การผ่าตัดผ่านทางกล้อง (Laparoscopic surgery)


858 ผู้ชม


บทนำ

การผ่าตัดผ่านทางกล้อง (Laparoscopic surgery) เป็นการผ่านตัดผ่านรูเล็ก ๆ ที่เจาะผ่านผนังหน้าท้องเข้าไปในช่องท้อง โดยใช้กล้องเรียวเล็ก ผ่านเข้าไปส่องดูอวัยวะในช่องท้อง ศัลยแพทย์จะดูภาพผ่านจอทีวีขณะที่ทำผ่าตัดด้วยเครื่องมือเรียวเล็กผ่านรูเล็กๆเหล่านี้ แทนที่จะต้องผ่าตัดผ่านแผลใหญ่เช่นการผ่าตัดตามวิธีปกติ

การใช้กล้องส่อง ยังอาจขยายภาพที่กำลังทำผ่าตัดให้ใหญ่เห็นชัดกว่าธรรมดา วิธีนี้ยังใช้กับการผ่าตัดช่องทรวงอกได้ด้วย

การผ่าตัดผ่านทางกล้องนี้ ต้องใช้เลนส์ที่เป็นแท่งเรียวเล็กที่ต่อกับกล้องรับภาพ เพื่อส่งต่อภาพให้ปรากฎบนจอทีวี กล้องบางอย่างจะใช้จอรับภาพเล็กจิ่ว ติดปลายแท่ง ที่สอดเข้าไปในช่องท้อง แต่ไม่ว่าจะเป็นระบบใดก็ตาม จะต้องมีแหล่งจ่ายแสงสว่างติดเลนส์ หรือติดปลายกล้อง เข้าไปส่องให้ความสว่างด้วย จึงจะเห็นภาพอวัยวะต่างๆได้ หน่วยจ่ายแสงสว่างนี้ โดยมากจะให้แสงซีนอน (Xenon) ซึ่งมีความจ้าสว่างของแสงมาก แต่ให้สีของอวัยวะเป็นธรรมชาติ เล็นส์หรือกล้องเหล่านี้ มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดต่าง ๆ เช่น 10 มิลลิเมตร (มม.) 5 มม. หรือเพียง 3 มม.

นอกจากนี้ เพื่อให้ช่องท้องขยายตัว ถ่างออก ให้เครื่องมือเข้าไปทำงานได้โดยสะดวก ศัลยแพทย์ยังใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านเข้าไปในช่องท้อง และควบคุมความดันก๊าซด้วยเครื่องอัตโนมัติ ที่เลือกใช้กาซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็เพราะเป็นก๊าซไม่ติดไฟขณะเมื่อใช้กระแสไฟฟ้าในการตัดอวัยวะ หรือเมื่อจี้เนื้อเยื่อต่างๆด้วยไฟฟ้าเพื่อห้ามเลือดต่างๆ

การผ่าตัดผ่านกล้องมีประวัติเป็นมาอย่างไร?

ประวัติของการพัฒนาการผ่าตัดผ่านทางกล้อง เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1902 Georg Kelling, จากเมื่อง Dresden, Saxony ชาวเยอรมันเป็นคนแรกที่ทำการส่องกล้องผ่านรูเล็กๆ เข้าไปดูอวัยวะในสุนัข ต่อมาในปี คศ. 1910 Hans Christian Jacobaeus ที่ประเทศสวีเด็น ได้รายงาน การทำผ่าตัดผ่านทางกล้องในคนเป็นผลสำเร็จเป็นครั้งแรก หลังปี คศ. 1950 เป็นต้นมา มีการพัฒนาเครื่องมือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ศัลยแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สูตินรีแพทย์ได้ใช้วิธีีนี้ในการตรวจวินิจฉัยโรคทางช่องท้องน้อย และแพทย์ระบบทางเดินอาหาร และตับ ใช้วิธีนี้ในการส่องกล้องตรวจวินิจฉัยโรคของตับ และของช่องท้อง แต่ในยุคแรก การตรวจต้องมองผ่านเลนส์โดยตรง ในปี คศ. 1990 มีการพัฒนาใช้กล้องรับภาพเพื่อส่งเข้าฉายในจอทีวีได้สำเร็จ การทำผ่าตัดชนิดต่างๆจึงทำได้อย่างปลอดภัย โดยแพทย์ผู้ช่วยผ่าตัด สามารถเห็นภาพ พร้อมกันกับศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัด การผ่าตัดชนิดนี้ จึงแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็วทั่วโลก

การผ่าตัดผ่านกล้องใช้ผ่าตัดโรคอะไรได้บ้าง?

ปัจจุบัน การผ่าตัดชนิดนี้ ใช้มากที่สุดในการผ่าตัดถุงน้ำดีที่มีนิ่ว และ แทบจะทุกอวัยวะในช่องท้อง สามารถทำการผ่าตัดได้ด้วยวิธีนี้ เช่น ไส้ติ่ง กระเพาะอาหาร ตับ ตับอ่อน ม้าม ไต ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ ท่อน้ำดี ต่อมหมวกไต ซึ่งโรคชนิดต่าง ๆ ที่เกิดกับอวัยวะเหล่านี้ รวมทั้ง โรคมะเร็ง ก็อาจรับการรักษาด้วยการผ่าตัดชนิดนี้ได้

ศัลยแพทย์ทำการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อ ตัดถุงน้ำดี ตัดไส้ติ่งที่อักเสบ (โรคไส้ติ่งอักเสบ) ตัดถุงน้ำ หรือเนื้องอกของรังไข่ ตัดปีกมดลูกเพื่อทำหมัน ตัดก้อนเนื้อในผนังมดลูก ตัดมดลูก ตัดเนื้องอกในตับ ตับอ่อน ตัดไตที่มีเนื้องอก ตัดไตเพื่อปลูกถ่ายไตให้อีกผู้หนึ่งระหว่างพ่อแม่ลูกหรือพี่น้อง ตัดก้อนเนื้องอกในต่อมหมวกไต ตัดต่อมน้ำเหลือง หรือก้อนเนื้อในช่องท้องเพื่อการวินิจฉัย

การผ่าตัดชนิดนี้ ยังใช้ในการตัด และต่อลำไส้ เช่น ในโรค ตัดต่อกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กเพื่อลดความอ้วน ตัดต่อลำไส้ที่อุดตัน และ ตัดต่อท่อน้ำดี

ในช่องทรวงอก การผ่าตัดชนิดนี้ ใช้ในการตัดปอดที่มีโรค เช่น ในโรคมะเร็งปอดหรือ จากการอักเสบเรื้อรัง ใช้ในการตัดเนื้อเยื้อหุ้มปอดเพื่อการวินิจฉัยโรคปอด ตัดเย็บปอดที่มีรูรั่ว ตัดเลาะเยื้อหุ้มปอดที่มีการอักเสบ หรือที่เป็นหนอง ตัดต่อมะเร็งหลอดอาหาร (โรคมะเร็งหลอดอาหาร) ตัดเยื่อบุหัวใจที่อักเสบ ตัดต่อมน้ำเหลืองในช่องทรวงอกเพื่อการวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดและโรคต่างๆ

การผ่าตัดผ่านกล้อง ยังใช้กับอวัยวะอื่นที่ไม่ได้อยู่ในช่องท้อง และในทรวงอก เพื่อซ่อนแผล เช่น การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ผ่าตัดก้อนเนื้องอกในเต้านม และผ่าตัดหลอดเลือดดำในขา ซึ่ง วิธีการ คือ เจาะผ่านรูในตำแหน่งที่ซ่อนอยู่ และสร้างช่องใต้ผิวหนัง เพื่อนำเครื่องมือไปถึงตำแหน่งที่ต้องการ เช่น ในการผ่าตัดไทรอยด์ แพทย์จะเจาะรูผ่านบริเวณรักแร้ สร้างช่องลมผ่านไปที่คอ ทำการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ที่มีเนื้องอกออก เสร็จแล้วก็ปล่อยลมออก แผลที่อยู่ใต้ผิวหนังก็หายเป็นปกติโดยไม่มีแผลให้เห็นที่คอ

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดด้วยกล้อง ไม่สามารถใช้ได้ในทุกกรณีเสมอไป เช่น หลายครั้งเมื่อมีการอักเสบมาก หรือมีพังผืดในช่องท้องมาก หรือเมื่อเคยผ่าตัดมาก่อน หรือก้อนเนื้องอกในท้องใหญ่มาก หรือลำไส้บวมพองจนไม่มีช่องว่างในท้อง ในกรณีเหล่านี้ การผ่าตัดผ่านกล้องจะมีความเสี่ยงสูง และทำได้ไม่สะดวก ศัลยแพทย์จึงจะแนะนำให้ผ่าตัดเปิดแผลใหญ่ตามธรรมดา และในบางครั้ง ขณะที่ผ่าตัดผ่านกล้อง หากพบว่าผ่าตัดได้ยาก หรือไม่อาจแยกแยะได้ว่า หลอดเลือด หรือท่อน้ำดีอยู่ตำแหน่งไหนในกรณีที่มีการอักเสบมาก ก็จะต้องเปลี่ยนไปผ่าตัดผ่านแผลใหญ่ เพื่อความปลอดภัย

การผ่าตัดผ่านกล้องดีกว่าการผ่าตัดเปิดแผลใหญ่แบบธรรมดาอย่างไร?

การผ่าตัดผ่านกล้องจะมีแผลเล็ก เจ็บตัวน้อย เนื่องจาก เพียงเจาะผ่านกล้ามเนื้อ แต่ไม่ต้องตัดกล้ามเนื้อ ร่างกาย จึงรับรู้การบาดเจ็บที่น้อยกว่า การฟื้นตัวของร่างกายสู่สภาพการทำงานปกติจึงเกิดได้เร็วกว่ามาก การฟื้นตัวของลำไส้ในช่องท้องจะเร็วกว่า โดยหลังผ่าตัด จะเริ่มทานอาหารได้เร็วกว่า ทำให้กลับบ้านได้เร็วกว่า ประหยัดจำนวนวันที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาล และวันที่ใช้ฟื้นตัวที่บ้าน จึงกลับไปทำงาน หรือไปโรงเรียนได้เร็วกว่ามาก

การผ่าตัดผ่านกล้องมีอันตรายและมีผลเสียอะไร?

ความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดผ่านกล้องโดยรวมจะน้อยกว่าการผ่าตัดเปิดแผลใหญแบบธรรมดา เช่น การติดเชื้ออักเสบ เลือดออกระหว่างผ่าตัดหรือหลังผ่าตัด แต่การเกิดผลข้างเคียงระหว่างผ่าตัดมักจะรุนแรงกว่า เช่น เกิดการทะลุของหลอดเลือดใหญ่ การควบคุมให้เลือดหยุดขณะผ่าตัดอาจทำได้ช้ากว่า และอาจจะต้องรีบผ่าตัดเปิดแผลใหญ่เพื่อห้ามเลือดบางครั้งอาจเกิดการทะลุของลำไส้ส่วนอื่นโดยแพทย์ไม่ทันรู้ตัว จึงเกิดลำไส้รั่ว และ การอักเสบในช่องท้องหลังการผ่าตัด และต้องผ่าตัดซ้ำภายหลัง เป็นต้น แต่ผลข้างเคียงเหล่านี้เกิดได้น้อย

มีความก้าวหน้าของการผ่าตัดผ่านกล้องอย่างไร?

การผ่าตัดผ่านกล้องนี้ ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื้องทั้งในอุปกรณ์เครื่องมือผ่าตัด อุปกรณ์กล้อง และวิธีการทำผ่าตัด

ปัจจุบันเครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัดมีเพิ่มขึ้นมาก ในอดีตใช้ความคมของกรรไกร และเมื่อมีเลือดออก ก็ใช้กระแสไฟฟ้าจี้ ซึ่งผลข้างเคียง คือ ความร้อนที่เกิดขึ้น อาจเกินขอบเขตที่แพทย์ตั้งใจไว้ บางครั้งกระแสไฟฟ้าอาจลัดวงจร ทำให้ลำไส้ส่วนอื่นทะลุได้

ต่อมามีการพัฒนาเครื่องจี้ไฟฟ้าที่เป็นสองขั้วในปลายเครื่องมือ (Bipolar instrument) และในรุ่นใหม่ เครื่องยังสามารถรับรู้ระดับความต้านทานของเนื้อเยื่อต่อกระแสไฟฟ้า และปรับระดับไฟฟ้าอัตโนมัติได้

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือที่ใช้แรงสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงในการตัดเนื้อเยื่อ และในการทำให้โปรตีนในเนื้อเยื่อแข็งตัวเพื่อห้ามเลือด เรียกว่า Harmonic instrument มีคุณสมบัติที่ไม่ทำให้เนื้อเยื่อข้างเคียงเปลี่ยนแปลง ทำให้แผลหายเร็ว และเจ็บน้อยลง

เครื่องมือในการตัดต่อเนื้อเยื่อ และอวัยวะ ได้พัฒนาไปมาก มีเครื่องมือชนิดต่าง ๆ ขนาดต่างๆในการเย็บตัดต่อลำไส้ โดยใช้โลหะไททาเนี่ยม (Titanium) ทำให้สามารถตรวจภาพอวัยวะที่ผ่าตัดด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ได้ภายหลังจากการผ่าตัด ทั้งนี้เพราะ ปกติหากมีโลหะเหล็กในเนื้อเยื่อ หรือ ในอวัยวะ จะทำให้ภาพของเนื้อเยื่อ และอวัยวะเหล่านี้ไม่ชัดเจนเมื่อตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

ในด้านกล้องที่ใช้ ปัจจุบันได้พัฒนาไปเป็นกล้องที่เห็นภาพละเอียดมาก (HD, High definition) และยังมีกล้องสามมิติให้ใช้ จอทีวีก็พัฒนาเป็นจอภาพละเอียดขึ้นมาก

วิธีการผ่าตัดผ่านกล้องในปัจจุบันได้พัฒนาไปหลายวิธี เช่น ผ่าตัดผ่านแผลเพียงรูเดียวที่สะดือ (Single port) แต่เป็นรูใหญ่ที่มีช่องให้เครื่องมือผ่าน สาม หรือสี่ช่องทางได้ เครื่องมือที่จะใช้ ก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นเครื่องมือที่ยาวเรียวแต่โค้ง เพื่อไม่ให้เครื่องมือตีกันเองในช่องท้อง ซึ่งเหมาะ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ปรารถนาจะมีแผลที่เห็นชัด โดยซ่อนแผลเดียวที่สะดือ แต่ วิธีนี้ใช้เวลาการผ่าตัดมากกว่า และมีความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงมากขึ้น

การผ่าตัดผ่านกล้องโดยใช้หุ่นยนต์ (Robotic surgery) เป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในปัจจุบัน โดยข้อจำกัดของการผ่าตัดผ่านกล้องที่ทำด้วยมือ คือ ไม่อาจทำได้ในมุมที่คับแคบ เช่น ในอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อย ในการผ่าตัดต่อมลูกหมาก หรือการต่อท่อปัสสาวะหลังการตัดต่อมลูกหมากทำได้ไม่ถนัดมือ เพราะมุมแคบ แต่เมื่อใช้แขนเล็กๆ ของหุ่นยนต์ ที่หมุนเปลี่ยนทิศทางในที่คับแคบได้ ก็ทำให้การผ่าตัดสะดวก และเสียเลือดน้อยมาก การผ่าตัดชนิดนี้ ถือเป็นมาตรฐานปัจจุบันในการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก เครื่องมือแต่ละชุดราคา 80 - 140 ล้านบาท ซึ่งแพงมากสำหรับประเทศไทย ผู้ป่วยจึงต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเฉพาะค่าเครื่องมือนี้ โดยเฉลี่ยประมาณอย่างน้อยสองแสนบาท เพิ่มจากค่ารักษาปกติ ในประเทศไทยจึงมีเครื่องมือเหล่านี้ เพียงในบางโรงพยาบาลที่มีคณะแพทย์เท่านั้น

หลังผ่าตัด ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อใร?

หลังการผ่าตัดผ่านกล้องแล้ว ระยะฟื้นตัวในโรงพยาบาลสั้นมาก แพทย์มักให้กลับบ้านได้โดยเร็ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่กลับไปใช้ชีวิต และทำกิจกรรมปกติได้ภายในไม่กี่วันถึงหนึ่งสัปดาห์ แต่ในสัปดาห์แรก ยังไม่ควรทำกิจกรรมที่หนัก หลังจากหนึ่งสัปดาห์ไปแล้ว ก็ค่อยๆ เพิ่มกิจกรรมเท่าที่ทำได้จนกระทั่งเป็นปกติ

แผลหลังผ่าตัด เพียงไม่กี่วันก็สามารถเปียกน้ำได้ อาบน้ำได้ ไม่จำเป็นต้องปิดแผล ปล่อยให้แผลสัมผัสอากาศให้แห้ง

ในกรณีที่มีไข้สูง หนาวสั่น อาเจียน ปัสสาวะลำบาก แผลแดงบวม ปวดมากขึ้นผิดสังเกต มีความผิดปกติต่างๆ หรือ กังวลในอาการ หรือ ในเรื่องของแผล ก็ควรรีบกลับไปพบศัลยแพทย์ก่อนนัด แต่ถ้าทุกอย่างเป็นปกติ ก็พบแพทย์ตามนัด

สรุป

การผ่าตัดผ่านกล้องนี้เป็นมาตรฐานปัจจุบันสำหรับหลายๆโรค แต่ไม่ทั้งหมด เป็นความก้าวหน้าที่เป็นประโยชน์มากสำหรับผู้ป่วย การพัฒนาเครื่องมือ และวิธีการในการผ่าตัดยังมีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจในการผ่าตัดด้วยวิธีใด จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับ เปรียบเทียบกับความเสี่ยง ซึ่งแต่ละคนแตกต่างกัน จะต้องปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาในแต่ละการผ่าตัด เป็นครั้งๆไป
ที่มา   https://haamor.com/th/การผ่าตัดผ่านทางกล้อง/

อัพเดทล่าสุด