วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก คือ วัคซีนอะไร?
วัคซีนป้องกัน มะเร็งปากมดลูก คือ วัคซีนป้องกันปากมดลูกจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อ ไวรัสเอชพีวี (HPV หรือ human papilloma virus/ ฮิวแมนแป๊บปิลโลมาไวรัส) ซึ่งการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีนี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก เพราะทำให้เซลล์ปากมดลูกอักเสบเรื้อรัง และอาจกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้จริงหรือ? ป้องกันมะเร็งอื่นหรือ โรคอื่นได้ไหม?
ไวรัสเอชพีวีที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกมีหลายสายพันธุ์ย่อย แต่สายพันธุ์ย่อยที่สำคัญต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 เพราะ 70% ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกทั้งหมดเกิดจากไวรัสสองสายพันธุ์นี้ ดังนั้น วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจึงป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณ 70%
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในปัจจุบัน ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าป้องกันมะเร็งชนิดอื่นที่มีเชื้อไวรัสเอชพีวีเป็นปัจจัยเสี่ยงได้ไหม? แพทย์กำลังศึกษาอยู่ ซึ่งได้แก่ โรคมะเร็งช่องปาก โรคมะเร็งคอหอยส่วนปาก และโรคมะเร็งทวารหนัก
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในปัจจุบัน ผลิตโดย 2 บริษัท บริษัทหนึ่งป้องกันได้เฉพาะไวรัสสายพันธุ์ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกที่พบบ่อยทั้งสองสายพันธุ์ แต่ของอีกบริษัท ป้องกันได้ทั้งหมด 4 สายพันธุ์ย่อย คือ ของมะเร็งปากมดลูก 2 สายพันธุ์ดังกล่าว และของหูดอวัยวะเพศอีก 2 สายพันธุ์ (ซึ่งป้องกันหูดอวัยวะเพศได้ประมาณ 90%)
ใครควรต้องฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก? เริ่มฉีดเมื่ออายุเท่าไร?
ผู้ที่สมควรฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก คือ ผู้หญิง โดยการป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งเป็นเชื้อติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จะมีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อได้รับการฉีดตั้งแต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เลย (ยังไม่ติดเชื้อ) ซึ่งจากการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าเด็กหญิงในสหรัฐอเมริกาเริ่มมีเพศสัมพันธ์ในอายุประมาณ 13 ปี
ดังนั้น สหรัฐอเมริกาจึงแนะนำการฉีดวัคซีนเริ่มตั้งแต่อายุ 11-12 ปี หรือ ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี ส่วนในอายุ 13-26 ปี ก็น่าจะฉีด(ถึงแม้จะมีเพศสัมพันธ์แล้วก็ตาม) แต่อาจได้รับผลในการป้องกันโรคลดลง
ส่วนในอายุอื่นๆ การศึกษายังไปไม่ถึง ในปัจจุบัน จึงยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่า การฉีดวัคซีนได้ประโยชน์ในกลุ่มที่เหลือนี้
ส่วนการฉีดวัคซีนตัวนี้ในผู้ชายเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง กำลังอยู่ในการศึกษาเช่นกัน
ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกอย่างไร? และต้องฉีดกระตุ้นอีกไหม?
การฉีดวัคซีนให้ได้ประสิทธิภาพ นอกจากขึ้นกับการมีเพศสัมพันธ์แล้ว ยังต้องฉีดให้ครบ 3 เข็ม ภายใน 6 เดือน ซึ่งเป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยฉีดเข็มที่ 2 หลังจากเข็มแรกประมาณ 2 เดือน และเข็มที่ 3 ภายใน 6 เดือนหลังฉีดเข็มแรก
ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้ว่า ในอนาคตต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้น หรือไม่ เพราะการศึกษายังไปไม่ถึง แต่การศึกษาในปัจจุบันพบว่า วัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพอยู่ หลังจากฉีดไปแล้ว 6-8 ปี
ดังนั้น ทุกคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว จึงต้องคอยติดตามข่าว เพราะอาจมี หรือ ไม่มีการต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นก็ได้ในอนาคต
วัคซีนมีผลข้างเคียง(ผลแทรกซ้อน)ไหม?
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกผลิตจากชิ้นส่วนของไวรัส จึงไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีไม่ว่าจะเป็นกรณีใดทั้งสิ้น (ไม่เป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็ง) แต่ชิ้นส่วน หรือ สารที่มีอยู่ในวัคซีน อาจก่ออาการแพ้ได้ ซึ่งอาการแพ้ทั่วไป ไม่รุนแรง และพบได้น้อย เช่น มีไข้ เจ็บตรงที่ฉีด หรือ วิงเวียน มึนงง อาการจะหายได้เองภายใน 1-2 วัน โดยไม่ต้องรักษา
แต่มีบางคน อาจแพ้รุนแรงถึงขั้นช็อกได้ (พบได้น้อยมาก) ถ้าเคยมีประวัติแพ้สารต่างๆมาก่อน ดังนั้นจึงควรแจ้งแพทย์/พยาบาลเสมอถึงประวัติอาการแพ้ต่างๆก่อนฉีดวัคซีน
วัคซีนฉีดในคนท้องได้ไหม? ถ้ายังฉีดวัคซีนไม่ครบแล้วเกิดท้องจะทำอย่างไร?
การศึกษาเรื่องการฉีดวัคซีนในคนท้องยังมีน้อยมาก แต่ยังไม่มีรายงานผลข้างเคียงที่แตกต่างไปจากที่กล่าวแล้วในหัวข้อวัคซีนมีผลข้างเคียงไหม? และยังไม่พบว่า ส่งผลให้เกิดความพิการของทารก หรือ เพิ่มโอกาสการแท้ง แต่ผลในระยะยาวต่อทารกที่เกิดมา ยังไม่ทราบ
ดังนั้น จึงเป็นข้อห้ามฉีดวัคซีนตัวนี้ขณะตั้งครรภ์ (เนื่องจากยังไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเด็กในอนาคต) ส่วนเมื่อฉีดวัคซีนไปแล้ว 1-2 เข็ม แล้ว เกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา แพทย์จะให้ชะลอการฉีดวัคซีนเข็มถัดไปไปก่อน รอจนกว่าจะคลอดแล้วจึงพิจารณาใหม่ ซึ่งยังไม่มีการศึกษาว่า ผลการป้องกันโรคมะเร็งที่ได้จะเป็นอย่างไร? และควรฉีดวัคซีนต่อไปให้ครบทั้งสามเข็มหรือไม่? แพทย์จะพูดคุยให้คำปรึกษาเป็นรายๆไป
วัคซีนแพงไหม?
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกยังมีราคาแพงอยู่ และ ต้องตระหนักว่า วัคซีนป้องกันโรคได้ 70% จึงยังคงต้องรู้จักดูแลตนเอง ดังจะกล่าวในหัวข้อต่อไป ถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม
ฉีดวัคซีนแล้ว ยังต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอีกไหม?
ข้อนี้สำคัญที่สุด มะเร็งปากมดลูก และยังต้องรับ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก สม่ำเสมอ บ่อยตามแพทย์แนะนำ ทุกคนต้องตระหนักถึงข้อนี้ คือ วัคซีน รักษาโรคมะเร็งปากมดลูกไม่ได้ และป้องกันมะเร็งปากมดลุกได้ประมาณ 70% ดังนั้น ทุกคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ยังคงต้องเลิกปัจจัยเสี่ยงต่างๆอื่นๆต่อการเกิด
ถ้าไม่ได้ฉีดวัคซีนจะดูแลตนเองอย่างไร?
ไม่ต้องกลัว ถึงแม้ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เพราะโรคมะเร็งปากมดลูกมีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ ผู้หญิงทุกคนจึงควรปรึกษา สูตินรีแพทย์ หรือ แพทย์ทุกคนเรื่องการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ( วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ) โดยเริ่มเมื่ออายุ 21 ปี หรือ หลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกแล้วอย่างน้อย 3 ปี ขึ้นกับว่า เวลาใดถึงก่อน หลังจากนั้นความถี่ในการตรวจขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ นอกจากนั้น ดังกล่าวแล้วว่า การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น การให้ฝ่ายชายใช้ถุงยางอนามัยในการมีเพศสัมพันธ์ จึงเป็นอีกวิธีลดโอกาสติดเชื้อต่างๆทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี และไวรัส เอชไอวี/HIV ( โรคเอดส์ )
ถ้าอยากฉีดวัคซีนจะทำอย่างไร?
เมื่อต้องการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ควรสอบถามสูตินรีแพทย์ หรือ แพทย์โรคมะเร็ง ทั้งรังสีรักษาแพทย์ และมะเร็งวิทยาอายุรแพทย์
ที่มา https://haamor.com/th/คซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก/