ในปัจจุบัน เกิดภัยพิบัติ (Disaster) ในประเทศต่างๆบ่อยขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว สึนามิ (Tsunami) ทอร์นาโด (Tornado) ลมมรสุม ไฟไหม้ป่าลามมาถึงเมือง พายุหิมะ และน้ำท่วม
เหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน มีผล กระทบต่อความเป็นอยู่ของทั้งผู้ใหญ่และเด็ก และมักเกิดผลตามมาในด้านจิตใจ ซึ่งอาจเป็นปัญหาต่อสุขภาพจิตในภายหลัง สำหรับเด็กซึ่งเป็นกลุ่มที่จะถูกกระทบได้ทั้งทางจิตใจและร่างกายมากกว่าผู้ใหญ่ อาจมีผลตั้งแต่เกิดความเจ็บป่วยได้ง่าย ภาวะขาดอาหาร ขาดน้ำสะอาด จนถึงการมีบาดแผลในใจที่กระทบต่อพัฒนา การ การปรับตัวในอนาคต การเตรียมการ เตรียมความพร้อมที่จะรับสถานการณ์ที่อาจเกิดแบบเฉียบพลัน จึงเป็นสิ่งที่ควรจะต้องทำ เพื่อลดความสูญเสียทางร่าง กายและทรัพย์สิน และเพื่อการผ่านเหตุการณ์วิกฤติไปได้ด้วยดี
มนุษย์มีกลไกรับมือเมื่อได้รับข่าวร้ายอย่างไร?
ข่าวร้ายไม่ว่าจะเป็นโรคร้ายที่รักษาไม่ได้ เหตุอันเกิดจากภัยพิบัติที่ทำให้ต้องสูญเสียชีวิตหรือทรัพย์สิน ทำให้มนุษย์ได้รับผลกระทบเหมือนกัน โดยมนุษย์จะมีกลไกเมื่อได้รับข่าวร้ายดังนี้
- ระยะที่ 1 ปฏิเสธความจริง คิดว่าบ้านเราคงไม่ถูกน้ำท่วมแน่ๆ หรือเราและครอบครัวคงไม่เป็นอะไร
- ระยะที่ 2 โกรธและขุ่นเคือง เมื่อได้รับการยืนยันว่าข่าวร้ายนั้นเป็นจริง
- ระยะที่ 3 ต่อรอง ขออย่าให้เกิดกับเราได้ไหม ถ้าเกิดแล้วขออย่าให้เสีย หายมากกว่านี้เลย
- ระยะที่ 4
- เกิดความเศร้าที่เป็นปฏิกิริยาต่อความสูญเสีย
- เกิดความเศร้าที่เตรียมตัวเพื่อยอมรับความจริง
- ระยะที่ 5 ยอมรับความจริง
เตรียมใจและทำใจอย่างไรเมื่อพบเรื่องร้ายๆในชีวิต?
เมื่อเกิดเหตุร้ายกับชีวิตไม่ว่าจะเป็นโรคร้ายหรือภัยพิบัติ จึงไม่แปลกที่มนุษย์จะเกิดความเศร้าโศก เสียใจ ความเครียด จนกว่าจะยอมรับความจริงได้ ตามกลไกการรับมือของมนุษย์เมื่อได้รับข่าวร้าย
ผู้เขียนเป็นแพทย์ที่จะต้องคุยกับคุณพ่อ คุณแม่ของผู้ป่วยเด็กที่มีโรคร้าย คือโรคมะเร็ง ได้เห็นปฏิกิริยาการรับข่าวร้ายของพ่อแม่เหล่านั้น และได้ให้กำลังใจพวกเขา ในที่สุดพ่อแม่ก็จะยอมรับได้ อยู่กับสถานการณ์เหล่านั้นได้ และเป็นผู้ให้กำลังใจกันและกัน ให้กำลังใจแก่ลูกของเขา ผู้เขียนบอกเขาว่า “หากเลือกได้ เราคงไม่เลือกที่จะให้เกิดเรื่องร้ายๆ หรือเป็นโรคร้าย เพราะเลือกไม่ได้ เราจึงไม่อาจปฏิเสธที่จะพบกับมันและอยู่กับมัน ทำอย่างไรที่จะอยู่กับเรื่องร้ายเหล่านั้นให้ดีที่สุด ทำอย่างไรที่จะทำวันนี้ให้ดีที่สุด”
ดังนั้นน้ำท่วมที่ประสบกันอยู่เดี๋ยวก็จะดีขึ้นแล้ว ต้องดีขึ้นแน่ๆ โชคดีที่เราไม่ได้เป็นโรคที่รักษาไม่หาย เรายังมีโอกาสดีกว่าคนที่เป็นโรคที่ไม่มีทางรักษา ให้สติให้กำลังใจกันและกัน คิดหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และในระยะต่อไป โชคดีที่เรายังมีชีวิตอยู่ ทรัพย์สินเงินทองเป็นของนอกกาย ไม่ตายก็หาใหม่ได้
พยายามคิดถึงสัจธรรมแห่งชีวิต คิดในเชิงบวก และเตรียมแผนการรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างมีสติ
ควรเตรียมตัว เตรียมใจให้เด็กอย่างไร?
อุบัติภัยมักจะเกิดอย่างรวดเร็ว ไม่มีอะไรเตือนล่วงหน้า ผู้ใหญ่เองจะตระหนกตกใจ แต่ในเด็กจะเกิดผลกระทบยิ่งกว่า หากพวกเขาไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ ไป พวกเขาจะรู้สึกกระทบกระเทือนทางใจมาก เหมือนมีบาดแผลในใจ เมื่อเกิดเหตุวิบัติภัยต่างๆ จนทำให้ครอบครัวต้องย้าย หรืออพยพทิ้งบ้านเรือนไปอยู่ที่อื่น เด็กจะเครียด สับสน และตระหนก ผู้ใหญ่จึงควรที่จะเตรียมเด็กให้รับสถานการณ์ต่างๆ โดยให้เด็กได้รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่ตามมา มีข้อแนะนำที่ดีแก่เด็กว่าควรจะปฏิบัติอย่างไรด้วย
เด็กจะรับสถานการณ์ต่อวิบัติภัยอย่างไร?
ในชีวิตปกติ เด็กจะตื่นเช้ามารับประทานอาหาร ไปโรงเรียน เล่นกับเพื่อน เมื่อเกิดวิบัติภัยชีวิตจะเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็น ดังนั้นเด็กจะรู้สึกตื่นกลัว
ความกลัวของเด็กจะเกิดจากการวาดภาพในจินตนาการของเด็กเอง โดยดูจากการแสดงออกของผู้ใหญ่ ดังนั้นหากผู้ใหญ่ตื่นตระหนก และกลัวมาก เด็กจะตกใจและกลัวมากกว่า ดังนั้นหากเกิดเหตุการณ์ต่างๆที่น่ากลัว ผู้ใหญ่ควรคุยกับเด็กตามความจริงที่เกิดขึ้น ตลอดจนพูดถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหา หรือแนว ทางที่จะเดินต่อไป ซึ่งเด็กก็จะรู้สึกว่ามีทางออกและแก้ไขสถานการณ์ได้ เด็กจะรู้สึกกลัวลดลง และเมื่อผ่านพ้นเหตุการณ์ต่างๆไปแล้ว ผู้ใหญ่ควรจะได้คุยกับเด็กว่าเด็กรู้สึกอย่างไร กลัวอะไรอยู่หรือไม่ ปลอบใจให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป และเราสามารถผ่านพ้นอุปสรรคและแก้ไขในสิ่งต่างๆได้ มีกำลังที่จะเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ทั้งผู้ใหญ่และเด็กก็จะคืนสู่สภาพปกติ
จะเตรียมการสำหรับน้ำท่วมอย่างไร?
การเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น จะลดความวิตกกังวลและปลอด ภัยต่อตนเองและต่อครอบครัว
- ติดตามข่าวที่ทางการจะประกาศให้ปฏิบัติ เช่น ให้เตรียมตัวรับสถาน การณ์หรือให้อพยพทันที ซึ่งควรปฏิบัติตามเพราะไม่เช่นนั้นอาจได้รับอันตรายโดยไม่มีใครสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้
- การวางแผนล่วงหน้า ถ้ามีเวลา ควรทำดังต่อไปนี้ (หรือการเตรียมการหากเกิดในอนาคต)
- ติดต่อบริษัทประกันเพื่อประกันความเสียหายต่างๆ ที่จะเกิดอย่างเหมาะ สม ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ในกรณีที่มีความเสี่ยงสูง
- มีถุงทรายเพื่อป้องกันน้ำที่จะเข้ามาในบ้านเร็วเกินไป หรือมากเกินไป
- วางแผนล่วงหน้าว่าหากต้องอพยพ จะอพยพไปที่ใด ซึ่งควรเป็นที่สูง และให้สมาชิกในครอบครัวทราบแผนการอพยพ ว่าจะไปที่ไหน อย่างไร
- วางแผนเส้นทางที่จะไปไว้หลายๆทางเพื่อแก้ปัญหาเมื่อทางใดขาดไปไม่ได้
- เตรียมกระเป๋าเพื่อการพร้อมอพยพไว้ใกล้ประตูทางออก ในกระเป๋าควรมีแผนที่เส้นทางที่จะไป เบอร์โทรศัพท์ติดต่อที่สำคัญ เอกสารประจำตัวที่สำคัญ ของสำคัญอื่นๆ เงิน ยา เสื้อผ้าพอสมควร ชุดชั้นใน เครื่องนอน ผ้าห่มผืนเล็ก น้ำสะอาด อาหารแห้งที่เปิดรับประทานได้เลย ที่เปิดกระป๋อง มีดเล็กๆ อุปกรณ์ปฐมพยาบาล ถุงสำหรับขับถ่าย ไฟฉาย แบตเตอรี่หลายๆก้อน หรือเครื่องชาร์จไฟชนิดพกพา ไฟสำรอง เชือกหลายๆเส้น เผื่อต้องผูกลูก ห่วงยางหรือถ้าไม่มีเตรียมแกล ลอนพลาสติกมีฝาปิดไว้ทำเป็นทุ่น หากจำเป็น ให้ทำรายการและเตรียมข้าวของจำเป็นที่จะต้องนำไปไว้ใกล้มือ เอกสารสำคัญควรใส่ถุงพลาสติกรัดไว้กันน้ำเข้า
- อย่าลืมติดต่อญาติสนิทให้ทราบว่าจะไปที่ใด และส่งข่าวความคืบหน้าให้เขาทราบด้วย
ควรเตรียมการให้เด็กในการอพยพอย่างไร?
ควรเตรียมการให้เด็กในการอพยพ โดย
- ให้เด็กที่รู้เรื่อง รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และครอบครัวมีแผนการจะดำเนินการอย่างไร ทบทวนความเข้าใจในกรณีพลัดหลงกันว่าจะทำอย่างไร เพื่อเด็กจะลดความ เครียดและความกังวล
- ให้เด็กมีข้อมูลเอกสารติดตัว และเขียนชื่อนามสกุลเด็ก ชื่อพ่อแม่ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อของพ่อ แม่และญาติสนิท และควรหุ้มพลาสติกไม่ให้น้ำเข้า ห้อยคอเด็กไว้
- ควรเขียนข้อมูลประวัติการเจ็บป่วย โรคที่เป็น ยาที่ได้รับเป็นประจำ ประวัติการแพ้ยาและอาหาร ใส่ซองพลาสติกห้อยไว้กับตัวเด็กด้วย
- ควรเตรียมกระเป๋าติดตัวให้เด็กไว้สะพายหลัง โดยมีน้ำสะอาด นมยูเอ็ชที ปริมาณอย่าให้หนักมาก อาหารที่เปิดรับประทานได้เลย เช่น ขนมปัง แคร็กเกอร์ ผลไม้แห้ง และวางแผนการให้เด็กรู้จักรับประทานแต่พอดีอย่ากินเล่นจนหมด น้ำและอาหารของเด็กเป็นสิ่งที่ต้องระลึกถึงเพราะเด็กจะไม่ทนต่อการอดน้ำและอาหารได้เท่าผู้ใหญ่
- ในเด็กเล็กต้องเตรียมนมผง ขวดนม อาหารของเด็กชนิดกระป๋อง หรืออาหาร แห้งที่เด็กรับประทานได้ไปด้วย
- เตรียมหนังสือนิทาน หนังสือรูปภาพ หรือสมุดระบายสี ของเล่น หรือเกมส์ให้เด็ก เพื่อให้เด็กได้ผ่อนคลาย และพ่อแม่ควรเล่านิทาน หรือมีกิจกรรมกับลูกในระหว่างการเดินทางหรือในระหว่างไปพักที่อพยพ
เมื่อต้องออกจากบ้านจะป้องกันไม่ให้ข้าวของในบ้านเสียหายมากอย่างไร?
เมื่อต้องออกจากบ้านจะป้องกันไม่ให้ข้าวของในบ้านเสียหายมาก โดย
- เอาถุงทรายกั้นไว้ในที่ที่น้ำจะเข้าบ้านได้ ตามท่อ ในโถส้วม
- ย้ายสิ่งของที่แช่น้ำไม่ได้ ให้ไปอยู่ในที่สูงที่สุดในบ้าน
- อย่าลืมตรวจว่ารถมีน้ำมันเต็ม เพียงพอต่อการขนย้ายอพยพ
- อย่าลืมเอาคัตเอาต์ไฟลงเพื่อตัดไฟฟ้าทั้งบ้าน ก่อนออกจากบ้าน
- ปิดประตู หน้าต่าง ใส่กุญแจบ้านก่อนออกจากบ้าน
- หากระหว่างการอพยพ น้ำท่วมรถสูงขึ้นเรื่อยๆ ให้ทิ้งรถและออกจากรถเดินหาที่สูงที่ปลอดภัย
- สวมรองเท้าบู๊ทเพื่อป้องกันการเหยียบของมีคม ป้องกันงู หรือสัตว์มีพิษกัดต่อย และป้องกันไฟฟ้าดูดด้วย
เมื่อไรต้องไปพบแพทย์?
หากอยู่ในเหตุการณ์ภัยพิบัติรู้สึกเครียดมาก นอนไม่หลับ ไม่อยากรับ ประทานอาหาร อยากตาย ควรหาความช่วยเหลือจากแพทย์
สังเกตได้อย่างไรว่าเด็กมีปัญหาในการปรับตัวหรือปัญหาด้านจิตใจจากภาวะภัยพิบัติ? ควรนำเด็กไปพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อเกิดภัยพิบัติอย่างรุนแรงและรวดเร็ว โดยไม่มีการเตรียมตัวเตรียมใจมาก่อน เช่นการเกิดแผ่นดินไหว สึนามิ หรือน้ำท่วมเฉียบพลัน รวดเร็ว ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อชีวิตและทรัพย์สิน เด็กอาจสูญเสียชีวิตของบุคคลอันเป็นที่รัก
อาการที่พบได้ในเด็ก คืออาการตกใจกลัวอย่างมาก เรียกว่ามีความกระทบ กระเทือนใจอย่างรุนแรง ภาษาแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า Post traumatic stress disorder
เด็กจะมีอาการแตกต่างกันไปแล้วแต่อายุ ตลอดจนพื้นฐานอารมณ์และการเลี้ยงดูเด็ก ในเด็กเล็กอาจมีอาการกลัว เดินไปมาโดยไม่มีจุดหมาย หรืออาจอยู่นิ่งๆโดยไม่ทำอะไรเลย การนอนผิดปกติ ในเด็กโตหรือในวัยรุ่นอาจซึมเศร้า คิดฆ่าตัวตาย ฝันร้าย และมีภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคอยหลอกหลอน แวบเข้ามาในความ คิดอยู่บ่อยๆ อาจนอนไม่หลับ อาจมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมต่อมา
- เมื่อไรต้องนำเด็กไปพบแพทย์ เมื่อเห็นว่า เด็กมีอาการมาก เช่น คิดฆ่าตัวตาย นอนไม่หลับ เครียดมาก ตกใจกลัวมาก หรือซึมมาก แยกตัว เศร้ามาก และ/หรือ อาการต่างๆซึ่งควรค่อยๆดีขึ้น แต่กลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
ผู้ใหญ่และผู้เลี้ยงดูมีแนวทางปฏิบัติต่อเด็กอย่างไร?
แนวทางที่ผู้ใหญ่ควรปฏิบัติต่อเด็ก คือ ฟังเด็กเล่า เข้าใจและยอมรับความ รู้สึกของเขา ควรทราบว่า ความรู้สึกนี้ต้องใช้เวลาค่อยๆเยียวยา ในการคืนสู่ปกติ
ให้เด็กรู้ว่า พ่อแม่และผู้ใหญ่รักเขา การที่เด็กรู้ว่ามีคนรัก เป็นยาขนานเอก
ผู้ใหญ่ควรอธิบายเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น หรือกำลังเกิดขึ้น และเข้าใจว่า เป็นเรื่องปกติที่จะหวาดกลัว
อนุญาตให้เด็กกลัว อย่าไปคาดหวังว่าเขาจะต้องกล้าหาญ และอดทนมากเป็นพิเศษ
ให้ดูแลเอาใจใส่เด็กมากขึ้น พยายามให้พวกเขามีกิจวัตรประจำวันปกติ
ป้องกันไม่ให้เด็กมีปัญหาเรื่องการปรับตัว ปรับใจต่อภัยพิบัติอย่างไร?
การเตรียมตัว เตรียมใจเป็นสิ่งสำคัญ ควรให้ความรู้ต่อเด็กเสมอ ในเรื่องภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นว่ามีอะไรบ้าง โอกาสเกิดภัยพิบัติอะไรในพื้นที่ที่เราอยู่ หากเกิดภัยพิบัติดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตนเองอย่างไรให้ปลอดภัย ควรทำและไม่ควรทำอะไร การเตรียมข้าวของจำเป็น การเตรียมการอพยพจะไปทางไหน ไปที่ใด ควรมีการฝึกลองทำเหตุการณ์จำลอง ให้เห็นว่าภัยพิบัติเป็นเรื่องธรรมชาติที่มีโอกาสเกิดขึ้น ซึ่งเราจำเป็นต้องเตรียมรับสถานการณ์เหล่านั้น
ควรดูแลสุขภาพกายของเด็กเมื่อมีการอพยพอย่างไร? ควรนำเด็กไปพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีการอพยพ สิ่งที่ต้องนึกถึงสำหรับเด็ก คือ น้ำสะอาด อาหารและนม ให้เพียงพอทุกมื้อสัก 5 วัน เสื้อหนาว ผ้าห่ม หมวก ถุงเท้าเพื่อความอบอุ่น ยาประจำ ตัวเด็ก
อาหารแห้งควรมีโปรตีนให้พอ เพราะหากขาดโปรตีนและพลังงาน เด็กจะเกิดภาวะขาดสารอาหาร ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย อาหารแห้ง เช่น ไข่ต้ม อาจพกพาได้ 2 วันโดยไม่เสีย หรืออาหารเนื้อสัตว์ปรุงสำเร็จ กินสะดวก ไม่เสียง่าย เช่นหมูหย็อง หมูแผ่น ปลาหย็อง
ต่อไปควรต้องมีการเตรียมสำหรับการอพยพโดย เตรียมน้ำสะอาด และอาหารไว้ เพื่อการอพยพ โดยต้องคอยตรวจสอบวันหมดอายุ และหมุนเวียนไปใช้ นำมาทดแทน รวมทั้งของจำเป็นอื่นๆ ทำรายการไว้ อีกทั้งตรวจสอบให้ใช้ได้อยู่เสมอ
- ควรนำเด็กไปพบแพทย์ดูแลด้านร่างกาย เมื่อ
- หากเด็กมีอาการเจ็บป่วย เช่น ไข้สูง ไอมาก หอบ อาจเป็นอาการจากปอดบวม (โรคปอดอักเสบ ปอดบวมในเด็ก)
- มีไข้สูง รับประทานน้อยลง คลื่นไส้ อาเจียน อาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคไข้เลือดออก
- มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อที่ขา ตาแดง อาจเป็นอาการของ โรคฉี่หนู
- ท้องร่วง/ ท้องเสีย อาเจียน มีการสูญเสียน้ำ และอิเล็กโทรไลต์ โดยให้ทดแทนแล้ว ไม่ดีขึ้น เด็กมีไข้ซึม หงุดหงิด ปัสสาวะน้อยลง อาการที่กล่าวควรจะพาเด็กไปพบแพทย์ (การแก้ไขภาวะขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์ในเด็กในภาวะอุทก ภัยหรือภัยพิบัติ)
- เด็กปกติ จะสังเกตได้ คือ กินได้ เล่นได้ หลับได้ อุจจาระปัสสาวะปกติ หากผิดปกติไปจากนี้ ควรต้องดูอาการอย่างใกล้ชิด และถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน ควรนำเด็กพบแพทย์
ควรดูแลสุขภาพจิตของเด็กเมื่อมีการอพยพอย่างไร? ควรนำเด็กพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลสุขภาพจิตของเด็ก และการนำเด็กพบแพทย์เมื่อมีการอพยพ คือ
- การเตรียมการด้านจิตใจเด็กในระยะฉุกเฉิน ผู้ปกครองควรเล่าให้เด็กรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น มีแผนการจะทำอะไรต่อ จะแก้ปัญหาอย่างไร ผู้ปกครองควรตั้งสติหาทางออก ให้เด็กได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและเล่าความรู้สึกของตนเอง หากมีเวลา ให้ทำกิจกรรมคลายเครียด เช่น เล่าเรื่อง เล่านิทาน ยกตัวอย่างของเหตุ การณ์ที่เคยเกิดขึ้น ให้เด็กได้มั่นใจว่า เขาจะมีพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ที่เป็นที่รักเป็นเพื่อนและเผชิญเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นร่วมกัน และหาทางแก้ไข เตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างไร หากจะต้องอพยพ จะไปอย่างไร ทางใด (หลายๆทาง เผื่อเลือก) ไปพบกันที่ไหน มีเอกสารจำเป็น เบอร์โทรศัพท์ที่สำคัญ และมีของจำเป็นดังกล่าวแล้วติดตัวให้เด็กด้วย
- การเตรียมตัวในระยะยาว มีการเตรียมว่าภัยพิบัติที่อาจจะเกิดได้ คืออะไร เหตุการณ์นั้นๆจะต้องเตรียมการอย่างไร หมั่นทบทวน เป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์โดยไม่ตื่นตระหนก
- ควรนำเด็กไปพบแพทย์ดูแลด้านจิตใจ เมื่อเด็กมีความวิตกกังวลมาก มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เช่นกลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว นอนไม่หลับ เก็บตัวเงียบ คิดฆ่าตัวตาย ต่อต้านสังคม เมื่อเหตุการณ์ปกติเด็กควรค่อยๆปรับตัวคืนสู่ปกติ แม้อาจต้องใช้เวลา แต่เด็กไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
ที่มา https://haamor.com/th/การเตรียมตัวในภาวะภัยพิบัติ/