ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง (Birth control patch or contraceptive patch)


939 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

มดลูก  รังไข่  ระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังคืออะไร?

ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง (Birth control patch หรือ Contraceptive patch) เป็น การคุมกำเนิดโดยใช้ยาฮอร์โมนที่เป็นแผ่นแปะ ที่ประกอบด้วยยาฮอร์โมน 2 ชนิด คือ ยาในกลุ่มเอสโตรเจนสังเคราะห์/Synthetic estrogen และยาในกลุ่มโปรเจสติน/Progestin ซึ่งเมื่อ แปะบริเวณผิวหนังแล้วจะมีผลให้ตัวยาดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย โดยกลไกหลัก คือ ยาจะมีผลยับยั้ง การตกไข่เช่นเดียวกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน หรือชนิดฉีด เพราะเป็นยาฮอร์โมนจัดอยู่ในประเภทเดียวกัน

ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะนี้ มีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดด้านละ 1 3/4 นิ้ว ผิว เรียบ เป็นแผ่นบางๆ สีเบจ/สีเนื้อ (Beige) ซึ่งได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของ ประเทศสหรัฐอเมริกา (FDA, Food and Drug Administration) ในปี คศ. 2001 (พ.ศ.2544)

ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังมีกลไกการทำงานอย่างไร?

เนื่องจากยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังนี้ ประกอบด้วยยาฮอร์โมนเพศหญิง 2 ชนิด เช่น เดียวกับ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน แต่การปลดปล่อยฮอร์โมน หรือยานี้จะถูกผิวหนังดูดซึมเข้าสู่ร่างกายนั้น จะเป็นไปอย่างช้าๆหลังจากแปะยาไปแล้วประมาณ 48 ชั่วโมง โดยระดับ ยาจะคงที่ สม่ำเสมอ ซึ่งประมาณ 20 ไมโครกรัมต่อวัน โดยที่ระดับยาจะใกล้เคียงกันไม่ว่าจะ แปะแผ่นยาที่บริเวณ สะโพก หน้าท้อง ต้นแขนด้านนอก หรือ แผ่นหลังด้านบน ทำให้มีการออก ฤทธิ์อยู่ได้นาน ซึ่งยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังนี้มีกลไกป้องกันการตั้งครรภ์หลักคล้ายกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ได้แก่

  1. ป้องกันการตกไข่
  2. ป้องกันไม่ให้อสุจิผ่านเยื่อเมือกบริเวณปากช่องคลอด (Cervical mucus) เข้ามาปฏิสนธิกับไข่บริเวณโพรงมดลูกและในท่อนำไข่ได้
  3. มีผลทำให้เยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial layer) บางและไม่เหมาะสมในการฝังตัวของ ตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิ

ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังเป็นอย่างไร?

จากข้อมูลพบว่า โอกาสที่จะล้มเหลวหรือเกิดการตั้งครรภ์ จากการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้นั้น น้อยกว่า 1% ซึ่งน้อยกว่าการคุมกำเนิดด้วยยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ซึ่งอยู่ในระดับประ มาณ 5-8%

ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังเหมาะสมกับใคร?

วิธีคุมกำเนิดวิธีนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ อายุอยู่ในช่วงระหว่าง 18-50 ปีที่ ยังไม่พร้อมจะมีบุตร ไม่ชอบการทานยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน และไม่มีโรคหรือข้อห้ามใน การให้ฮอร์โมน/ให้ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ (จะกล่าวถึงในหัวข้อต่อๆไป) โดยช่วงเวลาที่ต้องการ คุมกำเนิดที่เหมาะสมประมาณ 5 ปี เพราะหากต้องการคุมกำเนิดนานมากกว่านี้ ก็ควรใช้การคุม กำเนิดวิธีอื่นจะเหมาะสมกว่า ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของยาฮอร์โมนในระยะยาว เช่น อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งปากมดลูก ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ และ/หรือเนื้องอกตับชนิดรุนแรง (Hepatic adenoma)

มีวิธีที่ถูกต้องในการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังอย่างไร?

ในยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง 1 ชุด จะมี 3 แผ่น ใช้ติดสัปดาห์ละ 1 แผ่น โดยแปะยา ที่ผิวหนังบริเวณ สะโพก ก้น หน้าท้อง ต้นแขนด้านนอก หรือ แผ่นหลังด้านบนก็ได้ เริ่มในวัน แรกของประจำเดือน แปะไว้หนึ่งสัปดาห์ แล้วเปลี่ยนแผ่นใหม่ในวันเดียวกันใน 1 สัปดาห์ต่อมา โดยการดึงแผ่นเดิมออก และแปะยาแผ่นใหม่บริเวณอื่นที่ไม่ซ้ำกับตำแหน่งเดิม เช่น เริ่มแปะยา แผ่นแรกวันอาทิตย์ ก็จะต้องดึงแผ่นแรกนี้ออก และเปลี่ยนเป็นแผ่นที่สองในวันอาทิตย์ต่อมา เช่นเดียวกัน โดยจะแปะครบ 3 แผ่น หลังจากที่ดึงแผ่นที่สามออกนั้น ก็เว้น 1 สัปดาห์ไม่ต้อง แปะแผ่นใหม่ ในช่วงนี้ก็จะมีประจำเดือนและจะเริ่มแปะแผ่นใหม่ใน 1 สัปดาห์หลังดึงแผ่นสุด ท้ายออก นับเป็น 1 เดือนพอดี

นอกจากนั้น คือ

  1. ห้ามใช้ เครื่องสำอาง โลชั่น หรือครีม บนผิวหนังบริเวณที่จะแปะแผ่นยา และห้ามแปะ แผ่นยาขณะที่ผิวหนังยังไม่แห้งสนิท
  2. ฉีกซองยาที่รอยบากตรงมุมของซอง แล้วดึงแผ่นยาสีเนื้อพร้อมแผ่นพลาสติกใสที่ติดอยู่ ออกจากซองยาพร้อมๆกันโดยห้ามโดนบริเวณที่เป็นกาว ลอกแผ่นพลาสติกใสซีกหนึ่ง ออกจากแผ่นยา
  3. จากนั้นติดแผ่นยาทันทีที่ลอกแผ่นพลาสติกด้านหนึ่งออก บนผิวหนังที่สะอาด ไม่มีผื่นแดง แผล และผิวต้องแห้งสนิท หลังจากนั้น จึงดึงแผ่นพลาสติกอีกซีกหนึ่งออกจาก แผ่นยา พร้อมทั้งติดแผ่นยาคุมกำเนิดส่วนที่เหลือให้แนบสนิทกับผิวหนังทั่วทั้งแผ่นยา
  4. ผู้ใช้ ควรรีดแผ่นยานี้ให้ทุกส่วนของแผ่นยา แนบสนิทกับผิวหนัง และค่อยๆกดไว้ให้แน่นประมาณ 10 วินาที

หากลืมเปลี่ยนแผ่นยาคุมกำเนิดควรต้องทำอย่างไร?

หากลืมเปลี่ยนแผ่นยาคุมกำเนิด ควร

  1. หากลืมในช่วงแผ่นยาแผ่นที่ 2 และ 3
  • ถ้าเลื่อนไปไม่เกิน 48 ชั่วโมง แนะนำให้เปลี่ยนแผ่นใหม่ทันทีที่จำได้ และเปลี่ยนแผ่นยาแผ่นใหม่ตามวันเปลี่ยนแผ่น ยาตามกำหนดเดิม ไม่ต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น
  • ถ้าเลื่อนไปนานกว่า 48 ชั่วโมง ควรหยุดรอบการใช้แผ่นยาเดิมและให้เริ่มต้นใช้แผ่นยาคุมกำเนิดรอบใหม่ทันที โดยเริ่ม ต้นนับเป็นวันแรกของการปิดยา และกำหนดเป็นวันเปลี่ยนแผ่นใหม่ในอีกหนึ่งสัปดาห์หน้า ซึ่งระหว่างนี้ควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ที่ไม่ใช่ยากลุ่มฮอร์โมนร่วมด้วย เช่น ถุงยางอนามัย ในระยะ 7 วันแรกของการปิดแผ่นยาใหม่ เพราะอาจมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ในช่วง เวลาดังกล่าว
  • หากลืมลอกแผ่นสุดท้ายออก
  • แนะนำให้ลอกแผ่นออกทันที และการใช้แผ่นต่อไปควรเริ่มตามปกติ ไม่ต้องใช้วิธีการคุม กำเนิดอื่นร่วมด้วย
  • หากลืมปิดแผ่นยาในวันแรกของรอบการใช้ยา
  • ควรเริ่มแปะแผ่นแรกทันทีที่จำได้ และจำไว้ว่า วันเริ่มต้นใหม่ของรอบเดือนใหม่เป็นวัน ใด และเปลี่ยนรอบแผ่นยาตามวันใหม่นี้ ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น ในวิธีใช้แผ่นยา
  • ควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นที่ไม่ใช่ยาฮอร์โมนร่วมด้วยในช่วง 7 วันแรก ดังได้กล่าวแล้ว เพราะอาจมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ในช่วงเวลานี้เช่นเดียวกัน

อนึ่ง เมื่อลืมเปลี่ยน หรือลืมแปะแผ่นยา ไม่ควรกินยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดใดๆทั้งสิ้นเพิ่ม เติม ให้ปฏิบัติตามที่ได้กล่าวแล้ว เพราะยาเหล่านั้นไม่ได้ช่วยลดโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ แต่อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยาสูงขึ้น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และ/หรือ มีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย

มีข้อควรทราบสำหรับผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังอย่างไร?

มีข้อควรทราบสำหรับผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง คือ

  1. ถ้าแผ่นหลุดหรือแผ่นลอกออก ให้ลองกดดูถ้ายังติดได้ก็ใช้ต่อ แต่ถ้าหมดยางเหนียวหรือ ไม่สามารถติดเหมือนเดิมได้ต้องเปลี่ยนแผ่นใหม่ (แปะเท่าเวลาที่เหลือ เช่นแผ่นนั้นยัง เหลือ 3 วันแล้วหลุด ก็แปะแผ่นใหม่แค่ 3 วัน แล้วก็เปลี่ยนเป็นแผ่นใหม่ตามรอบเดิม)
  2. ถ้าหากต้องการจะเปลี่ยนจากยาคุมกำเนิดแบบกินมาเป็นแบบแปะนั้น ให้เริ่มวันแรกที่ รอบเดือนมาได้เลย และหากต้องการเปลี่ยนจากแบบแปะ เป็นแบบกินก็เช่นเดียวกัน
  3. สามารถ อาบน้ำ ว่ายน้ำ และออกกำลังกายได้ตามปกติโดยไม่ต้องแกะแผ่นแปะออก
  4. ไม่ควรตัดแบ่งตัวแผ่นแปะให้เล็กลง เพราะอาจจะทำให้ยาลดประสิทธิภาพ จนไม่สามารถ ป้องกันการตั้งครรภ์ได้
  5. การคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้
  6. ไม่ควรใช้ยานี้ในช่วงให้นมบุตร เพราะยาซึมเข้าสู่หลอดเลือดและผ่านเข้าสู่น้ำนมได้ จึงส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงของยา (ดังจะกล่าวในหัวข้อต่อไป) ต่อทารกที่ดื่มนมแม่ได้

สามารถใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังติดต่อกันได้นานกี่ปี?

สามารถใช้การคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้นานหลายปีตราบเท่าที่ต้องการ เหมือนกับการใช้ยาคุม กำเนิดแบบรับประทาน (ยาเม็ดคุมกำเนิด)

แต่หากใช้ยานี้นานมากกว่า 5 ปีขึ้นไป ควรใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นแทน เช่น การใช้ถุงยางอนามัย (ฝ่ายชาย) และ/หรือ การใส่ห่วงอนามัย (ฝ่ายหญิง) จะเหมาะสมกว่า (อ่านเพิ่มเติม ในบทความ เรื่อง วิธีคุมกำเนิด) เพื่อลดผลข้างเคียงของยาฮอร์โมนในระยะยาว เช่น อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งปากมดลูก ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ และ/หรือเนื้องอกตับชนิดรุนแรง (Hepatic adenoma) หรือ ปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมในการคุมกำเนิดต่อไป (อ่านเพิ่มเติมในบทความ เรื่อง บทบาทของการวางแผนครอบ ครัว)

ค่าใช้จ่ายเมื่อเปรียบเทียบกับยาคุมกำเนิดแบบรับประทานเป็นอย่างไร?

ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง จะมีราคาแพงกว่า ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน (ยาเม็ดคุมกำเนิด) โดยจะแพงกว่ามากหรือน้อย ขึ้นกับชนิดของยารับประทาน ซึ่งมีราคายาแตกต่างกันออกไปตามชนิดยา ปริมาณยา และตามบริษัทผู้ผลิต

หากต้องการหยุดยาหรือต้องการมีบุตรควรทำอย่างไร?

หลังจากหยุดยาคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ ภาวะตกไข่ตามธรรมชาติจะสามารถกลับมาได้ภายใน เดือนแรกหลังหยุดยา (ทั่วไป มักภายใน 3 เดือนหลังหยุดยา) ดังนั้นการตั้งครรภ์จึงอาจเกิดขึ้น ได้ตั้งแต่เดือนแรกหลังหยุดแปะยา

หลังแท้งควรเริ่มใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังได้เมื่อไหร่?

สามารถเริ่มแปะยาคุมกำเนิดวิธีนี้ได้ภายใน 2 สัปดาห์ หลังการแท้งที่ไม่มีภาวะแทรก ซ้อน เช่น ยังมีเลือดออกทางช่องคลอดอยู่ หรือ มีการติดเชื้ออยู่ เป็นต้น เช่นเดียวกับยาคุมกำ เนิดชนิดอื่นๆ เพราะในภาวะเช่นนั้น การคุมกำเนิดด้วยการใช้ยา มักมีประสิทธิภาพลดลง

ผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังมีอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิดชนิดนี้ก็เหมือนผลข้างเคียงของยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับ ประทานทั่วไป แต่ของยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังนั้นพบได้น้อยกว่า โดยผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ

  1. คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว/ปวดศีรษะ ซึมเศร้า เหงือกอักเสบ
  2. ผื่นแพ้ คัน ในผิวหนังบริเวณที่แปะ
  3. น้ำหนักเพิ่มเล็กน้อย รู้สึกตัวบวมขึ้น ซึ่งจะขึ้นกับแต่ละบุคคล
  4. อาจมีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย
  5. เต้านมอาจ บวม ตึง และใหญ่ขึ้น อาจมีน้ำนมไหลได้
  6. มีความต้องการทางเพศเปลี่ยนไป โดยอาจลดลง
  7. มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ แต่พบได้น้อยมาก

มีข้อควรระวังและข้อห้ามใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังอย่างไร?

หากมีภาวะดังต่อไปนี้ ควรต้องปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อให้คำแนะนำก่อนใช้ยาคุมกำเนิดชนิดนี้เสมอ

  1. น้ำหนักตัวมากกว่า 90 กิโลกรัมขึ้นไป อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาต่ำลง
  2. สตรีที่สูบบุหรี่ เพราะจะเสริมกัน ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้
  3. มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และ/หรือ โรคตับ เพราะ อาจส่งเสริมให้โรครุนแรงขึ้น
  4. มีประวัติเป็น โรคมะเร็งเต้านม หรือ โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เพราะอาจส่งเสริมให้โรค ลุกลามแพร่กระจายได้
  5. มีประวัติเลือดจับเป็นก้อนง่าย เพราะจะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
  6. มีประวัติโรคหัวใจ หรือ สมองขาดเลือดเพราะอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และ/หรือ โรคหลอดเลือดสมองได้
  7. มีประวัติ แพ้ยา กลุ่มฮอร์โมน
  8. มีเลือดออกทางช่องคลอดที่ยังไม่ทราบสาเหตุ
  9. ควรระวัง หากใช้ร่วมกับยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยารักษาเชื้อรา ยากันชัก เพราะอาจลดประสิทธิภาพของยาเหล่านั้น หรือยาเหล่านั้นอาจลดประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของยาคุมกำเนิดชนิดนี้ให้ลดลงได้ ดังนั้นเมื่อมีการเจ็บป่วยและมีการใช้ยาต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาถึงผลกระทบของยารักษาโรคเหล่านั้นต่อยาคุมกำเนิดเสมอรวมทั้งยาชนิดแปะนี้ด้วย หรือต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นที่ไม่ใช่ยาคุมกำเนิดเพิ่มร่วมไปด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้น

เมื่อไรต้องรีบพบสูตินรีแพทย์ก่อนนัด?

หากมีอาการผิดปกติต่างๆหลังใช้การคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง เช่น เจ็บหน้าอก ผื่นแดง บวม คัน ปวดตามผิวหนัง มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ตัวเหลือง ตาเหลือง (โรคดีซ่าน) และ/หรือมีอาการของการตั้งครรภ์ ควรพบสูตินรีแพทย์ทันที

สรุปข้อดีและข้อเสียของยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง

ข้อดี

  1. มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง หากใช้อย่างถูกต้อง
  2. แก้ปัญหาสำหรับผู้ที่ทาน ยาเม็ดคุมกำเนิด แล้วลืมบ่อยๆ
  3. ผลข้างเคียงจากยาคุมกำเนิดชนิดนี้ น้อยกว่ายาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน
  4. สามารถกลับมาสู่ภาวะเจริญพันธุ์/ตั้งครรภ์ได้รวดเร็วตั้งแต่หยุดแปะยา หากต้องการมีบุตร

ข้อเสีย

  1. ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้
  2. การใช้ยาชนิดนี้ ต้องปรึกษาและสั่งโดยแพทย์
  3. ต้องมีความร่วมมือจากผู้ใช้ยาวิธีนี้ ในการแปะแผ่นยาอย่างถูกต้อง

ที่มา   https://haamor.com/th/ยาคุมกำเนิดชนิดแปะ/

อัพเดทล่าสุด