อวัยวะเพศภายในสตรี: กายวิภาคอวัยวะเพศภายในสตรี (Anatomy of female internal genitalia) / สรีรวิทยาอวัยวะเพศภายในสตรี (Physiology of female internal genitalia)


2,633 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ช่องคลอด  ท่อนำไข่  ปากมดลูก  มดลูก  รังไข่  อวัยวะเพศหญิง  ระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

อวัยวะในระบบสืบพันธุ์ภายในของสตรีมีอะไรบ้าง?

อวัยวะซึ่งอยู่ในระบบนี้ ได้แก่

  1. ช่องคลอด (Vagina)
  2. คอมดลูก (บางตำราเรียกว่าปากมดลูก) (Uterine cervix)
  3. ตัวมดลูก (Uterine corpus)
  4. ท่อนำไข่หรือท่อรังไข่หรือปีกมดลูก (Fallopian tube) มีสองข้าง ซ้ายและขวา
  5. รังไข่ (Ovary) มีสองข้าง ซ้ายและขวา

กายวิภาคของอวัยวะสืบพันธุ์ภายในของสตรีเป็นอย่างไร?

กายวิภาคของแต่ละอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ภายในของสตรี คือ

ช่องคลอด (Vagina)

ช่องคลอด (Vagina) เป็นอวัยวะที่ต่อเนื่องมาจากบริเวณแคมเล็ก/ Labia minora (อ่านเพิ่มเติมใน กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะเพศภายนอกสตรี) ลักษณะเป็นช่องที่มีความยาวมากกว่าความกว้าง โดยมีความยาวประมาณ 6 นิ้วและกว้างประมาณ 2 นิ้ว ลักษณะเป็นเยื่อบุผิวที่เป็นเยื่อเมือก (Mucous membrane) ที่มีเซลล์ชนิดรูปร่างแบนเป็นแผ่น (Squamous cell) เป็นเยื่อบุผิวของช่องคลอด ใต้ชั้นเยื่อบุนี้เป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue) ประกอบด้วยเส้นใยของกล้ามเนื้อเรียบ (Smooth muscle) คอลลาเจน (Collagen fiber) และเส้นใยอีลาสติค (Elastic fiber)ที่ทำหน้าที่ให้ความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของช่องคลอด ภายในเยื่อบุนี้จะมีต่อมสร้างมูก (Mucous gland) อยู่เป็นจำนวนมาก

ส่วนปลายสุดของช่องคลอดจะต่อกับคอมดลูก/ปากมดลูก (Uterine cervix) โดยตรงรอยต่อนี้จะมีลักษณะเป็นร่องล้อมรอบส่วนนอกของคอ/ ปากมดลูกซึ่งยื่นโผล่ออกมาเล็กน้อย เรียกร่องนี้ว่า Fornix

ผนังของช่องคลอดส่วนด้านหน้าที่อยู่ลึกประมาณ 2-3 นิ้วจากปากช่องคลอด จะเป็นบริเวณที่มีความหนามากกว่าส่วนอื่นเล็กน้อย และมีเส้นประสาทสัมผัสมาเลี้ยงเป็นจำนวนมากเรียกว่า จีสปอท (G-spot) ซึ่งหน้าที่ที่ชัดเจนยังไม่ทราบ แต่เชื่อว่าน่าจะสัมพันธ์กับการรับความรู้สึกทางเพศ

ในวัยเด็กและในสตรีที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์บางคน อาจจะมีแผ่นเนื้อเยื่อบางๆเป็นแผ่นยื่นออกมาจากบริเวณกลางๆของผนังช่องคลอดและมีรูตรงกลางเรียกว่าเยื่อพรมจารี (Hymen) แต่บางคนก็อาจไม่มีเยื่อพรมจารี ก็ได้

คอมดลูก/ปากมดลูก (Uterine cervix)

คอมดลูก/ปากมดลูก (Uterine cervix) เป็นส่วนหนึ่งของตัวมดลูก (Uterus) ที่ยื่นเข้ามาในช่องคลอด ส่วนมดลูกที่ต่อกับคอมดลูก จะมีลักษณะเป็นรอยคอดมากกว่าส่วนอื่นๆของมดลูก

คอมดลูกจะแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนนอกจะมีผิวเรียบสีขาวปนชมพู บุด้วยเซลล์ชนิดแบนเป็นแผ่น ( Squamous) เรียกว่า Ectocervix ส่วนในจะเป็นรูอยู่ตรงกลาง บุด้วยเนื้อเยื่อสีแดงปนชมพูคล้ายกำมะหยี่ คลุมด้วยเซลล์รูปร่างเป็นแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้า (Columnar cell) ซึ่งเรียกส่วนนี้ว่า Endocervix

บริเวณที่เป็นรอยต่อระหว่าง Ectocervix และ Endocervix เรียกว่า Transition zone ซึ่งเป็นบริเวณที่มักจะเป็นจุดเริ่มต้นของมะเร็งปากมดลูก

โดยทั่วไป ถ้าเราดูคอ/ปากมดลูก จากทางปากช่องคลอดแบบที่แพทย์เห็นเวลาตรวจภายใน จะเห็น คอ/ปากมดลูกภายนอกเป็นรูปกลมสีขาวปนชมพู ผิวเรียบ และมีรู Endocervix สีแดงเข้มกว่าอยู่ตรงกลาง รูนี้จะเป็นทางผ่านของเลือดประจำเดือนจากโพรงมดลูกด้านใน ออกมายังช่องคลอด

ตัวมดลูก (Uterine corpus)

ตัวมดลูก (Uterine corpus) เป็นส่วนของมดลูก ซึ่งอยู่เหนือคอ/ปากมดลูกขึ้นไป รูปร่างเป็นรูปไข่ ขนาดปกติยาว 4 -5 เซนติเมตร (ซม.) กว้างประมาณประมาณ 3 ซม. และหนาประมาณ 2 ซม. คลำดูจะมีลักษณะแข็งมากกว่าคอมดลูก มีส่วนประกอบเป็นกล้ามเนื้อเรียบ (Smooth muscle) เรียงตัวเป็นมัดขนาดเล็กๆ (Fascicles) จำนวนมากสานกันไปมาอยู่ในผนังหนาประมาณ 2-3 ซม.

เมื่อไม่ได้ตั้งครรภ์ ตรงกลางของตัวมดลูก จะเป็นโพรงแคบๆยาวๆซึ่งโพรงนี้จะมีเยื่อบุด้านใน เรียกว่า เยื่อบุโพรงมดลูก/เยื่อบุมดลูก (Endometrium) ซึ่งประกอบด้วยเซลล์ชนิดรูปแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้า (Columnar cells) เรียงตัวกันเป็นรูปร่างของต่อม(Gland) และของท่อ (Tubule) จำนวนมาก

โพรงมดลูกนี้ จะไปต่อเนื่องกับรูของ Endocervix ของคอ/ปากมดลูก และเยื่อบุโพรงมดลูกนี้ จะมีความหนาบางเปลี่ยนแปลงไปในระยะต่างๆของรอบประจำเดือน และจะกลายเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของประจำเดือน (Menstrual blood) ออกมาทุกเดือน โดยกล้ามเนื้อเรียบที่อยู่ในผนังมดลูก สามารถหดตัวและคลายตัวได้โดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น จะมีการบีบรัดตัวในเวลาที่ต้องการให้เลือดประจำเดือนหยุดไหล เป็นต้น

ท่อรังไข่ หรือ ท่อนำไข่ หรือ ปีกมดลูก (Fallopian tube)

ท่อรังไข่ หรือ ท่อนำไข่ หรือ ปีกมดลูก (Fallopian tube) มี 2 ข้างซ้ายและขวา รูปร่างเป็นท่อยาวประมาณ 6 – 8 ซม. และเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.6 – 0.8 ซม.

ท่อรังไข่นี้ ติดอยู่กับตัวมดลูกส่วนบนทั้งสองข้าง ส่วนปลายสุดจะบานออกเป็นรูปร่างคล้ายดอกไม้บาน เรียกว่า Fimbria โดยมีหน้าที่ช่วยโบกพยุงให้ไข่เคลื่อนเข้าสู่ท่อรังไข่ ไม่ตกไปอยู่ในช่องท้อง

ตรงกลางของท่อรังไข่ เป็นรูยาวต่อมาจากโพรงมดลูก ใช้เป็นทางผ่านของไข่ (Ovum) ที่ตกออกมาจากรังไข่ (Ovary) และเป็นทางผ่านของไข่ที่ผสมกับตัวอสุจิ (Spermatozoa) ของเพศชายแล้วเคลื่อนที่ไปสู่โพรงมดลูกเพื่อฝังตัวเวลาตั้งครรภ์

ผนังของท่อรังไข่นี้ ประกอบด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ชนิด คอลลาเจน (Collagen) และเซลล์ของกล้ามเนื้อเรียบหลายชั้น แต่ไม่หนามากเหมือนผนังตัวมดลูก สามารถบีบรัดตัวได้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้ไข่เคลื่อนที่ไปสู่โพรงมดลูกได้ เซลล์ที่บุผนังภายในของท่อนำไข่ จะเป็นเซลล์รูปร่างเป็นแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้า (Columnar cell) แต่มีลักษณะพิเศษคือ จะมีส่วนคล้ายขนเรียกว่า Cilia อยู่บริเวณผิวที่ติดกับรูท่อ เพื่อช่วยในการเคลื่อนที่ของไข่ให้ไปสู่โพรงมดลูกได้เร็วขึ้น

ในภาวะการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติบางชนิด ตัวอ่อนที่เกิดจากการผสมระหว่างไข่และตัวอสุจิจะมาฝังตัวในผนังของท่อนำไข่ เรียกว่า การตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic tubal pregnancy) หรือ ท้องนอกมดลูก

รังไข่ (Ovary)

รังไข่ (Ovary) เป็นอวัยวะรูปร่างเป็นรูปไข่แต่ค่อนข้างแบน อยู่ติดกับท่อนำไข่ โดยมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันพวกคอลลาเจนเป็นตัวยึดระหว่างท่อรังไข่และรังไข่

ขนาดปกติของรังไข่แต่ละข้างยาวประมาณ 3 – 4 ซม. กว้างประมาณ 1.8 – 2.5 ซม. และหนาประมาณ 1 – 1.3 ซม.

รังไข่เป็นอวัยวะที่ไม่มีรูตรงกลาง ผิวนอกจะมีสีขาวปนเหลือง และมีลักษณะเป็นรอยย่นเล็กๆกระจายอยู่ทั่วไป ถ้าฝานหน้าตัดรังไข่ดู จะพบเนื้อเยื่อสีน้ำตาลปนแดง เนื่องจากมีหลอดเลือดมาเลี้ยงเป็นจำนวนมาก โดยในระยะวัยเจริญพันธุ์จะพบถุงน้ำผนังบางขนาดเล็กๆ (Cystic follicles) เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 ซม.เกิดจากการสะสมของ ของเหลวใสในเซลล์ที่อยู่รอบไข่ (Granulosa และ theca cells) ถุงน้ำนี้มักจะมีหลายถุงแต่จะหายไปเมื่อเข้าสู่ วัยหมดประจำเดือน (Menopause)

นอกจากนั้นจะพบเนื้อเยื้อลักษณะเป็นสีเหลืองสดขนาดประมาณ 1 – 1.5 ซม. เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่อยู่รอบไข่ (Granulosa และ theca cells) หลังจากที่ไข่ฟองนั้นได้ตกไปแล้ว เนื้อเยื่อที่อยู่รอบไข่เหล่านี้จะมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีสีเหลืองเพราะมีสารพวกไขมันอยู่ในเซลล์มาก ซึ่งเนื้อเยื่อสีเหลืองนี้เรียกว่า Corpus luteum ซึ่งเนื้อเยื่อนี้มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศหญิง

หน้าที่ของอวัยวะสืบพันธุ์ภายในของสตรีคืออะไร?

แต่ละอวัยวะสืบพันธ์ภายในของสตรีมีหน้าที่ดังนี้ คือ

  1. ช่องคลอด

    มีหน้าที่ดังนี้คือ
    • เป็นอวัยวะที่ใช้ในการร่วมเพศ โดยเพศชายจะสอดใส่อวัยวะเพศชาย/องคชาต (Penis) เข้าไปในช่องคลอดเวลาร่วมเพศ
    • สร้างมูก (Mucus) หลั่งออกมาจากต่อมสร้างมูกเพื่อให้ช่องคลอดชุ่มชื้นไม่แห้งและมีปริมาณมากขึ้นในระหว่างการร่วมเพศ
    • เป็นทางออกของเลือดประจำเดือน
    • เป็นทางออกของทารกเวลาคลอด
    • เป็นที่อยู่ของแบคทีเรียปกติของช่องคลอดชื่อว่า Doderlein bacillus ซึ่งทำหน้าที่ในการปรับความเป็นกรด-ด่างของช่องคลอดโดยไม่ทำให้เกิดโรคเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะปกติ
  2. คอมดลูก/ปากมดลูก

    มีหน้าที่ดังนี้คือ
    • สร้างมูกออกจากต่อมของ Endocervix เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและหล่อลื่นให้กับคอมดลูก
    • ป้องกันการกระทบกระแทกเวลาร่วมเพศโดย Ectocervix เป็นเยื่อบุชนิดรูปร่างเป็นแผ่นแบน (Squamous cell) ซึ่งมีความทนทานมากกว่าเซลล์รูปร่างเป็นแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้า (Columnar) ของ Endocervix
    • ช่วยพยุงทารกในขณะตั้งครรภ์ ลดโอกาสเกิดการแท้งบุตร
    • สามารถขยายตัวได้มาก เพื่อเป็นทางผ่านของทารกเวลาคลอด
  3. ตัวมดลูก

    (Uterine corpus) มีหน้าที่ดังนี้คือ
    • เป็นที่ฝังตัวของรกและเป็นที่อยู่ของเด็กทารกตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์โดยเด็กทารกจะอยู่ในโพรงมดลูก หุ้มด้วยถุงน้ำคร่ำ
    • เป็นที่เกิดของเลือดประจำเดือนซึ่งประกอบด้วยเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrium) ที่สลายตัวแล้ว รวมกับเลือดที่ออกมาจากหลอดเลือดที่มาเลี้ยงเยื่อบุมดลูก ไหลออกไปทางคอ/ปากมดลูก และทางช่องคลอด
    • ทำหน้าที่หยุดเลือดประจำเดือน โดยการบีบรัดตัวของผนังมดลูกซึ่งเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ทำให้เกิดการกดบีบปิดโพรงมดลูก ทำให้เลือดประจำเดือนหยุดได้
  4. ท่อนำไข่

    มีหน้าที่ดังนี้คือ
    • เป็นทางผ่านของไข่ที่ตกออกมาจากรังไข่ หรือเป็นทางผ่านของไข่ที่ผสมกับอสุจิแล้วเพื่อผ่านไปฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูก (ในตัวมดลูก)
    • การบีบและคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบในผนังของท่อรังไข่และเซลล์ที่มีขน (Cilia) ที่อยู่บนผิวของเซลล์บุท่อนำไข่ จะช่วยให้การเคลื่อนที่ของไข่หรือไข่ที่ผสมแล้วไปสู่โพรงมดลูกได้เร็วขึ้น
  5. รังไข่

    มีหน้าที่ดังนี้คือ
    • เป็นที่เกิดของไข่ (Ovum) ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์ของเพศหญิง รูปร่างเซลล์เป็นรูปกลมมีโครโมโซม 23 ชิ้น ร่วมกับมีโครโมโซมเพศหญิง (Chromosome X) 1 ชิ้น
    • ทำหน้าที่ตกไข่อย่างน้อย 1 เซลล์ (หรือ 1 ฟอง) ในหนึ่งรอบเดือนในระยะวัยเจริญพันธุ์เพื่อพร้อมสำหรับการผสมกับอสุจิ
    • สร้างฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) จากเซลล์หลักคือ Granulosa cell และ จากTheca cell (เป็นส่วนน้อย) เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นและเริ่มมีการตกไข่ ทำให้เกิดลักษณะภายนอกของเพศหญิง เช่น การเกิดเต้านม ขนอวัยวะเพศ ไขมันใต้ผิวหนังบริเวณสะโพกและต้นขา และการเริ่มมีประจำเดือน เป็นต้น
    • สร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนหรือโปรเจสติน (Progesterone, Progestin) ทำหน้าที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุโพรงมดลูก เพื่อให้พร้อมรับการฝังตัวของรกเวลาตั้งครรภ์ หรือกลายเป็นเลือดประจำเดือนถ้าไม่เกิดการตั้งครรภ์ นอกจากนั้นยังเตรียมต่อมน้ำนมที่เต้านมให้พร้อมสร้างน้ำนมอีกด้วย เซลล์หลักที่สร้างฮอร์โมนนี้คือ Theca cell ซึ่งอยู่รอบๆไข่ด้านนอกถัดออกมาจาก Granulosa cell โดยเฉพาะหลังจากที่ไข่ตกไปแล้วและ Granulosa-theca cells ได้เปลี่ยนเป็นเนื้อเยื่อสีเหลือง (Corpus luteum)

อวัยวะสืบพันธุ์ภายในของสตรีมีการเปลี่ยนแปลงจากเด็กถึงผู้ใหญ่อย่างไร?

อวัยวะสืบพันธุ์ภายในของสตรี มีการเปลี่ยนแปลงจากเด็กถึงผู้ใหญ่ ดังนี้คือ

 

อวัยวะสืบพันธุ์ภายในของสตรีมีผลจากอวัยวะอื่นในการทำงานอย่างไร?

ผลจากอวัยวะอื่นๆ ที่ส่งผลมากที่สุดต่ออวัยวะสืบพันธ์ภายในของสตรี คือ ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง ที่กระตุ้นให้เกิดการทำงานของรังไข่ กระตุ้น Granulosa cell ให้สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ได้แก่ ฮอร์โมน FSH (Follicular stimulating hormone) และสร้างฮอร์โมนที่ทำให้เกิดการตกไข่ และการเกิด Corpus luteum ที่เรียกว่า ฮอร์โมน LH (Luteinizing hormone) เป็นต้น
ที่มา   https://haamor.com/th/วัยวะเพศภายในสตรี/

อัพเดทล่าสุด