การแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยวิธีผ่าตัด (Refractive surgery)


1,031 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ดวงตา  ระบบตา 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

เห็นภาพไม่ชัด 

บทนำ

การแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติด้วยแว่นตาเป็นวิธีที่เก่าแก่ที่สุด ตามมาด้วย คอนแทคเลนส์ (Contact lens หรือ เลนส์สัมผัส) ทั้ง 2 อย่างเป็นการเอาวัสดุมาวางหน้าดวงตา เพื่อแก้ ไขภาวะสายตาผิดปกติแบบชั่วคราว ถ้าถอดคอนแทคเลนส์หรือเอาแว่นออก ตาจะมัวเหมือน เดิม ด้วยเหตุทั้งแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ต้องนำมาวางหน้าลูกตา แว่นตาก็ต้องมีขาแว่นมาเกี่ยวข้างหู มีแป้นกดบริเวณจมูก หรือคอนแทคเลนส์ก็ค่อนข้างยุ่งยากในการใช้ จึงมีผู้คิดค้นวิธีรักษาสายตาผิดปกตินี้ให้อยู่ถาวร ไม่ต้องมีอุปกรณ์อะไรมาวางเกะกะ นั่นคือ ที่มาของการแก้ไขสายตาผิดปกตโดยวิธีผ่าตัด (Refractive surgery)

หากมาพิจารณาถึงเหตุของสายตาผิดปกติที่ว่า ขาดความสมดุลของเลนส์ที่ทำหน้าที่หักเหแสงจากวัตถุให้ไปตกที่จอตากับความยาวของลูกตา คงจะยากที่จะไปลดหรือขยายความยาวของลูกตา แต่เลนส์ที่ว่านี้ เป็นหน้าที่ของกระจกตา (Cornea) และแก้วตา (Lens) ซึ่งอวัยวะ 2 ส่วนนี้ หมอตาคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะเคยผ่าตัดเอาแก้วตาออก เคยผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา และเคยเย็บแผลกระจกตา เป็นต้น ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงกำลังหักเหแสงของกระจกตาหรือแก้วตา จึงเป็นวิธีแก้ไขสายตาผิดปกติได้ โดยในระยะแรกการผ่าตัดเริ่มที่กระจกตาก่อน ต่อมาจึงมีการผ่าตัดที่แก้วตา

มีวิธีแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยผ่าตัดอย่างไรบ้าง?

การแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยวิธีผ่าตัด

มีวิธีแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยการผ่าตัด ดังนี้

  • วิธีแก้ไขสายตาผิดปกติโดยผ่าตัดแก้ไขที่กระจกตา

    กระจกตาเป็นอวัยวะส่วนหน้าของลูกตาที่คล้ายพลาสติค กึ่งนุ่มกึ่งแข็ง ใส ไม่มีสี มีความยืดหยุ่นพอสมควร มีความโค้งในตัว วางอยู่ในน้ำ ผิวหน้าเป็นน้ำตาฉาบบางๆ ด้านหลังเป็นสารน้ำในลูกตา หรือ Aqueous humour มีกำลังหักเหของแสงถึง 80% เมื่อเทียบกับแก้ว ตาที่มีเพียง 20% การปรับเปลี่ยนความโค้งของกระจกตา จึงทำได้ไม่ยาก เพราะว่ากระจกตาอยู่ผิวหน้าสุด แพทย์เข้าถึงง่าย การลดความโค้งของกระจกตาลง ทำให้แก้ไขสายตาสั้นได้ เป็นที่มาของวิธีผ่าตัด ที่เรียกว่า การกรีดเป็นเส้นรัศมีที่กระจกตา (Radial keratotomy) เรียกกันย่อๆ ว่า RK (อาร์เค) หรือการใช้แสงเลเซอร์ยิงไปยังผิวกระจกตาเป็นการฝานกระจกตาออกบางๆ ทำให้กระจกตาแบนลง ลดความโค้งลงได้ ลดภาวะสายตาสั้นลง เป็นที่มาของ การผ่าตัดที่เรียกว่า Photorefractive keratotomy ที่เรียกกันว่า PRK (พีอาร์เค) และวิธีที่เรียกกันว่า LASIK/เลสิก (laser insitu keratomileusis) ซึ่งเป็นวิธีแยกชั้นกระจกตาออกเป็นหิ้งหรือเปิดเป็นฝาไว้ แล้วยิงเลเซอร์ไปยังบริเวณกลางของกระจกตา

    การผ่าตัดบริเวณกระจกตาเพื่อแก้ไขสายตาผิดปกติที่นิยมทำกัน คือ 3 วิธีดังกล่าวได้แก่ RK, PRK และ LASIK แต่ยังมีวิธีอื่นอีก เช่น การฝังวงแหวนรอบกระจกตา (Intrastro mal Corneal Ring Segments หรือ เรียกย่อว่า ICRS/ไอซีอาร์เอส) ซึ่งมีทำกันบ้างเล็ก น้อย

  • การแก้ไขสายตาผิดปกติที่แก้วตา

    สืบเนื่องจากมีการผ่าตัดโรคต้อกระจกโดยเอาแก้วตาที่ขุ่นออก ตามด้วยการใส่แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ ซึ่งมีการรักษาในผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น ผลเป็นที่พอใจมากขึ้น เนื่อง จากมีการเห็นที่ดีขึ้นอย่างมาก อีกทั้งมีเทคนิควิธีการผ่าตัดที่ง่ายขึ้น แผลเล็กมาก โรคแทรกซ้อนน้อยลง สามารถแก้ไขสายตาผิดปกติที่มีอยู่เดิมไปด้วยได้ในคราวเดียวกัน อันที่จริงอาจกล่าวได้ว่า การฝังแก้วตาเทียมหลังผ่าตัดต้อกระจก เป็นวิธีแก้ไขสายตาผิดปกติโดยวิธีสอดใส่แก้วตาแก้ไขสายตายาวที่เกิดหลังผ่าตัดต้อกระจก ถือเป็นการผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติอันแรกก็ว่าได้

    การฝังแก้วตา/เลนส์เทียมทำได้ไม่ยาก จึงมีผู้คิดวิธีสอดใส่เลนส์เทียมแก้ไขสาย ตาผิดปกติ โดยไม่ยุ่งกับแก้วตาปกติของผู้ป่วย คล้ายๆกับแทนที่จะใช้คอนแทคเลนส์วางที่หน้า ตา ใส่เช้าถอดเย็น ก็นำมันไปฝังไว้ในตาจะได้ไม่ต้องถอดๆใส่ๆ อันเป็นที่มาของคำว่า Implan table contact lens หรือเรียกย่อๆว่า ICL/ไอซีแอล คือ เป็นการฝังคอนแทคเลนส์เข้าไปภายในดวงตาเลย อาจฝังเข้าไปหน้าต่อ ม่านตา หรือหลังม่านตา ซึ่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป

    นอกจากนั้น ในกรณีที่มีสายตาสั้นมาก เช่น 15.0–20.0 ไดออปเตอร์ ขึ้นไป อาจรักษาโดยเอาแก้วตาซึ่งมีกำลังประมาณ 15.0–20.0 ไดออปเตอร์ นั้นออก ซึ่งเมื่อเอาแก้วตาออก สายตาสั้นที่มีอยู่เดิมจะใกล้เคียงกับสายตายาวที่เกิดขึ้นหลังเอาแก้วตาออก จึงแก้ไขสาย ตาสั้นได้พอเหมาะ เรียกว่า ทำ Clear lens extraction แต่ถ้าสายตาสั้นมาก หรือ เมื่อเอาแก้วตาออกแล้ว ยังมีสายตาสั้นหรือยาวเหลืออยู่ ก็ฝังแก้วตาเทียมแก้ไขเพิ่มเติมไปตาสายตาผิดปกติที่เหลือร่วมด้วย

โดยสรุป การผ่าตัดแก้วตาเพื่อแก้ไขสายตาผิดปกติ มีวิธีต่างๆ ดังนี้

  1. เอาแก้วตาธรรมชาติออกอย่างเดียว
  2. เอาแก้วตาธรรมชาติออกไม่ว่าจะเป็นต้อกระจกหรือไม่ก็ตาม แล้วตามด้วยฝังเลนส์เทียมแก้ไขสายตาผิดปกติที่ยังเหลืออยู่
  3. ไม่ยุ่งกับแก้วตาธรรมชาติ แต่ใส่เลนส์เทียมแก้ไขสายตาที่ผิดปกติ วางหน้าแก้วตาธรรมชาติ โดยอาจวางหน้าม่านตาหรือหลังม่านตาดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

มีข้อจำกัด และ/หรือผลข้างเคียงจากการผ่าตัดแก้ไขสายตาอย่างไรบ้าง?

หากท่านตัดสินใจเลือกทำผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ จะต้องยอมรับในผลหรือ ผลข้าง เคียงต่างๆ ดังนี้

  1. วิธีนี้เป็นวิธีแก้ไขสายตาผิดปกติวิธีหนึ่งที่มีความปลอดภัยน้อยกว่าแว่นตา
  2. แม้ว่าในปัจจุบัน มีการใช้คอมพิวเตอร์และมีเครื่องมือหลายๆอย่าง เพื่อเพิ่มความแม่น ยำ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะแม่นยำในทุกคน ผลผ่าตัดอาจคลาดเคลื่อนจากที่ตั้งเป้าไว้ ต้องมีการทำซ้ำในรายที่ทำซ้ำได้ หรืออาจต้องใช้แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์แก้ไขในส่วนผิดปกติที่เหลือ
  3. บางคนหลังทำแล้ว สายตาไม่แน่นอน (Fluctuation of vision) การมองเห็นไม่คงที่ เดี๋ยวชัด เดี๋ยวไม่ชัด โดยที่สายตาจะค่อยๆคงที่ในเวลาต่อมา ช้าหรือเร็ว แตกต่างกันในแต่ละบุคคลซึ่งคาดเดายาก
  4. ผลข้างเคียงหลังทำผ่าตัด โดยเฉพาะในรายทำ PRK หรือ LASIK อาจมอง เห็นแสงกระจาย หรือ เห็นเป็นวงรอบดวงไฟ (Glare and halo) และมีอาการทนแสงไม่ได้โดยเฉพาะเวลากลางคืน ซึ่งบางท่านอาจขับรถกลางคืนไม่ได้ไประยะเวลาหนึ่ง โดยบอกได้ยากว่า จะเป็นอยู่นานเท่าไร
  5. มักจะมีการมองภาพเปรียบเทียบ (Contrast sensitivity)ลดลง โดยมองภาพในที่สลัวไม่ชัดเจน
  6. การผ่าตัดทำที่กระจกตา จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงเฉพาะที่กระจกตา แต่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายวิภาคของดวงตาส่วนอื่น อัตราเสี่ยงของโรคอื่นๆที่พบในคนสายตาสั้น เช่น น้ำวุ้น (วุ้นตา) เสื่อม จอตาฉีกขาด จอตาหลุดลอก ยังคงเหมือน เดิม เพียงแต่การผ่าตัดไม่ได้ทำให้อัตราเสี่ยงต่อภาวะดังกล่าวเพิ่มขึ้น
  7. ส่วนใหญ่ เป็นการแก้ไขการมองเห็นระยะไกล (สายตาสั้น) ดังนั้นหากเดิมเคยใช้แว่นอ่านหนังสืออยู่ หรือเดิมไม่ได้ใช้ เมื่ออายุถึง 40 ปี ยังอาจต้องใช้แว่นอ่านหนังสือจากภาวะสายตาผู้สูงอายุ ยกเว้นการทำผ่าตัดจงใจแก้ล่วงหน้าให้เหลือสายตาสั้นอยู่บ้าง เพื่อให้มองใกล้ชัด ซึ่งแน่นอนมองไกลไม่ชัดนัก หรือในบางรายอาจตั้งเป้าให้ตาปกติข้างหนึ่ง (ไว้มองไกล) ส่วนอีกข้างให้เหลือสายตาสั้น (ไว้มองใกล้) ที่เรียกกันว่า Monovision
  8. ต้องตระหนักว่า เช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกอย่าง อาจมีผลแทรกซ้อนเล็กๆน้อยๆตลอด จนรุนแรง ในขณะผ่าตัดหรือภายหลังได้ แม้ว่าจะมีโอกาสน้อยมากก็ตาม อาการดัง กล่าว เช่น มีหลอดเลือดฝอยงอกเข้ากระจกตา (ตาเห็นมัวลง)กระจกตาบางลงจึงเกิดภาวะสายตาเอียง การสมานแผลผิดปกติทำให้กระจกตาถลอกเป็นๆหายๆ (ส่งผลต่อการมองเห็นภาพ) เกิดการติดเชื้อเล็กๆน้อยๆจนรุนแรงเป็นแผลบริเวณกระจกตาได้ ทั้งหมดนี้ในปัจจุบันเกิดได้ แต่น้อยมาก

ใครบ้างไม่ควรแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยการผ่าตัด?

บุคคลที่ไม่ควรรับการผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ เพราะได้ประโยชน์น้อย หรือ บางครั้งไม่ได้ประโยชน์ ได้แก่

  1. ผู้ป่วยเหลือตาข้างเดียว ตาอีกข้างเสียจากอะไรก็ตาม ด้วยเหตุที่การผ่าตัดนี้ไม่ใช่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด จึงไม่ควรเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง การใช้แว่นตาจะปลอดภัยกว่า
  2. มีโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น โรคภูมิแพ้ตนเอง (ภูมิต้านตนเอง)/โรคออโตอิมมูน และโรคหลอดเลือดต่างๆ เพราะหลังทำอาจมีการสลายตัวของเนื้อกระจกตาเกิดความเสียหายมากมายตามมา โดยเฉพาะในการมองเห็นภาพ และการติดเชื้อรุนแรงในลูกตา
  3. มีประวัติการเจ็บป่วยทางตา โดยเฉพาะเป็นโรคของกระจกตา เช่น แผลที่กระจกตา ผิวตาดำไม่เรียบ ตาแห้ง และ/หรือ มีอาการอักเสบของตาขาว เป็นต้น เพราะจะติดเชื้อได้ง่าย
  4. เป็นโรคกระจกตาย้อย หรือ กระจกตารูปกรวย (Keratoconus) ซึ่งเป็นโรคที่สำคัญมากที่ไม่ควรทำ เนื่องจากมีสถิติตาดำย้อยมากขึ้นจนตาดำไม่สามารถคงรูปร่างเดิมได้ ตากลับมัวลงอย่างมาก ปัญหาสำคัญสำหรับโรคนี้ ได้แก่การเป็นโรคในระยะที่เรียกว่า Subclinic คือ เป็นโรคนี้แต่อาการยังไม่ชัดเจนอาจทำให้คิดว่าไม่เป็นโรคนี้ ไปทำผ่า ตัดจนเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ ควรสงสัยภาวะนี้ในกรณีที่มีสายตาสั้นร่วมกับตาเอียงมาก ควรรับการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่เป็นโรคนี้ จึงพิจารณาทำผ่าตัด
  5. เป็นต้อหิน อาจจะเป็นการเสี่ยงหากไปทำ LASIK ซึ่งมีขบวนการเพิ่มความดันตาขณะทำผ่าตัด แม้ใช้เวลาผ่าตัดไม่นาน ความดันที่สูงมาก อาจทำลายประสาทตาที่เสียไปบ้างแล้วจากต้อหิน ให้ยิ่งเสียมากขึ้น
  6. มีความผิดปกติของจอตา เช่น จอตาขาดเป็นรู ซึ่งมักพบในคนสายตาสั้นมาก หากพบต้องแก้ไขก่อน หรือ ผู้ป่วยที่เคยมีจอตาหลุดลอกมาก่อน หากจะทำผ่าตัดต้องให้ความระมัดระวัง หมั่นตรวจจอตาบ่อยๆ หรือผู้ป่วยที่จอตาเสื่อมจากสายตาสั้นบริเวณจุดรับภาพชัดของจอตา (Macula) ผู้ป่วยในกลุ่มนี้อาจจะได้ผลไม่ดี คือหลังผ่าตัด สายตาไม่ดีขึ้นจากพยาธิสภาพของจอตา ไม่ใช่จากกระจกตาหรือแก้วตา
  7. ผู้ป่วยเบาหวาน แม้ว่าจะไม่ใช่ข้อห้ามเลยทีเดียว แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีโรคตาแทรกซ้อนจากเบาหวานที่ไม่เกี่ยวกับการผ่าตัด (เบาหวานขึ้นตา) การผ่าตัดจึงไม่ได้ช่วยการมองเห็นให้ดีขึ้น
  8. ผู้ป่วยที่ตั้งความคาดหวังมากเกินไป

ใครบ้างแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยการผ่าตัดได้?

บุคคลที่สามารถรับการแก้ไขสายตาผิดปกติโดยวิธีผ่าตัดได้ ได้แก่

  1. อายุ 18 ปีขึ้นไป เมื่อสายตาคงที่แล้ว คือมีการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่า 0.5 ไดออปเตอร์ ใน 1 ปี ด้วยเหตุที่ว่าอายุน้อยกว่านี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงของสายตาหรือพูดง่ายๆก็คือ สายตาสั้นยังไม่คงที่
  2. เป็นผู้ที่มีปัญหาในการใช้แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ (ซึ่งเป็นการแก้ไขที่ง่ายและปลอดภัยกว่า) อาจเป็นปัญหาทางการแพทย์ที่ใช้แว่นตาไม่ได้ด้วยเหตุที่สายตา 2 ข้างต่างกันมาก หรือ การใช้แว่นทำให้เกิดอาการมึนงง หรือมีภาวะตาแห้ง หรือแพ้น้ำ ยาคอนแทคเลนส์ ทำให้ใช้คอนแทคเลนส์ไม่ได้ เป็นต้น หรือ อาจมีข้อจำกัดในอาชีพ เช่น นักร้อง นักแสดง ประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
  3. ต้องได้รับการตรวจตาอย่างละเอียดถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจทำให้การผ่าตัดมีโอ กาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้สูงหรือรุนแรง
  4. ต้องเป็นผู้ที่ปราศจากโรคทั้งทางกายและทางโรคตา ที่อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขณะทำหรือหลังทำผ่าตัด เช่น การติดเชื้อรุนแรง
  5. ต้องยอมรับในข้อจำกัด และ/หรือ ผลข้างเคียงต่างๆที่อาจเกิดขึ้น ดังกล่าวข้างต้น

มีขั้นตอนตรวจตาก่อนผ่าตัดอย่างไรบ้าง?

โดยทั่วไป ก่อนผ่าตัดแก้ไขสายตา ต้องตรวจตาโดยจักษุแพทย์ก่อน ซึ่งแพทย์จะนำรายละเอียดที่ได้จากการตรวจทั้งหมดมาประเมินวิธีผ่าตัดที่เหมาะสมต่อไป โดย ขั้น ตอนตรวจตาก่อนผ่าตัด ได้แก่

  1. วัดระดับสายตาผิดปกติที่แน่นอน โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ เลนส์สัมผัส (คอนแทคเลนส์) ประจำ ถ้าเป็นอย่างนิ่ม ต้องวัดระดับสายตาเมื่อหยุดใช้คอนแทคเลนส์อย่างน้อย 3 วันถึง 2 สัปดาห์ ถ้าเป็นอย่างแข็งอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ (เลนส์สัมผัสชนิดแข็ง และเลนส์สัมผัสชนิดนิ่ม) เพราะตัวคอนแทคเลนส์อาจเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาชั่ว คราว ทำให้วัดระดับสายตาที่ผิดปกติคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
  2. วัดขนาดรูม่านตา ขนาดรูม่านตามีส่วนที่จะตัดสินใจว่าจะต้องเว้นช่องตรงกลางกระจกตาขนาดไหน เพื่อลดอาการเห็นเงาสะท้อนหลังผ่าตัด
  3. ตรวจกระจกตาอย่างละเอียด ตรวจภาวะตาแห้งว่ามีหรือไม่ ตลอดจนต้องแน่ใจว่าผู้ ป่วยมีภาวะกระจกตาย้อย หรือกระจกตารูปกรวย (Keratoconus) หรือไม่
  4. วัดความดันตาและตรวจจอประสาทตา (จอตา) อย่างละเอียด ถ้ามีรอยขาดของจอตาต้องรักษาด้วยเลเซอร์ให้เรียบร้อยก่อน
  5. ตรวจดูลักษณะของกระจกตา ดูรายละเอียดถึงความโค้งบริเวณต่างๆ (Corneal topo graphy) และดูความหนาของกระจกตา ถ้ากระจกตาบางอาจทำผ่าตัดบางวิธีไม่ได้

มีการเตรียมตัวและการปฏิบัติขณะผ่าตัดอย่างไร?

การเตรียมตัวและการปฏิบัติขณะผ่าตัด โดยทั่วไป คือ

  • เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่มีอาการเจ็บเล็กน้อย จึงทำผ่าตัดโดยใช้ยาชาหยอดตาเท่านั้น หมอบางท่านอาจให้ยาแก้ปวดยากล่อมประสาทอย่างอ่อนก่อนผ่าตัด
  • ท่านที่ใช้ยารักษาโรคประจำตัวอยู่ ควรปรึกษาจักษุแพทย์ว่าใช้ยาต่อได้หรือไม่ หรือ ต้องหยุดยาก่อนผ่าตัด
  • วันผ่าตัด อาบน้ำ สระผม ล้างหน้า โดยไม่ใช้เครื่องสำอางหรือน้ำหอมทั้งสิ้น เพราะอาจเพิ่มโอกาสติดเชื้อ หรือ มีผลต่อแสงเลเซอร์ได้
  • ขณะทำผ่าตัด ผู้ป่วยนอนหงายจ้องเป้าที่อยู่ข้างหน้า
  • หมอจะใช้เครื่องถ่างลูกตาให้ลืมตาตลอดเวลา
  • ระหว่างทำผ่าตัดอาจจะมีเสียงจากเครื่องแยกชั้นกระจกตาหรือเสียงจากการยิงเล เซอร์
  • โดยทั่วไปการทำผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 10 นาที หลังผ่าตัด ห้ามขยี้ตา ห้ามลงน้ำ ถูกน้ำ อย่างน้อย 1 สัปดาห์
  • ปฏิบัติตามจักษุแพทย์ และพยาบาลด้านจักษุแนะนำอย่างเคร่งครัด และมาตรวจกับจักษุแพทย์ตามนัดหมาย

มีวิธีผ่าตัดอย่างไร?

วิธีการทำผ่าตัดเพื่อแก้ไขสายตา โดยทั่วไป คือ

    • RK (อาร์เค) เป็นการผ่าตัดโดยใช้มีดกรีดเป็นแนวรัศมีที่ผิวกระจกตา โดยเว้นช่องว่างตรงกลางที่ตรงกับรูม่านตาขนาด 3-5 ม.ม. โดยกรีดให้มีความลึกประมาณ 1 ใน 3 ถึง 90% ของความหนาของกระจกตา จำนวนรอยที่กรีดอาจเป็น 4, 6, 8, 12 ขึ้นอยู่กับระดับสายตา ถ้าสั้นมากกรีดจำนวนมาก และลึกกว่าสั้นน้อย วิธีนี้เหมาะสำหรับสายตาสั้นไม่มาก (1.0 ถึง 4.0ไดออปเตอร์) ค่าใช้จ่ายถูกกว่า เพราะใช้เพียงมีดกรีด ไม่ต้องใช้เครื่องเลเซอร์ที่ราคาแพง มีข้อ เสียอาจกรีดจนทะลุ (ต้องแก้โดยวิธีเย็บแผล) หลังผ่าตัดมีอาการปวดแผลมาก และสายตาจะคงที่ ต้องใช้เวลานาน 4-6 สัปดาห์

      วิธี RK นี้ ปัจจุบันทำน้อยลง เนื่องจากมีเครื่องเลเซอร์ที่มีความละเอียดแม่นยำกว่าการกรีดด้วยมีด


    • PRK (พีอาร์เค) เป็นการใช้ Excimer laser (ชื่อชนิดเครื่องยิงแสงเลเซอร์) ยิงลงไปบนผิวกระจกตาให้บางลง วิธีการคือเริ่มจากลอกผิวกระจกตา (Epithelium) ซึ่งบางมากออก หลัง จากนั้นใช้เลเซอร์ยิงเพื่อฝานกระจกตาออก โดยเฉลี่ยถ้าฝานผิวกระจกออก 10 ไมครอน จะแก้ ไขสายตาสั้นได้ 1 ไดออปเตอร์ วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีสายตาสั้นไม่มาก หรือผู้ที่มีโรคกระจกตาบางชนิด เช่น basement membrane dystrophy ซึ่งนอกจากแก้ไขสายตาแล้วยังช่วยรักษาโรคนี้ด้วย หรือผู้ป่วยที่เบ้าตาเล็กจนไม่สามารถใส่เครื่องฝานกระจกตา (Microkeratome) ที่ต้องใช้ในวิธี LASIK ได้ หรือผู้ป่วยที่กระจกตาบาง

      ข้อเสียของวิธี PRK คือ หลังทำเจ็บปวดมาก เนื่องจากผิวกระจกตาถูกลอกออกหมดระหว่างการทำ หรือถ้ายิงแสงมากอาจทำให้เกิดฝ้าของกระจกตาหลังผ่าตัด (corneal haze) ส่งผลให้เห็นภาพไม่ชัด ฝ้านี้บางคนอยู่นานมาก บางคนหายเร็ว เพื่อป้องกันการเกิดฝ้าใช้วิธี LASIK จะดีกว่า แต่ข้อดีคือไม่ต้องฝานกระจกตา และทำผ่าตัดง่ายกว่า


    • LASIK (เลสิก) เป็นวิธีที่ทำกันมากที่สุดในปัจจุบัน แก้ไขสายตาสั้นได้ตั้งแต่น้อยไปถึงค่อนข้างมาก (1.0 ถึง 10.0 ไดออปเตอร์) ไม่มีอาการปวดตาเหมือนหลังทำ PRK ทั้งนี้โดยวิธีแยกชิ้นกระจกตาออก (ไม่ทำลายผิวกระจกตา) เป็นฝาเปิดไว้เป็นหิ้งอยู่ด้านข้างคล้ายการเปิดฝากระป๋อง แล้วยิงเลเซอร์ลงไปบริเวณตรงกลางของกระจกตาโดยแสงเลเซอร์จะตัดกระจกตาทิ้งไปตามขนาดของสายตาสั้น (เช่นเดียวกับวิธี PRK) แล้วปิดฝา (ที่เดิมเปิดไว้) โดยไม่ต้องเย็บแผล เพราะฝานี้จะปิดกระจกตาได้แนบสนิท ดั่งเช่นคอนแทคเลนส์นาบกับกระจกตา

      ข้อดีของวิธี Lasik/เลสิก คือ แก้ไขสายตาได้หลายระดับ ไม่เจ็บหลังทำ สายตาเห็นได้ดีในวันรุ่งขึ้น มีข้อเสียตรงที่ต้องใช้เครื่องมือแยกชิ้นกระจกตาให้เป็นฝา ซึ่งราคาแพง ใช้ ได้ครั้งเดียว เพราะต้องการความคมมากในการแยกชั้น ไม่สามารถทำได้ถ้ากระจกตาบาง และอาจมีผลแทรกซ้อนหากแยกชั้นกระจกตาได้ไม่ดี เช่น ฝานออกไม่สม่ำเสมอ หรือขาดเป็นรู ต้องยุติการทำผ่าตัดโดยปิดไว้เหมือนเดิม รอเวลาให้แผลปิดสนิท ค่อยมาทำผ่าตัดใหม่ทีหลัง

      อนึ่ง ทั้ง PRK และ LASIK ใช้ Excimer laser ซึ่งเป็น Laser ที่มีขนาดความยาวคลื่นระ ดับ UV-C ขนาด 193 นานอมิเตอร์ เป็นแสงเลเซอร์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ สามารถตัดหรือขูดให้ผิวถลอกขนาดบางมากต่ำกว่า 1 ไมครอน โดยก่อให้เกิดความร้อนต่อผิวที่ตัดเล็กน้อยและเข้าลึกเพียง 0.2-0.3 ไมครอน จึงไม่มีผลเสียต่อเนื้อเยื่อใกล้เคียงเลย อีกทั้งผิวที่ถูกตัดขอบจะเรียบ และเนื่องจากตัดได้ทีละน้อย ทำให้แพทย์สามารถควบคุมการตัดได้แม่นยำ

      สำหรับวิธี LASIK ในปัจจุบัน การแยกชิ้นกระจกตาออกเป็นฝานี้เดิมใช้เครื่อง microkera tome ซึ่งแยกกระจกตาขนาด 100-150 ไมครอน ซึ่งในผู้ป่วยบางรายที่กระจกตาบางมากต้องใช้เครื่องแยกพิเศษ แยกชิ้นกระจกตาให้บางลงไปอีก เรียกว่า วิธี Epi LASIK นอกจากนี้เครื่องเลเซอร์รุ่นใหม่อาจใช้แยกชิ้นกระจกตาได้ด้วย โดยไม่ต้องใช้เครื่อง microkeratome ที่เรียก Femtosecond laser จึงแยกชิ้นกระจกตาได้ละเอียดแม่นยำกว่า ซึ่งแน่นอนตามด้วยค่าใช้จ่ายที่แพงกว่า


  • ICL (ไอซีแอล) เรียกอีกอย่างว่า การผ่าตัดใส่เลนส์เสริม การทำผ่าตัดเช่นเดียวกับการผ่าตัดต้อกระจก ต้องมีการเปิดแผลบริเวณใกล้ๆขอบตาดำ ถ้าเป็นเลนส์แข็งขนาดเส้นผ่าศูนย์ กลางประมาณ 6 ม.ม. แผลต้องมีขนาด 6 ม.ม.ขึ้นไป ถึงจะสอดเลนส์เข้าไปได้ ปัจจุบันมีเลนส์แบบนิ่มซึ่งพับได้ แผลมีขนาดเล็กลงสามารถสอดเข้าไปได้ การวางเลนส์เสริมนี้บางชนิดวางอยู่หน้าม่านตา ซึ่งมีข้อเสียตรงที่อาจระคายผิว ม่านตา มุมตา ตลอดจนกระจกตา ก่อให้เกิดผลเสียต่อม่านตาและกระจกตาในระยะยาว (มีผลก่อการระคายเคือง และอาจส่งผลต่อการเห็นภาพ) บางชนิดวางอยู่หลังม่านตาซึ่งมีข้อเสียอาจไปกระทบแก้วตา ก่อให้เกิดต้อกระจกในตอนหลังได้ ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเลนส์เสริมให้มีความปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งมีเลนส์เสริมชนิดแก้สายตาเอียงได้ด้วย เรียกว่า Toric ICL

    ข้อดีของวิธี ICL คือ

    1. สามารถแก้ไขสายตาสั้นมากๆที่วิธีอื่นทำไม่ได้
    2. ใช้ได้ในผู้ที่กระจกตาบาง หรือมีพยาธิสภาพของกระจกตา เช่น กระจกตาย้อย หรือ กระจกตารูปกรวย (Keratoconus) ได้
    3. หมอคุ้นเคยกับการผ่าตัดฝังแก้วตาเทียมอยู่แล้ว จึงเป็นวิธีที่ไม่ยากสำหรับหมอตาทุกคน
    4. ใช้เครื่องมือที่มีอยู่แล้ว (ที่ใช้ในการผ่าตัดต้อกระจก)
    5. ไม่ต้องลงทุนเครื่องเลเซอร์ที่ราคาแพง
    6. สามารถเอาเลนส์เสริมออกได้ถ้ามีความจำเป็น หรือผู้ป่วยไม่พอใจผล

ข้อเสียของวิธี ICL ขึ้นอยู่กับชนิดของเลนส์เสริม และถ้าช่องด้านหน้าในลูกตา(anterior chamber) กว้างมาก การใช้ ICL อยู่หน้าม่านตาจะปลอดภัยกว่าผู้มีช่องหน้าตาไม่กว้างพอ นอกจากนั้น ทุกชนิดของการผ่าตัดเลนส์เสริมมีความเสี่ยงในการผ่าตัด เพราะต้องกรีดเข้าไปในดวงตา อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อภายในดวงตาซึ่งมีอันตรายได้ง่ายกว่าวิธีทำที่ผิวดวง ตา (วิธี RK,PRK, LASIK ทำที่ผิวดวงตาเท่านั้น) อีกทั้งการผ่าตัดวิธีนี้ยังทำกันไม่นาน ผลผ่า ตัดระยะยาวอาจมีภาวะแทรกซ้อนอะไรอีกซึ่งแพทย์ยังไม่ทราบ

ควรทำอย่างไรเมื่อต้องการผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ?

เมื่อมีสายตาผิดปกติ ควรพบจักษุแพทย์ก่อนเสมอก่อนการตัดแว่น หรือ ใส่เลนส์สัมผัสเอง เพราะสายตาผิดปกติเกิดได้จากหลายโรค บางโรคอาจเป็นโรครุนแรง เช่น โรคต้อหิน ต่อ เมื่อจักษุแพทย์วินิจฉัยว่า เกิดจากตาสั้นหรือยาวหรือเอียง จึงควรปรึกษาถึงวิธีแก้ไขว่า ควรเป็นใช้แว่น ใส่เลนส์สัมผัส หรือผ่าตัดแก้ไขสายตา หลังจากนั้นจึงตัดสินใจว่า ควรทำผ่าตัดหรือไม่ หรือ จะแก้ไขสายตาด้วยวิธีใดที่เหมาะสมกับตัวเรา
ที่มา   https://haamor.com/th/การแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยวิธีผ่าตัด/

อัพเดทล่าสุด