เชื้อเอชพีวีคืออะไร? มีกี่ชนิด?
เชื้อเอชพีวี (HPV) เป็นไวรัสชนิดหนึ่ง มีชื่อเต็มว่า Human papillomavirus ซึ่งปัจจุบัน สามารถค้นพบเชื้อ เอชพีวี ว่ามีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยมีการตั้งชื่อสายพันธุ์ตามลำดับของการค้นพบ เช่น HPV 6, HPV 11, HPV 16 เป็นต้น
เชื้อเอชพีวี แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
- เชื้อ เอชพีวี กลุ่มที่ทำให้เกิดโรคหูดต่างๆ ได้แก่ HPV 1, 2, 3, 4, 6, 7, 8 ,10, 11 ที่ทำให้เป็น หูดที่มือ หูดที่เท้า หูดหงอนไก่ (Condyloma accuminata) เชื้อกลุ่มนี้ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกต่ำ (Low risk HPV)
- เชื้อ HPV กลุ่มที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกสูง (High risk HPV ) ได้แก่ HPV 16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 52, 56
เราสามารถติดเชื้อเอชพีวีได้ทางใดบ้าง?
การติดเชื้อเอชพีวี (HPV) ติดต่อโดยการสัมผัส โดยพบว่าเชื้อนี้ติดต่อกันทางเพศสัมพันธ์มากที่สุด พบว่าการติดเชื้อเอชพีวีเป็นสาเหตุที่มากที่สุดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้งในชายและหญิงในปัจจุบัน นอกจากนั้นสามารถติดต่อกันทางการร่วมเพศ ทางปาก คอหอย และทวารหนักได้ ส่วนในเด็กแรกเกิดพบว่าสามารถติดเชื้อตัวนี้ขณะคลอดผ่านช่องคลอดของมารดาที่มีเชื้อนี้อยู่ ทำให้ทารกอาจติดเชื้อเอชพีวีที่กล่องเสียงได้
ในสหรัฐอเมริกา ช่วงปี ค.ศ. 2003-2004 (พ.ศ. 2546-2547) พบการติดเชื้อเอชพีวีในผู้ หญิงอายุ 14-59 ปี ประมาณ 26.8% โดยพบได้สูงสุดในช่วงอายุ 20-24 ปีซึ่งคิดเป็น 44.8% ของผู้หญิงทั้งหมดที่ศึกษา และอัตราการติดเชื้อจะลดลงเมื่ออายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง?
ผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชพีวี (HPV) ที่อวัยวะเพศ คือ ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ทุกคน ทั้งนี้รวมถึงจากมีการสัมผัสภายนอกของอวัยวะเพศซึ่งกันและกันด้วย (ทั้งเพศเดียวกัน หรือต่างเพศ) โดยโอกาสติดเชื้อจะสูงขึ้น เมื่อ
- มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย (การใช้ถุงยางอนามัยลดโอกาสติดเชื้อลงได้ แต่ป้องกันไม่ได้ 100%)
- เปลี่ยนคู่นอนใหม่
- สูบบุหรี่
การติดเชื้อเอชพีวีทำให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง?
ส่วนมากการติดเชื้อเอชพีวี (HPV) ไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆที่ทำให้สตรีผู้นั้นสังเกตได้ในระยะแรกๆ ปัจจุบันพบว่าการติดเชื้อเอชพีวี เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยที่สุด จะพบเชื้อนี้ในช่องคลอดสตรี และปากมดลูกมากกว่าบริเวณอื่น แต่การติดเชื้อนี้ส่วนมากจะหายเองได้ภายในระยะเวลาประมาณ 2 ปี เมื่อร่างกายสร้างภูมิต้านทานเชื้อนี้ขึ้นมาได้อย่างเพียงพอ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะคงอยู่และทำให้เกิดโรคต่างๆตามมา
ตำแหน่งการติดเชื้อ นอกจากบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์แล้ว สามารถพบการติดเชื้อเอชพีวีที่ในช่องปาก คอหอย ทวารหนัก ได้ตามลักษณะของการมีกิจกรรมทางเพศ การติดเชื้อเอชพีวีในสตรี ทำให้เกิดปัญหาดังต่อไปนี้
- หูดหงอนไก่ (Condyloma accuminata) จะมีลักษณะเป็นตุ่มเล็กๆ ผิวไม่เรียบ หลายๆตุ่มกระจายเต็มอวัยวะเพศภายนอก อาจมีอาการคันได้ ส่วนมากพบได้ที่บริเวณปากช่องคลอด ช่องคลอด ปากมดลูก นอกจากนั้นอาจพบในลำคอ คอหอย สาเหตุของหูดเหล่านี้เกิดจากเชื้อเอชพีวี สายพันธุ์ย่อย/type 6 และ 11 มากที่สุด
- มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) ปัจจุบันมีหลักฐานมากมายที่บอกว่ามะเร็งปากมดลูกมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชพีวี ส่วนใหญ่เกิดจากสายพันธุ์ 16 และ 18 มากที่ สุด (ประมาณ 70% ของมะเร็งปากมดลูกทั้งหมด) โดยเชื้อจะทำให้เซลล์ปากมดลูกเปลี่ยน แปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งได้
- มะเร็งเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์อื่นๆ เช่น มะเร็งอวัยวะเพศหญิง มะเร็งช่องคลอด มะ เร็งองคชาตในฝ่ายชาย (โรคมะเร็งอวัยวะเพศชาย) โรคมะเร็งที่ทวารหนัก เป็นต้น
การติดเชื้อเอชพีวีทำให้เกิดอาการหรือความผิดปกติอย่างไรบ้าง?
สตรีที่ติดเชื้อ เอชพีวี ส่วนมากมักไม่มีอาการ เชื้อส่วนใหญ่จะหายไปเองภายใน 2 ปี และการติดเชื้อตัวนี้ก็เป็นๆหายๆ จะมีเพียงสตรีส่วนน้อยเท่านั้นที่มีอาการ เช่น หากเป็นหูดหงอนไก่ ก็จะพบตุ่มเนื้องอกเล็กบริเวณปากช่องคลอด หลายๆตุ่มไม่มีอาการเจ็บ หากเป็นถึงระดับมะเร็ง (มะเร็งอวัยวะเพศหญิง มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากมดลูก) แล้ว อาจมีตกขาวมากกว่าปกติ มีเลือดปนตกขาว ตกขาวมีกลิ่นเหม็น มีเลือดออกกระปริดกระปรอย หรือหากเป็นมะเร็งทวารหนักก็จะเห็นแผลหรือก้อนเนื้อผิดปกติ
หากติดเชื้อเอชพีวีสามารถรักษาหายไหม?
ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาการติดเชื้อ เอชพีวี (HPV) ให้หายขาด เราเพียงแต่รักษาสุขภาพของร่างกายให้แข็งแรง เพื่อให้มีภูมิต้านทานต่อตัวเชื้อ การติดเชื้อจะหายไปเองได้ประมาณ 70% ในปีแรก และหายไปเกือบ 90% ในปีที่ 2 มีเพียงผู้ติดเชื้อส่วนน้อย (ประมาณ 5-10%) ที่เชื้อจะคงอยู่ในร่างกายแล้วพัฒนาทำให้เกิดเป็นโรคต่างๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการที่เซลล์ติดเชื้อจะเปลี่ยนเป็นมะเร็งประมาณ 10-15 ปี
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อติดเชื้อเอชพีวี?
การดูแลตนเองเมื่อรู้ว่าติดเชื้อเอชพีวี (HPV) แล้ว คือ
- ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเสมอ ซึ่งการดูแลตนเองขั้นพื้นฐาน คือ การรักษาสุขอนา มัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ
- ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีการร่วมเพศ
- ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกปี หรือบ่อยตามแพทย์แนะนำ
- พบแพทย์เมื่อมีโรคหูดหงอนไก่
มีวิธีการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชพีวีอย่างไร?
การตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอขพีวี คือ
- การตรวจ Papanicolaou smear หรือ แปบเสมียร์ (Pap smear) โดยการใช้แผ่นไม้บางๆเล็กๆรูปร่างคล้ายไม้พาย ป้ายบริเวณรูปากช่องคลอดแล้วมาป้ายบนสไลด์แล้วนำไปย้อมสี จากนั้นนำมาดูลักษณะของเซลล์ หากมีการติดเชื้อ ลักษณะเซลล์จะผิดปกติไป
- การตรวจด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Liquid-based solution ซึ่งการตรวจจะคล้ายคลึงกับการตรวจแปบสเมียร์ แต่จะเป็นการเก็บเซลล์ที่จะตรวจในน้ำยาเฉพาะ แทนการป้ายเซลล์บนแผ่นแก้ว (Slide) ซึ่งจะให้ความแม่นยำในการตรวจสูงกว่าการตรวจแปบสเมียร์
- การตรวจหา ดีเอ็นเอของเชื้อเอชพีวี (HPV DNA testing) ซึ่งสามารถบอกได้ถึงชนิดของเชื้อ เอชพีวี ว่าเป็นกลุ่มที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งสูงหรือต่ำ
ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?
ในสตรีที่แต่งงานแล้ว มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชพีวี (HPV) ทุกคน หากไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นการไปพบแพทย์เพื่อตรวจภายในและคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกๆปี หรือบ่อยตามแพทย์แนะนำ แม้จะไม่มีอาการผิดปกติ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับสตรีที่แต่งงานแล้วทุกคน
เมื่อมีการติดเชื้อเกิดขึ้น ซึ่งสามารถตรวจพบจากการ ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ทั้งโดยวิธีการตรวจ Pap smear (ทราบว่ามีการติดเชื้อ HPV แต่บอกสายพันธุ์ย่อยไม่ได้) การตรวจด้วยวิธี Liquid based solution (ทราบว่ามีการติดเชื้อเอชพีวี แต่บอกสายพันธุ์ย่อยไม่ได้) หรือ ตรวจ HPV DNA testing ที่บอกสายพันธุ์ย่อยได้ ซึ่งเมื่อพบมีการติดเชื้อ แพทย์มักจะนัดไปทำการตรวจเพิ่มเติมต่อไป โดยจะทำการส่องกล้องขยายและตัดชิ้นเนื้อที่ปากมดลูกเพิ่มเติมเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
ป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีอย่างไร?
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
- รับประทานอาหาร ผัก ผลไม้ที่มีประโยชน์
- ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
- ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีการร่วมเพศ
- ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เราลดโอกาสการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้