การแก้ไขภาวะขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์ในเด็กในภาวะอุทกภัยหรือภัยพิบัติ (Dehydration in children)


1,139 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

หัวใจ  หลอดเลือด  ระบบหัวใจและหลอดเลือด 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

กระหายน้ำ  ความดันต่ำ 

ทั่วไป

เมื่อเกิดอุทกภัยหรือเกิดภัยพิบัติต้องมีการอพยพไปอยู่ในที่ที่แออัด ขาดน้ำสะอาด ขาดไฟฟ้า ภาวะสุขอนามัยทั้งหลายถูกจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน ห้องน้ำ ทำให้เกิดโรคต่างๆตามมา รวมทั้งท้องร่วง/อุจจาระร่วง/ ท้องเสีย โรคอาหารเป็นพิษ หรือแม้จะไม่ได้อพยพไปอยู่ในสถานที่แออัด อยู่ในที่พักของตนก็อาจเกิดปัญหาขาดแคลนสิ่งต่างๆ เนื่องจากข้าวของไม่สามารถหาซื้อได้

ภาวะท้องร่วง และอาเจียนเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) ซึ่งควรต้องได้รับการแก้ไขทันท่วงที โดยเฉพาะในเด็กซึ่งทนต่อการสูญเสียน้ำและอีเล็กโทรไลต์ได้ในปริมาณไม่มากเท่าผู้ใหญ่ อาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรมีความรู้ในการแก้ไขภาวะร่างกายขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์เบื้องต้น เพื่อป้องกันไม่ให้อาการขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์ดำเนินไปถึงขั้นรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการเสียน้ำจากการมีท้องร่วง และ/หรือจากอาเจียนมากจากอาหารเป็นพิษ

ร่างกายมีส่วนประกอบของของเหลวในร่างกาย (Body fluid) อย่างไร?

ส่วนประกอบหลักของของเหลวในร่างกาย คือ น้ำ อีเล็กโทรไลต์ สารอาหารต่างๆ รวมทั้งออกซิเจน ซึ่งจำเป็นต่อร่างกาย และต่อการทำงานของระบบต่างๆของร่างกาย เป็นส่วนนำสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์ และรับของเสียออกจากเซลล์ เพื่อนำออกจากร่างกายทางปัสสาวะ หรือนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปกำจัดออกที่ปอด

น้ำ เป็นส่วนประกอบที่มีมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ น้ำในร่างกายทั้งหมดคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อน้ำหนักตัวจะแตกต่างกันตามอายุทารกในครรภ์จะมีน้ำในร่างกายสูงที่สุด แล้วลดลงเหลือ 75% ของน้ำหนักตัวเมื่อแรกเกิดปกติ จนอายุ 1 ปีน้ำในร่าง กายทั้งหมดคิดเป็น 60% ของน้ำหนักตัว และจะมีปริมาณนี้ไปจนเข้าสู่วัยรุ่น จากวัย รุ่นผู้หญิงจะมีไขมันมากกว่าผู้ชายซึ่งมีกล้ามเนื้อมากกว่าผู้หญิง น้ำในร่างกายของผู้ หญิงจะมีน้อยกว่าผู้ชาย เนื่องจากไขมันมีส่วนประกอบของน้ำน้อยกว่าส่วนที่เป็นกล้ามเนื้อ น้ำในร่างกายของผู้ชายมีประมาณ 60% ขณะที่ผู้หญิงมีน้ำในร่างกายประมาณ 50% ของน้ำหนักตัว

น้ำทั้งหมดในร่างกายจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งอยู่ในเซลล์ซึ่งประกอบเป็นอวัยวะต่างๆ อีกส่วนหนึ่งอยู่นอกเซลล์ เมื่อแรกเกิดและเป็นเด็กเล็ก น้ำที่อยู่นอกเซลล์จะมีมากกว่าน้ำภายในเซลล์ หลังจากนั้นน้ำที่อยู่นอกเซลล์จะลดลง น้ำในเซลล์จะมากขึ้น เมื่ออายุครบ 1 ปี จะมีน้ำนอกเซลล์ประมาณ 20-25% ของน้ำหนักตัว น้ำในเซลล์ประมาณ 30-40% ของน้ำหนักตัว เท่าๆกับผู้ใหญ่

น้ำนอกเซลล์จะอยู่ในพลาสมา (Plasma) ซึ่งเป็นส่วนน้ำของเลือด 5% และอยู่ตามส่วนอื่นๆ เช่นในช่องท้อง ในช่องปอด และช่องอยู่ระหว่างเยื่อบุด้านนอกของหัวใจ น้ำในข้อ เป็นต้น ประมาณ 15% ของน้ำหนักตัว

อิเล็กโทรไลต์ คืออะไร?

อิเล็กโทรไลต์ คือเกลือแร่ที่มีประจุไฟฟ้า เป็นส่วนประกอบในของเหลวที่อยู่ในเซลล์ และนอกเซลล์ มีความสำคัญในการควบคุมปริมาณน้ำในร่างกาย ความเป็นกรด ด่าง เกลือ ของเลือด ทำให้อวัยวะทุกส่วนของร่างกายทำงานได้ปกติ

ตรวจอีเล็กโทรไลต์ได้อย่างไร?

ตรวจอีเล็กโทรไลต์ได้โดย เจาะเลือดตรวจ ทั้งนี้ อีเล็กโทรไลต์ที่มีมากในร่าง กายได้แก่ โซเดียม (Sodium ตัวย่อคือ Na) คลอไรด์ (Chloride ตัวย่อคือ Cl) และ โปแตสเซียม (Potassium ตัวย่อคือ K)

ภาวะความผิดปกติของอีเล็กโทรไลต์ที่พบบ่อยเกิดจากอะไร?

โรคทางไต เป็นโรคก่อให้มีความผิดปกติของอีเล็กโทรไลต์ที่พบบ่อยที่สุด

ภาวะสูญเสียน้ำและอีเล็กโทรไลต์เกิดจากอะไร?

ภาวะสูญเสียน้ำและอีเล็กโทรไลต์ที่พบบ่อยเกิดจาก ท้องร่วง/ท้องเสีย อาเจียน หรือจากเสียไปทางเหงื่อมากๆ เช่น อากาศร้อนจัด หรืออยู่ในที่แออัดมาก แต่ที่ก่อผลกระทบมากที่สุด คือจากท้องร่วง

ผลกระทบของท้องร่วงมีอะไรบ้าง?

ผลกระทบของการเกิดท้องร่วง/ท้องเสีย คือ

  1. ท้องร่วง ทำให้มีการสูญเสียของของเหลวและอีเล็กโทรไลต์ในลำไส้ และจากภายนอกเซลล์ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาโดยทดแทนของเหลวและอีเล็กโทรไลต์ให้เพียงพอ จะมีการสูญเสียของเหลวในเซลล์ตามมา
  2. ทำให้ร่างกายสูญเสียภาวะความเป็นด่างในรูปของไบคาร์โบเนต (Bicarbo nate) ทำให้ร่างกายขาดความเป็นด่าง และมีสภาพเป็นกรด ซึ่งในภาวะที่ร่างกายเป็นกรด จะทำให้เกิดอาการหอบ อันเป็นกลไกในการปรับสภาพกรด-ด่างของร่างกาย
  3. ท้องร่วงทำให้การดูดซึมสารอาหารลดลงในกรณีที่ท้องร่วงนั้นเกิดจากพยาธิสภาพที่ลำไส้เล็ก แต่ถ้าเกิดพยาธิสภาพที่ลำไส้ใหญ่ ร่างกายจะสูญเสียโปรตีนจำนวนมาก

นอกจากนี้ผู้ป่วยจำนวนมากจะเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ทำให้มีผลกระทบทั้งเรื่องการสูญเสียของเหลว อีเล็กโทรไลต์ และมีปัญหาต่อภาวะโภชนาการของผู้ป่วย

แพทย์ประเมินภาวะขาดของเหลวและอีเล็กโทรไลต์อย่างไร?

แพทย์ประเมินภาวะขาดของเหลวและอีเล็กโทรไลต์ของร่างกาย โดย

  1. การซักประวัติ
    • เสียปริมาณน้ำและเกลือแร่ออกไปเท่าใด ทั้งทางอุจจาระ และทางอาเจียน กี่ครั้ง ปริมาณครั้งละเท่าใด รวมทั้งลักษณะของอุจจาระซึ่งจะช่วยให้แพทย์หาสาเหตุของโรคที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วง/ท้องเสีย ได้
    • ได้รับการรักษาด้วยสารน้ำและเกลือแร่หรือของเหลวต่างๆ เช่น น้ำข้าว น้ำเกลือทำเอง หรือน้ำแกงจืด ไปเท่าใด
    • อาการร่วมต่างๆ เช่น มีไข้ น้ำมูก (ในเด็กส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส มักมีไข้ มีน้ำมูกนำมาก่อน) หรือเกิดจากการกินอาหารมีเชื้อโรคซึ่งคนหลายคนที่กินด้วยกันมีอาการด้วย หรือมีอาการหอบ ทำให้บอกได้ว่าต้องเสียน้ำไปมากพอสมควร และร่างกายเสียด่างออกไปจนมีภาวะกรดในร่างกาย
    • การรักษาต่างๆที่เด็กได้รับไปแล้ว และผลต่อการรักษานั้นๆ
    • ที่สำคัญ คือปัสสาวะครั้งสุดท้ายและจำนวนปัสสาวะซึ่งจะช่วยบอกว่าร่างกายขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์มากน้อยเพียงใด ถ้าปัสสาวะครั้งสุดท้ายภายใน 4 ชั่วโมง และปัสสาวะออกปริมาณมากพอสมควร แสดงว่าของเหลวหรือน้ำในร่างกายยังเพียงพอ
    เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและเพื่อประเมินว่าร่างกายมีการขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์ไปมากน้อยเพียงใด โดยแพทย์จะซักประวัติต่อไปนี้
  2. การตรวจร่างกายความดันโลหิต ในเด็กที่เสียน้ำจะมีชีพจรเร็วขึ้นและความดันโลหิตลดลง และบางคนที่มีการสูญเสียน้ำมากๆ เช่น ในพวกท้องร่วงจากเชื้ออหิวาตกโรค ซึ่งถ่ายท้องร่วงตลอดเวลา และไม่ได้รับการทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่เพียงพอ เด็กจะช็อก คือ ตรวจชีพจรเบา เร็ว ความดันเลือดต่ำมาก มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ได้แก่ กระวนกระวาย กระสับกระส่าย ซึมมาก (เนื่องจากขาดของเหลวไปเลี้ยงสมอง) โดยประเมินการสูญเสียน้ำและอีเล็กโทรไลต์ เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาทดแทนต่อไป ทั้งนี้โดย แพทย์จะตรวจชีพจร

นอกจากนี้ แพทย์จะตรวจเยื่อบุช่องปาก ตรวจกระหม่อมด้านหน้ากะโหลก และกระบอกตาว่า บุ๋มหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ตรวจความยืดหยุ่นของผิวหนัง ในเด็กที่ขาดน้ำมาก เมื่อจับผิวหนังขึ้นมา ผิวหนังจะตั้งได้ แต่หากขาดน้ำเพียงเล็กน้อย เมื่อจับผิวหนังขึ้นมา พอปล่อยมือผิวหนังก็กลับไปอย่างเดิม แพทย์จะกดดูที่ปลายนิ้ว/เล็บ และปล่อยมือว่ามีเลือดไปเลี้ยงได้ดีหรือไม่ พวกที่ขาดน้ำมากเมื่อกดที่เล็บพอปล่อยมือที่กดออก กว่าเลือดจะเข้าไปที่ปลายเล็บแดงเหมือนเดิมมักใช้เวลานานเกินกว่า 2 วินาทีขึ้นไป

แพทย์จะสังเกตดูว่าเด็กมีอาการกระหายน้ำหรือไม่ หรือร้องไห้มีน้ำตาหรือไม่ เด็กที่ขาดน้ำมาก ร้องไห้น้ำตาน้อยลง หรือไม่มีน้ำตา

แพทย์จะประเมินแล้วแบ่งอาการขาดน้ำเป็น รุนแรงน้อย ปานกลาง และรุนแรงมาก

แบ่งความรุนแรงของภาวะขาดน้ำเป็นกี่ระดับ?

ความรุนแรงของภาวะขาดน้ำของร่างกายแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ภาวะขาดน้ำน้อย ภาวะขาดน้ำปานกลาง และภาวะขาดน้ำมาก

  1. ภาวะขาดน้ำน้อย ร่างกายเสียน้ำไปประมาณ 3-5% เด็กดูปกติ กระหายน้ำเล็กน้อย ปัสสาวะเริ่มน้อยลง ซึ่งในภาวะนี้สามารถให้การดูแลรักษาโดยให้กินน้ำ เกลือแร่ทางปากได้ หากรักษาได้เหมาะสมจะไม่เกิดภาวะขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์มากจนเกิดอันตราย
  2. ภาวะขาดน้ำปานกลาง ร่างกายเสียน้ำไปประมาณ 6-9% เด็กเริ่มกระสับ กระส่าย กระหม่อมหน้าบุ๋มเล็กน้อยหรือตาบุ๋มเล็กน้อย ปากแห้ง น้ำตาลดลง ชีพจรเร็ว ปัสสาวะ 1 มิลลิลิตร/น้ำหนักเด็ก 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง เด็กบางคนมีหายใจหอบลึก
  3. ภาวะขาดน้ำมาก ร่างกายเสียน้ำมากกว่า 10% เด็กจะกระวนกระวายและซึมมาก เยื่อบุช่องปากแห้งจนเหี่ยว ไม่มีน้ำตา ตาลึกโหล กระหม่อมบุ๋มมาก ปัสสาวะ 0.5 มิลลิลิตร/น้ำหนักเด็ก 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง ซึ่งเด็กบางคนขาดน้ำมากและเสียอีเล็กโทรไลต์มากจนเกิดภาวะช็อกตามมา และหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีจะเกิดผลตามที่รุนแรงจนถึงเสียชีวิต

หลักการแก้ปัญหาการขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์ในเด็ก

การช่วยแก้ไขภาวะขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์ในเด็ก โดยผู้เลี้ยงดูเด็กอาจทำได้เมื่อเด็กมีภาวะขาดน้ำน้อย เด็กมีอาการอื่นๆปกติ และปัสสาวะออกได้ดีพอสมควร โดย กรณีภาวะขาดน้ำปานกลาง หรือขาดน้ำมาก ต้องรีบนำเด็กพบแพทย์ด่วน หรือฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

  1. ในเด็กที่กินนมแม่ ให้กินนมแม่ต่อไป และแม่ควรได้รับน้ำและอาหารเพียงพอ ให้ลูกดูดนมบ่อยๆ
  2. การให้กินน้ำเกลือแร่ที่มีขายตามท้องตลาด ซึ่งอาจเป็นชนิดที่ทำเป็นน้ำเกลือแร่สำเร็จรูป หรือทำเป็นผงให้ผสมน้ำส่วนประกอบของน้ำเกลือแร่จะมีโซเดียม โปแตสเซียม และน้ำตาล ที่ซองจะบอกสัดส่วนในการผสม เช่น 1 ซองต่อน้ำ 8 ออนซ์ (1 แก้วน้ำขนาดทั่วไป) หรือ 1 ซองต่อน้ำ 5 ออนซ์ (แก้วน้ำขนาดเล็ก) หรือ 1 ซองต่อน้ำ 4 ออนซ์ [1 ออนซ์เท่ากับ 30 มิลลิลิตร (มล.)] ถ้ามีขวดนมหรือขวดน้ำเด็ก ให้ดูขีดที่ขวดและใช้ตวงน้ำโดยขวด โดยทั่วไปขวดนมขวดใหญ่จะจุ 8 ออนซ์ ขวดเล็กจะจุ 4 ออนซ์
  3. หากกรณีหาซื้อเกลือแร่ไม่ได้ ให้ทำเองโดยใช้น้ำสะอาด 750 มิลลิลิตร/มล. (ตวงน้ำเท่ากับขวด 8 ออนซ์ 3 ขวด กับอีก 1 ออนซ์ หรือใช้ขวดน้ำปลาเปล่า ขนาด 750 มล.) ใส่น้ำตาลทราย 15 กรัม (เท่ากับน้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะขนาดใหญ่ หรือใช้ช้อนชาขนาด 5 มล. ซึ่งเป็นช้อนยาสำหรับเด็ก ตวงน้ำตาล 3 ช้อนชา จะได้น้ำตาลประมาณ 15 กรัม) และใส่เกลือแกงครึ่งช้อนชา หรือหนึ่งหยิบมือ แล้วต้มให้เดือด รอให้เย็นใช้แทนน้ำเกลือแร่ที่ขายได้
  4. หากเด็กไม่ยอมกินน้ำเกลือแร่ที่ชง ให้ทำน้ำข้าวใส่เกลือ และน้ำตาลแทน
  5. อาจใช้น้ำแกงจืดซึ่งมีรสเค็มปะแล่มได้
  6. ถ้ามีเครื่องดื่ม เช่น สไปรท์ เซเว่นอัพ หรืออื่นๆ เขย่าฟองออกให้หมดก่อน แล้วเติมน้ำสุกหนึ่งเท่าก็ได้
  7. หากไม่มีอะไรแต่มีมะพร้าว ให้ผ่าเอาน้ำมะพร้าวให้ดื่มได้
  8. วิธีให้น้ำ คือป้อนทีละน้อยๆและบ่อยๆ และให้ดูอาการว่าเด็กสดชื่น นอนหลับได้ ปากไม่แห้ง ตาไม่บุ๋ม กระหม่อมไม่บุ๋มปัสสาวะได้ดี ปัสสาวะได้ภายใน 4 ชม.หลังการดูแล และปริมาณออกมากพอสมควร
  9. ผู้เลี้ยงดูเด็ก ต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้งที่จะป้อนน้ำเกลือแร่ หรืออาหาร หรือเครื่องดื่มแก่เด็ก
  10. หากเด็กสามารถรับประทานอาหารได้ ให้รับประทานอาหารด้วย เช่น ข้าว ต้มใส่หมูหยอง ปลาทอด หรือปลาย่าง (ระวังก้าง) เป็นต้น

การคิดปริมาณน้ำเกลือที่รักษาเด็ก

เด็กจะต้องได้รับทั้งอาหารให้พลังงาน น้ำและเกลือแร่ ในที่นี้คิดปริมาณน้ำ เกลือแร่เป็นหลักเพื่อเสริมส่วนที่เสียไป

การคิดปริมาณน้ำเกลือแร่ คือ หากมีการขาดน้ำน้อย ให้น้ำเกลือแร่ทางปาก 50 มล.ต่อน้ำหนักตัวเด็ก 1 กิโลกรัม ภายใน 4 ชั่วโมง (ค่อยๆให้ทีละน้อยๆ บ่อยๆ) และหากมีการสูญเสียไปทางอุจจาระ หรืออาเจียนอีก ก็เพิ่มไปตามจำนวนที่เสียไประหว่างนั้น หากขาดน้ำปานกลางให้เกลือแร่ทางปาก 100 มล. ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในเวลา 4 ชั่วโมง บวกทดแทนส่วนที่สูญเสียเพิ่มเติม

หากมีการขาดน้ำรุนแรงต้องไปรักษาในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือเข้าหลอดเลือดดำ

หากไม่มีอาการขาดน้ำหรือขาดน้ำน้อยกว่า3% ให้กินนมตามปกติ และให้กินน้ำในปริมาณทดแทนการสูญเสียทางอุจจาระและอาเจียน (กินครั้งละน้อยๆบ่อยๆ) ตามปริมาณที่เสียไป แล้วให้น้ำเกลือแร่ต่อไปอีก 4-6 ชั่วโมง จนอาการปกติ ต้องประเมินเด็กทุกชั่วโมงว่าสดชื่นดี นอนหลับได้ ไม่ซึม ไม่หอบ ไม่กระสับกระส่าย ปัสสาวะออกดี ถ่ายอุจจาระห่างออก และปริมาณถ่ายน้อยลง อาเจียนน้อยลง ถ้าอาการเด็กไม่ดีขึ้น หรือเลวลง รีบนำเด็กไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน

เมื่อไรควรนำเด็กพบแพทย์?

กรณีที่ต้องรีบนำเด็กไปรักษาที่โรงพยาบาลหรือพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง หรือ ฉุกเฉิน คือ

  1. เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน หรือน้ำหนักน้อยกว่า 18 ปอนด์ (1 กก. = 2.2 ปอนด์)
  2. เด็กเกิดก่อนกำหนด หรือมีการเจ็บป่วยเรื้อรัง หรือกำลังมีการป่วยด้วยโรคอื่นๆอยู่ เช่น โรคหวัด
  3. มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส (100.4 องศาฟาเรนไฮต์) ในเด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน และมากกว่า 39 องศาเซลเซียส (102.2 องศาฟาเรนไฮต์) ในเด็กอายุ 3-36 เดือน
  4. อุจจาระมีเลือดปน
  5. มีอุจจาระออกบ่อย ปริมาณมาก และ/หรือมีกลิ่นรุนแรง
  6. มีอาเจียนมากไม่หยุด
  7. ผู้เลี้ยงดูสังเกตพบว่า เด็กตาโหลลึก กระหม่อมบุ๋มกว่าปกติ น้ำตาน้อยลง ริมฝีปากและเยื่อบุช่องปากแห้งปัสสาวะลดลง
  8. เด็กมีอาการอ่อนเพลีย หงุดหงิด ซึม
  9. ผู้เลี้ยงดูไม่สามารถให้น้ำเกลือแร่กับเด็กทางปากได้ หรือให้แล้ว เด็กไม่ดีขึ้น

อนึ่งผู้สูงอายุหากมีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส และมีอาการร่วมดังกล่าวข้างต้น ก็เป็นข้อบ่งชี้ที่ต้องรีบไปโรงพยาบาล หรือไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมงหรือฉุกเฉินเช่นกัน ในเด็กอายุมากกว่า 3 ขวบ และใน

ข้อที่ควรทราบเกี่ยวกับการให้ยาแก้อาเจียน

ในผู้ป่วยเด็ก ไม่แนะนำให้ยาแก้อาเจียน หรือยาที่ไปทำให้ลำไส้หยุดเคลื่อนตัว (ยาแก้ท้องเสีย) โดยปกติผู้ป่วยเด็ก (รวมถึงผู้ใหญ่) จะอาเจียนอยู่ประมาณ 1-2 วัน แล้วจะดีขึ้น หากให้น้ำเกลือแร่ทดแทนเพียงพอตลอดเวลา คืออาเจียนก็ให้จิบน้ำ เกลือแร่บ่อยๆ อาเจียนก็ให้จิบต่อ บางคนเข้าใจว่าอาเจียนเพราะดื่มน้ำเกลือแร่จึงหยุดให้น้ำเกลือแร่ บ่อยมากที่ผู้ป่วยเด็กไม่อยากดื่มน้ำเกลือแร่ พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูต้องมีกำลังใจในการป้อนน้ำเกลือแร่ (หรือสิ่งทดแทนดังกล่าวแล้วข้างต้น) บ่อยๆ และดูอาการว่า เด็กยังสบายดีตามอาการที่แนะนำข้างต้น

การให้ยาปฏิชีวนะในเด็กที่ท้องร่วง

ส่วนใหญ่อาการท้องร่วง/ท้องเสียในเด็กมักเกิดจากไวรัส (ในเด็กที่เกิดจากเชื้อไวรัส จะมีอาการอาเจียนมากร่วมด้วย) จึงมักไม่จำเป็นต้องให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ (ยาปฏิชีวนะ รักษาได้แต่โรคจากแบคทีเรีย รักษาโรคจากไวรัสไม่ได้) การติดเชื้อท้องร่วงบางอย่างเมื่อให้ยาปฏิชีวนะจะกลับทำให้โรคยิ่งหายช้า แต่ในบางกรณีจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นกรณีไป ได้แก่

  1. ในผู้ป่วยเด็กที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคมะเร็ง
  2. ในผู้ป่วยที่สงสัยจะมีการติดเชื้อแบคทีเรีย และมีภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต (เลือด) ซึ่งจะมีอาการไข้ ซึม หรืออาจตัวเย็นกว่าปกติ
  3. ในกรณีมีการระบาดของเชื้อ Shigellosis, Cryptosporidiosis, Giardiasis, อหิวาตกโรค การให้ยาปฏิชีวนะจะช่วยควบคุมการระบาด และกำจัดพาหะโรค และต้องเน้นการล้างมือให้สะอาดบ่อยๆด้วยสบู่ โดยเฉพาะก่อนป้อนอาหารเด็ก หลังดูแลการขับถ่ายของเด็ก หลังผู้ดูแลเข้าห้องน้ำ และรวมทั้งการล้างมือของเด็กด้วย

ผลแทรกซ้อนจากภาวะขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์ในเด็กมีอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากภาวะขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์ คือ

  1. ถ้ารักษาไม่ทันท่วงที จะเกิดภาวะช็อก ซึ่งอาจตามมาด้วยภาวะไตวายเฉียบ พลัน อวัยวะสำคัญทำงานผิดปกติ เช่นหัวใจ และสมอง หรือบางคนเสียน้ำและเกลือแร่มาก ช่วยไม่ทันจะเสียชีวิต เช่นในพวกที่เป็นอหิวาตกโรค
  2. หากการแก้ไขภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดอาการชักจากการไม่สมดุลของอีเล็กโทรไลต์

ป้องกันภาวะขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์ในเด็กได้ไหม? อย่างไร?

การป้องกันภาวะขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์ในเด็กเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากท้องร่วง/ท้องเสีย และ/หรืออาเจียน จึงควรมีการป้องกันดังนี้

  1. กินอาหารที่สุก สะอาดและร้อน ควรต้มน้ำให้เดือดเพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำก่อนดื่มเมื่ออยู่ในภาวะไม่แน่ใจในความสะอาดของน้ำดื่ม
  2. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ก่อนรับประทานอาหารและสอนเด็กให้ทำให้เป็นนิสัย ล้างจาน ถ้วย ชาม ช้อนให้สะอาด หรือลวกด้วยน้ำเดือดหากไม่แน่ใจในความสะอาดของน้ำ ขวดนมต้องต้ม หรือนึ่งให้สะอาดก่อนใช้ทุกครั้ง
  3. เมื่อเด็กมีอาการท้องร่วง หรืออาเจียน เริ่มต้นให้น้ำเกลือแร่ทางปากทดแทนเสียตั้งแต่ต้น เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำรุนแรง
  4. ในเด็กเล็กมีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรต้า (ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วง/ท้องเสียในเด็กเล็ก) แต่เป็นวัคซีนที่ต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งก็ยังป้องกันโรคท้องร่วง/ท้องเสียไม่ได้ทั้งหมด เพราะโรคเกิดได้จากการติดเชื้อหลายชนิด ทั้งแบคทีเรีย และไวรัสชนิดอื่นๆ

ที่มา  https://haamor.com/th/ภาวะขาดน้ำในเด็กในภาวะอุทกภัยหรือภัยพิบัติ/

อัพเดทล่าสุด