ภาวะขาดประจำเดือน (Amenorrhea)


2,424 ผู้ชม


ภาวะขาดประจำเดือนหมายถึงอะไร?

ประจำเดือน (Menstruation) หมายถึง การมีเลือดออกมาทางช่องคลอดเป็นประจำทุกๆเดือน นานครั้งละ 2-7 วัน เป็นอาการแสดงของการเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น (11-14 ปี) ซึ่งเกิดจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่างๆภายในร่างกายเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเจริญพันธุ์ หากเกิดภาวะใดภาวะหนึ่งทำให้ไม่มีเลือดประจำเดือนออกมาตามปกติ เรียกว่า “ขาดประจำเดือน หรือภาวะขาดประจำเดือน (Amenorrhea)”

การที่สตรีจะมีเลือดประจำเดือนออกมาทุกเดือนเป็นปกตินั้น ต้องมีระบบการสร้างฮอร์โมน และระบบกายวิภาคของระบบสืบพันธุ์ปกติ ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์และการมีประจำเดือน คือ Gonadrotropin releasing hormone (GnRH, จีเอนอาร์เอช) ที่หลั่งจากสมองส่วนลึกในสมองใหญ่ที่เรียกว่า ไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) จะไปกระตุ้นเนื้อเยื่อส่วนหน้าของต่อมใต้สมอง (Anterior pituitary gland) ให้สร้างฮอร์โมน เอฟเอสเอช (FSH, Folli cular stimulating hormone) และฮอร์โมน แอลเอช (LH, Luteinizing hormone) ซึ่ง ฮอร์ โมนทั้ง 2 ตัวนี้ จะไปกระตุ้นรังไข่ให้สร้าง ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมน โปร เจสเตโรน (Progesterone) ที่จะไปทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับรอรับการฝังตัวของตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิระหว่างไข่ของฝ่ายหญิงและตัวอสุจิของฝ่ายชาย เพื่อที่จะตั้งครรภ์ต่อไป แต่หากไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ระดับฮอร์โมนต่างๆดังกล่าว จะลด ลง ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกและมีการฉีกขาดของหลอดเลือดในโพรงมดลูกออกมาเป็นเลือดประจำเดือนต่อไป นอกจากนั้นทางด้านกายวิภาค (กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะสืบพันธุ์ภายในของสตรี) ต้องมีมดลูก ปากมดลูก และ ช่องคลอดที่ปกติ ที่จะให้เลือดประจำเดือนออก มาได้

ภาวะขาดประจำเดือนแบ่งเป็นกี่ประเภท?

ทางการแพทย์ แบ่งการขาดประจำเดือนเป็น 2 แบบ/ประเภท คือ

  1. ภาวะขาดประจำเดือนปฐมภูมิ (Primary amenorrhea) คือ การที่สตรีไม่เคยมีประจำ เดือนมาก่อน ใช้เกณฑ์อายุ 15 ปี ยังไม่เคยมีประจำเดือน หรือ 13 ปี ยังไม่มีลักษณะทางเพศของสตรี เช่น การขยายของเต้านม สะโพกผาย (เกณฑ์เดิมใช้อายุ 16 ปี และ 14 ปีตามลำดับ)
  2. ภาวะขาดประจำเดือนทุติยภูมิ (Secondary amenorrhea) คือ การที่สตรีเคยมีประจำ เดือนมาก่อนแต่ต่อมประจำเดือนขาดหายไปอย่างน้อย 6 เดือน หรือ 3 รอบเดือน ซึ่งภาวะนี้ ยังแบ่งได้อีก 2 กลุ่มคือ
    1. Physiologic secondary amenorrhea เป็นการขาดประจำเดือนตามธรรมชาติ เช่น วัยเด็กก่อนเข้าสู่วัยรุ่นระยะตั้งครรภ์ หลังคลอดช่วงการให้น้ำนมแก่ลูก หรือ ช่วงวัยทอง
    2. Pathologic secondary amenorrhea เป็นการขาดประจำเดือนเนื่องจากมีพยาธิสภาพ หรือ โรค ในร่างกาย

สาเหตุของการขาดประจำเดือนมีอะไรบ้าง?

  • การขาดประจำเดือนปฐมภูมิ อุบัติการณ์ของภาวะนี้ค่อนข้างน้อย สาเหตุเกิดจากความผิดปกติทางกายวิภาคของระบบสืบพันธุ์ (กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะสืบพันธุ์ภายในของสตรี) มาแต่กำเนิด หรือมีความผิดปกติของโครโมโซม ทำให้มีผลต่อการทำงานของรังไข่ สาเหตุ ได้แก่
    1. Imperforated hymen หรือ ภาวะเยื่อพรหมจารีไม่ขาด (เยื่อพรหมจารี หรือ Hymen คือ เยื่อบางๆขนาดความหนาประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตรที่อยู่รอบๆปากช่องคลอด) เป็นความผิดปกติมาแต่กำเนิดที่เยื่อพรหมจารีไม่ขาดเป็นรูหรือเป็นช่องเปิดสู่ภายนอกเพื่อเตรียมให้เลือดประจำเดือนไหลออกมาเมื่อถึงเวลาที่ควรมีประจำเดือน ผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิด ปกติจนกระทั่งเข้าสู่วัยที่ควรมีประจำเดือน หรือเพื่อการมีเพศสัมพันธ์ จะทำให้มีอาการปวดท้อง น้อยทุกเดือน เดือนละ 3-5 วัน และอาการจะปวดมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีประจำเดือนออกมาให้เห็น อาจมีอาการคัดตึงเต้านมร่วมด้วยในช่วงเวลาใกล้เคียงกับมีอาการปวดท้องน้อย
    2. Mullerian agenesis หมายถึง ภาวะที่เนื้อเยื่อในตัวอ่อนชนิด ที่เรียกว่า Mullerian duct ซึ่งในภาวะปกติเนื้อเยื่อนี้จะเจริญไปเป็นมดลูก ไม่มีการพัฒนาหรือเจริญไปเป็นมดลูกตามปกติ ทั้งนี้อาจไม่มีการพัฒนาทั้งหมด หรือมีการพัฒนาเพียงบางส่วน แต่รังไข่ในผู้ ป่วยกลุ่มนี้จะยังปกติ เพราะมีการพัฒนามาจากเนื้อเยื่อคนละส่วนกัน ผู้ป่วยจึงมีลักษณะทางเพศของสตรีเป็นปกติ แต่ไม่มีมดลูก และไม่มีช่องคลอด
    3. รังไข่ไม่พัฒนา (Gonadal dysgenesis) หรือ รังไข่หยุดทำงานก่อนเวลาอันควร (Premature ovarian failure) หากเกิดก่อนวัยรุ่น ก่อนที่จะมีประจำเดือน ผู้ป่วยก็ไม่มีประ จำเดือนเลย ไม่มีการพัฒนาของร่างกายไปเป็นหญิงสมวัย เต้านมไม่พัฒนา การที่รังไข่ไม่ทำ งานก่อนเวลาอาจเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม เช่น กลุ่มอาการ Turner syndrome ที่โครโมโซมจะเป็น 45X0 (0 คือ ศูนย์) ซึ่ง โครโมโซมสตรีปกติ จะเป็น 44XX )
    4. Testicular feminization (Androgen insensitivity) ผู้ป่วยมี โครโมโซมเป็น XY คือ เป็นชาย จึงไม่มีการสร้างมดลูก และมีต่อมเพศซึ่งเป็นของเพศชายคอยสร้างฮอร์ โมน แต่เนื้อเยื่อทั่วไปของผู้ป่วยจะไม่มีการตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศชาย จึงทำให้ลักษณะภายนอกของผู้ป่วยเป็นหญิง
    5. มีเนื้องอกของสมอง (เนื้องอกและมะเร็งสมอง) โต กดเบียดทับสมอง และ/หรือต่อมใต้สมองที่สร้างฮอร์โมนเพื่อการมีประจำเดือน หรือมีเนื้องอกของต่อมใต้สมอง จึงทำให้ระบบการทำงานของฮอร์โมนเสียไป (ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ภาวะขาดประจำเดือนหมายถึงอะไร?) จึงส่งผลให้ไม่มี/ขาดประจำเดือน
  • การขาดประจำเดือนทุติยภูมิ

    สาเหตุส่วนใหญ่ของการขาดประจำเดือนจะเป็นผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่

    1. การตั้งครรภ์ เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการขาดประจำเดือนแบบนี้ เมื่อประจำเดือนที่เคยมาปกติทุกเดือนเกิดไม่มา ต้องสันนิษฐานเป็นเบื้องต้นไว้ก่อนว่าอาจมีการตั้ง ครรภ์ โดยเฉพาะหากเกิดในสตรีวัยเจริญพันธุ์ แล้วหาทางพิสูจน์ก่อนที่จะคิดถึงสาเหตุอื่น
    2. ภาวะ Polycystic ovarian syndrome (PCOS, รังไข่ทั้งสองข้างเกิดมีถุงน้ำมากมายโดยยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่เชื่อว่า จากมีความผิดปกติทางพันธุกรรม) พบได้บ่อยโดยเฉพาะในวัยรุ่น ประจำเดือนจะมาไม่สม่ำเสมอ 2-3 เดือนเป็นประจำเดือน 1 ครั้ง มักมีรูปร่างอ้วนร่วมด้วย อาจพบภาวะขนดก หรือมีหนวดเพิ่มขึ้นร่วมด้วย
    3. ภาวะทำงานผิดปกติของต่อมไทรอยด์ (โรคของต่อมไทรอยด์) ทั้งต่อมไท รอยด์ทำงานมากกว่าปกติ หรือทำงานน้อยกว่าปกติ (Hyperthyroidism หรือ Hypothyroidism ) จะมีผลไปกระทบต่อการหลั่งฮอร์โมน GnRH ทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ
    4. ภาวะเครียด (Stress) สามารถทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ อาจขาดประจำ เดือนไปได้คราวละหลายๆเดือน เนื่องจากความเครียดจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการหลั่งฮอร์ โมน GnRH
    5. ภาวะอ้วน/โรคอ้วน (Obesity) ในสตรีที่อ้วน ประจำเดือนมักมาไม่ปกติ สา มารถทำให้ขาดประจำเดือนไปได้คราวละหลายๆเดือน ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากในคนอ้วน ผิวหนังสามารถเปลี่ยนเซลล์ไขมันไปเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งจะไปมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมน FSH และฮอร์โมน LH ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
    6. การฉายรังสี/รังสีรักษา เช่น การฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกรานเพื่อรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก จะไปทำลายรังไข่ ทำให้รังไข่ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนได้ จึงไม่มีประจำเดือน
    7. การให้ยาเคมีบำบัด ในการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด จะมีผลไปทำลายรังไข่ ทำให้รังไข่ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนได้จึงไม่มีประจำเดือน
    8. Galactorrhea คือ ภาวะที่มีน้ำนมไหลโดยที่ไม่ได้อยู่ในระยะให้นมบุตร สา เหตุเกิดได้จากหลายอย่าง เช่น
      • อาจจากมีเนื้องอกต่อมใต้สมอง ทำให้ขัดขวางฮอร์โมนที่ห้ามการสร้างน้ำนม จึงมีผลทำให้มีการสร้างน้ำนม ซึ่งจะไปกระทบต่อระบบประจำเดือนอีกต่อหนึ่ง
      • หรืออาจเกิดจากผลข้างเคียงของยาบางอย่างที่ทำให้น้ำนมไหลได้ เช่น ยาทางจิตเวชบางชนิด ยาลดความดันโลหิตบางชนิด เป็นต้น
    9. การใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิด (วิธีคุมกำเนิด) เป็นระยะเวลานานๆ เช่น ยาฉีดคุมกำเนิด หรือ ยาเม็ดคุมกำเนิด
    10. ภาวะ Anorexia nervosa คือ มีความรู้สึกเบื่ออาหาร และน้ำ ไม่ยอมรับประทานอาหารจากการที่กลัวน้ำหนักเพิ่มมากเกินไป ทำให้น้ำหนักลดลงมาก จึงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการหลั่งฮอร์โมน GnRH
    11. นักกีฬามาราธอน หรือบุคคลที่ออกกำลังกายอย่างมาก มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการหลั่งฮอร์โมน GnRH
    12. การตีบตันของช่องคลอด ปากมดลูก และ/หรือโพรงมดลูก เนื่องจากพังผืดหลังการอักเสบในโพรงมดลูก หรือหลังการขูดมดลูก

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุของการขาดประจำเดือนอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุของการขาดประจำเดือนได้จาก อายุ ประวัติการมีประจำเดือน ประวัติเพศสัมพันธ์ ประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ประวัติอาการร่วมต่างๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติการใช้ยาโดยเฉพาะยาคุมกำเนิดและยาฮอร์โมนต่างๆ การตรวจร่างกาย และการตรวจภายใน

นอกจากนั้น คือ การตรวจอื่นๆทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ซึ่งมีได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอา การของผู้ป่วย และความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ ซึ่งแพทย์จะเลือกวิธีที่เหมาะสม แต่ผู้ป่วยทุกรายไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเหมือนกัน การตรวจต่างๆเพิ่มเติม เช่น

  1. การตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจดูว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่ (Urine pregnancy test) เป็นการตรวจที่ง่าย สะดวก สามารถตรวจด้วยตนองได้ สามารถหาซื้อเครื่องตรวจได้ตามร้านขายยาขนาดใหญ่ทั่วไป มีความไวของตัวทดสอบสูงมากถึงประมาณ 99% อาจตรวจได้ผลบวกหรือผลลบของการตั้งครรภ์ได้ตั้งแต่ประจำเดือนเลยกำหนดไปได้เพียง 1 วัน เป็นการตรวจที่ควรเลือกใช้อันดับแรกหากสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ประจำเดือนเคยมาปกติแล้วขาดหายไป
  2. การตรวจระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (Serum beta hCG) ในเลือด เพื่อดูว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่ หากตรวจปัสสาวะแล้วไม่แน่ใจ หรือ เนื่องจากจะมีบางกรณีที่การตั้งครรภ์ยังอ่อนมาก ตรวจไม่พบฮอร์โมนในปัสสาวะ ก็มีความจำเป็นที่ต้องตรวจเลือด แต่ต้องใช้เวลาและเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่า
  3. การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง/อัลตราซาวด์ โดยเฉพาะการตรวจผ่านทางช่องคลอด (Transvaginal ultrasound) จะทำให้เห็นพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานชัดเจนขึ้น ว่ามีก้อนเนื้องอกต่างๆหรือไม่ รังไข่ปกติหรือไม่ เป็นถุงน้ำเล็กๆรอบรังไข่หรือไม่ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นในผู้ป่วย PCOS
  4. การตรวจไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid function test) เพื่อดูภาวะการทำงานของต่อมไทรอยด์ว่ามากหรือน้อยเกินไป ซึ่งแพทย์มักตรวจเมื่อผลการตรวจเบื้องต้นอื่นๆตามที่ได้กล่าวมาแล้วไม่พบความผิดปกติ
  5. การตรวจฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin hormone) เพื่อดูระดับฮอร์โมน หากพบ ว่าสูง บ่งบอกว่าอาจมีเนื้องอกในสมอง ซึ่งแพทย์มักตรวจเมื่อผลการตรวจเบื้องต้นอื่นๆตามที่ได้กล่าวมาแล้วไม่พบความผิดปกติ
  6. การตรวจฮอร์โมน FSH และฮอร์โมน LH เพื่อดูว่าเข้าสู่ วัยหมดประจำเดือนหรือไม่
  7. การตรวจ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า/ เอมอาร์ไอที่สมอง ( Magnetic Resonance Imaging Brian) ไม่ได้ทำในสตรีที่ขาดประจำเดือนทุกราย แต่จะทำในกรณีที่สงสัยมีเนื้องอกสมอง
  8. การตรวจหาโครโมโซม (Chromosome study) มักทำในรายที่มีการขาดประจำเดือนแบบปฐมภูมิ เพื่อดูว่า มีโครโมโซมผิดปกติเป็นชนิดใด 45XO, 46XX, หรือ 46XY ซึ่งจะใช้เป็นตัวแยกโรคต่างๆออกจากกัน

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อขาดประจำเดือน?

เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น ตามเกณฑ์อายุที่ควรจะมีประจำเดือนแล้วไม่มีประจำเดือนมา ควรไปพบสูตินรีแพทย์ เพื่อค้นหาสาเหตุ

ส่วนในกรณีที่เคยมีประจำเดือนมาแล้วจู่ๆประจำเดือนเกิดขาดหายไป และอายุอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ต้องตรวจปัสสาวะว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่เป็นอย่างแรก ซึ่งปัจจุบันแถบตรวจการตั้ง ครรภ์สามารถหาซื้อได้ง่ายและสะดวก

หากไม่มีการตั้งครรภ์ ต้องตรวจค้นหาตามสาเหตุอื่นๆ ซึ่งเมื่อมีอาการเหล่านั้น ควรรีบพบแพทย์/สูตินรีแพทย์เสมอ เช่น

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อดูแลตนเองอย่างดีแล้ว ควบคุมน้ำหนัก ไม่เครียด แล้วประจำเดือนก็ยังไม่มา และ/หรือมีอาการเหล่านี้ ก็ต้องไปปรึกษาแพทย์/สูตินรีแพทย์

  1. เป็นการขาดประจำเดือนแบบปฐมภูมิ
  2. เป็นการขาดประจำเดือนแบบทุติยภูมิแล้วตรวจไม่พบว่ามีตั้งครรภ์
  3. มีการขาดประจำเดือนร่วมกับโรคอ้วน หรือผอมมาก
  4. มีการขาดประจำเดือนร่วมกับมีอาการขี้ร้อน ผิวหนังชื้น
  5. มีการขาดประจำเดือนร่วมกับมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น
  6. มีการขาดประจำเดือนร่วมกับมีน้ำนมไหล
  7. มีการขาดประจำเดือนร่วมกับมีขน หรือหนวดขึ้นมากกว่าผิดปกติ
  8. มีการขาดประจำเดือนร่วมกับ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว

รักษาภาวะขาดประจำเดือนอย่างไร?

ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะแนวทางในการดูแลภาวะขาดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ ส่วนภาวะขาดประจำเดือนแบบปฐมภูมิ ไม่ได้กล่าวไว้ ณ ที่นี่

เมื่อมีภาวะขาดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละ เอียด รวมทั้งการตรวจภายใน หากไม่พบความผิดปกติ แพทย์จะส่งตรวจปัสสาวะ เพื่อดูว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่

หากมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นก็จะแนะนำไปฝากครรภ์ต่อไป

หากไม่มีการตั้งครรภ์ แพทย์จะให้ยา (สารสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนโปรเจสเตโรน ที่เรียกว่า โปรเจสโตเจน/Progestogen) เพื่อทดสอบว่า รังไข่ยังทำงานเป็นปกติดีหรือไม่ เรียกว่า Progestin challenge test โดยให้รับประทาน ยา Primalut N® 5 มิลลิกรัม (มก.) เช้า 1 เม็ด เย็น 1 เม็ด เป็นเวลา 7 วัน หรือ ยา Provera® 10 มก วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน แล้วรอสังเกตว่าหลังยาหมด 2-3 วัน มีเลือดประจำเดือนออกมาหรือไม่

โดยทั่วไป หากการทำงานของรังไข่ยังปกติ จะมีการสร้างฮอร์โมน เอสโตรเจนไปกระ ตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้นเมื่อได้รับฮอร์โมนโปรเจสติน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เยื่อบุโพรงมดลูกแล้วหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือนเลียนแบบธรรมชาติ นาน 3-7 วัน

แต่หากหลังหยุดรับประทานยาแล้วไม่มีประจำเดือนออก สาเหตุอาจเกิดจากรังไข่ทำงานไม่ดี ไม่สามารถกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวได้ หรือมีความผิดปกติที่ช่องทางออกของประจำเดือน ต้องมีการทดสอบต่อไป

โดยให้ฮอร์โมน เอสโตรเจน + ฮอร์โมนโปรเจสติน เรียกว่า Estrogen –Progestin challenge test หรือสามารถให้เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวมไปรับประทานแทนก็ได้ ประมาณ 15-20 วัน เมื่อยาหมด 2-3 วัน สังเกตว่ามีเลือดประจำเดือนออกมาหรือไม่ ถ้ามีประจำเดือนมา แสดงว่า ขาดฮอร์โมนจากรังไข่ อาจเกิดจากรังไข่ไม่ทำงาน ต้องหาสาเหตุต่อไป และพิจารณาให้ฮอร์โมนทดแทนต่อไป

แต่หากไม่มีเลือดประจำเดือนมา แสดงว่าน่าจะมีการอุดตันหรือขัดขวางทางออกของเลือดประจำเดือน ที่อาจเกิดจากตัวมดลูกมีพังผืดหรือตีบ ซึ่งต้องหาสาเหตุต่อไป

นอกจากนี้หากมีอาการอื่นที่ชวนสงลัยว่าเป็นโรคของต่อมไทรอยด์ เช่น ต่อมต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือทำงานน้อยกว่าปกติ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) ก็ต้องตรวจดูการทำงานของต่อมไทรอยด์ และรักษาไปตามแนวทาง

หรือหากมีน้ำนมไหล ต้องตรวจฮอร์โมน Prolactin และรักษาไปตามแนวทางของสาเหตุนั้นๆ

ภาวะขาดประจำเดือนที่ไม่ได้เกิดจากการตั้งครรภ์มีผลข้างเคียงไหม?

ผลข้างเคียงที่เกิดจากภาวะขาดประจำเดือนที่ไม่ได้เกิดจากการตั้งครรภ์ขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้ไม่เป็นประจำเดือน หากเกิดจากรังไข่ไม่ทำงานก็จะมีอาการคล้ายคนวัยหมดประจำเดือน เช่น มีอาการร้อนวูบวาบตามตัว แต่หากเกิดจากเยื่อบุมดลูกบางจนไม่มีเลือดออก (จากการขูดมดลูก การฉีดยาคุมกำเนิด) ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการผิดปกติ

แต่สาเหตุที่พบบ่อยในวัยรุ่น ที่เกิดการขาดประจำเดือนคือ ไม่มีการตกไข่ ฮอร์โมนเอส โตรเจน จึงกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญไปเรื่อยๆ อาจทำให้เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเปลี่ยน แปลงแบ่งตัวมากผิดปกติ เป็นสาเหตุให้มีเลือดออกจากโพรงมดลูกเป็นกะปริดกะปรอยได้

ภาวะขาดประจำเดือนที่ไม่ได้เกิดจากตั้งครรภ์ รักษาหายไหม? จะมีบุตรได้ไหม?

สาเหตุที่พบบ่อยในวัยรุ่นที่เกิดภาวะขาดประจำเดือนที่ไม่ใช่เกิดจากการตั้งครรภ์ คือ Polycystic ovarian syndrome (PCOS) เกิดจากความไม่สมดุลทางฮอร์โมน ระดับฮอร์โมนเพศชายจะสูงกว่าในสตรีทั่วไป หน้าเป็นสิว ผิวมัน ทำให้ไม่มีการตกไข่ ทำให้ไม่มีการสร้างฮอร์ โมนโปรเจสเตโรน ที่จะมาทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นเลือดประจำเดือน

นอกจากนั้นกลไกการเกิดภาวะนี้อาจเกิดจากการตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin, ฮอร์โมนจากตับอ่อน ที่ควบคุมการใช้แป้งและน้ำตาลของร่างกาย) ไม่มีประสิทธิภาพพอ (Insulin resistance) และคนเหล่านี้ส่วนมากมักมีโรคอ้วน มีน้ำหนักตัวเกินซึ่งการรักษาสามารถทำได้หลายอย่าง เช่น ให้ยาต้านโรคเบาหวาน การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด

แต่หากต้องการจะมีบุตร แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยากระตุ้นการตกไข่ แทนการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด ก็อาจสามารถตั้งครรภ์ได้

ภาวะขาดประจำเดือนที่ไม่ได้เกิดจากการตั้งครรภ์รุนแรงไหม? จำเป็นต้องพบแพทย์ไหม? ดูแลตนเองได้ไหม?

เมื่อประจำเดือนที่เคยมาเป็นประจำเกิดขาดหายไป หากตรวจปัสสาวะแล้วไม่พบว่ามีการตั้งครรภ์ ก็ต้องกลับมาหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไรกันแน่ เครียดมากไปหรือไม่ น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหรือไม่ ซึ่งล้วนมีผลต่อระดับฮอร์โมนที่ควบคุมการมีประจำเดือน หรือเรามีอาการผิดปกติอื่นๆ ที่อาจเป็นโรคอื่นหรือไม่ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว

หากทุกอย่างปกติ น่าจะไม่มีโรคร้ายแรงอะไร ไม่ควรกังวลใจมากเกินไป บางคนคิดว่าอาจมีเลือดประจำเดือนค้างอยู่ภายในแล้วจะเป็นอันตราย ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เราสามารถรอสังเกตอาการอีก 2-4 สัปดาห์ ประจำเดือนอาจสามารถกลับมาเป็นปกติได้

แต่หากนานเกิน 3 เดือนแล้วยังไม่มีประจำเดือนมา ควรปรึกษาแพทย์/สูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ ที่อาจรุนแรงได้


ที่มา   https://haamor.com/th/ภาวะขาดประจำเดือน/

อัพเดทล่าสุด