การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่


1,997 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ปากมดลูก  ระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ทั่วไป

ปัจจุบัน การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ ที่สามารถลดอัตราเสียชีวิตจากโรค มะเร็งได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ มีในโรคมะเร็ง 3 ชนิด คือ การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม และการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

วิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก

ใครคือผู้สมควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก? และต้องตรวจบ่อยแค่ไหน?

 

สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา แนะนำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกดังนี้ คือ ให้เริ่มตรวจคัดกรองในผู้หญิงปกติทุกคน ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป หรือที่ 3 ปีหลังมีเพศ สัมพันธ์ครั้งแรก ทั้งนี้ขึ้นกับว่าอะไรถึงก่อน หลังจากนั้นตรวจคัดกรองทุก 1-2 ปีขึ้นกับแพทย์แนะนำ จนถึงอายุ 29 ปี

ตั้งแต่ อายุ 30 ปีขึ้นไป เมื่อผลตรวจคัดกรองปกติทุกครั้ง 3 ครั้ง/3 ปีติดต่อกัน อาจลดการตรวจลงเหลือเพียงตรวจทุก 2-3 ปี หรือ อาจตรวจทุกปีคงเดิม ขึ้นกับความประสงค์ของตนเอง ตรวจสม่ำเสมอ ไปจนถึงอายุ 70 ปี หลังจากนั้นอาจยกเลิกการตรวจ ถ้า 10 ปีที่ผ่านมา ผลตรวจปกติทุกครั้ง หรือ จะยังคงเลือกตรวจต่อเนื่อง ทั้งนี้ขึ้นกับความประสงค์ของตนเอง

ผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ควรตรวจคัดกรองอย่างน้อยทุกเดือน และ/หรือ ตามคำแนะนำของแพทย์ และตรวจต่อเนื่องตลอดชีวิต

ผู้หญิงที่ผ่าตัดปากมดลูก/มดลูกแล้ว ไม่จำเป็นต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ยกเว้น เมื่อผ่าตัดจากโรคของปากมดลูก เช่น จากปากมดลูกอักเสบเรื้อรัง โดยความบ่อยของการตรวจขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์

อนึ่ง ผู้หญิงที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก แล้ว ก็ยังคงต้องตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก ด้วยตารางการตรวจเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้ว ทั้งนี้เพราะ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้ผลป้องกันโรคได้เพียงประมาณ 70% เท่านั้น

วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกทำอย่างไร? 

 

วิธีตรวจคัดกรอง คือ วิธีตรวจที่เรียกว่า แป๊บสเมียร์ หรือ แป๊บเทส (Pap smear หรือ Pap test) ซึ่งตรวจได้โดยแพทย์ตรวจภายใน จากการสอดใส่เครื่องมือ (ขนาดตามขนาดของช่องคลอดของแต่ละคน การตรวจจึงเพียงก่อการระคายเล็กน้อย) ผ่านทางช่องคลอด ซึ่งจะช่วยให้แพทย์มองเห็นปากมดลูก และภายในช่องคลอดได้ด้วยตาเปล่า ทั้งนี้โดยผู้ถูกตรวจ นอนในท่านอนหงาย ยกเท้าทั้งสองขึ้นพาดบนที่พาดเท้า เพื่อเปิดอวัยวะเพศภายนอกให้แพทย์สามารถตรวจได้ชัดเจน

เมื่อมองเห็นปากมดลูกแล้ว แพทย์จะใช้เครื่องมือเล็กๆป้าย เอาเซลล์จากปากมด ลูกเพื่อนำไปตรวจทางเซลล์วิทยา โดยแพทย์เฉพาะทางด้านพยาธิวิทยา กระบวนการทั้งหมดที่กล่าวแล้ว เรียกว่า การตรวจแป๊บสเมียร์ หรือ แป๊บเทส ซึ่ง เทคนิคการตรวจเซลล์มีทั้งเทค นิคมาตรฐานทั่วไป และเทคนิคพิเศษที่ก้าวหน้ากว่า แต่ส่วนใหญ่บ้านเราจะใช้เทคนิคมาตรฐาน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า และผลลัพธ์ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

การตรวจแป๊บสเมียร์เป็นการตรวจแบบผู้ป่วยนอก ไม่ต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า ตรวจได้เลยที่แผนกตรวจผู้ป่วยนอก เพียงแต่เมื่อไปโรงพยาบาล ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่า ประสงค์จะตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูก เจ้าหน้าที่จะเป็นผู้แนะนำแพทย์ให้เอง ซึ่งโดยทั่วไป มักให้การตรวจโดยแพทย์สาขาสูตินรีเวช และ สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา

การตรวจแป๊บสมียร์จะทราบผลได้ประมาณ 3-10 วัน หรือ นานกว่านั้น ขึ้นกับจำ นวนผู้ป่วย และพยาธิแพทย์ของแต่ละโรงพยาบาล

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม

ใครคือผู้สมควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม?

 

ผู้สมควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม คือ ผู้หญิงทุกคน เริ่มตั้งแต่วัยที่พอเข้าใจ และสามารถดูแลตนเอง และสอนให้ดูแลตนเองได้ โดยทั่วไปมักเริ่มที่อายุ 18-20 ปี และควรตรวจสม่ำเสมอต่อเนื่องตลอดชีวิตตามแพทย์แนะนำ ตราบเท่าที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงพอที่จะมีอายุไขได้ยืนยาวต่ออีกอย่างน้อยประมาณ 5 ปีนับจากการตรวจครั้งสุดท้าย (ข้อมูลการศึกษาทางการแพทย์มักครอบคลุมถึงอายุประมาณ 74 ปี)

วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมทำอย่างไร? ต้องตรวจบ่อยแค่ไหน?

 

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม มี 3 วิธีสำคัญ คือ ตรวจคลำเต้านมด้วยตนเอง แพทย์เป็นผู้ตรวจคลำเต้านม และการตรวจภาพรังสีเต้านม หรือ แมมโมแกรม (Mammogram ) ซึ่งในการตรวจคัดกรอง ควรต้องปฏิบัติทั้ง 3 วิธี

  • การตรวจคลำเต้านมด้วยตนเอง

    ควรบีบหัวนมเบาๆ เมื่อพบมีน้ำเลือด ควรรีบพบแพทย์ เพราะอาจเกิดจากเต้านมอักเสบ หรือ โรคมะเร็ง (ปกติจะไม่ได้อะไร หรือได้น้ำใสๆนิดหน่อย)

    ควรสังเกตผื่นคันเรื้อรัง บนหัวนม หัวนมบุ๋มผิดไปจากเดิม ผิวเต้านมผิดไปจากเดิม เช่นคล้ายหนังหมู หรือ บวมแดงร้อน ทั้งหมดอาจเป็นอาการของมะเร็งเต้านมได้

    ควรคลำ หรือ สังเกตุรักแร้ทั้งสองข้างด้วย ว่ามีก้อนเนื้อผิดปกติหรือไม่ เพราะโรคมะเร็งเต้านมลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรักแร้ได้สูง

    การตรวจคลำเต้านม ควรตรวจคลำ ทีละข้าง พร้อมตรวจคลำรักแร้ ทั้งนี้การตรวจคลำเต้านมด้วยตนเอง ทำได้บ่อยตามต้องการ แต่อย่างน้อยเดือนละครั้ง ซึ่งเมื่อพบก้อนเนื้อ หรือ สงสัยสิ่งผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัย ในการคลำสลับยกมือ และคลำเต้านมทีละข้าง

    คือ การใช้ฝ่ามือตนเอง คลำบนเต้านมด้านตรงข้าม อาจตรวจในท่านั่ง ท่านอนหงาย หรือ ขณะกำลังอาบน้ำ การตรวจที่เพิ่มความถูกต้อง คือ เต้านมต้องแผ่ขยายแบนราบกับผนังหน้าอก ดังนั้นในขณะตรวจ จึงควรต้องยกแขนขึ้นเพื่อ ให้เต้านมด้านนั้นแผ่ราบ แล้วใช้ฝ่ามือคลำเบาๆบนเต้านม กดเบาๆลงบนผนังหน้าอก เมื่อพบก้อนเนื้อ หรือ สงสัยสิ่งผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัย ในการคลำสลับยกมือ และคลำเต้านมทีละข้าง
  • การตรวจเต้านมโดยแพทย์ จะด้วยวิธีการเช่นเดียวกับการตรวจเต้านมด้วยตน เอง เพียงแต่ผู้ให้การตรวจเป็นแพทย์ ซึ่งในช่วงอายุ 20-39 ปี ควรให้แพทย์ตรวจทุก 3 ปี เมื่อตรวจตนเองแล้วปกติ แต่เมื่อมี่ความกังวล หรือ คิดว่า อาจมีสิ่งผิดปกติ ควรพบแพทย์ก่อนนัดเสมอ ส่วนเมื่อพบมีสิ่งผิดปกติ แพทย์จะเป็นผู้แนะนำเองว่า ควรทำอย่างไร? แต่เมื่ออายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรพบแพทย์ตรวจคลำเต้านมทุกปี โดยเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสุขภาพประจำปี
  • การตรวจภาพรังสีเต้านม เป็นการตรวจภาพเต้านมด้วยเครื่องเอกซเรย์เทคนิคเฉพาะเต้านม เพื่อตรวจภาพหินปูน ภาพก้อนเนื้องอกธรรมดา และภาพก้อนเนื้อมะเร็ง ซึ่งในบ้านเรานิยมตรวจควบคู่กับการตรวจภาพเต้านมด้วยอัลตราซาวด์

ประเทศอังกฤษ แนะนำให้ผู้หญิงปกติทุกคน ตรวจทุกปี โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 40 ปี แต่องค์กรสุขภาพด้านการป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาเอง แนะนำให้เริ่มตรวจ ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป และเมื่อไม่ใช่กลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม การตรวจควรเป็นทุก 2 ปี แต่ในกลุ่มเสี่ยงให้ขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์

ส่วนสถาบันเพื่อสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักรแนะนำผู้หญิงปกติ ควรเริ่มตรวจภาพรังสีเต้านมตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป และตรวจซ้ำทุก 3 ปี ส่วนในกลุ่มเสี่ยงให้ขึ้น กับคำแนะนำของแพทย์เช่นกัน

ในประเทศไทยเอง โรคมะเร็งเต้านมยังพบได้น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประ เทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งค่าใช่จ่ายในการตรวจในภาพรวมยังสูงมาก ดังนั้นการใช้คำแนะนำเช่น เดียวกับ สหราชอาณาจักรจึงน่าเหมาะสมกว่า

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ใครคือผู้สมควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ และควรตรวจบ่อยแค่ไหน?

 

สมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำให้บุคคลทั่วไป ทั้งผู้หญิง และผู้ชาย ควรตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เริ่มตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป หลังจากนั้น อาจตรวจทุก 5 หรือ 10 ปี เมื่อผลตรวจครั้งแรกปกติ แต่ทั้งนี้ขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ และอาการต่างๆของผู้ป่วยในช่วงนั้น และในระยะเวลาต่างๆ

อนึ่ง 6 มีนาคม พ.ศ. 2555 สมาคมแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (The American College of Physicians,ACP) ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมดังนี้ ในคนทั่วไป ควรตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ไปจนถึงอายุ 75 ปี โดยหลังจากอายุ 75 แล้วให้ขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ หรือเมื่อแพทย์ประเมินแล้วว่า จะมีอายุยืนยาวไปอีกอย่างน้อย 10 ปี แต่ในคนกลุ่มเสี่ยง ให้เริ่มตรวจคัดกรองที่อายุ 40 ปี หรือ เมื่อมีอายุได้ ประมาณ 10 ปีต่ำกว่าอายุญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่น้องท้องเดียวกัน) ที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น พี่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่อายุ 30 ปี คนคนนั้นจึงควรตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เริ่มเมื่ออายุ 20 ปี

วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ทำอย่างไร?

 

วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีหลายวิธี ที่ยังอยู่ในการศึกษา คือ การตรวจภาพลำไส้ใหญ่ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เทคนิคก้าวหน้าเฉพาะตรวจลำไส้ใหญ่ (กำลังมีการศึกษาในบ้านเราด้วย) แต่ที่นิยม คือ การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทุกส่วน ที่เรียกว่า โคโลโนสโคปี หรือ โคโลโนสโคป (Colonoscopy หรือ Colonoscope) ซึ่งข้อดีกว่า การตรวจภาพ คือ เมื่อพบสิ่งผิดปกติ หรือ ติ่งเนื้อเมือกสามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา และเพื่อการรักษาติ่งเนื้อเมือกได้เลย

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ทั้งสองวิธี ต้องเป็นการนัดตรวจ และมีการเตรียมตัวล่วงหน้า

การตรวจภาพลำไส้ใหญ่ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นการตรวจโดยแพทย์แผนกรังสีวินิจฉัย

การตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ อาจตรวจโดยศัลยแพทย์ หรือ แพทย์อายุรกรรมสา ขาทางเดินอาหาร เป็นการตรวจแบบผู้ป่วยนอก ซึ่งผู้ป่วยต้องจำกัดอาหารกากใยสูงล่วงหน้าอย่างน้อย 3-7 วัน หรือ ตามแพทย์แนะนำ เพื่อป้องกันการผิดพลาดในการแปลผลตรวจจากการตกค้างของอุจจาระในลำไส้ และยังต้องหยุดยาบางชนิด (อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ หรือ ตามแพทย์แนะนำ) ที่เป็นสาเหตุให้เลือดออกได้ง่าย เพื่อป้องกันเลือดออกในช่วงตัดชิ้นเนื้อ และต้องมีการกินยาระบายล่วงหน้าเพื่อล้างอุจจาระให้หมดจากลำไส้ ทั้งนี้แพทย์/พยาบาลผู้ให้การตรวจจะแนะนำ และมีคู่มือแนะนำเสมอ

ในวันตรวจมักจำเป็นต้องงดอาหารและน้ำดื่ม อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง และอาจต้องสวนทวาร เมื่อลำไส้ยังไม่สะอาดพอ

ในการตรวจแพทย์จะฉีดยานอนหลับเข้าหลอดเลือดดำ หลังจากนั้นสอดกล้อง ซึ่งติดอยู่ในท่อขนาดเล็กผ่านทางทวารหนักโดยความยาวของท่อ ขึ้นกับความยาวของลำไส้ใหญ่ ท่อจะประกอบด้วยกล้องให้แพทย์เห็นภาพ และถ่ายภาพได้ มีไฟฉายเพิ่มความสว่างในการมอง เห็น มีมีดเล็กๆเพื่อตัดชิ้นเนื้อและติ่งเนื้อเมือก และมีท่อสำหรับใส่ลมเพื่อขยายลำไส้ใหญ่ให้แพทย์เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น

ในขณะตรวจ เราจะไม่รู้สึกตัวจากยานอนหลับ เมื่อตรวจเสร็จ ซึ่งใช้เวลาตรวจประ มาณ 30-60 นาที อาจรู้สึกแน่นท้องบ้างจากการค้างบางส่วนของลมที่ใส่เข้าไป บางคนอาจคลื่นไส้จากผลข้างเคียงของยานอนหลับ หลังจากการนอนพักจนตื่นดีแล้ว แพทย์จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้ ซึ่งในการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ควรมีญาติที่บรรลุนิติภาวะแล้วมาเป็นเพื่อนด้วยเสมอ เพราะภายหลังได้ยานอนหลับ ถึงแม้จะตื่นดีแล้ว เรามักยังคงมึนงง หรือ วิงเวียน ญาติจะได้ช่วยดูแล และไม่ควรขับรถเอง เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จากการวิงเวียนจากยานอนหลับ

ผลข้างเคียงจากการตรวจส่องกล้องมีน้อยมาก แต่ที่อาจพบได้ ได้แก่ การติดเชื้อในลำไส้ เลือดออกเมื่อมีการตัดชิ้นเนื้อ และที่พบได้น้อยที่สุด คือ ลำไส้ทะลุ

ดังนั้นเมื่อกลับบ้านแล้ว มีไข้ หรือ อุจจาระเป็นเลือด หรือ ปวดท้อง ควรรีบมาโรง พยาบาล

โดยทั่วไป แพทย์จะแจ้งผลตรวจในเบื้องต้นให้ทราบ แต่ผลตรวจที่แน่นอน มักทราบหลังจากได้ผลชิ้นเนื้อแล้ว ทั้งนี้ ประมาณ 1-2 สัปดาห์
ที่มา   https://haamor.com/th/วิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง/

อัพเดทล่าสุด