การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease)


1,146 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ท้องน้อย  ระบบโรคติดเชื้อ 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ปวดท้อง 

การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานคืออะไร?

การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (ท้องน้อย หรือ ช่องท้องน้อย) หรือ โรคพีไอดี (PID, Pelvic inflammatory disease) คือ การอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อที่อวัยวะสืบพันธุ์สตรีส่วนบน คือ ตั้งแต่ภายในโพรงมดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ รวมถึงอาจทำให้เกิดถุงหนองที่ปีกมดลูก (รังไข่ ท่อนำไข่ และเนื้อเยื่อโดยรอบ) ได้

อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน?

ส่วนใหญ่สาเหตุของการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดโรคหนองใน (N.gonorrhea) และโรคหนองในเทียม (C.trachomatis) อย่างไรก็ตาม เชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดเอง อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้เช่นกัน โดยเชื้อกลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นเชื้อชนิดที่ไม่ใช้ออกซิเจน

การติดเชื้อดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยเชื้อจะเคลื่อนที่จากช่องคลอดขึ้นไปที่ปากมดลูก และในที่สุดทำให้เกิดการติดเชื้อที่อวัยวะสืบพันธุ์ส่วนบน ซึ่งใช้เวลา 2-3 วัน หรือเป็นเดือนกว่าจะแสดงอาการของการติดเชื้อ

ปัจจัยเสี่ยงใดบ้างที่เพิ่มโอกาสติดเชื้อให้มากขึ้น?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ได้แก่

  1. เคยมีการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์มาก่อน
  2. มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย (น้อยกว่าอายุ 25 ปี)
  3. มีคู่นอนหลายคน
  4. การสวนล้างช่องคลอด ซึ่งอาจทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในช่องคลอด ลุกลามเข้าสู่โพรงมดลูก นำไปสู่การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานตามมา
  5. การใสห่วงอนามัยเพื่อคุมกำเนิด

อาการจากการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานมีอะไรบ้าง?

อาการที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน จะแตกต่างกัน ตั้งแต่อาการไม่มากจนกระทั่งติดเชื้อรุนแรง โดยอาการที่เกิดขึ้นส่วนมาก คือ ปวดท้องน้อย

อาการอื่นที่พบร่วมได้ เช่น

อนึ่ง ส่วนใหญ่ ถ้าเป็นการติดเชื้อหนองใน มักแสดงอาการรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดท้องน้อย หรือมีไข้

แพทย์วินิจฉัยการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานอย่างไร?

ในกรณีที่มีอาการดังกล่าวแล้ว ให้ผู้ป่วยรีบมาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป โดยแพทย์จะทำการตรวจภายใน เพื่อดูว่าตกขาวผิดปกติหรือไม่ มีอาการเจ็บที่อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหรือไม่ ตรวจเพื่อดูว่ามีถุงหนองเกิดขึ้นที่ปีกมดลูกแล้วหรือยัง

เนื่องจากการติดเชื้อดังกล่าวเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นอาจจะมีโรคที่เกิดตามมาจากการมีเพศสัมพันธ์อื่นๆด้วย ดังนั้นผู้ป่วยจะถูกเจาะเลือดเพื่อตรวจดูว่ามีการติดเชื้อโรคเอดส์ (เอชไอวี/ HIV) โรคซิฟิลิส และโรคไวรัสตับอักเสบ ด้วยหรือไม่

นอกจากนั้น การตรวจปัสสาวะดูการตั้งครรภ์จะมีประโยชน์ในรายที่มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ เพราะอาการเลือดออก อาจเกิดจากการตั้งครรภ์ได้

ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่า มีถุงหนองเกิดขึ้นหรือยัง การตรวจอัลตราซาวด์ภาพช่องท้องน้อย ก็จะช่วยการวินิจฉัยภาวะดังกล่าวได้

รักษาการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานอย่างไร?

เนื่องจากการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นยาที่ใช้ในการรักษาจึงเป็นยาปฏิชีวนะ โดยแพทย์จะเป็นคนพิจารณาให้ยาแก่ผู้ป่วยตามความเหมาะสม ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อจะได้ฆ่าเชื้อที่มีอยู่ให้หมด ส่วนใหญ่จะใช้เวลารักษาประมาณ 2 สัปดาห์ แต่แพทย์จะนัดผู้ป่วยเพื่อติดตามผลการรักษาประมาณ 2-3 วันหลังจากได้รับการรักษา เพื่อดูว่าอาการดีขึ้นและตอบสนองต่อการรักษาหรือไม่

ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงมาก เช่น มีไข้สูง ไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะในรูปแบบรับประทาน รับประทานยาไม่ได้เนื่องจากคลื่นไส้ อาเจียนมาก มีถุงหนองเกิดขึ้นในอุ้งเชิงกราน หรือตั้งครรภ์ มักได้รับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้ยาปฏิชีวนะในรูปแบบฉีดซึ่งจะมีประสิทธิภาพที่ดีกว่า

ในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะเลย การผ่าตัดมดลูก และ/หรือปีกมดลูก ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษา

ถ้าไม่รักษาหรือรับประทานยาไม่สม่ำเสมอจะเกิดอะไรขึ้น?

โรคติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน เป็นโรคที่รักษาได้หาย เมื่อวินิจฉัยโรค และได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ แต่ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา หรือได้รับการรักษาไม่ครบตามที่แพทย์แนะนำ ในอนาคตผลข้างเคียงที่ตามมา คือ อาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก นอกจากนั้นบางรายอาจเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือมีปัญหาของการปวดท้องน้อยเรื้อรังได้

การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานทำให้มีบุตรยากได้อย่างไร?

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน จะส่งผลมีการอักเสบของท่อนำไข่ร่วมด้วย ถ้าได้ยาปฏิชีวนะไม่เพียงพอ รักษาล่าช้าไป หรือไม่ได้รับการรักษา จะเกิดพยาธิสภาพที่ท่อนำไข่อย่างถาวร ส่งผลให้ท่อนำไข่ตีบ หรือตันได้ การที่ท่อนำไข่ตีบหรือตันนั้น ทำให้ไข่ไม่สามารถมาพบกับตัวอสุจิได้ ทำให้ไม่เกิดตัวอ่อนในการตั้งครรภ์ ดังนั้นจึงไม่สามารถมีบุตรได้ และยิ่งติดเชื้อบ่อยครั้ง ก็จะทำให้โอกาสการมีบุตรลดลงอีก

คู่นอนจะมีการติดเชื้อด้วยหรือไม่?

คู่นอนอาจจะมีอาการ หรือไม่มีอาการจากการติดเชื้อก็ได้ อย่างไรก็ตามคู่นอนควรจะได้รับการรักษาด้วย ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม เนื่องจากการติดเชื้อดังกล่าวอาจไม่แสดงอาการ

ป้องกันการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้อย่างไร?

วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน คือ การไม่มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งคงเป็นวิธีที่ยากในทางปฏิบัติ แต่เราสามารถลดการติดเชื้อได้โดย

  • มีคู่นอนแค่หนึ่งคน และคู่นอนของเราต้องมีคู่นอนแค่คนเดียวเช่นกัน
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์ เพราะนอกจากจะช่วยคุมกำเนิดแล้วยังป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ด้วย
  • ไม่สวนล้างช่องคลอด เนื่องจากการสวนล้างช่องคลอด จะเป็นการชะล้างเอาแบคที่เรียปกติที่มีอยู่ในช่องคลอดออกไป ทำให้แบคทีเรียก่อโรคเข้ามาอยู่ในช่องคลอดแทน จึงเกิดการติดเชื้อขึ้น

ทำอย่างไรเมื่อมีอาการผิดปกติแล้วไม่แน่ใจว่าติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานหรือไม่? ดูแลตนเองอย่างไร?

ในกรณีที่มีอาการต่างๆดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการจากการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน หรือไม่แน่ใจว่าใช่การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานหรือไม่ ให้รีบมาพบแพทย์ได้เลย ไม่ต้องรีรอ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษา ถ้ามัวแต่อายหมอไม่กล้ามาตรวจก็จะทำให้การรักษาล่าช้าไปอีก และอาจทำให้อาการเป็นมากขึ้นนำไปสู่ผลข้างเคียงอื่นๆตามมาดังที่ได้กล่าวแล้ว

อนึ่ง ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง เพราะมักไม่ถูกชนิดกับเชื้อ และมักได้ยาในขนาดไม่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้เกิด ภาวะเชื้อดื้อยา โรคจึงมักรุนแรงขึ้น
ที่มา    https://haamor.com/th/การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน/

อัพเดทล่าสุด