การตรวจภายใน (Per vaginal examination)


1,279 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ช่องคลอด  ระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

การตรวจภายในคืออะไร?

การตรวจภายในหรือทางแพทย์มักเรียกเป็นชื่อย่อว่า “การตรวจ พีวี” (PV, Per vaginal examination) เป็นการที่แพทย์ใช้เครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายปากเป็ด (Speculum) ที่มีขนาดต่างๆกันตามขนาดของช่องคลอดของสตรีแต่ละคน สอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อดูความผิด ปกติ หรือแผลในช่องคลอด และปากมดลูก ต่อจากนั้นจะใช้นิ้วตรวจเข้าไปในช่องคลอดพร้อมๆกับมืออีกข้างคลำทางหน้าท้อง เพื่อประเมินความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานสตรีนั้นอีกครั้ง

ทั้งนี้ ก่อนจะมีการตรวจภายใน แพทย์จะมีการซักประวัติเกี่ยวกับความผิดปกติต่างๆทางนรีเวช เช่น การมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ตกขาว ประวัติการคลอด ประจำเดือน การคุมกำเนิด และเมื่อประเมินแล้วว่าจำเป็นต้องตรวจภายใน ก็จะปรึกษาผู้ป่วยถึงความจำเป็นที่ต้องตรวจภายในต่อไป

ขั้นตอนในการตรวจภายในมีอย่างไรบ้าง?

การตรวจภายในประกอบด้วย 2 ขั้นตอนคือ การตรวจด้วยเครื่องมือถ่างขยายช่องคลอด (Speculum examination) ซึ่งมีทั้งที่เป็นพลาสติกและเป็นสแตนเลส จากนั้นจะเป็นการตรวจด้วยนิ้วพร้อมกับการใช้มืออีกข้างคลำทางหน้าท้อง (Bimanual examination) เพื่อประเมินความผิดปกติต่างๆของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน

การตรวจภายใน มีขั้นตอนดังนี้

  • แพทย์จะให้ผู้ป่วยไปปัสสาวะทิ้งให้เรียบร้อยก่อน เพราะการมีปัสสาวะสะสมในกระเพาะปัสสาวะ จะส่งผลให้แพทย์ตรวจคลำอวัยวะต่างๆในอุ้งเชิงกรานได้ไม่ชัดเจน
  • เปลี่ยนชุดเพื่อตรวจภายใน เป็นกระโปรงหรือผ้าถุง พร้อมถอดกางเกงในให้เรียบร้อย
  • ขึ้นนอนบนเตียงที่มีขาหยั่งเพื่อรอตรวจ ควรแยกเข่าออกจากกันให้มาก เพื่อจะได้สะดวกแก่แพทย์ในการตรวจให้เห็นอวัยวะได้ชัดเจน ไม่ถูกบังโดยขาของผู้ป่วย
  • หลังจากแพทย์ใส่ถุงมือแล้ว แพทย์จะบอกผู้ป่วยว่า ต่อไปจะตรวจด้วยเครื่องมือ หรือด้วยนิ้ว เพื่อให้ผู้ป่วยได้เตรียมตัวก่อนเสมอ แพทย์จะตรวจดูว่ามีแผลและ/หรือมีก้อนผิด ปกติบริเวณอวัยวะเพศภายนอก และปากช่องคลอดหรือไม่ แพทย์จะใช้นิ้วคลำต่อมน้ำ เหลืองบริเวณขาหนีบ คลำก้อนผิดปกติบริเวณปากช่องคลอด ต่อจากนั้นจะเลือกเครื่อง มือถ่างขยายช่องคลอดขนาดที่เหมาะสมกับขนาดของช่องคลอดของผู้ป่วย (ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่) ใส่เข้าไปในช่องคลอด แล้วเปิดขยายช่องคลอด เพื่อดูปากมดลูก (ผู้ป่วยบางคนอาจรู้สึกเจ็บเล็กน้อยในช่วงนี้) จากนั้นจะใช้อุปกรณ์ป้ายเอาเซลล์บริเวณปากมด ลูก เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หรือป้ายเอาตกขาวตรวจหาความผิดปกติ เมื่อตรวจเสร็จ แพทย์ก็จะถอดเครื่องมือออก
  • หลังจากถอดเครื่องมือ แพทย์จะใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางของมือขวาแพทย์ (แพทย์ใส่ถุงมือ) ใส่เข้าไปในช่องคลอดอีกครั้ง ส่วนมือซ้ายจะคลำที่หน้าท้อง เพื่อตรวจดูขนาดมดลูกว่าปกติหรือโตผิดปกติ หรือมีก้อนอื่นๆผิดปกติหรือไม่ กดเจ็บหรือไม่ เป็นต้น
  • ในบางกรณีหากแพทย์สงสัยว่ามีพยาธิสภาพ โดยอาจมีพังผืดที่ยึดปีกมดลูกและมดลูกกับผนังเชิงกราน (Parametrium and broad ligament) อาจต้องมีการตรวจในช่องคลอด และตรวจทางทวารหนักไปพร้อมๆกัน (Rectovaginal examination)

ใครควรจะไปรับการตรวจภายในบ้าง?

การตรวจภายใน เป็นการตรวจอวัยวะเพศภายในของสตรีซึ่งไม่มีในผู้ชาย ดังนั้นผู้ที่ควรได้รับการตรวจภายใน คือ สตรี โดยสตรีที่ควรได้รับการตรวจภายใน คือ

  1. สตรีที่มีเพศสัมพันธ์ที่สุขภาพปกติดีทุกคน ควรต้องตรวจภายในทุกปี เพื่อที่จะทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมลูก
  2. มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หรือมีประจำเดือนผิดปกติ
  3. มีอาการปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลัน หรือเรื้อรังเป็นๆหายๆ
  4. ตกขาวผิดปกติ
  5. คลำได้ก้อนที่ท้องน้อย
  6. ท้องอืด แน่นอึดอัดในท้อง
  7. น้ำหนักลด ผอมลง
  8. เด็กหญิงที่มีตกขาวผิดปกติ หรือมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดในช่วงเวลาที่ไม่ควรออก (ต้องมีการให้ยาดมสลบก่อนตรวจ)

ควรเตรียมตัวอย่างไรก่อนตรวจภายใน?

การตรวจภายใน เป็นการตรวจที่ง่าย ไม่ยุ่งยาก สามารถตรวจได้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก และโดยทั่วไป ไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้าก็สามารถตรวจได้

อย่างไรก็ตามเพื่อให้ผลการตรวจสมบูรณ์ การเตรียมตัวเพื่อการตรวจภายในได้แก่

  1. หากเป็นการตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ควรหลีกเลี่ยงช่วงที่กำลังมีประจำเดือน รอให้ประจำเดือนหยุดสนิทค่อยไปตรวจ เพราะการตรวจขณะมีประจำเดือน เพิ่มโอกาสการติดเชื้อในโพรงมดลูก จากเป็นช่วงที่ปากมดลูกเปิดเพื่อขับเลือดประจำ เดือนออกมา
  2. หากมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หรือประจำเดือนผิดปกติ สามารถไปตรวจได้เลย เพราะอาจมีแผลหรือก้อนเนื้อผิดปกติต่างๆในระบบอวัยวะเพศของสตรี
  3. ควรงดการเหน็บยาในช่องคลอดประมาณ 3 วัน
  4. ไม่ควรสวนล้างช่องคลอดก่อนพบแพทย์ตรวจภายใน เพราะถ้าต้องมีการตรวจเซลล์หรือตรวจเชื้อ อาจส่งผลให้ผลผิดพลาดในทางลบ คือ มีโรคแต่ตรวจไม่พบ

การตรวจภายในเจ็บหรือไม่? น่ากลัวหรือไม่?

เมื่อพูดถึงการตรวจภายใน สตรีทั้งหลายมักเกิดความอายเป็นอันดับแรก ไม่อยากตรวจ ต่อมาก็กลัวเจ็บ อยากให้สตรีทุกคนที่จำเป็นต้องตรวจภายใน คลายกังวล ให้ถือเป็นเรื่องปกติเหมือนเราไปตรวจ หู คอ หรือจมูก แพทย์จะใส่เครื่องมือถ่างขยายช่องคลอดที่มีขนาดเหมาะ สมกับขนาดช่องคลอดผู้ป่วย จึงไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ หากผู้ป่วยให้ความร่วมมือดี ไม่เกร็ง ไม่ต้านการตรวจต่อมาต้องมีการใช้นิ้วมือเข้าไปตรวจ เพื่อประเมินพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานอีกครั้ง อาจมีความรู้สึกจุกๆ เล็กน้อยเท่านั้น

การตรวจภายในมีผลเสียหรือไม่? ทำให้เกิดการติดเชื้อหรือไม่?

การตรวจภายใน เป็นแนวทางในการวินิจฉัยโรคตามมาตรฐานวิชาชีพ ขั้นตอนการตรวจทำโดยเทคนิคปราศจากเชื้อ แพทย์มีการใส่ถุงมือที่ฆ่าเชื้อแล้ว ส่วนเครื่องมือถ่างขยายปากช่องคลอดก็ผ่านการอบฆ่าเชื้อแล้ว จึงไม่น่าจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้

ดูแลตนเองอย่างไรหลังตรวจภายใน?

ดังกล่าวแล้วว่า การตรวจภายในเป็นการตรวจที่ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องใช้ยาชา หรือยาแก้ปวดใดๆก่อนตรวจ (ยกเว้นในเด็ก) ตรวจได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า ซึ่งหลังการตรวจ ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บเพียงเล็กน้อยจากการสอดใส่เครื่องมือ และการสอดใส่นิ้วเพื่อการตรวจคลำของแพทย์ อาการปวดมักมีอยู่นานประมาณ 2-3 นาที ทั้งนี้ ภายหลังการตรวจ ไม่มีการดู แลเฉพาะแต่อย่างใด ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตทุกอย่างได้ตามปกติ รวมทั้งในเรื่องของเพศสัมพันธ์ ยกเว้นบางกรณีที่แพทย์ตรวจพบโรค ที่แพทย์จะแนะนำการดูแลตนเองเพิ่มเติม ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละโรคและเป็นรายๆไป โดยไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการตรวจภายในแต่อย่างไร
ที่มา   https://haamor.com/th/การตรวจภายใน/

อัพเดทล่าสุด