แก้วหูทะลุ (Ruptured eardrum)


1,205 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

แก้วหู  ระบบหูคอจมูก 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

หูตึง 

บทนำ

หู (Ear) เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ 2 ประการ คือ การได้ยินหรือการรับฟังเสียง (Phonore ceptor) และการทรงตัวของร่างกาย (Statoreceptor) ซึ่งส่วนประกอบของหู แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ

  1. หูชั้นนอก : คือส่วนของหูที่อยู่ด้านนอกต่อแก้วหู ประกอบด้วย
    • ใบหู (Auricle หรือ Pinna) : มีหน้าที่ในการรวบรวมคลื่นเสียงที่มาจากที่ต่างๆ ส่งเข้าสู่รูหู
    • ช่องหูชั้นนอก (External auditory canal) : เป็นส่วนที่อยู่ถัดใบหูเข้ามาจนถึงแก้วหู ทำหน้าที่เป็นทางเดินของคลื่นเสียงเข้าสู่หูส่วนกลาง รวมทั้งในรูหูยังมีขนและต่อมสร้างขี้หู ทำหน้าที่สร้างขี้หูไว้ดักฝุ่นละออง หรือสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าไปลึกในรูหู
    • แก้วหู หรือบางท่านเรียกว่า เยื่อแก้วหู (Tympanic membrane หรือ Eardrum) : มีลักษณะเป็นเยื่อบางๆ ทำหน้าที่สั่นสะเทือนเมื่อมีเสียงมากระทบและแยกคลื่นเสียงที่แตกต่างกันได้
  2. หูชั้นกลาง : เป็นส่วนที่อยู่ถัดจากแก้วหูเข้ามา ภายในหูชั้นกลางประกอบด้วย
    • กระดูกขนาดเล็กมากๆ 3 ชิ้น คือ กระดูกรูปค้อน (Malleus) กระดูกรูปทั่ง (Incus, แท่งเหล็กสำหรับใช้รองรับในการตีโลหะบางชนิด เช่น ตีเหล็ก) และกระดูกรูปโกลน (Stapes, ห่วงที่ห้อยลงมาจากอานม้า) เรียงตามลำดับจากด้านนอกเข้าสู่ด้านใน มีหน้าที่ในการขยายการสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงให้มากขึ้น แล้วส่งต่อการสั่นสะเทือนเข้าสู่ประสาทหูส่วนในและส่งต่อ ไปยังสมองเพื่อแปลเป็นการได้ยิน
    • หูชั้นกลาง มีการติดต่อกับท่อปรับความดันอากาศระหว่างหูชั้นกลางกับภายนอกร่างกาย/ความดันอากาศในลำคอ เรียกว่า ท่อยูสเทเชียน (Eustachian tube) ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อกลวงขนาดเล็ก เชื่อมติดต่อระหว่างภายในลำคอ/คอหอย กับหูชั้นกลาง มีหน้าที่ปรับความดันอากาศภายในหู ให้ภายในหูมีความดันอากาศเท่ากับความดันภายนอก เพราะถ้าหากระดับความดันของทั้งสองแห่งไม่เท่ากัน จะมีผลทำให้รู้สึกหูอื้อ และถ้าเกิดความแตกต่างมากจะทำให้รู้สึกปวดหูได้
  3. หูชั้นใน : ประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ
    • ท่อขดก้นหอย หรือคอเคลีย (Cochlea): ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยิน คือ รับคลื่นเสียงจากหูชั้นกลางแล้วส่งต่อทางเส้นประสาทหูชั้นในเข้าไปแปลความหมายที่สมอง
    • เนื้อเยื่อเกี่ยวกับการทรงตัว เรียกว่า เวสทิบิวล่าร์แอพพาราตัส (Vestibular appa ratus) : ทำหน้าที่ช่วยในการทรงตัว

แก้วหูทะลุเกิดได้อย่างไร?

แก้วหู เป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ กั้นระหว่างหูชั้นนอก และหูชั้นกลาง แก้วหูทะลุมักเกิดจากการ แคะหู เขี่ยหู การพยายามนำสิ่งแปลกปลอมออกจากหู การบาดเจ็บจากแรงกระแทกที่หู (เช่น การตบหู ซึ่งทำให้มีการเพิ่มของความดันภายในช่องหูชั้นนอก) การบาดเจ็บที่กะโหลกศีรษะ (ทำให้กระดูกบริเวณหลังหูหัก) การได้ยินเสียงดังจากวัตถุระเบิด หรือประทัดที่อยู่ใกล้ๆ และการมีความดันภายนอกหูจากสาเหตุต่างๆสูงเกินไป เช่น ในการดำน้ำ เป็นต้น

อีกสาเหตุที่พบได้บ่อย คือ เกิดตามหลังการติดเชื้อในหูชั้นกลาง โดยเกิดในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในหูชั้นกลางเรื้อรังหรือรักษาไม่ดี ทำให้หนองในช่องหูชั้นกลางมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ความดันในหูชั้นกลางสูงขึ้น จนดันให้แก้วหูทะลุตามมา

การทะลุของแก้วหู ทำให้การได้ยินเสียงลดลง และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่หูชั้นกลาง

โดยปกติแก้วหูจะรักษาตัวเองให้หายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่บางครั้งอาจจำเป็น ต้องผ่าตัด

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้แก้วหูทะลุ?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดแก้วหูทะลุ คือ

  1. การกระทบกระแทกต่างๆในบริเวณหู และ/หรือบริเวณศีรษะรุนแรง
  2. เกิดตามหลังการติดเชื้อ ถ้าเกิดการฉีกขาดของแก้วหู (Tympanic membrane perfo ration) จะทำให้เกิดความผิดปกติในการได้ยินและอาจมีน้ำ น้ำเหลือง หรือเลือดไหลออกมาจากหูได้
  3. รูทะลุถ้าอยู่ที่ขอบของแก้วหูมีโอกาสเกิดเป็นโรคหูร้ายแรงชนิดที่ทำให้เกิดมีเนื้อเยื่อหูชั้นนอกเข้าไปอยู่ในหูชั้นกลางได้ เรียกว่า โรค Cholesteatoma แก้วหูทะลุบริเวณส่วนบนของแก้วหู บริเวณที่อยู่ของข้อต่อกระดูกค้อนและทั่ง (Attic perforation) ซึ่งบริเวณนั้นจะมีช่องต่อ ไปยังโพรงอากาศหลังหู เป็นแก้วหูทะลุที่เป็นอันตรายเพราะอาจเกิดเป็นโรคหูร้ายแรง Cholesteatoma ในโพรงอากาศหลังหูได้ และหากมีการติดเชื้ออาจมีการลุกลามเข้าไปในสมองได้ ซึ่งต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

แก้วหูทะลุมีอาการอย่างไร?

ผู้ป่วยที่มีแก้วหูทะลุจากการบาดเจ็บ มักมีอาการหูอื้อ มีเสียงดังในหู ปวดหู อาจมีเลือดออกจากช่องหู รอยทะลุบนแก้วหูที่เกิดจากการบาดเจ็บ มักพบเป็นรูปรีๆ หรือแตกออก เป็นหลายแฉกคล้ายรูปดาว ขอบไม่เรียบ และมักมีเลือดคั่งอยู่บริเวณขอบของรอยทะลุ หรือภายในช่องหู แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจการได้ยิน (Audiogram) เพื่อตรวจหาพยาธิสภาพอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายในหูชั้นกลาง และชั้นใน แต่ส่วนใหญ่ ผู้ป่วยที่มีแก้วหูทะลุมีอาการดังนี้

  1. มีการได้ยินที่ผิดปกติไป คือ ได้ยินเสียงเบาลง
  2. ถ้าเบ่งออกแรง เช่น ตอนสั่งน้ำมูก จะรู้สึกว่ามีลมออกมาจากในหู เกิดจากตอนเบ่งจะมีลมจากในจมูกผ่านออกมาทางท่อยูสเทเชียน มาถึงหูชั้นกลาง จากนั้นลมจะผ่านแก้วหูที่ทะ ลุออกมาภายนอกหูได้
  3. ในรายที่เกิดจากการกระทบกระแทก เช่น หลังปั่นหู อาจมีเลือดไหลออกมาจากหูได้
  4. ถ้ามีการติดเชื้อในหูชั้นกลางแทรกซ้อน จะทำให้ผู้ป่วยมีน้ำ หรือน้ำเหลือง หรือหนองไหลออกมาจากหู
  5. ผู้ป่วยมักไม่มีอาการปวดหู ยกเว้นเกิดตามหลังการกระทบกระแทกอย่างเฉียบพลัน

แพทย์วินิจฉัยแก้วหูทะลุได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยแก้วหูทะลุได้โดย

  1. ภาวะแก้วหูทะลุ สามารถวินิจฉัยได้ง่าย จากการตรวจร่างกายด้วย เครื่องตรวจหู (Otoscope) แต่ในผู้ป่วยบางรายที่มีหนองหรือขี้หูในหูชั้นนอกมากจนทำให้แพทย์ไม่สามารถมองเห็นแก้วหูได้ชัดเจน แพทย์อาจมีความจำเป็นต้องให้หยอดยาละลายขี้หูก่อน หรือใช้เครื่อง มือเข้าไปดูดเอาหนองหรือขี้หูออกให้สะอาด เพื่อจะได้มองเห็นแก้วหูได้ชัดเจน
  2. การตรวจการได้ยิน : ผู้ป่วยแก้วหูทะลุจะมีการสูญเสียการได้ยินรุนแรงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของรูทะลุที่แก้วหู

แก้วหูทะลุมีภาวะแทรกซ้อนอย่างไร?

ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากแก้วหูทะลุ คือ

  • สูญเสียการได้ยิน : จนกระทั่งการฉีกขาดนั้นจะถูกรักษา ขนาดและตำแหน่งของการฉีกขาด จะส่งผลต่อระดับของการสูญเสียการได้ยิน
  • การติดเชื้อในหูชั้นกลาง : หากมีการติดเชื้อเนื่องจากการฉีกขาดไม่ได้รับการรัก ษาและไม่หาย การติดเชื้อจะเรื้อรังต่อไปและอาจทำให้สูญเสียการได้ยินถาวร
  • โรคหูรุนแรง ที่เรียกว่า โรค Cholesteatoma : คือถุงน้ำในหูชั้นกลางซึ่งประกอบไปด้วยเซลล์ผิวหนัง, ขี้หู, และเศษซากต่างๆ ที่ควรออกมายังหูชั้นนอกกลายเป็นขี้หู แต่ถ้ามีการฉีกขาดของแก้วหู จะทำให้เศษซากนี้เคลื่อนเข้าไปที่หูชั้นกลางและเกิดเป็นถุงน้ำ ซึ่งจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อและทำลายกระดูกในหูชั้นกลางต่อไป

แก้วหูทะลุมีวิธีรักษาอย่างไร?

โดยปกติการรักษาแก้วหูทะลุ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดแก้วหูทะลุ ดังนี้

  1. แก้วหูทะลุจากการกระทบกระแทก (Traumatic tympanic membrane perfora tions) : ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสที่แก้วหูที่ขาดจะกลับมาติดกันได้เองสูงมาก จึงมักไม่จำ เป็นต้องผ่าตัดซ่อมแซม คือ จากข้อมูลพบว่าแก้วหูที่ขาดจะกลับมาติดกันได้เองภายในเวลา 1 เดือน ได้ประมาณ 68% ของผู้ป่วย และที่เวลา 3 เดือน พบว่าประมาณ 94% ของผู้ป่วยมีแก้วหูกลับ มาเป็นปกติ แต่ในระหว่างนี้ผู้ป่วยต้องรักษาหูให้แห้งอยู่เสมอ ห้ามไม่ให้น้ำเข้าไปในหูข้างนั้นเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนตามมา โดยห้ามว่ายน้ำ และเวลาอาบน้ำใช้โฟม อุดในหูชั้นนอกเพื่อไม่ให้น้ำเข้าหู เป็นต้น
  2. แก้วหูทะลุที่เกิดตามหลังการติดเชื้อในหูชั้นกลาง : ผู้ป่วยกลุ่มนี้แก้วหูทะลุ มีสิ่งสกปรกหรือมีการติดเชื้อในหูชั้นนอก/หูชั้นกลาง เช่น ใช้เครื่องมือที่ไม่สะอาดแคะหู หรือแก้วหูทะลุ แล้วมีน้ำสกปรกเข้าหู กรณีนี้แพทย์ต้องพยายามนำสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่ในช่องหูชั้นนอก และหูชั้นกลางออกให้มากที่สุด แล้วให้ยาต้านจุลชีพ/ ยาปฏิชีวนะ ชนิดรับประทานและชนิดหยอดหู เป็นระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังจากนั้นอาจรอให้แก้วหูปิดเอง ซึ่งมักเป็นระ ยะเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์
  3. การผ่าตัดปะแก้วหู : กลุ่มนี้แก้วหูทะลุมักไม่สามารถหายได้เอง มักต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเอาเยื่อมาปิดบริเวณแก้วหูที่ทะลุ แพทย์อาจปลูกแก้วหูโดยจี้แก้วหูด้วยสาร เคมีเพื่อกระตุ้นให้แก้วหูงอกแล้วปะด้วยกระดาษบางๆก่อน แต่ถ้ารูทะลุไม่สามารถปิดเองได้ด้วยวิธีนี้ จึงพิจารณาทำการผ่าตัดปะแก้วหูต่อไป

แก้วหูทะลุรักษาหายไหม?

แก้วหูทะลุรักษาให้หายได้ ขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้แก้วหูทะลุ ถ้าเกิดจากการฉีกขาดเพราะแคะหู หรือถูกตบหู อาจหายเองได้รวดเร็ว แต่ถ้าเกิดจากหูน้ำหนวกซึ่งมีการติดเชื้อของหูชั้นกลาง ก็ต้องรักษาการติดเชื้อให้หายก่อน และในแก้วหูทะลุเพราะเป็นโรคภูมิแพ้ก็ต้องควบ คุมโรคภูมิแพ้ให้ปราศจากอาการก่อน

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อแก้วหูทะลุ?

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการดังกล่าวและสงสัยว่ามีแก้วหูทะลุ ควรปฏิบัติตัว ดังนี้

  1. ไม่ควรทำความสะอาดภายในช่องหูด้วยตนเอง รวมทั้งการใช้ไม้แคะหู หรือไม้พันสำลี (Cotton bud)
  2. ไม่ควรหยอดยาหยอดหูใดๆทั้งสิ้น
  3. ห้ามน้ำเข้าหูเด็ดขาด
  4. รีบพบแพทย์/แพทย์ หู คอ จมูก เพื่อการวินิจฉัย รักษาและการดูแลหูที่เหมาะสม

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุดถ้ามีอาการแก้วหูทะลุดังกล่าวข้างต้น และกรณีมีเลือดออกจากช่องหู หูอื้อ และ/หรือการรับเสียงบกพร่อง ควรรีบพบแพทย์ หู คอ จมูกฉุกเฉิน หรือภายใน 24 ชั่วโมง
ที่มา   https://haamor.com/th/แก้วหูทะลุ/

อัพเดทล่าสุด