ทั่วไป
การฉายรังสีรักษา บริเวณศีรษะ และลำคอ เป็นการฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งในเนื้อเยื่อ/อวัยวะส่วนอยู่ที่ศีรษะ และลำคอ (ยกเว้น โรคมะเร็งของผิวหนัง กล้ามเนื้อ กระดูก สมอง และของต่อมน้ำเหลือง) เช่น โรคมะเร็งช่องปาก โรคมะเร็งกล่องเสียง และโรคมะเร็งโพรงหลังจมูก
การฉายรังสีรักษา เพื่อรักษาโรคมะเร็งศีรษะและลำคอนี้ จะฉายครอบคลุมทั้ง อวัยวะที่เกิดโรค (รอยโรค) เนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง และรวมไปถึงต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอทั้งสองข้าง ที่โรคสามารถลุกลามไปถึงได้ ทั้งนี้เพราะโรคมะเร็งในระบบนี้มีการลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะใกล้เคียงกับรอยโรค และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอได้สูง ซึ่งเนื้อที่ฉายรังสี และปริมาณรังสีที่ใช้รักษาในผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันตามขนาดก้อนมะเร็ง ระยะโรคมะเร็ง การตอบสนองต่อรังสีของเซลล์มะเร็ง และดุลพินิจของรังสีรักษาแพทย์
ระหว่างฉายรังสีรักษาในมะเร็งศีรษะและลำคอมีผลข้างเคียงอย่างไร? ดูแลตนเองอย่างไร?
ผลข้างเคียงแทรกซ้อน ที่อาจพบได้ในระหว่างฉายรังสีรักษาในมะเร็งศีรษะและลำคอ ได้แก่
- ผลข้างเคียง ต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา (การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา)
- เยื่อบุในช่องปากและลำคออักเสบ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บ กลืนอาหารและน้ำลำบาก อาจทำให้ผู้ป่วยกลืนอาหารทั่วๆไปได้ยาก จึงควรเปลี่ยนเป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย รสจืด และอาจต้องพิจารณาให้อาหารเสริม น้ำผลไม้ หรือนมเสริม ระหว่างมื้ออาหารร่วมด้วย หากผู้ป่วยกินอาหารได้น้อย หรือ อาจต้องให้อาหารทางน้ำเกลือ หรือ ทางสายให้อาหารผ่านทางจมูกหรือผ่านทางหน้าท้อง เข้าสู่กระเพาะอาหาร
- น้ำลายน้อยลง ทำให้กลืนอาหารลำบากขึ้น จึงควรต้องกินอาหารอ่อนเสมอ
- ติดเชื้อราในช่องปากได้ โดยจะมีลักษณะเป็นฝ้าขาวคล้ายกับคราบนมติดอยู่ในช่องปาก พบได้บ่อยในผู้ป่วยมีประวัติสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และเคี้ยวหมาก และในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือ ผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัดร่วมด้วย ซึ่งการติดเชื้อราในช่องปากนี้ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปากมากขึ้น ซึ่ง การดูแลรักษาเบื้องต้น และเป็นการป้องกันการติดเชื้อราในช่องปากด้วย คือ
- แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง คือ เมื่อตื่นนอนและก่อนนอน รวมถึงการ แปรงลิ้นเบาๆทุกครั้งด้วย โดยให้ผู้ป่วยเลือกแปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม และใช้ยาสีฟันที่มีรสไม่เผ็ด (ยาสีฟันเด็ก) ที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพื่อลดอาการระคายเคืองในช่องปาก หากเจ็บในช่องปากมากจนไม่สามารถแปรงฟันได้ให้ใช้ผ้านุ่มๆที่สะอาดพันนิ้วมือเช็ดทำความสะอาดแทน
- บ้วนปากทำความสะอาดในช่องปากทุกครั้งหลังกินอาหาร ซึ่งอาจใช้น้ำประปา น้ำเกลือ หรือ น้ำยาบ้วนปากบางชนิดที่แพทย์รังสีรักษาแนะนำให้ใช้ ก็ได้ นอกจากนั้น ผู้ป่วยยังสามารถทำน้ำยาบ้วนปากใช้เองได้โดย ใช้น้ำต้มสุก 1 ลิตรผสมกับเกลือป่น 1 ช้อนชา และผงฟู 1 ช้อนชา เพื่อใช้ทำความสะอาดในช่องปาก กำจัดเศษอาหารไม่ให้มีตกค้าง นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในช่องปากได้ด้วย
- พบทันตแพทย์สม่ำเสมอตามนัด และดูแลทำความสะอาดในช่องปากตามคำแนะนำของแพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาลอย่างเคร่งครัด
- นอกจากนั้นแพทย์รังสีรักษาอาจพิจารณาให้ยารักษาเชื้อราและยาบรรเทาอาการ เจ็บปากตามความรุนแรงของโรค
- กินอาหารไม่รู้รส หรือการรับรสเปลี่ยนแปลงไป ในระหว่างนี้ผู้ดูแลอาจต้องเป็นผู้ปรุงรสอาหารให้ผู้ป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกินอาหารรสจัดมากเกินไป และควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารรสเผ็ด และรสเปรี้ยว รวมไปถึงงดใส่พริกไทยในอาหาร เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บในช่องปากและลำคอมากขึ้น
- เสียงแหบลงได้ หากมีการฉายรังสีบริเวณกล่องเสียง
- คลื่นไส้ อาเจียนได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดร่วมกับ ฉายรังสีรักษา หากมีอาการมากให้แจ้งเจ้าหน้าที่ห้องฉาย หรือพยาบาลเพื่อ ให้พบรังสีรักษาแพทย์ก่อนวันนัด
- หากผู้ป่วยมีอาการจากผลข้างเคียงมาก แพทย์รังสีรักษาอาจ ต้องพักฉายรังสีผู้ป่วยไว้ก่อนเพื่อ ดูแลบรรเทาอาการจากผลข้างเคียงจนอาการดีขึ้นก่อน จึงจะฉายรังสีต่อไป
- ถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น กินอาหาร หรือดื่มน้ำได้น้อย หรือไม่ได้เลย คลื่นไส้อาเจียนมาก กินอาหารแล้วสำลัก มีไข้มีอาการปวด/เจ็บในปาก/คอมาก หรือ มีแผลแตกในบริเวณที่ฉายรังสีอยู่ ให้ผู้ป่วยรีบแจ้งพยาบาล/เจ้าหน้าที่ห้องฉาย เพื่อพบแพทย์รังสีรักษาก่อนนัด หรือถ้าเป็นในช่วงที่ไม่สามารถพบแพทย์รังสีรักษาได้ ให้รีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้นไว้ก่อน
หลังครบฉายรังสีรักษาในมะเร็งศีรษะและลำคอมีผลข้างเคียงอย่างไร? ดูแลตนเองอย่างไร?
ผลข้างเคียงหลังครบรังสีรักษาไปแล้ว หรือ ที่เรียกว่า ผลข้างเคียงระยะยาว หรือ ระยะเรื้อรัง ในการรักษาโรคมะเร็งศีรษะและลำคอด้วยรังสีรักษา และการดูแล ได้แก่
- อาจมีผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา (การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา)
- กินอาหารไม่รู้รส มักคืนสภาพกลับมาได้ แต่ใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน–1 ปี ขึ้นอยู่กับ สุขภาพของผู้ป่วย และปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับ ยกเว้นรสเผ็ด ผู้ป่วยมักจะไม่สามารถกินได้เพราะจะรู้สึกเจ็บในช่องปาก
- น้ำลายแห้ง คอแห้ง ผู้ป่วยจึงควรเพิ่มความชุ่มชื้นในปากโดย จิบน้ำบ่อยๆ หรือ ใช้น้ำลายเทียม (ซึ่งแพทย์รังสีรักษาจะพิจารณาตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย) และดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
- บ้วนปากทำความสะอาดในช่องปากและเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในปากด้วย
- กินวิตามินเกลือแร่เสริมอาหารตามแพทย์รังสีรักษาแนะนำ เพราะการดูดซึมจากอาหารจะน้อยลงเพราะน้ำลายน้อยลง
- นอกจากนั้น ผู้ป่วยควรใช้ลิปกลอส หรือ ขึ้ผึ้งวาสเซลีน ทาบริเวณริมฝีปาก และมุมปาก หากมีอาการแห้ง หรือแตก หรือเพื่อป้องกันปากแห้ง แตก
- ช่องปากอาจตีบแคบ อ้าปากได้น้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยกินอาหารได้ลำบากขึ้น รวมไปถึงการดูแลทำความสะอาดในช่องปากยากขึ้นด้วย ดังนั้นผู้ป่วยควรทำกายภาพฟื้นฟูเพื่อขยายช่องปากตามที่แพทย์/พยาบาลรังสีรักษาแนะนำอย่างเคร่งครัด
- ฟันผุได้ง่าย จากน้ำลายแห้ง ดังนั้นผู้ป่วยควรดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากอย่างเคร่งครัด และพบทันตแพทย์ สม่ำเสมอตามนัด แต่หากทันตแพทย์แจ้งว่าต้องถอนฟัน ให้ผู้ป่วยปรึกษาแพทย์รังสีรักษาทุกครั้งก่อนการถอนฟัน เพราะการถอนฟันในผู้ป่วยที่เคยฉายรังสีบริเวณช่องปากมาก่อนอาจทำให้แผลถอนฟันไม่หาย แผลติดเชื้อได้ง่ายและลุกลามเข้ากระดูกกราม ซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงมากและมักรักษาไม่หาย
- มีฮอร์โมนบางชนิดต่ำลงได้ เช่น จากต่อมไทรอยด์ (ต่อมอยู่บริเวณด้านหน้าลำคอ และมักได้รับรังสีไปด้วย) หากผู้ป่วยมีอาการ หรือแพทย์รังสีตรวจพบ จะแนะนำให้ฮอร์โมนชดเชยตามความเหมาะสม
- ไขสันหลังบริเวณต้นคออักเสบ อาจทำให้เกิดอัมพาตได้ประมาณ 5-10% แพทย์รังสีรักษาอาจพิจารณาให้ยาบรรเทาอาการได้ตามความเหมาะสม แต่เป็นอาการที่รักษาไม่หาย
- เส้นเลือดบริเวณลำคอที่ได้รับการฉายรังสี ตีบอุดตันได้ง่าย อาจทำให้เกิดอัมพาตได้ประมาณ 5-10% แพทย์จึงอาจให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด และ/หรือ ยาเพิ่มเลือดไปเลี้ยงสมอง เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนในภาวะนี้ได้ดีขึ้น
- เนื้อสมองในส่วนที่ได้รับรังสีรักษาอาจเสื่อมสภาพ อาจทำให้เกิดอัมพาตได้ประมาณ 5-10% (เป็นภาวะที่รักษาไม่หาย) ซึ่งการรักษาคือ การประคับประคองทั่วไป
- ตาบอดได้ หากรอยโรคอยู่ใกล้บริเวณลูกตาหรือ จอตา ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณ 5-10% (เป็นภาวะที่รักษาไม่หาย) โดยการรักษา คือ การประคับประคองทั่วไป
- มีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดที่สอง (มะเร็งเกิดใหม่อีกชนิดหนึ่ง) ได้ประมาณ 10-15% ในบริเวณที่ฉายรังสีรักษา หากผู้ป่วยอยู่ได้นาน (ส่วนใหญ่มักนานเกิน 10 ปี)
- หากเป็นผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์นั้น ผู้ป่วยควรคุมกำเนิดทั้งในระหว่างฉายรังสีจนกระทั่งฉายรังสีครบ รวมไปจนกว่าสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยแข็งแรง สมบูรณ์และไม่มีโรคมะเร็งย้อนคืนกลับมาแล้ว ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์รังสีรักษาก่อนการตั้งครรภ์ เพราะหากต้องทำการรักษาในระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกพิการหรือเสียชีวิตได้
ควรพบรังสีรักษาแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
ถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติหลังจากให้การรักษาครบไปแล้ว เช่น มีแผล หรือก้อนเนื้อในช่องปาก มีเลือดออกในช่องปาก มีก้อนในบริเวณศีรษะและลำคอ มีแผลหรือผื่นคันในบริเวณที่เคยฉายรังสีรักษาไปแล้ว กลืนอาหารลำบาก หรือกลืนไม่ได้ แขนขาอ่อนแรง หรือตามองเห็นไม่ชัดเจน ให้ผู้ป่วยรีบพบรังสีรักษาแพทย์ หรือถ้าเป็นในช่วงที่ไม่สามารถพบรังสีรักษาแพทย์ได้ ให้รีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้นก่อนเสมอ
ที่มา https://haamor.com/th/การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ/