การตั้งครรภ์ที่ไม่วางแผนคืออะไร?
การตั้งครรภ์ที่ไม่วางแผน (Unplanned pregnancy) หมายถึง การตั้งครรภ์ที่ขาดการวางแผน หรือไม่ได้เตรียมไว้ล่วงหน้า เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการคุมกำเนิด หรืออาจใช้วิธีคุมกำ เนิดแต่ไม่ถูกต้อง หรือมีความล้มเหลวของวิธีการคุมกำเนิดที่ใช้
การตั้งครรภ์ที่ไม่ปรารถนาหรือการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์คืออะไร?
การตั้งครรภ์ที่ไม่ปรารถนาหรือการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ (Unwanted pregnancy) หมายถึง การตั้งครรภ์ที่ไม่เป็นที่ต้องการ หรือเมื่อไม่พร้อม เป็นการตั้งครรภ์ที่ตนเองไม่ยอมรับ
การแท้งหมายถึงอะไร?
การแท้ง (Abortion) หมายถึง การสิ้นสุดการตั้งครรภ์ก่อนถึงระยะที่ทารกจะสามารถเลี้ยงรอดได้ โดยขึ้นอยู่กับความสามารถของกุมารแพทย์ในการดูแลการคลอดก่อนกำหนดให้มีชีวิตรอด ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก ถือเอาการสิ้นสุดการตั้งครรภ์ก่อน 28 สัปดาห์ หรือน้ำหนักทารกต่ำกว่า 1,000 กรัม
ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมการทำแท้งหรือไม่?
การทำแท้งในประเทศไทยถือว่าผิดกฎหมาย ตามมาตรา 301-305 แห่งประมวลกฎ หมายอาญา พ.ศ. 2548 ยกเว้นตามมาตรา 305 โดยเป็นการกระทำของแพทย์และ
- เป็นกรณีที่จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางกายของหญิงมีครรภ์หรือ
- หญิงมีครรภ์ เนื่องจากการกระทำตามความผิดอาญา (การข่มขืนกระทำชำเรา)
การยุติการตั้งครรภ์แบ่งเป็นกี่วิธี? อะไรบ้าง?
การยุติการตั้งครรภ์ (Termination of pregnancy) แบ่งเป็น 2 วิธีใหญ่ๆ คือ
- การยุติการตั้งครรภ์โดยวิธีใช้ยา (Medical abortion) คือการใช้สารที่ออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมเพื่อทำให้เกิดการแท้ง
- การยุติการตั้งครรภ์โดยวิธีทางศัลยกรรม (Surgical abortion) คือการใช้เครื่องมือทางการแพทย์สอดผ่านปากมดลูกหรือการผ่าตัดผ่านหน้าท้องเข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อทำให้เกิดการแท้ง แบ่งเป็น
- การขยายปากมดลูกและการขูดมดลูก (Dilatation and curettage)
- การขยายปากมดลูกและการดูดด้วยเครื่องสุญญากาศ (Dilatation and suction หรือ Vacuum aspiration)
- การขยายปากมดลูกและคีบเนื้อเยื่อออก (Dilatation and evacuation)
- การยุติการตั้งครรภ์โดยการผ่าตัดเข้าไปในโพรงมดลูก (Hysterotomy) หรือการตัดมดลูก (Hysterectomy)
ยาเม็ดที่ใช้ยุติการตั้งครรภ์มีกี่ชนิด? อะไรบ้าง?
ยาเม็ดที่ใช้ยุติการตั้งครรภ์มี 2 ชนิด คือ
- การใช้สารต่อต้านฮอร์โมนโปรเจสเตโรน/Progesterone (มิฟีพริสโตน/Mifepristone,Ru-486) ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์โดยการจับกับตัวรับ (Receptor) ของฮอร์โมนโปรเจสเตโรน จึงทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูกได้ยาได้ผลดีในการยุติการตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ไม่เกิน 63 วัน หรือ 9 สัปดาห์ (นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย) และสามารถนำมาใช้สำหรับการคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินภายหลังการมีเพศสัมพันธ์ได้
ขณะนี้องค์การอาหารและยาของประเทศไทย (อย.) อยู่ในระหว่างพิจารณานำยาเข้ามาใช้ในประเทศไทย
- การใช้ยาในกลุ่มพรอสตาแกลนดิน/Prostaglandin (Misoprostol หรือ Cytotec®) เป็นยาที่เดิมใช้รักษาโรคกระเพาะอาหาร โดยมีผลข้างเคียงทำให้ปากมดลูกบางและมดลูกบีบตัว ปัจจุบันองค์การอาหารและยาของประเทศไทย ประกาศเป็นยาควบคุมพิเศษ สามารถใช้ได้โดยแพทย์ในโรงพยาบาลเท่านั้น
สูตรยาที่ใช้ในการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมมีอะไรบ้าง?
เนื่องด้วยการใช้ยาในกลุ่มพรอสตาแกลนดินชนิดเดียวเพื่อยุติการตั้งครรภ์ในอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ มีประสิทธิภาพไม่ดีนัก มักใช้เวลานาน มีอาการข้างเคียงต่างๆมาก เช่น คลื่นไส้ อาเจียน จึงมีการคิดค้นการใช้ยาในกลุ่มพรอสตาแกลนดินร่วมกับยาต่อต้านฮอร์โมนโปรเจสเตโรน ซึ่งให้ประสิทธิภาพในการยุติการตั้งครรภ์ถึง 92-98% ในอายุครรภ์ไม่เกิน 63 วันหรือ 9 สัปดาห์
ปี ค.ศ.2000 (พ.ศ.2543) องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA,Food and Drug Administration) ให้การรับรองการใช้สูตรยา โดยให้กิน Mifepristone 600 มิลลิกรัม (มก.) จากนั้นอีก 36-48 ชม. ให้ตามด้วยการกิน Misoprostol 400 ไมโครกรัม เพื่อยุติการตั้ง ครรภ์ในอายุครรภ์ไม่เกิน 49 วันหรือ 7 สัปดาห์
ปี ค.ศ.2003 (พ.ศ.2546) องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้สูตร โดยกิน Mifepristone 200 มก. จากนั้นอีก 36-48 ชม. ให้ตามด้วยการกิน Misoprostol 400 ไมโครกรัม หรือ ตามด้วยการใช้ Misoprostol 800 ไมโครกรัม เหน็บทางช่องคลอด
ข้อห้ามในการใช้ยายุติการตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง?
ข้อห้ามการใช้ยายุติการตั้งครรภ์มีดังนี้
- มีประวัติแพ้ยาMifepristone หรือ Misoprostol
- เป็นโรคเลือด เลือดจาง (ภาวะซีด)
- กำลังรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือยาต้านการทำงานของเกล็ดเลือด
- การตั้งครรภ์นอกมดลูก
- การตั้งครรภ์โดยมีห่วงอนามัยอยู่ภายในโพรงมดลูก
- กำลังเป็นโรคไต หรือโรคตับ
- มีความผิดปกติทางจิตเวช
- อายุครรภ์เกิน 63 วัน หรือ 9 สัปดาห์
ขั้นตอนในการยุติการตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง?
เนื่องจากยาที่ใช้ในการยุติการตั้งครรภ์เป็นยาที่มีอันตราย เป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งใช้โดยแพทย์ในโรงพยาบาลเท่านั้น อีกทั้งก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หากใช้ไม่ถูกต้อง
ดังนั้นเมื่อเกิดการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ควรปรึกษาคู่สมรส บิดา มารดา เพื่อวางแผนต่อไปในอนาคต หากหาทางออกไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์ พยาบาล เช่น คลินิกวางแผนครอบครัว คลินิกวัยรุ่น เพื่อร่วมกันหาทางออกของการตั้งครรภ์ไม่พร้อม เช่น การจัดหาผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตรให้ในอนาคต หรือการจัดหาที่พักอาศัยชั่วคราวในกรณีที่ไม่สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมได้ ในกรณีที่ต้องการตั้งครรภ์ต่อ
ส่วนกรณีที่มีผลกระทบต่อจิตใจสตรีตั้งครรภ์อย่างรุนแรง และเลือกยุติการตั้งครรภ์ ต้องมีการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เพื่อหาข้อห้ามในการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ ต้องมีการตรวจอัลตราซาวด์เพื่อยืนยันอายุครรภ์ไม่เกิน 63 วันหรือ 9 สัปดาห์ และยืนยันว่าเป็นการตั้งครรภ์ในมดลูก จากนั้นต้องได้รับคำอธิบายเกี่ยวกับการใช้ยา ผลข้างเคียงของยาที่อาจเกิดขึ้น เมื่อสตรีตั้งครรภ์สามารถยอมรับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น จึงได้รับยายุติการตั้งครรภ์ 2 ชนิด โดยนิยมใช้สูตรยาขององค์การอนามัยโลก
หลังกินยาประมาณ 4-6 ชม. จะเกิดการแท้งมีก้อนเลือดออกทางช่องคลอด
หลังกินยายุติการตั้งครรภ์ ต้องมาพบแพทย์ตรงตามนัดเสมอ เพื่อตรวจยืนยันว่าเป็นการแท้งครบ/การแท้งครบสมบูรณ์ (Complete abortion) หากเป็นการแท้งไม่ครบ (Incomplete abortion) คือ มีชิ้นส่วนของทารก หรือของรกค้างในโพรงมดลูก จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะร่วมกับการขูดมดลูก
ผลข้างเคียงจากการใช้ยายุติการตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง?
ผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ คือ
- มีเลือดออกทางช่องคลอดมาก ตกเลือด
- มีไข้
- คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว/ท้องเสีย
- ปวดท้อง ปวดแบบปวดบีบ
- มีการอักเสบในอุ้งเชิงกราน
ดูแลตนเองอย่างไร เมื่อกินยายุติการตั้งครรภ์?
หลังกินยายุติการตั้งครรภ์ อาจมีอาการปวดบีบท้อง มีเลือดหรือก้อนเลือดออกจากช่องคลอด ให้งดทำงานหนัก พักผ่อนมากๆ งดมีเพศสัมพันธ์ สังเกตอาการเลือดออกทางช่องคลอด ถ้ามีชิ้นเนื้อคล้ายพุงปลาสันนิษฐานว่าเกิดการแท้ง โดยถ้าเป็นการแท้งครบ เลือดจะออกกะปริด กะปรอย และค่อยๆลดปริมาณลงจนหายไป/ไม่มีเลือดออกอีกในระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ โดยอาจมีอาการปวดหน่วงท้องเล็กน้อย
แต่ถ้าหลังมีชิ้นเนื้อออกมา ยังมีเลือดออกทางช่องคลอดปริมาณมาก มีกลิ่นเหม็น และ/หรือปวดท้องมาก ควรรีบพบแพทย์ภายใน 1-2 วัน หรือ ฉุกเฉิน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เพราะอาจเกิดจากการแท้งไม่ครบ และ/หรือการติดเชื้อ
อาการที่ต้องรีบพบแพทย์หลังรับประทานยายุติการตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง?
หลังรับประทานยายุติการตั้งครรภ์ ควรสังเกตอาการตนเองหากมีอาการดังต่อไปนี้ควรรีบมาพบแพทย์ หรือมาโรงพยาบาลฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ
- มีเลือดออกทางช่องคลอดมาก โดยใช้ผ้าอนามัยมากกว่า 2 แผ่นต่อชั่วโมง ติดต่อกันเกิน 2 ชั่วโมง
- มีไข้สูงกว่าหรือเท่ากับ 38oC (Celsius) หรือมีไข้หลังรับประทานยายุติการตั้งครรภ์เกิน 48 ชั่วโมง
- หลังรับประทานยาฯเกิน 24 ชั่วโมง มีอาการปวดท้องมาก คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว/ท้องเสีย
- มีสารคัดหลั่งทางช่องคลอด มีกลิ่นเหม็น
ดูแลตนเองอย่างไรและควรดูแลไปนานเท่าไรหลังแท้งแล้ว?
หลังแท้งควรงดทำงานหนัก งดยกของหนัก สังเกตปริมาณเลือดที่ออกจากช่องคลอด ปริมาณของเลือดที่ออกควรลดลง ปวดท้องได้เล็กน้อย งดสวนล้างช่องคลอด งดลงแช่น้ำเพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
ควรปรึกษากับคู่นอนเรื่องการคุมกำเนิดเพื่อลดการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ หากมีข้อสง สัยควรปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ (คลินิกวางแผนครอบครัว/บทบาทของการวางแผนครอบครัว) เพื่อหาวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับเราและกับคู่ของเรา
จะกลับมามีเพศสัมพันธ์ได้อีกเมื่อไร?
ควรงดมีเพศสัมพันธ์ และงดสวนล้างช่องคลอดอย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังแท้ง หากหลังแท้ง 2 สัปดาห์ยังมีเลือดออกทางช่องคลอด ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ ควรเว้นช่วงการตั้งครรภ์อย่างน้อย 2-3 เดือน และควรคุมกำเนิดก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ และ ปรึกษาแพทย์/บุคลากรทางการแพทย์ในเรื่องคุมกำเนิดเพื่อให้เหมาะสมกับตนเองและกับคู่นอน (บทบาทของการวางแผนครอบครัว)
หลังแท้งยังมีโอกาสตั้งครรภ์ได้เหมือนคนปกติไหม?
หลังแท้ง หากเป็นการแท้งครบ ไม่ได้รับการขูดมดลูก โอกาสการตั้งครรภ์ และโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์เหมือนการตั้งครรภ์ปกติ แต่ถ้าได้รับการขูดมดลูก จะมีโอ กาสเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ครั้งต่อไปเพิ่มขึ้นเช่น รกเกาะต่ำ และ/หรือ รกติดแน่น
ที่มา https://haamor.com/th/การใช้ยายุติการตั้งครรภ์/