บทนำ
เยื่อบุโพรงมดลูก หรือเยื่อบุมดลูก (Endometrium) คือเยื่อเมือกบุภายในโพรงของมดลูก (ดังนั้นจึงเป็นเนื้อเยื่อเฉพาะในเพศหญิงเท่านั้น) ซึ่งในคนปกติเยื่อบุโพรงมดลูกมีความหนาประมาณ 5-6.7 มิลลิเมตร เป็นผนังด้านในสุดของมดลูก ซึ่งในแต่ละรอบประจำเดือน เยื่อบุโพรงมดลูกจะได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนเพศหญิงจากรังไข่ให้เจริญเติบโตหนาตัวขึ้น เพื่อรองรับการฝังตัวของไข่ที่ผสมกับตัวอสุจิ (สะเปิร์ม,Sperm) เพื่อการเจริญเติบโตเป็นทารก แต่เมื่อไม่มีการฝังตัวของไข่ เยื่อบุโพรงมดลูกจะลอกตัว เกิดเป็นประจำเดือนขึ้น แต่ถ้ามีการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว เยื่อบุโพรงมดลูกจะเจริญกลายเป็นส่วนหนึ่งของรก ซึ่งเป็นทางผ่านของออก ซิเจน และอาหารจากเลือดของแม่ สู่ทารกในครรภ์
โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก หรือโรคมะเร็งเยื่อบุมดลูก (Endometrial cancer) คือ โรค มะเร็งที่เกิดกับเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นโรคพบได้ประมาณ 6% ของโรคมะเร็งในผู้หญิงทั้งหมด ในสหรัฐอเมริกาพบโรคนี้ได้บ่อย โดยพบได้สูงติด 1 ใน 4 ลำดับของมะเร็งพบบ่อยในผู้หญิงสหรัฐอเมริกา แต่เป็นโรคพบได้เรื่อยๆไม่ถึงกับบ่อยในบ้านเรา โดยไม่ติด 1 ใน 10 ของมะเร็งพบบ่อยในผู้หญิงของบ้านเรา ทั้งนี้ในสหรัฐอเมริกา พบโรคนี้ได้ประมาณ 22.6-25.2 ต่อประชา กรหญิง 100,000 คน ส่วนในประเทศไทยช่วงปี พ.ศ. 2544-2546 พบโรคนี้ 2.8 รายต่อประชา กรหญิง 100,000
โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นโรคของผู้ใหญ่ มักพบในอายุตั้งแต่อายุ 40 ขึ้นไป แต่พบได้ในอายุต่ำกว่านี้ (ประมาณ 5% พบในอายุต่ำกว่า 40 ปี) โดยพบได้สูงขึ้นในช่วงวัยหมดประ จำเดือนแล้ว โดย 20-25% พบในวัยยังมีประจำเดือนอยู่
โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมีกี่ชนิด?
เกือบทั้งหมดของโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเป็นมะเร็งชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา (Adeno carcinoma) โดยชนิดที่พบบ่อย 75%-80% คือชนิด เอ็นโดมีทริออย (Endometrioid adeno carcinoma) ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดมีความรุนแรงน้อยกว่าชนิดอื่น แต่ชนิดมีความรุนแรงสูงกว่า คือ ชนิดสะความัส (Squamous cell carcinoma) ชนิดเคลียร์เซลล์ (Clear cell Carcinoma) ชนิดมีเซนคายมัล (Mesenchymal tumor) ชนิดมิวซินัส (Mucinous carcinoma) และชนิดพาพิลลารีซีรัส (Papillary serous adenocarcinoma ซึ่งมีลักษณะการแพร่กระจายของโรคเหมือนโรคมะเร็งรังไข่) ซึ่งแต่ละชนิดดังกล่าวพบได้ประมาณ 3-5%
โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของการเกิดโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก แต่พบมีปัจจัยเสี่ยงดังนี้ คือ
- มีน้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วน
- ไม่เคยตั้งครรภ์ หรือมีบุตรน้อย เพียง 1-2 คน
- มีประจำเดือนเร็วกว่าคนทั่วไป ซึ่งทั่วไปมักมีประจำเดือนในช่วงอายุ 12-13 ปี
- หมดประจำเดือนช้ากว่าคนทั่วไป คนทั่วไปปกติหมดประจำเดือนไม่เกินวัย 55 ปี
- เป็นโรคเบาหวาน
- เป็นโรคความดันโลหิตสูง
- กินยาฮอร์โมนเพศหลังหมดประจำเดือนแล้ว
- กินยาฮอร์โมนรักษาโรคมะเร็งเต้านมที่เรียกว่ายาทามอกซิเฟน (Tamoxifen)
- กินอาหารไขมันสูงต่อเนื่องเป็นประจำ
- เคยเป็นโรคมะเร็งเต้านมและ/หรือโรค มะเร็งรังไข่
- มีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิดโดยเฉพาะมีคนในครอบครัวสายตรงเป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และ/หรือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเกินปกติ ชนิดเจริญนอกแบบ (Complex atypical endometrial hyperplasia อาการพบบ่อย คือ มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ มากเกินไป หรือ บ่อยเกินไป หรือกะปริดกะปรอย)
โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมีอาการอย่างไร?
อาการพบบ่อยของโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก คือ
- 70-80% ของผู้ป่วย มีอาการมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ เช่น มีประจำเดือนบ่อย หรือมาก หรือ กะปริดกะปรอย และโดยเฉพาะมีเลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือนแล้ว
- ประมาณ 30% มีตกขาว มีกลิ่นเหม็น
- เมื่อโรคเป็นมาก ก้อนเนื้อโตจนกดเบียดทับกระเพาะปัสสาวะซึ่งอยู่หน้าต่อมดลูก และ/หรือลำไส้ตรงที่อยู่หลังต่อมดลูก ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติทางปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ กระเพาะปัสสาวะอักเสบและ/หรือท้องผูกหรือกดเบียดทับเนื้อเยื่อประสาทในช่องท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังตอนล่าง (Low back pain) เรื้อรัง
- เมื่อเป็นมากอาจคลำได้มดลูกโต โดยเป็นก้อนเนื้ออยู่เหนือหัวหน่าว
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจภายใน แต่ที่ให้ผลแน่นอนคือการขูดมดลูกเพื่อนำเยื่อบุโพรงมดลูกเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
เมื่อทราบผลว่าเป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกแล้ว จะมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อประ เมินระยะโรคมะเร็งและสุขภาพของผู้ป่วย เช่น การตรวจเลือดดูโรคเบาหวาน ดูการทำงานของไขกระดูก (การตรวจซีบีซี/CBC) ตับและไต การตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์ดูโรคปอด หัวใจ และโรคมะเร็งฯแพร่กระจายสู่ปอด และอาจตรวจภาพช่องท้องด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อดูโรคมะเร็งฯลุกลามแพร่กระจายในช่องท้อง ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมีกี่ระยะ?
โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มี 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ และในบางระยะอาจแบ่ง เป็นระยะย่อยได้อีกเพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้เป็นแนวทางในการรักษา และในการศึกษา ระยะทั้ง 4 ได้แก่
- ระยะที่ 1โรคยังลุกลามอยู่เฉพาะในผนังมดลูก
- ระยะที่ 2โรคลุกลามเข้าปากมดลูก
- ระยะที่ 3โรคลุกลามถึงเยื่อหุ้มมดลูก และ/หรือ รังไข่ และ/หรือ ช่องคลอด และ/หรือเนื้อเยื่อในอุ้งเชิงกราน และ/หรือต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง
- ระยะที่ 4โรคมะเร็งลุกลามเข้ากระเพาะปัสสาวะ และ/หรือลำไส้ใหญ่ และ/หรือแพร่ กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ และ/หรือแพร่กระจายสู่ต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้า และ/หรือแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต (เลือด) ไปยังอวัยวะต่างๆที่อยู่ไกลออกไป ซึ่งเมื่อแพร่กระ จาย มักเข้าสู่ ปอด ตับ เยื่อบุช่องท้อง และกระดูก
โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกรักษาอย่างไร?
การรักษาหลักในโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก คือการผ่าตัดมดลูก ปีกมดลูก รังไข่ และบางครั้งผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานออกด้วย ต่อจากนั้นจึงประเมินผลชิ้นเนื้อหลังการผ่าตัดอีกครั้งด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อดูการลุกลามของโรค เมื่อพบเป็นโรคระยะลุก ลาม แพทย์จะรักษาต่อเนื่องด้วยรังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด ส่วนยารักษาตรงเป้ายังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา
แต่โรคในระยะที่ผ่าตัดไม่ได้ หรือเมื่อสุขภาพผู้ป่วยไม่อำนวยต่อการผ่าตัด การรักษาคือ รังสีรักษาวิธีการเดียว หรือร่วมกับยาเคมีบำบัด ทั้งนี้ขึ้นกับระยะโรค และดุลพินิจของแพทย์
มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ขึ้นกับวิธีรักษา โดยโอกาสเกิดผล ข้างเคียงจะสูงขึ้นเมื่อ ใช้การรักษาหลายๆวิธีร่วมกัน รวมทั้งในผู้สูงอายุ ในผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูงโรคที่ก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (เช่น โรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน) เมื่อสูบบุหรี่ และ/หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การผ่าตัด ผลข้างเคียงที่พบได้ เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ/อวัยวะ คือ มดลูกและรังไข่ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
- รังสีรักษาคือ ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง และต่อเนื้อเยื่อ/อวัยวะในอุ้งเชิงกราน (การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และผลข้างเคียงและวิธีดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง และ/หรืออุ้งเชิงกราน)
- ยาเคมีบำบัด คือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา : การดูแลตนเอง) และภาวะเกล็ดเลือดต่ำซึ่งส่งผลให้เกิดเลือดออกได้ง่าย
- ยารักษาตรงเป้า ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดมีบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ผนังลำไส้ทะลุได้
โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกรุนแรงไหม?
โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงปานกลาง มีโอกาสรักษาได้หาย ทั้งนี้ความรุนแรงของโรคขึ้นกับ ระยะโรค ชนิดของเซลล์มะเร็ง การผ่าตัดได้หรือไม่ อายุ และสุขภาพผู้ป่วย
โดยทั่วไป อัตรารอดที่ 5 ปีหลังการรักษาในโรคระยะที่ 1 ประมาณ 80-90% ระยะที่2 ประมาณ 70-80% ระยะที่3 ประมาณ 30-50% และระยะที่ 4 ประมาณ 0-20%
มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ปัจจุบันยังไม่พบวิธีที่มีประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกให้พบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ รีบพบแพทย์เมื่อมีอาการดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ โดยเฉพาะการมีเลือดออกทางช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือนแล้ว
ป้องกันโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก แต่การหลีก เลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่หลีกเลี่ยงได้ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง อาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคลงได้บ้าง เช่น การควบคุมน้ำหนัก การออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ การลดอาหารแป้ง น้ำตาล ไขมัน และอาหารรสเค็ม ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสเกิดโรคต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง รวมทั้งไม่ซื้อยาฮอร์โมนต่างๆบริ โภคเองโดยไม่ใช่คำแนะนำจากแพทย์
ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งรวมทั้งในมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก อ่านเพิ่มเติมใน การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ที่มา https://haamor.com/th/มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก/