โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome)


1,224 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ระบบประสาทวิทยา 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ชา  เจ็บ  

บทนำ

ผมเชื่อว่าหลายคนต้องเคยมีอาการรู้สึกชา หรือปวดบริเวณมือ โดยเฉพาะเวลากลางคืนหรือเวลาทำงานที่ต้องใช้ข้อมือมากๆ ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า อาการดังกล่าวเกิดจากสาเหตุใดและรักษาอย่างไร จะหายหรือไม่ อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้ง่ายขึ้น บท ความนี้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่าย สามารถใช้ดูแลสุขภาพตนเอง และคนที่ท่านรักได้ จึงขอนำเสนอในรูปแบบ ถาม – ตอบ ในประเด็นที่สำคัญ และควรรู้ดังนี้

โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือคืออะไร?

โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ มีชื่อทางภาษาอังกฤษว่า Carpal Tunnel Syn drome เนื่องจากเส้นประสาทมีเดียนถูกกดทับบริเวณข้อมือ ชื่อที่แพทย์บอกผู้ป่วยมีมากมาย เช่น โรคประสาทข้อมือถูกกดทับ ประสาทมือชา แต่ที่ผมมักจะเรียกและบอกผู้ป่วยของผมคือ โรคแม่บ้าน เพราะพบบ่อยในผู้หญิงที่ทำงานบ้านมาก

ประสาทมีเดียนคืออะไร? อยู่ตรงไหน? มีหน้าที่อย่างไร?

เส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) เป็นเส้นประสาทที่วิ่งลงมาตามแขนและตามปลายแขน มีต้นกำเนิดมาจากร่างแหประสาทแขน (Brachial plexus) ในส่วนที่เป็นด้านในและด้าน ข้างของร่างแหประสาทแขน (เส้นประสาทที่ออกจากไขสันหลังส่วนคอ) และต่อเนื่องลงมาตามแขนและเข้าสู่ปลายแขนร่วมกับหลอดเลือดแดงแขน

เส้นประสาทมีเดียน เป็นเส้นประสาทเพียงเส้นเดียวที่ผ่านเข้ามาในอุโมงค์ข้อมือ (Carpal tunnel) โดยเส้นประสาทนี้ ทำหน้าที่นำกระแสประสาทมาเลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณมือและนิ้วมือตามภาพ

โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือเกิดได้อย่างไร?

โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ เกิดขึ้นจากเส้นประสาทมีเดียนที่วิ่งผ่านเข้ามาในมือ โดยต้องวิ่งลอดผ่านอุโมงค์ตรงบริเวณข้อมือ ซึ่งผนังของอุโมงค์นี้คือ พังผืด เมื่อมีการใช้งานบริเวณข้อมืออย่างต่อเนื่องและเป็นระยะเวลานานก็ทำให้เกิดการหนาตัวของพังผืด ส่งผลให้เส้นประสาทมีเดียนที่ต้องวิ่งลอดผ่านมานั้นเกิดการถูกกดทับขึ้น จึงส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการของเส้นประสาทมีเดียนถูกกดทับ

โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือมีอาการอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ มักมีอาการชาและรู้สึกแปลกๆ เช่น รู้สึกยิบๆ คล้ายมีแมลงไต่บริเวณมือ หรือคล้ายเหน็บชา บางคนปวด บริเวณที่รู้สึกผิดปกติ คือ ตั้ง แต่ข้อมือลงไปถึงนิ้วมือ แต่บางรายอาจสูงขึ้นเหนือข้อมือก็พบได้บ้าง บางรายจะมีอาการผิด ปกติตาเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณข้อมือและนิ้วมือ คือ 3 นิ้วครึ่ง ได้แก่ นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และครึ่งซีกของนิ้วนาง (ด้านที่ติดกับนิ้วกลาง) แต่จากประสบการณ์ที่ได้ดูแลผู้ป่วยมา พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะระบุอาการไม่ได้ตามลักษณะทางกายวิภาคของเส้นประสาทดังกล่าว บอกได้เพียงว่ามีอาการชาหรือปวดที่มือ

โดยส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มมีอาการตอนกลางคืน จนต้องตื่นขึ้นมา หรือมีอาการช่วงหลังตื่นนอน พอได้ขยับมืออาการก็ค่อยๆดีขึ้นต่อมาก็เริ่มมีอาการหลังทำงานที่ต้องมีการเคลื่อนไหวข้อมือ เช่น ทำงานบ้าน ซักผ้า บิดผ้า หั่นเนื้อ ตำน้ำพริก รวมทั้งการถือของหนัก และขี่มอเตอร์ไซด์ เป็นต้น

โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือแตกต่างหรือเหมือนกับโรคกระดูกต้นคอเสื่อมทับเส้นประสาท?

โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ มีอาการและสาเหตุที่แตกต่างกับโรคกระดูกต้นคอเสื่อมทับเส้นประสาท เพราะอาการก็แตกต่างกัน กล่าวคือ โรคกระดูกต้นคอเสื่อมทับเส้นประ สาท ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหรือชาบริเวณแขน มือ ตามตำแหน่งของเส้นประสาทที่ถูกกดทับ ผู้ ป่วยจะมีอาการเวลาที่ขยับ เคลื่อนไหวคอและบางครั้งมีปวดเสียวแปล๊บมาที่มือรวมทั้งที่หลังได้ เกิดจากการเสื่อมของกระดูกต้นคอ ทำให้กระดูกต้นคอมีการเปลี่ยนรูป เกิดแง่ง/เงี่ยงของกระ ดูกไปกดทับเส้นประสาท หรือเกิดจากหมอนรองกระดูกที่มีการเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาท

ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือได้บ้าง?

โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ พบได้ทุกคนที่ทำงานและต้องมีการเคลื่อนไหวของข้อมือ หรือ มีแรงสั่นสะเทือนข้อมือได้มาก เช่น แม่บ้าน คนทำอาหาร คนขุดเจาะถนน แม่ ค้าส้มตำ แม่ค้าขายหมู และพบได้บ่อยกว่าในคนอ้วน ตั้งครรภ์ ผู้ป่วยไตวายที่รักษาโดยการฟอกเลือด โรคเบาหวาน โรคข้อรูมาตอยด์ ผู้ที่เคยมีกระดูกบริเวณข้อมือหักหรือเคลื่อน โรคของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น

โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือเกิดกับข้อมือทั้งสองข้างได้ไหม? ข้อมือด้านไหนเกิดโรคได้บ่อยกว่ากัน?

โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ สามารถเกิดขึ้นได้กับข้อมือทั้งสองข้าง แต่ส่วนใหญ่ แล้วเกิดขึ้นกับมือข้างที่ใช้งานมากกว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับมือทั้งสองข้างนั้น มักพบในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่นๆร่วมด้วย เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (โรคข้อรูมาตอยด์โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ทำงานต่ำ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคที่มีฮอร์โมนการเจริญเติบโตเกินมาก (Acromegaly; โรคยักษ์)

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ?

ถ้าท่านมีอาการที่ข้อมือและ/หรือที่มือ ก็สามารถลองประเมินอาการตนเองได้ง่ายๆ โดยใช้แบบประเมินซึ่งมีการศึกษาตามหลักวิชาการแล้วพบว่ามีความแม่นยำสูง ซึ่งถ้าประเมินแล้วมีอาการตรงกับอาการดังได้กล่าวในหัวข้อ อาการ ก็อาจช่วยวินิจฉัยโรคนี้ได้ ซึ่งการประเมิน มีดัง นี้

  1. อาการปวดบริเวณข้อมือ หรือมือในช่วงเวลากลางคืน
  2. ใน 2 สัปดาห์ ท่านมีอาการปวดบริเวณข้อมือ และ/หรือมือ จนทำให้ต้องตื่นนอนตอนกลางคืน
  3. ท่านมีอาการบริเวณข้อมือ และ/หรือ มือ ในเวลากลางวันหรือไม่ บ่อยแค่ไหน
  4. ทุกครั้งที่มีอาการปวด มีอาการนานเท่าใด
  5. ท่านมีอาการชา หรือเหน็บชาบริเวณมือ ข้อมือ หรือไม่
  6. ท่านมีอาการอ่อนแรงบริเวณมือ ข้อมือหรือไม่
  7. ท่านมีอาการชา หรือเหน็บชาในเวลากลางคืนหรือไม่
  8. และต้องทำให้ท่านสะดุ้งตื่นในเวลากลางคืนหรือไม่
  9. ท่านรู้สึกลำบากในเวลากำวัตถุสิ่งของ หรือหยิบจับสิ่งของขนาดเล็ก

รวมทั้งการประเมินความสามารถในการใช้มือ เช่น เขียนหนังสือ ติดกระดุมเสื้อ ถือโทร ศัพท์ เปิดขวด ทำงานบ้าน ถือถุง หรืออาบน้ำแบบตัก (ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://jmat.mat.or.th/index.php/jmat/article/view/635 (วารสารปี 2008, Vol 29, No 8, หน้า 1250-6)

นอกจากนี้ ท่านยังสามารถตรวจประเมินอาการตนเองได้ง่ายๆ เช่น การใช้มือเคาะบริเวณข้อมือตรงตำแหน่งที่เส้นประสาทเดินทางมาที่ข้อมือ ก็จะมีอาการปวดชาไปตามมือและนิ้ว อย่างไรก็ตามการเคาะถ้าไม่ตรงเส้นประสาทก็อาจไม่ก่อให้เกิดอาการ

อีกวิธีหนึ่งที่ง่ายเช่นกัน คือ การพนมมือไหว้พระแต่ให้ออกแรงดันมือ 2 ข้างแรงๆ หรือ พลิกกลับของข้อมือโดยให้นิ้วมือชี้ลงข้างล่าง (ตรงข้ามกับการพนมมือไหว้พระ) ก็จะมีอาการรู้ สึกชาหรือปวดบริเวณมือ ข้อมือ ก็พอที่จะบอกได้ว่าเป็น โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ

แพทย์มีวิธีวินิจฉัยโรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมืออย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือได้โดย การซักประวัติที่ผู้ป่วยมีอา การผิดปกติตามที่กล่าวมาแล้วในหัวข้ออาการ ร่วมกับการตรวจร่างกาย เช่น การเคาะบริเวณเส้นประสาทมีเดียนที่บริเวณข้อมือ หรือการทำให้เส้นประสาทมีความตึงมากขึ้น โดยการให้ผู้ ป่วยทำท่าพนมมือโดยออกแรงดันมือ 2 ข้างแรงๆ หรือการทำข้อมือหักลง (ท่าตรงข้ามกับการพนมมือ) ผู้ป่วยก็จะมีอาการผิดปกติชัดเจนขึ้น แพทย์ก็สามารถบอกได้ว่าเป็นโรคนี้

ในบางกรณีที่แพทย์ตรวจพบว่ามีกล้ามเนื้อบริเวณมือลีบเล็กลง ก็จะช่วยการวินิจฉัยโรคได้ชัดเจนขึ้น และถ้าต้องการตรวจเพื่อยืนยันอีก ก็ต้องตรวจการนำกระแสไฟฟ้าของเส้นประ สาท (Electrodiagnostic test) ซึ่งในทางปฏิบัติไม่ได้ตรวจในผู้ป่วยทุกราย พิจารณาเฉพาะในกรณีที่ต้องการพิสูจน์ให้แน่ชัดเท่านั้น

โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ มีอันตรายหรือไม่?

กรณีที่เป็นไม่มาก เช่น มีอาการชาเฉพาะเวลานอนกลางคืนก็ถือว่าไม่มีอันตรายอะไร แต่ถ้ามีอาการตลอดเวลา ส่งผลต่อการทำงาน การดำรงชีวิต หรือสังเกตพบว่า กล้ามเนื้อที่มือลีบ ฝ่อลง ก็ถือว่าเป็นอันตราย

โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือรักษาได้หายไหม? รักษาแล้วมีโอกาสกลับเป็นอีกไหม?

การรักษาโรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือส่วนใหญ่ได้ผลดี และมีโอกาสหาย แต่ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยว่า ได้พยายามหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องใช้การเคลื่อน ไหวของข้อมือหรือไม่ พฤติกรรมการใช้ข้อมือที่ผิด เช่น การหักข้อมือ นอนทับมือ ชอบเอามือมารองที่ศีรษะ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โอกาสการกลับมาเป็นใหม่ของโรคก็สูงมาก

เมื่อไหร่ต้องไปพบแพทย์เพื่อรักษา?

ถ้ามีอาการเฉพาะเวลานอน หรือเวลาทำงานหนัก แนะนำให้ดูแลตนเองโดยการลดกิจ กรรมที่ต้องใช้ข้อมือลง ถ้าอาการดีขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ แต่ถ้ามีอาการมากขึ้น ทำ งานนิดหน่อยก็มีอาการ ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

รักษาโรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมืออย่างไร? จำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่?

การรักษาโรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ ประกอบด้วย

  • การหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อมือบ่อยๆ
  • การใส่สปรินซ์ (Sprint/อุปกรณ์พยุง) เพื่อทำมือให้อยู่ในท่าที่เหมาะสม
  • การรักษาด้วยยา เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดการบวมของเส้นประสาท
  • การรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าบริเวณข้อมือ
  • และถ้าไม่ได้ผลจริงๆ หรือตรวจพบกล้ามเนื้อมือลีบ ฝ่อลงไป จึงอาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด

เมื่อท่านทราบรายละเอียดของโรคนี้แล้ว ก็หวังว่าท่านจะสบายใจขึ้น ไม่ต้องกังวลว่าอา การนี้เป็นอาการเริ่มต้นของโรคอัมพาตนะครับ เพราะไม่เกี่ยวข้องกัน

รักษาโรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือด้วยกายภาพบำบัดได้ไหม?

การรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดสามารถทำได้ เช่น การใช้อุปกรณ์พยุง เพื่อให้เส้น ประสาทมีเดียนอยู่ในท่าและตำแหน่งที่เหมาะสมไม่มีการตึงตัวหรือถูกกดทับ

ดูแลตัวเองอย่างไร? ห้ามอะไรบ้าง?

เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ถ้าอาการไม่มาก พักการใช้มือแล้วดีขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ และควรต้องหลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องใช้ข้อมือเคลื่อนไหวมากๆและซ้ำๆเป็นระยะเวลานานและต่อเนื่อง

แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น มีอาการตลอดเวลา หรือทำงานเพียงเล็กน้อยก็มีอาการ ควรไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาตามความรุนแรงของโรค

ป้องกันโรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมืออย่างไร?

โรคนี้ป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและก่อให้เกิดอาการผิดปกติ ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นในหัวข้อ โอกาส/ปัจจัยเสี่ยง ทั้งนี้รวมทั้งการป้องกัน รักษาและควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน โรคของต่อมไทรอยด์ โรคข้อรูมาตอยด์ ก็อาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือลงได้เช่นกัน
ที่มา   https://haamor.com/th/เส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ/

อัพเดทล่าสุด