ภาวะช่องคลอดแห้ง (Vaginal dryness) / ภาวะร้อนวูบวาบในวัยหมดประจำเดือน (Hot flashes in postmenopause)


1,714 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ช่องคลอด  ระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

แสบช่องคลอด  

ทั่วไป

โดยเฉลี่ยสตรีไทยจะหมดประจำเดือนเมื่ออายุประมาณ 50 ปี รังไข่จะหยุดทำงาน จึงทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่เป็นฮอร์โมนสำคัญแห่งการเป็นผู้หญิงลดลง นอกจากจะทำให้เลือดประจำเดือนที่เคยเป็นทุกเดือนขาดหายไปแล้ว ยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดอาการหลายอย่างในสตรี ได้แก่ อาการร้อนวูบวาบ (Hot flashes หรือ Hot flushes) เหงื่อออกตอนกลางคืน ใจสั่น หงุดหงิด ความต้องการทางเพศลดลง ช่องคลอดแห้ง อารมณ์อ่อนไหวเดี๋ยวอารมณ์ดี เดี๋ยวอารมณ์ร้าย มีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ผมร่วง ความจำเสื่อม ปวดตามข้อ ปวดโน่นปวดนี่ กล้ามเนื้อไม่มีแรง หรือเกิดอาการซึมเศร้า แต่อาการที่พบบ่อยที่สุด คือภาวะช่องคลอดแห้ง (Vaginal dryness) และ อาการร้อนวูบวาบตามร่างกาย (Hot flashes) ซึ่งเป็นอาการ/ภาวะที่จะกล่าวถึงในบทความนี้

ภาวะช่องคลอดแห้งและภาวะร้อนวูบวาบในวัยหมดประจำเดือนคืออะไร?

  • ช่องคลอดแห้ง เป็นอาการ/ภาวะที่ช่องคลอดสตรีไม่มีเมือกมาหล่อลื่นตามปกติ หากตรวจภายในช่องคลอดจะพบว่าไม่มี หรือมีเมือกน้อยกว่าปกติ รอยย่นของช่องคลอดจะลดลง เยื่อบุช่องคลอดจะเป็นสีแดงมากกว่าเยื่อบุช่องคลอดปกติที่เป็นสีชมพู เมื่อสัมผัสผิวเยื่อบุช่องคลอดในภาวะที่ช่องคลอดแห้ง เลือดจะออกได้ง่าย ภาวะนี้พบได้บ่อยในสตรีวัยหมดประจำเดือน เพราะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักที่ทำให้เกิดความชุ่มชื่น และความยืด หยุ่นของช่องคลอดในขณะที่ยังอยู่ในวัยที่ยังมีประจำเดือน
  • ร้อนวูบวาบ เป็นอาการ/ภาวะ ความรู้สึกว่ามีอาการร้อนตามหน้า ตามร่างกาย เเขน ขา อาจมองเห็นร่างกายโดยเฉพาะส่วนบนเป็นสีแดงด้วย อาการจะเกิดเป็นระยะๆ อาการเหล่านี้จะพบได้บ่อยในสตรีวัยใกล้หมดประจำเดือน หรือ วัยหมดประจำเดือนในช่วงแรกๆ อาการออกร้อนตามตัวจะคงอยู่ประมาณ 30 วินาที ถึง 2-3 นาที อาจพบว่ามีผิวหนังแดงขึ้น นอกจากนั้นยังพบ ว่ามีเหงื่อออกมากเวลาที่มีอาการเหล่านี้ โดยเฉพาะเวลากลางคืนที่คนอื่นจะรู้สึกเย็น แต่สตรีเหล่านี้กลับจะรู้สึกร้อน เหงื่อออกมาก

ภาวะช่องคลอดแห้งและภาวะร้อนวูบวาบมีความสำคัญอย่างไร?

ช่องคลอดแห้งเกิดได้ในสตรีวัยหมดประจำเดือนทุกคน แต่อาการจะมากหรือน้อย แตก ต่างกันไป พบว่าประมาณ 10-40% มีอาการค่อนข้างมาก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อทั้งตนเองและชีวิตครอบครัว

ช่องคลอดแห้งจะทำให้เกิดอาการแสบที่ช่องคลอด โดยเฉพาะหากมีเพศสัมพันธ์มีการเสียดสี จะทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนมากจนทำให้ไม่อยากมีเพศสัมพันธ์ หรือพยายามหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุนำมาซึ่งปัญหาครอบครัว หรือปัญหาความสัม พันธ์ฉันสามีภรรยา

นอกจากนั้นช่องคลอดแห้งก็ทำให้เกิดอาการคัน และมีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นด้วย

ส่วนภาวะร้อนวูบวาบที่ทำให้เกิดอาการร้อนวูบๆวาบๆจะส่งผลให้รู้สึกไม่สบายตัว ทำให้พักผ่อนไม่ได้ ส่งผลให้เกิดอารมณ์หงุดหงิด อารมณ์เสียบ่อยๆ อาละวาดสมาชิกในบ้าน ทำให้มีผลกระทบต่อทั้งตนเองและชีวิตครอบครัวด้วยเช่นกัน อาการร้อนวูบวาบนี้พบได้บ่อยถึงประมาณ 75-80% แต่ความรุนแรงแตกต่างกันไป

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะช่องคลอดแห้งและภาวะร้อนวูบวาบมีอะไรบ้าง?

ภาวะช่องคลอดแห้งเกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เคยสร้างจากรังไข่ ซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักในการสร้างความชุ่มชื่นในช่องคลอด นอกจากนั้นการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนจะมีผลต่อการปรับจุดสมดุลของอุณหภูมิของร่างกาย (Thermoregulation) ทำให้รู้สึกออกร้อนวูบวาบตามตัว อย่างไรก็ตาอาการนี้จะเป็นสักช่วงระยะเวลาหนึ่ง หลังจากร่างกายปรับสภาพได้ อาการร้อนเหล่านี้จะดีขึ้น แต่อาการช่องคลอดแห้งยังคงอยู่ตลอดไป

ดูแลรักษาตนเองอย่างไรเมื่อมีภาวะช่องคลอดแห้งและภาวะร้อนวูบวาบ?

ปัญหาช่องคลอดแห้ง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่สตรีทุกคนต้องประสบเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน แต่อาการมากบ้างน้อยบ้างไม่เท่ากัน โดยทั่วไปช่องคลอดจะยืดหยุ่นได้มาก แต่เมื่อน้ำเมือกหล่อลื่นลดลงจะทำให้เกิดการแห้งและแสบได้ หรือการมี ภาวะร้อนวูบวาบ ออกร้อนตามตัว หงุดหงิดเป็นประจำ

การดูแลรักษาตนเองในภาวะอาการเหล่านี้ คือ การดูแลสุขภาพร่างกายตนเองเบื้องต้นให้แข็งแรง ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ (อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่) เพิ่มอาหารที่มีสารคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีในพืชผัก (Phytoestrogen มีมากในถั่วเหลือง) ลดการดื่มเหล้า/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ การพูดคุยกับสามีในเรื่องความต้องการทางเพศ การมีเพศสัมพันธ์อย่างเข้าอกเข้าใจกัน และการทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส จะทำให้อาการเหล่านี้ดีขึ้น

ควรพบแพทย์เมื่อใด?

  • ช่องคลอดแห้งยาที่ใชัรักษาภาวะช่องคลอดแห้ง ได้แก่
    1. ยาใช้เฉพาะที่ ที่ไม่ใช่ฮอร์โมน ควรเลือกใช้เป็นอันดับแรก เพราะผลข้างเคียงน้อยกว่า ได้แก่ ครีมพวก Moisturizer ที่ให้ความชุ่มชื้น หรือ ครีมหล่อลื่น K-Y gel โดยเฉพาะเวลามีเพศสัมพันธ์ หากใช้ไม่ได้ผลค่อยเปลี่ยนไปใช้ยา กลุ่มฮอร์โมน
    2. ยาที่มีส่วนประกอบฮอร์โมนเอสโตรเจน แบ่งเป็น
      • ยาฮอร์โมนเฉพาะที่ คือใช้เฉพาะที่ช่องคลอด ข้อดีของยาแบบนี้คือ ออกฤทธิ์ที่ช่องคลอดโดยตรง มีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดน้อย ยาที่ใช้ได้แก่ครีมทาช่องคลอด หรือยาเม็ดชนิดเหน็บช่องคลอด เช่น Premarin cream® (Conjugated equine estrogens vaginal cream), Ovestin cream® (Estriol vaginal cream), Vagifem® (Estradiol vaginal tablet) ควรใช้เป็นครีมทาช่องคลอด หรือยาเม็ดเหน็บช่องคลอดทุกวันในระยะแรก 2 สัปดาห์ ต่อไปใช้เหลือสัปดาห์ละ 2 ครั้ง จนกว่าจะไม่มีอาการแสบช่องคลอดอีก อาการข้าง เคียงจากการใช้ยาเหล่านี้ทำให้มีหน้าอกคัดตึง หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดได้ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปริมาณเอสโตรเจนที่ใช้มีปริมาณน้อย จึงไม่จำเป็นต้องให้ยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนโปรเจสติน อย่างไรก็ตามไม่ควรซื้อยาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
      • ยาฮอร์โมนให้ผลทั่วร่างกาย เป็นยาที่มีส่วนประกอบฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน ได้แก่ ยาชนิดเม็ดรับประทาน หรืออาจเป็นฮอร์โมนแผ่นแปะผิวหนัง ครีมฮอร์โมนทาผิวหนัง ยาเหล่านี้ออกฤทธิ์ไม่เฉพาะที่ช่องคลอดแต่จะช่วยรักษาอาการอื่นๆของอาการขาดประจำเดือนด้วย เช่น ภาวะร้อนวูบวาบ อารมณ์หงุดหงิด นอนไม่หลับ
    หากมีอาการช่องคลอดแห้ง และเกิดอาการปวดแสบปวดร้อนช่องคลอด จนรบกวนชีวิตประจำวัน มีปัญหาในการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ควรคิดว่าปล่อยให้เป็นไปตามธรรม ชาติ หรือปล่อยชีวิตให้ได้รับความทุกข์ทรมาน หรือจนเกิดปัญหาครอบครัว ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ที่สามารถจะให้คำปรึกษาหรือให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง
  • ร้อนวูบวาบ ส่วนอาการร้อนวูบวาบ หากมีอาการมากจนทำงานไม่ได้ พักผ่อนไม่ได้ หงุด หงิดมาก ก็สมควรไปพบแพทย์เพื่อรับประทานยาบรรเทาอาการ

ยาที่ใชัรักษาภาวะร้อนวูบวาบ ได้แก่

  1. ยาที่มีส่วนประกอบฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน มีทั้งชนิด
    • ยาเม็ดรับประทาน เช่น Cycloprogynova® (Estradiol valerate + Norgestrel), Angelic® (Estradiol + Drospirenone)
    • ยาครีมทาตัว เช่น Divigel® (Estradiol gel)
    • ยาแผ่นปิดผิวหนัง เช่น Climara 50® (Estradiol hemihydrate patch) ทั้งนี้ ในสตรีที่ยังมีมดลูกเมื่อได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนแล้วต้องได้รับฮอร์โมนโปรเจสตินร่วมด้วย เพื่อป้องกันการกระตุ้นเยื่อบุโพรงมดลูกมากเกินไปจากฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูกได้

    วิธีใช้ยา

    • ยาชนิดรับประทาน
      • แบบรับประทานติดต่อกันไปทุกวัน มีฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสตินรวมกันในยาทุกเม็ด
      • แบบรับประทานเป็นรอบๆ โดยในช่วงแรกของการรับประทานยาจะมีเฉพาะฮฮร์โมนเอสโตรเจน และในช่วงหลังจะมีการเสริมฮอร์โมนโปรเจสตินเลียนแบบธรรมชาติ และจะมีการเว้นช่วงที่ไม่รับประทานยาเพื่อให้มีเลือดประจำเดือนออกมา
    • ส่วนยาชนิดที่เป็นครีมเอสโตรเจน หรือแผ่นแปะเอสโตรเจน สามารถใช้ติดต่อกันทุกวันหรือจะใช้เป็นช่วงคล้ายแบบรับประทานได้ แต่ที่สำคัญคือ ต้องมียากลุ่มโปรเจสตินร่วมด้วยเช่น กัน รูปแบบของยาฮอร์โมนโปรเจสตินมีเป็นแบบชนิดรับประทาน และแบบห่วงอนามัยที่มีการเคลือบฮอร์โมนโปรเจสติน
    • นอกจากนั้นยังมียาที่เป็นสารสังเคราะห์ให้ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรนและแอนโดรเจน คือ Livial ® (Tibolone) ที่ใช้รักษาอาการเหล่านี้ได้

    *****หมายเหตุเป็นยาอันตราย อย่างไรก็ตาม ยาฮอร์โมนเหล่านี้ ไม่ควรซื้อยารับ ประทานเอง ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ ต้องควบคุมระยะเวลาในการรับประทานยา รับ ประทานยาในขนาดต่ำที่สุดที่ควบคุมอาการได้ และควรรับประทานในระยะเวลาสั้นที่สุด ควรหยุดยาเมื่อไม่มีอาการผิดปกติแล้ว

  2. ผลข้างเคียงจากการใช้ยาฮอร์โมน

    ***** ทั้งนี้ ในกรณีที่ต้องใช้ยาฮอร์โมนเหล่านี้เป็นเวลานาน ต้องมีการตรวจสุข ภาพ ติดตามการเปลี่ยนแปลงหรือผลข้างเคียงจากการใช้ยา คือ ตรวจระดับไขมันในเลือด และตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม/การตรวจภาพรังสีเต้านม (Mammogram) ทุกปี

  3. สตรีที่ห้ามใช้ยาฮอร์โมน
  4. ยาที่ไม่ใช่ฮอร์โมน เช่น

สรุป หากสตรีวัยหมดประจำเดือนมีอาการทั้งช่องคลอดแห้งและภาวะร้อนวูบวาบ การเลือกใช้ฮอร์โมนชนิดรับประทานก็จะช่วยแก้ปัญหาทั้งหมด แต่หากมีเพียงอาการช่องคลอดแห้งการเลือกใช้ยาเฉพาะที่จะได้ประโยชน์มากที่สุด แต่ทั้งนี้การใช้ยาทุกชนิด ควรต้องได้รับการแนะนำ รักษาจากแพทย์/สูตินรีแพทย์

มีวิธีการป้องกันภาวะช่องคลอดแห้งและภาวะร้อนวูบวาบอย่างไร?

การดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ชีวิตสตรีเปลี่ยนผ่านจากช่วงมีประจำเดือนไปสู่ วัยหมดประจำเดือนอย่างมีความสุขและมีคุณภาพ โดยการดูแลสุขภาพคงต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนหมดประจำเดือน ไม่ใช่รอจนหมดประจำเดือน หรือเมื่อมีอาการแล้วค่อยมาสนใจสุขภาพ

สิ่งที่ควรปฏิบัติ คือ

  1. รับประทานอาหารให้ถูกต้อง ควรลดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล อาหารที่มีไขมันสูง เน้นอาหารจำพวกผัก ผลไม้ให้มากขึ้น
  2. ดื่มนมหรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนมเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณแคลเซียม 1-2 กล่องต่อวัน
  3. ดื่มนมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ หรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับถั่วเหลืองเพื่อเพิ่ม Phytoestrogen (ฮอร์โมนเอสโตรเจนจากพืช) 1-2 กล่องต่อวัน
  4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง
  5. สวมใส่เสื้อผ้าที่ใส่สบาย นุ่ม ระบายอากาศได้ดี
  6. งดดื่มเหล้า/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่
  7. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  8. ฝึกสมาธิ ทำจิตใจให้สงบ

เมื่อช่องคลอดแห้งยังมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม? ควรดูแลอย่างไรในการมีเพศสัมพันธ์?

ในสตรีวัยหมดประจำเดือน ความต้องการทางเพศมักจะลดลงเนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงลดลงตามธรรมชาติอยู่แล้ว และหากมีอาการช่องคลอดแห้งจะทำให้รู้สึกปวดแสบปวดร้อนเวลามีเพศสัมพันธ์กับสามี จึงส่งผลทำให้สตรีในวัยนี้ไม่ค่อยอยากมีเพศสัมพันธ์ หรือหาทางหลีก เลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์มากที่สุด ซึ่งจะตรงข้ามกับฝ่ายชายที่ยังมีความต้องการทางเพศอยู่เสมอ จึงทำให้อาจเกิดปัญหาในชีวิตคู่ได้ จริงๆแล้วการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องธรรมชาติ สตรีในวัยหมดประจำเดือนยังมีเพศสัมพันธ์กับสามีได้ตามปกติ แต่การที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุข และสตรีไม่มีอาการเจ็บแสบช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์ คือ

  1. ใช้สารหล่อลื่น เช่น ยาหล่อลื่น K-Y gel ทาที่ปากช่องคลอดก่อนมีเพศสัมพันธ์ จะทำให้ช่องคลอดลื่น ไม่แสบ ควรเลือกใช้เป็นอันดับแรกเพราะไม่ค่อยมีผลข้างเคียงจากยา เป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย
  2. ครีมที่เป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน หากใช้เจลหล่อลื่น K-Y gel แล้วยังมีอาการแสบช่องคลอดอยู่ ให้ปรึกษาสูติ-นรีแพทย์ ซึ่งแพทย์จะสั่งครีมที่เป็นฮอร์โมนมาทาในช่องคลอด ครีมจะช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ในช่องคลอดให้หนาขึ้น มีความยึดหยุ่นมากขึ้น มีเมือกมากขึ้น ทำให้ไม่แสบช่องคลอดเวลามีเพศสัมพันธ์ แต่การใช้ยาตัวนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
  3. สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การดูแลด้านจิตใจ ฝ่ายชายควรแสดงความรัก ความเข้าอกเข้าใจภรรยา จะทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขกับการมีเพศสัมพันธ์ และจะได้ไม่เกิดปัญหาในชีวิตคู่ตามมา

ที่มา   https://haamor.com/th/ภาวะช่องคลอดแห้ง/

อัพเดทล่าสุด