การปฐมพยาบาล การดูแลรักษาโรคพิษสุนัขบ้า


1,150 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

สมอง  ระบบโรคติดเชื้อ 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ชัก 

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)

ในประเทศไทย พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าหรือที่เรียกว่าหมาว้อในปี 2549 ใกล้เคียงกับในปี 2548 ซึ่งพบทั้งหมด 20 ราย ส่วนใหญ่ถูกสุนัขวัย 3 เดือนกัด

ข้อมูลก่อนหน้านี้พบว่า ในหนึ่งปี มีคนถูกสุนัขบ้ากัดประมาณ 3 แสนราย ชั่วโมงละ 240 คน เสียชีวิตจากโรคนี้สัปดาห์ละ 1 คน เพราะไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกัน

สาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้า

เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อเรบีส์ (Rabies virus) เชื้อนี้ถูกทำลายได้ง่ายด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไป

วิธีการติดต่อของโรคพิษสุนัขบ้า

เชื้อไวรัสนี้จะอยู่ที่น้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อ และเข้าสู่ร่างกายของคนทางบาดแผลที่เป็นรอยกัด ข่วน ถลอก แล้วเชื้อจะเดินทางไปตามเส้น ประสาทเข้าสู่สมอง ทำให้มีอาการทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ เชื้อยังเข้าสู่คนได้ทางเยื่อเมือกต่างๆ ได้แก่ เยื่อเมือกบุตา เยื่อเมือกบุจมูกและเยื่อเมือกบุช่องปาก

ระยะฟักตัวของโรค

คือระยะที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายจนถึงมีอาการ ใช้เวลาประมาณ 2-8 สัปดาห์ หรืออาจสั้นเพียง 5 วัน แต่อาจยาวนานกว่า 1 ปีก็ได้ ซึ่งระยะฟักตัวสั้นหรือยาวขึ้น กับปัจจัยหลายอย่าง คือ

  1. ความรุนแรงของบาดแผล
  2. ปริมาณของปลายประสาทที่ตำแหน่งของแผล
  3. ระยะทางจากแผลไปยังสมอง เช่น แผลที่ ใบหน้า ศีรษะ ลำคอ และมือ จะมีระยะฟักตัวสั้น
  4. จำนวนและความรุนแรงของเชื้อ เช่น ถูกกัดผ่านเสื้อผ้า จำนวนเชื้อจะลดลง หรือมีการล้างแผลทันทีหลังถูกกัดจะลดจำนวนเชื้อได้มาก

อาการของคนที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า

อาการของโรคพิษสุนัขบ้าจะมีอาการนำก่อน (Prodromal symptoms) คือ อาการคัน ปวดแสบ ปวดร้อน ชา เย็น บริเวณที่ถูกกัด และมีอาการที่ไม่จำเพาะ เช่น มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องร่วง/ท้องเสีย อาการนำจะมีอยู่ 2-3 วัน ต่อไปจึงมีอาการเฉพาะของโรค ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

  1. แบบเอะอะโวยวาย (Furious rabies)
  2. แบบเป็นอัมพาต (Paralytic rabies)

การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า

แพทย์วินิจฉัยได้โดย

  1. จากการซักประวัติสัตว์กัด ตรวจพบบาดแผล และอาการของโรคดังกล่าว
  2. แพทย์จะส่งน้ำลาย หรือน้ำไขสันหลังของผู้ป่วยไปตรวจหาเชื้อไวรัสเรบีส์

แนวทางปฏิบัติเมื่อถูกสัตว์กัดและอาจมีโอกาสติดเชื้อพิษสุนัขบ้า

  1. ล้างและทำความสะอาดแผล ด้วยน้ำเกลือและสบู่ทันที หรือล้างแผลด้วยน้ำเกลือล้างแผล Normal saline และเช็ดแผลโดยใช้ 70% แอลกอฮอล์และน้ำยาโพวิดีนร่วมด้วย
  2. รีบไปพบแพทย์ฉุกเฉิน

แพทย์รักษาผู้ถูกสัตว์กัดและสงสัยอาจมีโอกาสติดเชื้อพิษสุนัขบ้า โดย

  1. แพทย์จะทำแผล ตามลักษณะของแผลที่ถูกสัตว์กัด หากยังไม่ได้ล้างแผล จะล้างแผลด้วย 70% แอลกอฮอล์และน้ำยาโพวิดีน โดยปกติแพทย์จะไม่เย็บแผลที่ถูกสุนัขหรือสัตว์กัด ยกเว้นบาดแผลกะรุ่งกะริ่งมาก หรือ เมื่อแผลใหญ่ จะเย็บไว้หลวมๆ
  2. ให้ยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย
  3. ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก (หากยังได้วัคซีนไม่สมบูรณ์ และให้ครั้งสุดท้ายนานเกิน 10 ปีหรือ 5 ปี ดังได้กล่าวไว้แล้ว)
  4. พิจารณาให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งแบบการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานชนิดแอคทิพ (Active immunization, ร่างกายจะเป็นผู้สร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคเอง) และชนิด แพสซิฟ (Passive immunization,เป็นสารภูมิคุ้มกันต้านทานที่ผลิตขึ้นเป็นตัวยา)

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

มี 2 ชนิดคือ

  1. วัคซีนที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันต้านทานแบบแอคทิฟ (Active immunization) คือให้วัคซีนไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคพิษสุนัขบ้าเอง ในปัจจุบัน ฉีด 5 เข็ม คือ วันแรก และวันที่ 3, 7, 14 และ 30 ของวันที่ถูกสุนัขหรือสัตว์กัด
  2. การให้ยาภูมิคุ้มกันภูมิต้านทานสำเร็จซึ่งเรียกว่า แพสซิฟ (Passive immunization) ซึ่งมีทั้งทำจากเซรุ่มคน (Human rabies immunization) หรือทำจากเซรุ่มม้า (Equine rabies immunization) ซึ่งหากใช้เซรุ่มจากม้า แพทย์จะทำการทดสอบเรื่องการแพ้เซรุ่มจากม้าก่อนให้วัคซีน เมื่อไม่แพ้จึงให้ยา โดยจะฉีดยาสารภูมิคุ้มกันต้านทานสำเร็จนี้รอบๆแผลและในแผลที่ถูกกัดให้มากที่สุด ที่เหลือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งแพทย์จะฉีดยาสารภูมิคุ้มกันต้าน ทานสำเร็จนี้ตั้งแต่วันแรกที่ฉีดวัคซีนหรือภายใน 7 วันหลังจากฉีดวัคซีน เพราะการฉีดวัคซีนเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคพิษสุนัขบ้า ต้องใช้เวลา 10-14 วัน จึงจะมีระดับภูมิต้านทาน (แอนติบอดี/Antibody) ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเพียงพอ

ความรุนแรงของโรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรครุนแรงสูงสุด ผู้ป่วยเสียชีวิตทุกราย

การป้องกันสุนัขกัด

  1. ให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครอง ให้ระมัดระวังเด็กในการเล่นกับสัตว์เลี้ยงไม่ควรเล่นใกล้ ชิดเกินไป
  2. ไม่แหย่หรือรบกวนสุนัขในขณะที่สุนัขกินอาหารหรือนอนหลับ
  3. ไม่เล่น แหย่ หรือทำร้ายสุนัขเพื่อความสนุกสนาน
  4. ไม่ซื้อสุนัขให้เด็กเลี้ยง ถ้าเด็กยังไม่โตพอที่จะดูแลสุนัขได้ ปกติถ้าเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี มักยังไม่สามารถดูแลสุนัขได้อย่างปลอดภัย
  5. ไม่วิ่งหรือขี่จักรยานผ่านสุนัขอย่างรวดเร็ว เพราะจะกระตุ้นให้สุนัขไล่กัด
  6. ไม่ควรกักขังสุนัขไว้โดยผูกเชือกหรือล่ามโซ่ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้สุนัขมีนิสัยดุร้าย
  7. หลีกเลี่ยงที่จะเข้าใกล้สุนัขที่มีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า

ข้อควรรู้และควรระวังเมื่อพบสุนัข

  1. สุนัขอาจต้องการดมซึ่งเป็นวิธีสื่อสารของสุนัขเพื่อทำความรู้จักและจำกลิ่น ดังนั้น ก่อนเลี้ยงสุนัขอาจต้องยอมให้สุนัขเข้ามาดม
  2. สุนัขชอบวิ่งตามวัตถุที่เคลื่อนที่ ดังนั้นไม่ควรวิ่งผ่านสุนัข
  3. สุนัขวิ่งเร็วกว่ามนุษย์ จึงไม่ควรให้สุนัขวิ่งไล่
  4. เมื่อพบเจอสุนัขควรอยู่นิ่งๆ อย่าร้องเสียงดัง เพราะจะยิ่งไปกระตุ้นให้สุนัขอยากไล่ล่าเพราะนึกว่าเป็นเหยื่อ
  5. อย่ากอดจูบสุนัข
  6. จากประสบการณ์ของผู้เขียน หากจำเป็นต้องเดินไปในที่ที่อาจมีสุนัขดุ จะถือไม้ยาวไว้ในมือ หากสุนัขวิ่งมาจะไม่วิ่งหนี จะทำท่ายกไม้ปรามไม่ให้สุนัขมามีอำนาจเหนือเรา มันจะวิ่งหนีไป แต่ต้องคอยมองอย่าให้มันกลับมาเล่นทีเผลอไว้ด้วย

จะไปพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อถูกสุนัข หรือสัตว์อื่นกัด หลังจากล้างแผลแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ควรเป็นฉุกเฉิน อย่านิ่งนอนใจ เพื่อแพทย์จะได้ประเมินและทำการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงที และหากแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว หลังจากนั้น ถ้ารู้สึกมีความผิดปกติ เช่นปวดแผลมากขึ้น มีอาการบวมขึ้น หรือมีไข้ตัวร้อน ควรรีบกลับไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาภาวะแทรกซ้อน

ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า คือ

  1. เชื่อว่าโรคพิษสุนัขบ้าเป็นเฉพาะในหน้าร้อนเท่านั้น
  2. เชื่อว่าเมื่อถูกสุนัขกัด ต้องใช้รองเท้าตบแผล หรือใช้เกลือขี้ผึ้งบาล์มหรือใช้ยาฉุนยัดใส่แผล
  3. หลังถูกกัด ต้องรดน้ำมนต์จะช่วยรักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้
  4. เมื่อถูกสุนัขกัด การฆ่าสุนัขให้ตายแล้วนำตับสุนัขมากิน คนจะไม่ป่วยโรคนี้
  5. เมื่อถูกสุนัขกัด การตัดหูตัดหางสุนัข จะช่วยให้สุนัขไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
  6. คนท้องไม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
  7. โรคพิษสุนัขบ้าเป็นเฉพาะในสุนัขเท่านั้น
  8. วัคซีนพิษสุนัขบ้าฉีดรอบสะดือ 14 เข็ม หรือ 21 เข้ม ถ้าหยุดฉีดต้องเริ่มใหม่

ความเชื่อเหล่านี้ทำให้ผู้ถูกสุนัขที่มีเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้ากัด ไม่ไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันทำให้มีโอกาสตายร้อยเปอร์เซ็นต์

การฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด มีความปลอดภัยสูง ฉีดเพียง 5 เข็มและไม่ต้องฉีดทุกวันดังกล่าวแล้ว

การสังเกตว่าสัตว์อาจมีอาการโรคพิษสุนัขบ้า

โดยทั่วไปแล้วสัตว์/สุนัขจะแสดงอาการของโรคได้เร็วกว่าคน คือ หลังจากรับเชื้อแล้วประมาณ 1-3 เดือน สุนัข (หรือแมว หรือ สัตว์ต่างๆ) ที่มีเชื้อนั้นจะมีอาการแสดงให้เห็นว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ 2 แบบ คือ ชนิดดุร้ายและชนิดเซื่องซึม

  1. ชนิดดุร้ายโดยไม่แสดงอาการเจ็บปวด

    ในแมวจะแสดงอาการดุร้ายมากกว่าสุนัข จะมีอาการพองขน กางอุ้งเล็บออก มีลักษณะหวาดระแวง เตรียมพร้อมจะต่อสู้อยู่ตลอดเวลา ส่งเสียงดังเป็นพักๆ มีอาการราว 2-4 วัน ก็จะเริ่มเป็นอัมพาต เคลื่อนไหวได้ช้าลง หมดสติและตายในที่สุด

    ในสุนัข/สัตว์จะมีอาการผิดปกติไปจากเดิม ถ้าหากล่ามโซ่หรือเลี้ยงไว้ในกรง จะเดินไปมากระวนกระวาย งุ่นง่าน พยายามหาทางออก โดยการกัดโซ่ กัดกรงขังจนเลือดออก แต่เมื่อไม่ได้อยู่ในกรง จะวิ่งไปโดยไร้จุดหมาย กัดคน กัดสัตว์ กัดทุกชนิดที่ขวางหน้า น้ำลายฟูมปาก คางห้อย หางตก แววตาน่ากลัว หลังจากนั้นจะเริ่มมีอาการเป็นอัมพาตขาหลังไม่มีแรง แล้วค่อยๆ ล้มลงหมดสติ และตายภายใน 3-6 วัน หลังจากที่แสดงอาการ
  2. ชนิดเซื่องซึม จะสังเกตได้ยาก เพราะแสดงอาการป่วยเหมือนสัตว์เป็นโรคอื่นๆ เช่น โรคหวัด สุนัขหรือแมวจะหลบไปนอนในที่เงียบๆ ไม่แสดงอาการดุร้าย จะกัดคนหรือสัตว์อื่นเมื่อถูกรบกวน หรือเมื่อผู้เลี้ยงเอาน้ำ อาหาร หรือยาไปให้ เมื่ออาการกำเริบมากขึ้นจะมีอาการเป็นอัมพาต และตายในที่สุด ส่วนมากจะตายภายใน 3-6 วัน หลังจากแสดงอาการ

การเก็บตัวอย่างส่งตรวจโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์

ถ้าเป็นสุนัข แมว หรือสัตว์ที่สามารถกักขังไว้ได้ กักสัตว์นั้นอยู่ในบริเวณไม่ให้หนีไปได้ เพื่อเฝ้าดูอาการประมาณ 10 วัน ถ้าสัตว์แสดงอาการป่วย หรือไม่สามารถกักขังสัตว์นั้นได้ หรือเป็นสัตว์ชนิดอื่น ให้รีบทำลายสัตว์นั้นและรีบส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทันที โดยเมื่อสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นพิษสุนัขบ้าตายลง ให้ตัดหัว (เชื้อ และลักษณะการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อที่ชัดเจนช่วยวินิจฉัยโรคได้แม่นยำ จะอยู่ที่สมอง) หรือถ้าสัตว์นั้นมีขนาดเล็กให้ส่งตรวจได้ทั้งตัว ตัวอย่างที่ส่งตรวจต้อง

  1. ใส่ถุงพลาสติกให้มิดชิด
  2. ห่อด้วยกระดาษหลายๆชั้น
  3. และใส่ถุงพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง ปิดปากถุงให้สนิท เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจาย
  4. จากนั้นนำใส่ภาชนะเก็บความเย็นที่บรรจุน้ำแข็ง
  5. ปิดฉลากชื่อ นามสกุล ที่อยู่ผู้ส่งตรวจ และวันเดือนปีที่เก็บตัวอย่างส่งตรวจให้ชัดเจน
  6. รีบนำส่งห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลทันที

สิ่งที่ต้องระวังคือ ผู้ที่ตัดหัวสัตว์ต้องไม่มีแผลที่มือ และต้องใส่ถุงมือยางหนา ซากสัตว์ที่เหลือให้ฝังลึกประมาณ 50 เซนติเมตร มีดที่ใช้หลังตัดหัวสัตว์และเครื่องมือที่ใช้ต้องต้มให้เดือด 30 นาที เพื่อฆ่าเชื้อ และบริเวณที่ตัดหัวสัตว์ต้องล้างทำความสะอาดด้วยผงซักฟอก หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทันที
ที่มา   https://haamor.com/th/การปฐมพยาบาล-การดูแลรักษาโรคพิษสุนัขบ้า/

อัพเดทล่าสุด