ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :
มดลูก รังไข่ ระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรีอาการที่เกี่ยวข้อง :
ประจำเดือนปกติประจำเดือนคืออะไร?
ประจำเดือน หรือ รอบเดือน หรือ ระดู (Menstruation หรือ Period) คือ เลือดและเนื้อเยื่อต่างๆ ที่หลุดลอกออกจากเยื่อบุโพรงมดลูก หรือเยื่อบุมดลูก โดยเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิง โดยสัมพันธ์กับการตกไข่ ซึ่งการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกจะเกิดประมาณเดือนละครั้ง ภาวะที่เกิดขึ้นนี้ จึงถูกเรียกว่า ประจำเดือน
ในช่วงครึ่งแรกของรอบเดือนปกติ (รอบเดือนปกติ จะประมาณ 28 วัน) เยื่อบุโพรงมดลูกจะเจริญหนาตัวขึ้นจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) จากรังไข่ ประมาณกึ่งกลางของรอบเดือน (ประมาณวันที่ 14 ของรอบเดือน) จะมีการตกไข่จากรังไข่ข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อรอการปฏิสนธิกับอสุจิ จากนั้นไข่ที่ผสมแล้ว หรือ ตัวอ่อนจะมีการฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูก
ในช่วงครึ่งหลังของรอบเดือน หลังตกไข่ จะมีการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดและต่อมต่างๆในเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งเป็นผลจากฮอร์โมนเพศหญิงอีกชนิดจากรังไข่เช่นกัน ซึ่งสร้างมากขึ้นหลังตกไข่ คือ ฮอร์โมนโปรเจสเตโรน (Progesterone) เพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อนเพื่อเจริญเป็นการตั้ง ครรภ์
แต่ในรอบเดือนที่ไม่มีการปฏิสนธิ ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตโรนจากรังไข่จะลดระดับลง ส่งผลให้มีการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก (ประมาณวันที่ 28 ของรอบเดือน) กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ประจำเดือน
หลังจากมีประจำเดือนแล้ว รังไข่จะเริ่มสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น เริ่มต้นวงจรของการเกิดประจำเดือนใหม่ เกิดเป็นรอบเดือน หรือ ประจำเดือน วนเวียนไปเรื่อยๆตลอดช่วงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งคือ วัยที่รังไข่ยังสร้างฮอร์โมนทั้งสองชนิดดังกล่าวได้ แต่เมื่อสูงวัยขึ้น เซลล์รังไข่จะเสื่อมสภาพจนหยุดการสร้างฮอร์โมนทั้งสองชนิด หรือ สร้างได้น้อยมาก จึงส่งผลให้ไม่มีประจำเดือน หรือ ภาวะหมดประจำเดือนถาวร (Menopause) ที่นิยมเรียกว่า วัยทองนั่นเอง
ประจำเดือนปกติเริ่มอายุเท่าไร? หมดประจำเดือนอายุเท่าไร?
การเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกเป็นอาการแสดงอย่างหนึ่งของการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ โดยอายุที่เริ่มมีประจำเดือนปกติอยู่ระหว่าง 7-16 ปี ในเด็กไทยเฉลี่ยที่อายุ 11-12 ปี
ในช่วง 1-2 ปีแรกของการมีประจำเดือน อาจมีรอบประจำเดือนมาไม่ สม่ำเสมอ เป็นผลจากการควบคุมของระดับฮอร์โมนเพศยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งพบได้เป็นปกติ
โดยทั่วไป ภาวะหมดประจำเดือน จะอยู่ในช่วงอายุ 45-55 ปี เฉลี่ยประมาณ 51-52 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับ พันธุกรรม สุขภาพร่างกายโรคต่างๆที่การรักษาส่งผลถึงการทำงานของรังไข่ เช่น โรคมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์ ที่ต้องตัดรังไข่ ได้ยาเคมีบำบัด และ/หรือ ได้รับรังสีรักษาในบริเวณท้องน้อย (อุ้งเชิงกราน) ซึ่งวัยช่วงมีประจำเดือน ทางแพทย์มักเรียกว่า วัยเจริญพันธุ์
ประจำเดือนปกติมีลักษณะอย่างไร?
ประจำเดือนปกติมีลักษณะดังนี้ คือ ปริมาณและระยะห่างของรอบประจำเดือนมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล หนึ่งรอบของประจำเดือนปกติมีระยะเวลา 21-35 วัน การนับระยะห่างของรอบเดือน โดยนับวันแรกของการมีประจำเดือนเป็นวันที่หนึ่งของรอบเดือนจนถึงวันสุดท้ายก่อนมีประจำเดือนรอบใหม่ ระยะเวลาของการมีประจำเดือน (มีเลือดออก) ปกติ คือ 3-7 วันเลือดประจำเดือนที่ออกในแต่ละรอบมีปริมาณ 20-80 มิลลิลิตร เฉลี่ยประมาณ 35 มิลลิลิตร โดยระหว่างรอบเดือนไม่ควรมีเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด
อนึ่ง การจดบันทึกประจำเดือนทุกๆครั้ง ทำให้สามารถทราบค่าเฉลี่ยของระยะห่างของรอบเดือน จำนวนวันที่มีประจำเดือนทำให้เราสามารถค้น พบความผิดปกติของรอบเดือนได้ง่ายและเร็วขึ้น ทั้งยังสามารถคาดคะเนวันที่จะเริ่มมีประจำเดือนรอบต่อไป และการคาดคะเนวันที่ไข่ตกได้
อาการพบร่วมกับประจำเดือนมีอะไรบ้าง?
ผู้หญิงประมาณ 8-10% มีอาการต่างๆช่วง 1-2 สัปดาห์ ก่อนมีประจำ เดือน เรียกอาการเหล่านี้ว่า “กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน” ซึ่งมีความสัม พันธ์กับระดับฮอร์โมนเพศหญิงทั้งสองชนิดดังกล่าวแล้วที่เปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงจนรบกวนชีวิตประจำวัน
อาการต่างๆก่อนมีประจำเดือนที่พบได้ ได้แก่
- อาการคัดตึงเต้านมทั้งสองข้าง
- ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า นอนไม่หลับ
- ปวดหน่วงท้องน้อย ปวดหลัง ปวดเอว
- อยากรับประทานอาหารมากขึ้น ท้องอืด ถ่ายเหลว น้ำหนัก ขึ้น บวมตัว หน้า มือ เท้า แขน ขา
ควรดูแลตนเองระหว่างมีประจำเดือนอย่างไร?
การดูแลตนเองระหว่างมีประจำเดือน ได้แก่
- ระหว่างมีประจำเดือน สามารถใช้ผ้าอนามัยในการรองรับเลือดประจำ เดือน ในปัจจุบันมีทั้งชนิดแผ่น และชนิดสอด มีทั้งแบบแผ่นบาง แผ่นหนา มีขนาดมาตรฐานและยาวพิเศษ โดยสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับความต้อง การ ขนาดรูปร่าง ปริมาณประจำเดือน ความสบาย ไม่ระคายเคือง ควรพยายามหลีกเลี่ยงผ้าอนามัยชนิดมีน้ำหอม เพือลดอาการระคายเคืองต่อ อวัยวะเพศ
- ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยอย่างน้อยทุก 4-6 ชั่วโมง หรือเมื่อผ้าอนามัยชุ่มแผ่น เพื่อลดการระคายเคือง และกลิ่นอันไม่พึงประสงค์
- ช่วงที่มีประจำเดือนควรรับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ โดยควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง หลีกเลี่ยง กาแฟ บุหรี่ สุรา เพื่อลดอาการก่อนมีประจำเดือน
- ควรออกกำลังกายที่เหมาะสม ไม่หักโหม เนื่องจากช่วงมีประจำเดือนมีการเสียเลือดและเกลือแร่บางชนิดออกจากร่างกาย อาจทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย และรู้สึกล้ามากกว่าปกติ
- ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ช่วงมีประจำเดือนไม่เป็นข้อห้ามของการออกกำลังกาย เนื่องจากระหว่างออกกำลังกาย ร่างกายจะมีการหลั่งสารแห่งความสุข (เอนดอร์ฟิน/ Endorphin) ช่วยผ่อนคลายความเครียด และบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้
- การว่ายน้ำในช่วงมีประจำเดือนสามารถทำได้ โดยอาจเลือกใช้ผ้า อนามัยแบบสอด เพื่อลดการเปรอะเปื้อน โดยต้องเลือกสระว่ายน้ำที่สะอาด มีมาตรฐาน เพื่อลดการติดเชื้อ
- ช่วงมีประจำเดือนสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ ไม่เป็นข้อห้ามแต่อย่างใด แต่ควรระมัดระวังเรื่องของความสะอาด เนื่องจากเป็นช่วงที่ปากมดลูกเปิด และเลือดประจำเดือนเป็นอาหารที่ดีของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
ประจำเดือนผิดปกติคืออะไร?
ประจำเดือนผิดปกติพบได้ประมาณ 30% ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ สามารถพบได้หลายรูปแบบ เช่น
- ประจำเดือนมามาก และ มีลิ่มเลือด (Hypermenorrhea)
- ประจำเดือนมามาก มานานกว่า 7 วัน หรือระยะห่างของรอบเดือนน้อยกว่า 21 วัน (Menorrhagia)
- ประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติ (Hypomenorrhea)
- ระยะห่างของรอบประจำเดือนนานมากกว่า 35 วัน (Oligomenorrhea)
- ประจำเดือนมามาก มานานกว่า 7 วัน ระยะห่างของรอบเดือนไม่สม่ำเสมอ (Menometrorhagia)
- ประจำเดือนมาปริมาณปกติ แต่ระยะเวลาอาจมากกว่า 7 วัน และระยะห่างของรอบเดือนไม่สม่ำเสมอ (Metrorhagia)
- ประจำเดือนหายไปมากกว่า 3-6 รอบเดือน (Amenorrhea)
- เลือดออกจากช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือน (Postmenopausal bleeding)
อะไรคือสาเหตุของประจำเดือนผิดปกติ?
สาเหตุของประจำเดือนผิดปกติมีมากมาย ตั้งแต่ภาวะระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายผิดปกติจนถึงมีพยาธิสภาพที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของประจำ เดือน เช่น
- ความเครียด ความวิตกกังวล เช่น ในช่วงใกล้สอบ ทำให้ระดับฮอร์ โมนเพศในร่างกายผิดปกติ มักพบในหญิงวัยเจริญพันธุ์อายุน้อยกว่า 35 ปี
- อาหาร การอดอาหาร น้ำหนักที่เพิ่ม หรือลดเร็วผิดปกติ ทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ
- การคุมกำเนิด ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด มีผลเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศในร่างกาย กดการทำงานของรังไข่
- เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก หรือ ไมโอมา (Myoma uteri) ซึ่งเป็นพยาธิสภาพ/ความผิดปกติที่กล้ามเนื้อมดลูก มีผลต่อการบีบตัวของมดลูก ทำให้ประจำเดือนมามาก มานาน มีเลือดออกกะปริดกะปรอย ปวดหน่วงท้องได้
- ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก มักทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติ รบกวนระดับของฮอร์โมนเพศในร่างกาย
- กลุ่มอาการถุงน้ำหลายใบในรังไข่ พบได้ประมาณ 5-10% ของหญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยเป็นภาวะที่เกิดจากมีฮอร์โมนเพศชายสูงเกินปกติ (แอนโดรเจน/Androgen ผู้หญิงปกติทุกคน ในร่างกายมีทั้งฮอร์โมนเพศชาย และเพศหญิง แต่มีปริมาณฮอร์โมนเพศชายน้อยมาก) ผู้ป่วยมักมีอาการขนดก ผิวมัน มีสิวมาก มีระดับฮอร์โมนเพศหญิงไม่สมดุล เกิดภาวะไม่ตกไข่ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ระยะห่างระหว่างรอบเดือนมากขึ้น
- การตั้งครรภ์ ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง จึงเกิดภาวะขาดประจำเดือน
- ภาวะรังไข่ล้มเหลวก่อนวัยอันควร เป็นความผิดปกติของการทำงานของรังไข่ ทำให้ไม่มีการตกไข่ จึงไม่สามารถสร้างฮอร์โมนเพศได้ ทำให้ไม่มีประจำเดือน
- สาเหตุอื่นๆ เช่น
- โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (มะเร็งเยื่อบุมดลูก) ส่วนใหญ่พบในสตรีอายุ 60 ปี โดยมีอาการเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด โดย เฉพาะในวัยหลังหมดประจำเดือน
- โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในหญิงไทย พบมากในช่วงอายุ 40-50 ปี อาการที่พบมาก คือ เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด พบได้ทั้งมี เลือดออกกะปริดกะปรอย เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือ เลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน
- ยาต่างๆ เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด หรือสมุนไพรบางชนิด
- โรคประจำตัวบางชนิด เช่น ต่อมใต้สมองผิดปกติ เนื้องอกต่อมใต้สมอง หรือความผิดปกติของต่อมไทรอยด์
- ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่น ภาวะแท้ง และการตั้งครรภ์นอกมดลูก
ภาวะแทรกซ้อนจากประจำเดือนผิดปกติมีอะไรบ้าง?
ประจำเดือนผิดปกติ มีจากหลายสาเหตุ ซึ่งแต่ละสาเหตุอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ตามมา เช่น ภาวะซีดจากการเสียเลือดจำนวนมาก ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดภาวะช็อกได้ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ภาวะมีบุตรยาก การตั้งครรภ์นอกมดลูก และการมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน
แพทย์วินิจฉัยสาเหตุประจำเดือนผิดปกติอย่างไร?
ผู้หญิงที่มีภาวะประจำเดือนผิดปกติ ควรมีการจดบันทึกประจำเดือน วันแรกของรอบเดือนจนถึงวันแรกของรอบเดือนครั้งถัดไป ปริมาณเลือดประจำ เดือนที่ออก ซึ่งอาจนับจากจำนวนผ้าอนามัยที่ต้องใช้ในแต่ละวัน จำนวนวันที่มีประจำเดือน อาการที่พบระหว่างมีประจำเดือน และระหว่างรอบเดือน ภาวะเลือดออกกะปริดกะปรอย เพื่อเป็นข้อมูลที่ช่วยวินิจฉัยหาสาเหตุของประจำ เดือนผิดปกติ
เมื่อสงสัยภาวะประจำเดือนผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์จะทำการซักประวัติทั่วไป ประวัติมีประจำเดือน ประวัติการใช้ยาชนิดต่างๆ มีการตรวจร่างกาย การตรวจภายใน และการตรวจโรคมะเร็งปากมดลูก จากนั้นจึงมีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- ตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) เพื่อหาภาวะซีด ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และภาวะติดเชื้อ
- ตรวจชิ้นเนื้อในเยื่อบุโพรงมดลูก โดยอาจทำการดูดสุ่ม หรือขูดมดลูก เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาของเยื่อบุโพรงมดลูก สามารถช่วยวินิจฉัยโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โรคมะเร็งปากมดลูก หรือภาวะไม่ตกไข่ได้
- ตรวจการแข็งตัวของเลือด เพื่อดูการทำงานของการแข็งตัวของเลือด
- ตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการสงสัยความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์ อาจพบได้ทั้งจากภาวะไทรอยด์ฮอร์ โมนต่ำ หรือจากภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูง
- ตรวจอัลตราซาวด์ภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะในอุ้งเชิงกราน เพื่อดูพยาธิสภาพของมดลูก โพรงมดลูก และรังไข่ เช่น เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก และเนื้องอกรังไข่
- ส่องกล้องตรวจดูโพรงมดลูก เพื่อดูพยาธิสภาพในโพรงมดลูก เช่น เนื้องอก ติ่งเนื้อ พังผืดในโพรงมดลูก หรือ ภาวะท่อนำไข่ตัน
รักษาประจำเดือนผิดปกติอย่างไร?
การรักษาภาวะประจำเดือนผิดปกติ ขึ้นกับสาเหตุของประจำเดือนผิด ปกติ อายุ ความต้องการมีบุตร และโรคประจำตัวของผู้ป่วย โดยมีวิธีต่างๆ ดังนี้
- การสังเกตอาการโดยไม่มีการรักษาใดๆ เพียงการอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ เช่น ในผู้หญิงอายุน้อย โดยเฉพาะ 1-2 ปีแรกของการมีประจำเดือน ซึ่งมักเป็นไปตามธรรมชาติที่ประจำเดือนจะมาไม่สม่ำเสมอ จากรังไข่ยังทำ งานไม่เต็มที่
- การใช้ยา เช่น ยาแก้ปวดในกลุ่มไม่ใช่สเตรียรอยด์ หรือ เอนเสดส์ (NSAIDs) มีฤทธิ์ลดอาการปวดประจำเดือนและลดปริมาณเลือดประจำเดือนที่ออก ยาฮอร์โมน เช่นในผู้หญิงอายุน้อย ที่มีปัญหาการไม่ตกไข่
- การผ่าตัด ในผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีประจำเดือนผิดปกติ ควรพบแพทย์เมื่อ
- มีประจำเดือนก่อนอายุ 7 ปี
- อายุ 16 ปีแล้วยังไม่มีประจำเดือน
- ประจำเดือนมามากผิดปกติ เช่น ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 2-3 ชม. หรือ มีลิ่มเลือดปนต่อเนื่อง
- ระยะเวลาของประจำเดือนมานานผิดปกติ
- ประจำเดือนมาน้อยผิดปกติ ระยะห่างระหว่างรอบเดือนมากกว่า 35 วัน
- มีเลือดออกกะปริดกะปรอยระหว่างรอบเดือน
- มีอาการในกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนอย่างรุนแรง
- มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์
- มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือน
- เมื่อกังวลในอาการ หรือ ในเรื่องเกี่ยวกับประจำเดือน
ที่มา https://haamor.com/th/ประจำเดือน/