลายสี ตั้งแต่สีชมพู เทา น้ำตาล น้ำตาลแดง หรือสีออกขาว (คือจางกว่าสีของผิวหนังปกติ) ผู้ป่วยจะมีผื่นหลายๆวง ตั้งแต่ขนาดเล็กๆ จนกระทั่งเป็นปื้นขนาดใหญ่ และจะพบตามบริเวณหน้าอก และแผ่นหลังเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งอาจพบผื่นบริเวณหน้าท้อง ลำคอ และแขนส่วนต้น มีส่วนน้อยมากอาจพบผื่นที่บริเวณใบหน้า ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการคัน

การที่ผื่นมีสีขาวนั้น เกิดจากเชื้อราสร้างเอนไซม์ที่ไปขัดขวางการสร้างเม็ดสีของเซลล์ที่มีหน้าที่สร้างเม็ดสี (Melanocyte) ของผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (ชั้น นอก) ส่วนผื่นที่มีสีอื่นๆนั้น เกิดจากเชื้อรากระตุ้นให้เซลล์สร้างเม็ดสี ผลิตเม็ดสีชนิดต่างๆมากขึ้น

สำหรับโรคเกลื้อนน้ำนม หรือกลากน้ำนม หรือ Pityriasis alba ไม่ใช่โรคเกลื้อน หรือโรคกลากที่แท้จริง และไม่ได้เกิดจากเชื้อราแต่เป็นโรคที่เซลล์สร้างเม็ดสีที่ชั้นหนังกำพร้าสร้างเม็ดสีลดลง ทำให้เกิดเป็นผื่นแบนราบสีออกขาว ดูคล้ายโรคเกลื้อนได้ แต่ผื่นในโรคเกลื้อนน้ำนมมักพบบริเวณใบหน้า และขอบเขตของผื่นจะไม่ชัดเจน ซึ่งจะแตกต่างกับผื่นของโรคเกลื้อน

แพทย์วินิจฉัยโรคเกลื้อนได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคเกลื้อนจาก อาการของผู้ป่วย (ซึ่งมักไม่มีอาการอื่นๆร่วมด้วย) ลักษณะ และตำแหน่งผื่นเป็นหลัก ในกรณีที่ผื่นมีลักษณะไม่ชัดเจนดังกล่าวข้างต้น ต้องใช้การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการมาช่วย โดยการขูดเอาผิวหนังตรงบริเวณผื่น นำมาวางบนสไลด์ (Slide,แผ่นแก้วบางๆที่ใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ) หยอดน้ำยาเคมีชื่อ โปแตสเซียม ไฮดรอกไซด์ (KOH) และนำไปดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ก็จะพบเชื้อราที่มีรูปร่างแบบเส้น (Hyphae) ปนกับรูปร่างกลมๆ (Yeast) ซึ่งลักษณะเฉพาะนี้เรียกว่า สปาเกตตี้ กับ มีทบอล (Meatball อาหารฝรั่งชนิดหนึ่งเป็นก้อนกลมๆทำจากเนื้อบด) หรือ เบคอนกับไข่ดาว และถ้านำไปย้อมด้วยสีพิเศษชนิดต่างๆ ก็จะเห็นได้ชัดเจนขึ้น

ผิวหนังของคนเราแบ่งออกเป็นชั้นผิวหนังกำพร้า/ผิวหนังชั้นนอก (Epider mis) และชั้นผิวหนังแท้ (Dermis) ในส่วนของชั้นผิวหนังกำพร้า แบ่งย่อยออกอีกได้เป็น 4-5 ชั้น ในทางการศึกษา เมื่อตัดชิ้นเนื้อจากบริเวณผิวหนังที่เป็นผื่นไปตรวจทางพยาธิวิทยา จะพบเชื้อราทั้งรูปร่างแบบเส้นและแบบกลมๆ อยู่เฉพาะบนผิวหนังชั้นบนสุดของชั้นผิวหนังกำพร้าเท่านั้น คือในชั้นที่เรียกว่า Stratum corneum หรือชั้นขี้ไคลนั่นเอง เชื้อราจะไม่ลุกลามลงไปยังชั้นผิวหนังส่วนล่างๆ ซึ่งจะแตกต่างกับเชื้อราชนิดอื่นๆ นอกจากนี้จะพบชั้นผิวหนังกำพร้ามีการหนาตัวขึ้น และมีการสร้างเคราติน (Keratin, โปรตีนชนิดหนึ่ง มีลักษะแข็ง) มากขึ้น และพบมีเซลล์เม็ดเลือดขาวมาอยู่รอบหลอดเลือดที่อยู่ในชั้นผิวหนังแท้

โรคเกลื้อนมีผลข้างเคียง และมีความรุนแรงอย่างไร?

โดยทั่วไป โรคเกลื้อนเป็นโรคไม่รุนแรง เมื่อผู้ป่วยได้รับยารักษา ผื่นจะค่อยๆหายไป ผิวหนังจะกลับมามีสีปกติเหมือนเดิมภายในระยะเวลา 1-2 เดือน และจะไม่มีรอยแผลเป็นเกิดขึ้น

ในผู้ป่วยบางคนเมื่อหายแล้ว จะกลับเป็นซ้ำอีกได้เรื่อยๆ ในผู้ที่เป็นบ่อยๆ อาจต้องใช้ยาสำหรับป้องกัน

โรคเกลื้อนไม่มีผลข้างเคียง หรือภาวะแทรกซ้อน ไม่มีอันตรายถึงชีวิต หรือทำให้พิการ แม้ผู้ป่วยจะไม่ได้ใช้ยารักษาเลยก็ตาม เพียงแต่ทำให้ผิวหนังเป็นด่างดวงดูไม่สวยงามเท่านั้น

รักษาโรคเกลื้อนอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคเกลื้อน ได้แก่ การใช้ยาซึ่งมีทั้งชนิดทาและชนิดกิน และมียาหลายตัวให้เลือกใช้

  1. ยาแบบทา เหมาะสำหรับผู้ที่มีผื่นไม่มาก แต่จะใช้เวลารักษานานกว่ายาแบบกิน โดยส่วนใหญ่ต้องใช้ทุกวันติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป
  2. ยาแบบกิน เหมาะสำหรับผู้ที่มีผื่นเป็นบริเวณกว้าง การใช้ยาในรูปแบบทาจึงไม่สะดวก ระยะเวลาที่ใช้รักษาจะสั้นกว่าแบบทา แต่ผลข้างเคียงจากยาก็ย่อมจะมีมากกว่า ซึ่งผลข้างเคียงขึ้นกับชนิดของยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และ/หรือผิวหนังขึ้นผื่น
  3. นอกจากนี้ยังมียาในรูปแบบสบู่ หรือแชมพู สำหรับใช้ฟอกตัวหลังขั้นตอนการอาบน้ำ เหมาะสำหรับผู้ที่มีผื่นเป็นบริเวณกว้าง

อนึ่ง ผู้ที่เป็นโรคเกลื้อนซ้ำบ่อยๆ อาจรักษาแบบป้องกัน โดยการใช้ยาทาสัปดาห์ละหนึ่งครั้งนานประมาณ 2-3 เดือน ในบริเวณที่มักเป็นผื่นบ่อยๆ หรือใช้วิธีกินยาเดือนละ 1 ครั้ง ประมาณ 6 เดือน (ควรปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ)

สำหรับสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคเกลื้อน ได้แก่ ทองพันชั่ง กุ่มบก ข่า อัคคีทวาร เป็นต้น สำหรับวิธีการใช้ และระยะเวลาการใช้ควรศึกษาจากตำรา หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรไทย

ควรดูแลตนเองและป้องกันโรคเกลื้อนอย่างไร?

การดูแลตนเอง และการป้องกันโรคเกลื้อน ได้แก่

  1. ผู้ที่เคยเป็นโรคเกลื้อนแล้ว เมื่อกลับเป็นซ้ำอีก มักจะให้การวินิจฉัยด้วยตัวเองได้ และสามารถซื้อยารักษาจากร้านขายยาเองได้ แต่ต้องให้เภสัชกรอธิบายการใช้ยาให้ละเอียด เพราะยาแต่ละชนิดมีวิธีการใช้ และระยะเวลาการใช้ที่ไม่เหมือน กัน มีผลข้างเคียงแตกต่างกัน และหากเคยแพ้ยาอะไร ต้องแจ้งให้เภสัชกรทราบด้วย สำหรับผู้ที่เป็นบ่อยๆ และต้องการใช้ยาสำหรับป้องกัน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
  2. ในกรณีเป็นเด็กเล็ก ผู้ปกครองไม่ควรรักษาเอง เพราะการเลือกชนิดยา และปริมาณยาจะแตกต่างกับในผู้ใหญ่ และในเด็กเล็กมักมีผลข้างเคียงจากยาสูงกว่าในผู้ใหญ่เมื่อใช้ขนาดยาไม่ถูกต้อง
  3. ทั้งผู้ป่วย และบุคคลทั่วไป ควรรักษาความสะอาดของร่างกายไม่ให้เหงื่อไคลหมักหมม โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ถ้าเหงื่อออกมาก ก็ให้อาบน้ำบ่อยๆ และเช็ดตัวให้แห้งเสมอ

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อเป็นโรคเกลื้อน หรือสงสัยโรคเกลื้อน ควรพบแพทย์เมื่อ

  1. เมื่อพบมีผื่นวงกลมแบนราบตามลักษณะข้างต้นขึ้นตามร่าง กาย และได้รักษาด้วยยารักษาเกลื้อนด้วยตนเองมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ผื่นไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์ หรืออาจพบแพทย์ตั้งแต่ต้น หากไม่แน่ใจว่าเป็นโรคเกลื้อนหรือไม่
  2. เมื่อพบผื่นดังกล่าว โดยพบในบริเวณที่แปลกออกไป เช่น ตามใบหน้า มือ เท้า เพราะอาจเป็นโรคอื่นๆที่ไม่ใช่เกลื้อนเช่น โรคด่างขาว เกลื้อนน้ำ นม ซึ่งมีวิธี และยาที่ใช้รักษาจะแตกต่างกัน

ที่มา   https://haamor.com/th/เกลื้อน/

อัพเดทล่าสุด