กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (PMDD / Premenstrual dysphoric disorder)


906 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

มดลูก  รังไข่  ระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ปวดประจำเดือน 

กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนคืออะไร?

กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน เป็นกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน หรือกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนที่รุนแรง (Premenstrual dysphoric disorder หรือเรียกย่อว่า PMDD) คือ การมีอาการผิดปกติทางร่างกาย จิตใจ และ/หรืออารมณ์อย่างรุนแรง โดยสัมพันธ์กับก่อนการมีประจำเดือน เช่น เครียดจัด หงุดหงิดมาก โมโหร้าย หรือซึมเศร้าอย่างมาก

กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนมีอาการอะไรบ้าง?

กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนมีหลากหลายอาการ ได้แก่

  1. ซึมเศร้าอย่างมาก
  2. อยากฆ่าตัวตาย
  3. ร้องไห้บ่อยๆ
  4. โมโหร้าย
  5. นอนไม่หลับ
  6. ไม่มีเรี่ยวแรง
  7. อยากรับประทานอาหารที่แปลกๆ
  8. ไม่มีสมาธิในการทำงาน
  9. บวมตามตัว บวม ปวดเต้านมมาก
  10. ปวดศีรษะอย่างมาก
  11. ปวดเต้านมอย่างมาก

กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนมีความสำคัญ หรือมีผลกระทบต่อสตรีอย่างไร?

มีสตรีวัยเจริญพันธุ์ (วัยมีประจำเดือน) 2-10% ประสบกับปัญหานี้ เนื่องจากมีอาการผิด ปกติค่อนข้างรุงแรง เช่น อยากฆ่าตัวตาย จึงเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หรือมีอาการทางร่างกายมาก เช่น ปวดศีรษะมาก ปวดเต้านมมาก ทำให้ขาดงาน จึงมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของงานที่ทำได้

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนมีอะไรบ้าง?

สาเหตุจริงๆที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเกิดได้จาก

  1. การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศหญิงในช่วงครึ่งหลังของวงรอบการมีประจำเดือน โดยเฉพาะในรอบเดือนที่มีการตกไข่ (ในสตรี วัยเจริญพันธุ์จะมีประจำเดือนทุก 28-30 วัน การตกไข่จะเกิดขึ้น 2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือนครั้งถัดไป และบ่อยครั้งก็มีประจำ เดือนได้โดยไม่มีการตกไข่)
  2. ความเครียด
  3. มีเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อชีวิต
  4. อาจเกิดจากการลดลงของสาร Serotonin ในร่างกาย ซึ่งเป็นสารสำคัญของการรับส่งกระ แสประสาท (Neurotransmitter) และสัมพันธ์กับภาวะทางอารมณ์/จิตใจ เช่น ความหงุด หงิด และความโกรธ

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนมีอะไรบ้าง?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน คือ

  1. ประวัติในครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นภาวะนี้
  2. ภาวะเครียด
  3. การมีภาวะซึมเศร้าอยู่ก่อนหน้านี้ ก็จะกระตุ้นให้เกิดภาวะ/กลุ่มอาการนี้รุนแรงขึ้น

วิธีวินิจฉัยกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนมีอะไรบ้าง?

แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนโดยการซักประวัติดูว่าอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นมักเกิดขึ้นซ้ำๆช่วง 10-14 วันก่อนมีประจำเดือน และอาการเหล่านี้จะดีขึ้นเมื่อประจำเดือนหยุด จะมีอาการเกิดคล้ายเดิมอย่างน้อย 3 รอบประจำเดือน และมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นอย่างน้อย 5 อาการร่วมกัน ส่วนการตรวจเลือดมักไม่พบสิ่งผิดปกติ

การรักษากลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนมีอะไรบ้าง? ดูแลตนเองอย่างไร?

หากมีอาการดังกล่าวแล้ว ควรรีบปรึกษาแพทย์ ซึ่งโดยทั่วไป แนวทางการรักษา คือการใช้ยา และการดูแลตนเองโดยไม่ใช้ยา

  • การใช้ยา ได้แก่
    1. ยากลุ่ม Selective serotonin-reuptake inhibitors หรือเรียกย่อว่าSSRIs เป็นยาที่เพิ่มระดับ Serotonin ในสมองซึ่งเป็นกลุ่มยาที่รักษาอาการซึมเศร้า เช่น ยา Fluoxe tine, Sertraline, Paroxitine สามารถลดอาการซึมเศร้าและอาการปวดศีรษะได้
    2. ยา GnRH Analogs เป็นยาที่ลดการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งจะทำให้ไม่มีการตกไข่ และอาการคัดตึงเต้านม อ่อนเพลีย และโกรธง่ายหายไป แต่ต้องระวังว่า หากใช้นานเกินกว่า 6 เดือน อาจจะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน ได้
    3. ยา Danazol ซึ่งเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์เหมือนฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งจะป้องกันการตกไข่
    4. ยาเม็ดคุมกำเนิด และยาฉีดคุมกำเนิด (วิธีคุมกำเนิด) ซึ่งจะป้องกันการตกไข่ ก็สามารถลดอาการของกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนนี้ได้เช่นกัน
    5. ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยส์ (Non-steroidal anti inflammatory drug หรือเรียกย่อว่า NSAID) เช่น พอนสแตน (Ponstan®)

    ***** ทั้งนี้ การใช้ยาต่างๆ ควรต้องเป็นการแนะนำจากแพทย์เสมอ เพราะในผู้มีอาการแต่ละคนจะใช้ ชนิดยา ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่แตกต่างกัน ซึ่งถ้าใช้ไม่ถูกต้อง ประสิทธิภาพในการรักษาจะลดลง และอาจเกิดผลข้างเคียงจากยาได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปากแห้ง อาจมีอาการคล้ายโรคหวัด หรือ มือสั่น ได้เมื่อใช้ยาในกลุ่ม SSRIs เป็นต้น

  • สิ่งที่ควรทำควบคู่ไปกับการรับประทานยา คือการดูแลตนเอง ซึ่งได้แก่
    1. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ให้พอควรกับสุขภาพ
    2. พักผ่อนให้มากๆ
    3. รับประทานอาหารที่เป็น ผัก ผลไม้มากๆ เพื่อให้ได้วิตามินที่เพียงพอ
    4. ลดอาหาร หวานจัด เค็มจัด
    5. ลดเครื่องดื่ม กาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ

กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนรุนแรงไหม? รักษาหายไหม?

กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนพบได้น้อยกว่ากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนที่ไม่รุน แรงมาก แต่มีอาการมากกว่า บางครั้งอาจมีอันตรายถึงชีวิตเพราะบางคนจะมีอาการซึมเศร้า หมดหวังในชีวิตมาก อาจคิดฆ่าตัวตาย การได้รับการรักษาทันท่วงทีจะช่วยบรรเทาอาการลงได้มาก

และเนื่องจากภาวะนี้สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเพศหญิงช่วงมีประจำเดือน ดัง นั้นหากหมดประจำเดือน อาการเหล่านี้ก็จะหมดไป แต่ในช่วงที่ยังมีประจำเดือนอาการเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่ได้ แต่การรักษาจะทำให้อาการต่างๆดีขึ้น

กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนมีผลข้างเคียงอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ในสตรีที่มีอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน บางคนจะโมโหร้ายมาก ทำร้ายผู้อื่น บางคนจะซึมเศร้ามาก บางคนจะร้องไห้บ่อยๆ บางคนไม่มีแรงไปทำงาน บางคนอยากฆ่าตัวตาย หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์ เพราะอาจมีโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกันได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะมีผลกระทบต่อสตรีผู้มีอาการและคนรอบข้างได้ นอกจากนั้นอาจทำให้สตรีผู้นั้นเกิดโรคซึมเศร้าตามมาได้

ป้องกันกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนได้อย่างไร?

นอกจากจะต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดแล้ว การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอให้พอเหมาะกับสุขภาพ จะช่วยลดหรือป้องกันภาวะ/กลุ่มอาการนี้ได้ เพราะเวลาออกกำลังกายจะมีฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุขหลั่งออกมาจากสมอง ทำให้เรามีความสุขไม่เครียด

นอกจากนั้นควรดูแลตัวเองเกี่ยวกับอาหาร ควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตชนิดดี เช่น ข้าวที่ไม่ขัดสีจนวิตามินหายหมด (Whole grain) รับประทานผัก ผลไม้มากๆเพื่อให้ได้วิตามินครบ ถ้วน ลดอาหารหวานจัด ลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และมีกาเฟอีน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤตช่วงก่อนมีประจำเดือนไปได้
ที่มา     https://haamor.com/th/กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน/

อัพเดทล่าสุด