ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :
มดลูก ระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรีอาการที่เกี่ยวข้อง :
ครรภ์ใหญ่กว่าอายุครรภ์ปกติการตั้งครรภ์แฝดคืออะไร?
การตั้งครรภ์ที่มีทารกในครรภ์มากกว่า 1 คนขึ้นไป มักเรียกรวมๆว่าเป็นการตั้งครรภ์แฝด (Multiple pregnancy) ซึ่งอาจมีทารก2 คน เรียก แฝดสอง หรือ มีมากกว่านั้น ก็จะเรียกเป็น แฝดสาม แฝดสี่ แฝดห้า แฝดหก ตามแต่จำนวนทารกในครรภ์
การตั้งครรภ์แฝดสอง (Twin pregnancy) พบได้บ่อยที่สุด และทารกมีโอกาสรอดชีวิตมากที่สุด ยิ่งจำนวนทารกในครรภ์เพิ่มจำนวนมากขึ้น น้ำหนักตัวทารกจะลดลงไปเรื่อยๆ และโอกาสรอดชีวิตก็จะน้อยลงด้วย
ในบทความนี้ จะกล่าวเน้นเกี่ยวกับการตั้งครรภ์แฝดสองเป็นหลัก ทั้งนี้การตั้งครรภ์แฝดถือเป็นความปกติอย่างหนึ่งในทางสูติกรรม เป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะ แทรกซ้อน/ผลข้างเคียงต่างๆ ตั้งแต่ระยะฝากครรภ์ก่อนคลอด ระยะคลอด และระยะหลังคลอด
การตั้งครรภ์แฝดเกิดขึ้นได้อย่างไร
ในทางการแพทย์จะแบ่งการตั้งครรภ์แฝดเป็น 2 ประเภท คือ
- แฝดร่วมไข่ (Monozygotic หรือ Identical twins) เกิดจากการที่ เชื้ออสุจิ 1 ตัว เข้าไปปฏิสนธิกับไข่ใบเดียว ต่อมาจึงมีการมาแยกเป็นครรภ์แฝด ซึ่งจะมีหลายลักษณะขึ้น อยู่กับระยะเวลา ที่มีสิ่งผิดปกติมากระตุ้นให้เกิดการแบ่งแยกเซลล์ตัวอ่อน
-
- หากมีสิ่งมากระตุ้นให้แบ่งเซลล์ตัวอ่อนภายใน 7-12 วันหลังปฏิสนธิ จะได้ทารก 2 คน แฝดกลุ่มนี้จะเป็นแฝดเหมือน เหมือนกันทั้งเพศ หน้าตา หมู่เลือด
- แต่หากหลังวันที่ 13 ของการปฏิสนธิไปแล้ว มีสิ่งมากระตุ้นให้แบ่งเซลล์ตัวอ่อน จะเกิดปัญหาแฝดที่มีร่างกายติดกัน (Conjoined twins) เช่น ลำตัว หรือ ศีรษะ ติดกัน
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ตั้งครรภ์แฝดมีอะไรบ้าง?
ปัจจัยเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์แฝด คือ
- กรรมพันธุ์ คือ การมีประวัติตั้งครรภ์แฝดในครอบครัว
- เชื้อชาติ พบว่าชนชาติแอฟริกันมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดมากกว่าคนผิวขาว
- อายุมารดามากขณะตั้งครรภ์ พบว่าการตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่า 35 ปี มีโอกาสตั้งครรภ์แฝดมากขึ้น
- การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ การทำเด็กหลอดแก้ว หรือการใช้ยากระตุ้นให้มีไข่สุกและตกไข่ครั้งละหลายๆฟอง
เราจะสงสัยว่าตั้งครรภ์แฝดเมื่อไหร่?
เราจะสงสัยว่าตั้งครรภ์แฝดเมื่อ
- มีปัจจัยเสี่ยงตามที่กล่าวมาแล้ว ในหัวข้อปัจจัยเสี่ยง
- มีอาการแพ้ท้องมากกว่าปกติ
- มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือบวม ตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ
- สังเกตว่าครรภ์โตเร็วผิดปกติ หรือครรภ์โตกว่าอายุครรภ์
การวินิจฉัยว่าตั้งครรภ์แฝดทำได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยการตั้งครรภ์แฝดได้โดย การซักถามประวัติทางการแพทย์กับผู้ป่วย การตรวจร่างกาย ตรวจครรภ์ ตรวจหาปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง และเมื่อตรวจครรภ์ได้โตกว่าอายุครรภ์จริง ก็จะส่งตรวจครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์) เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
ภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์แฝดมีอะไรบ้าง?
เมื่อสตรีรู้ว่าตั้งครรภ์แฝด คนในครอบครัวทุกคนจะดีใจ ถือว่าเป็นเรื่องของความโชคดีที่ตั้งครรภ์ครั้งเดียวได้ลูกพร้อมกัน 2 คน แต่ในทางการแพทย์แล้วการตั้งครรภ์แฝดถือเป็นความซับซ้อนอย่างหนึ่ง เป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากการตั้งครรภ์ ได้มากกว่าครรภ์เดี่ยว ทั้งในระยะฝากครรภ์/ก่อนคลอด ระยะคลอด และระยะหลังคลอด
- ภาวะแทรกซ้อนของครรภ์แฝดในระยะฝากครรภ์/ก่อนคลอด ได้แก่
- คลื่นไส้ อาเจียน มากกว่าปกติ เหนื่อยเพลียมาก
- การแท้งบุตร อาจแท้งออกมา 1 คนแล้วตั้งครรภ์ต่ออีก 1 คน หรือ แท้งทั้ง 2 คน
- มารดามักมีภาวะซีด ได้ง่าย
- มีโอกาสมีภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์สูงกว่าครรภ์ปกติ
- เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์สูงกว่าครรภ์ปกติ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง เบาหวานกับการตั้งครรภ์)
- รกเกาะต่ำ ทำให้เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ เพิ่มโอกาสการแท้งบุตรและการคลอดก่อนกำหนด
- เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
- ทารกน้ำหนักตัวน้อย
- ทารกอยู่ในท่าผิดปกติ ทำให้เกิดปัญหาในการคลอดปกติ อาจต้องผ่าท้องคลอด
- สายสะดือทารกพันกัน ในกรณีอยู่ในถุงการตั้งครรภ์เดียวกัน เป็นสาเหตุให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือ ระหว่างคลอดได้สูง
- ทารกมีโอกาสพิการแต่กำเนิดสูงกว่าครรภ์ปกติ
- ทารกในครรภ์เจริญเติบโตผิดสัดส่วนกัน แต่ละคนเจริญเติบโตได้ไม่เท่ากัน คนที่เจริญเติบโตได้ไม่ดี จึงอาจเสียชีวิต หรือมีความพิการ
- ทารกมีการถ่ายเทเลือดให้กัน (Twin-to-twin transfusion syndrome ) คือทา รกใช้รกอันเดียวกัน เลือดของคนหนึ่งจึงสามารถไหลสู่ร่างกายของอีกคนได้ ส่งผลให้ทารกเกิดภาวะขาดเลือด เกิดการเจริญเติบโตผิดปกติ พิการ หรือเจริญเติบโตด้อยกว่าเกณฑ์ จึงเพิ่มโอกาสมารดาเกิดการแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด และ/หรือความพิ การแต่กำเนิดของทารกได้
- ทารกเสียชีวิตในครรภ์ 1 คน หรืออาจเสียชีวิตทั้งหมด
- ภาวะแทรกซ้อนของครรภ์แฝดในระยะคลอด ได้แก่
- การดำเนินการคลอดผิดปกติ ล่าช้า อาจต้องผ่าท้องคลอด
- ทารกอยู่ในท่าผิดปกติ ต้องผ่าท้องคลอด
- รกลอกตัวก่อนกำหนด จึงส่งผลให้เกิดทารกคลอดก่อนกำหนดได้สูง
- ภาวะแทรกซ้อนของครรภ์แฝดในระยะหลังคลอด ได้แก่
- ตกเลือดหลังคลอด เนื่องจากมดลูกขยายตัวมากเกินไป ทำให้การหดรัดตัวไม่ดี แผลในมดลูกจากการหลุดลอกของรกจึงติดได้ไม่ดี เลือดจึงออกจากแผลได้มาก
- ติดเชื้อหลังคลอดได้สูง
ควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อตั้งครรภ์แฝด?
การดูแลตนเองเมื่อมีครรภ์แฝด ที่สำคัญ คือ
- ด้านทั่วๆไป
- เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ต้องรีบไปฝากครรภ์
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาลที่ดูแลให้ถูกต้อง ครบถ้วน
- น้ำหนักมารดาควรเพิ่มขึ้น 15-20 กิโลกรัมตลอดการตั้งครรภ์ (ในสตรีที่ไม่อ้วนผิดปกติ)
- พักผ่อนให้เพียงพอ ควรพักผ่อนให้มากกว่าปกติเพื่อลดโอกาสคลอดก่อนกำหนด
- งดการทำงานหนักเพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
- เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ท้องจะขยายมากกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยวมาก การเคลื่อนไหวจะลำ บาก จึงต้องระวังเกี่ยวกับอุบัติเหตุ
- อาหารและการบริโภคอื่นๆ
เนื่องจากการตั้งครรภ์แฝดอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย การดูแลตนเองระหว่างตั้งครรภ์จึงสำคัญมาก เรื่องอาหารต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพิ่มขึ้นกว่าปกติ (ควรได้อาหารเพิ่มขึ้นมากกว่าสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์ประมาณ 600 กิโลแคลอรี่ต่อวัน) เนื่อง จากความต้องการของลูกมีมากขึ้น
งด สูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนเครื่องดื่มกาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม) ให้ปฏิบัติตามที่สูติแพทย์ที่ดูแลแนะนำ
- เพศสัมพันธ์
การมีเพศสัมพันธ์ แนะนำให้งดในช่วง 2-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากกลัวการแท้งบุตร ส่วนในช่วง 7-8 เดือน ท้องจะใหญ่มาก แนะนำให้งดมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้เช่นกัน เนื่องจากเกรงจะทำให้คลอดก่อนกำหนด ดังนั้นหากระหว่างตั้งครรภ์ไม่มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆตามที่กล่าวในหัวข้อ ภาวะแทรกซ้อน สามารถมีเพศสัมพันธ์ ช่วงตั้งครรภ์ตอน 4-5 เดือนได้ แต่หากมีภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออกทางช่องคลอด ก็ต้องงดการมีเพศสัมพันธ์
การฝากครรภ์เมื่อตั้งครรภ์แฝดแตกต่างจากการฝากครรภ์ปกติหรือไม่?
สตรีที่ตั้งครรภ์แฝด ต้องได้รับการดูแลอย่างระมัดระวัง เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรก ซ้อนได้บ่อยกว่าสตรีที่ตั้งครรภ์เดี่ยว ในช่วงแรกหากมีคลื่นไส้อาเจียนมากผิดปกติ ควรนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล แพทย์จะให้น้ำเกลือ แต่หากไม่มีอาการผิดปกติจะมีการตรวจครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์) เป็นระยะๆอย่างสม่ำเสมอ ทุก 1 เดือน เพื่อติดตามความเจริญเติบโตของทารก และค้นหาภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดกับทารก
แพทย์จะแนะนำการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากกว่าปกติ จะมีการให้ยาวิตามินบำ รุงครรภ์ ซึ่งอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแล ในช่วงระยะหลังของการตั้งครรภ์ แพทย์อาจนัดมาตรวจครรภ์บ่อยกว่าปกติ มีการประเมินสุขภาพทารกในครรภ์ด้วย เช่น Non stress test (ตรวจการทำงานของหัวใจของทารก) เพื่อแพทย์พิจารณาการดูแลรักษาทั้งมารดาและทารก
เมื่อตั้งครรภ์แฝดควรคลอดเองหรือให้แพทย์ผ่าท้องคลอดดี?
การตั้งครรภ์แฝด ไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยการผ่าท้องคลอดเสมอไป ในกรณีที่เป็นการตั้งครรภ์แฝดสอง และไม่มีภาวะแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์ (เช่น ทารกอยู่ในท่าผิดปกติ) หากทารกทั้ง 2 คน อยู่ในท่าศีรษะ มีศีรษะเป็นส่วนนำ สามารถชักนำให้คลอดทางช่องคลอดได้ ควรมีทีมแพทย์และพยาบาลที่ดูแล 2 ทีม (ดูแม่ และดูลูก) แต่อย่างไรก็ตาม ต้องมีการเตรียม พร้อมสำหรับการผ่าท้องคลอดฉุกเฉินเสมอ เนื่องจากมีบางครั้งที่ทารกคนแรกคลอดไปแล้ว แต่ทารกคนที่ 2 มีการหมุนเปลี่ยนท่าเอง เช่น กลายเป็นท่าขวาง แพทย์ผู้ทำคลอดอาจต้องรีบไปผ่าท้องคลอด แต่หากทารกคนแรกมีส่วนนำ (ส่วนที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับช่องเชิงกรานมารดา) ไม่อยู่ในท่าศีรษะ มีคำแนะนำว่าควรต้องวางแผนผ่าท้องคลอด แต่หากเป็นการตั้งครรภ์แฝดสามแฝดสี่ ควรต้องผ่าท้องคลอดเลย เพื่อความปลอดภัยของลูก
หลังคลอด ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองหลังคลอด ที่สำคัญ คือ
- ด้านทั่วไป
หลังคลอดต้องดูแลตนเองมากขึ้น ทั้งในเรื่องการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพราะต้องให้นมบุตรมากกว่า 1 คน ส่วนการดูแลแผลฝีเย็บ หรือแผลผ่าตัดหน้าท้องไม่แตกต่างการตั้งครรภ์เดี่ยวทั่วไป
- การตั้งครรภ์ครั้งต่อไป
สำหรับการตั้งครรภ์บุตรคนต่อไป ควรปรึกษาคู่สมรส เกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง บทบาทของการวางแผนครอบครัว) แนะนำให้เว้นระยะการตั้ง ครรภ์ใหม่ไปประมาณ 2-3 ปี เพื่อที่จะได้ให้นมบุตรและเลี้ยงดูบุตรอย่างเต็มที่ก่อน
- การให้นมบุตร
การให้นมบุตรสามารถให้ทันทีหลังคลอดได้เลยเหมือนครรภ์เดี่ยว เพื่อสร้างสายใยรัก ความผูกพันระหว่างแม่กับลูก
- ประจำเดือน
การกลับมาของประจำเดือนหลังคลอด ขึ้นกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานแค่ไหน การที่ให้ลูกดูดนมอย่างเดียว (Exclusive breast feeding) แม่จะประจำเดือนมาช้าหรือขาดประจำ เดือน (Lactating amenorrhea) นานกว่าสตรีที่เลี้ยงลูกด้วยนมผง เนื่องจากเวลาที่ลูกดูดนมแม่ จะเป็นการกระตุ้นให้มีการหลั่งของฮอร์โมนสร้างน้ำนมมากขึ้น ซึ่งจะไปมีผลต่อฮอร์โมนที่ทำให้เกิดการตกไข่ ทำให้ประจำเดือนไม่มาได้ สตรีให้นมบุตรบางคนประจำเดือนอาจไม่มาเป็นปีได้ แต่ส่วนใหญ่ประจำเดือนจะมาประมาณ 5-6 เดือนหลังคลอดในคนที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ส่วนสตรีที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประจำเดือนจะมาตั้งแต่ 1-2 เดือนหลังคลอด
- การคุมกำเนิด
แม้ว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่แนะนำให้เริ่มคุมกำเนิดตั้งแต่ 6 สัปดาห์หลังคลอดเลย และสามารถเลือกใช้หลากหลายวิธีได้เหมือนครรภ์เดี่ยว ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ต้องการจะเว้นระ ยะการมีบุตร เช่น ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัย ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตรเจนอย่างเดียว ส่วนยาเม็ดคุมกำเนิดแบบรวมที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปไม่ควรใช้ขณะให้นมบุตร เพราะจะมีฮอร์โมนไปยับยั้งการสร้างน้ำนม
ที่มา https://haamor.com/th/ครรภ์แฝด/