อัมพาต: 270 นาทีชีวิต (Stroke Fast Track)


1,258 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

สมอง  ระบบประสาทวิทยา 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

อัมพฤกษ์  อัมพาต 

บทนำ

“หมอขอแสดงความเสียใจด้วยครับ คุณพ่อของคุณเป็นอัมพาตครับ การรักษาคือ การทำกายภาพบำบัดและต้องรอดูว่าอาการจะค่อยๆดีขึ้นหรือไม่ น่าเสียดายที่ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลช้ากว่า 270 นาที จึงไม่สามารถให้การรักษาที่ดีที่สุดได้” เราคงรู้สึกผิดอย่างมากที่ไม่สามารถพาคุณพ่อมารักษาทันเวลา 270 นาทีตามที่หมอบอก เพราะเราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าผู้ป่วยอัม พาตต้องรีบพามาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะในอดีตคนที่เป็นอัมพาตต้องเป็นไปตลอดชีวิต ไม่มีวิธีการรักษาที่ทำให้หายได้ และก็ไม่เคยมีใครบอกเราเลย แย่จังเลย ทำไมสิ่งนี้ต้องเกิดกับเราด้วย

เรื่องที่ผมเล่ามานี้ เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นเกือบทุกวัน เพราะโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่พบบ่อยมาก ทุกๆ 4 นาที มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้น และทุกๆ 10 นาทีมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคนี้ ผู้ป่วยที่มาทัน 270 นาที ก็ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที ที่มาช้าก็หมดโอกาส เหตุนี้เองที่แพทย์และทีมสุขภาพพยายามพัฒนาระบบการให้บริการ 270 นาทีชีวิต ลองติดตามดูครับว่า 270 นาทีชีวิต คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร

อัมพาต270นาทีชีวิต

270 นาทีชีวิตคืออะไร?

270 นาทีชีวิต คือ ระยะเวลาที่แพทย์ใช้ในการวางแผนการรักษาและตัดสินใจในการรัก ษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดมาเลี้ยงหรือ เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด (Cere bral infarction หรือ Brain infarction) เนื่องจากการรักษาในปัจจุบันที่ได้ผลดีที่สุด คือ การฉีดยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytic drug) ซึ่งต้องรีบให้การรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด ถ้าช้าก็ต้องภายใน 270 นาที นับตั้งแต่นาทีแรกที่ผู้ป่วยมีอาการจนถึงเวลาที่แพทย์ฉีดยาละลายลิ่มเลือดเข้าทางหลอดเลือดดำของผู้ป่วย ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลช้ากว่านี้ ก็มักไม่สามารถให้การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวได้ผล จึงเรียกว่า “270 นาทีชีวิต หรือ ทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Fast Track)”

ทำไมต้อง 270 นาที?

ที่มาของ 270 นาที คือ ธรรมชาติของเนื้อสมอง เมื่อเกิดการขาดเลือดมาเลี้ยง เนื้อสมองก็จะเริ่มตาย โดยเริ่มต้นจากเนื้อสมองส่วนตรงกลางก่อน และค่อยๆเพิ่มขนาดของเนื้อสมองตายออกสู่สมองส่วนอื่นๆ ดังนั้น ในช่วงแรกๆของการขาดเลือดมาเลี้ยง จะมีเนื้อสมองตรงกลางที่ตาย เนื้อสมองบริเวณรอบนอกก็กำลังขาดเลือดมาเลี้ยงแต่ยังไม่ตาย พร้อมที่จะกลับมาเป็นปกติได้ ถ้ามีเลือดไหลเข้าไปเลี้ยงเนื้อสมองที่กำลังจะตายนั้นได้ทันเวลา

จากการศึกษาทางพยาธิวิทยาของเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดมาเลี้ยงนั้น สามารถทนการขาดเลือดได้นาน 270 นาที หลังจากนั้นเนื้อสมองจะตายและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ ดังนั้น จึงเป็นที่มาของ 270 นาทีชีวิต

มีอาการผิดปกติอะไรที่ต้องรีบไปโรงพยาบาล?

อาการผิดปกติที่บ่งบอกว่ามีโอกาสเป็นอาการของโรคอัมพาตหรือโรคหลอดเลือดสมอง ประกอบด้วยอักษรย่อ คือ FAST ดังนี้

  • F : Facial palsy
  • A : Arm drip
  • S : Speech
  • T : Time
  • Facial palsy : คือ อาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท ยิงฟันและยิ้มไม่ได้ น้ำลายไหลออกจากมุมปากข้างที่ตก
  • Arm drip : คือ อาการอ่อนแรงของแขน และ/หรือ ขา ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ถ้าเป็นมาก คือ ขยับไม่ได้ ยกไม่ขึ้น ถ้าอ่อนแรงไม่มาก ยกขึ้นค้างได้ แต่ไม่นานก็ตกลง ไม่สามารถยกค้างได้
  • Speech : คือ การพูดลำบาก พูดติดๆ ขัดๆ พูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก
  • Time : คือ รู้เวลาที่เกิดอาการผิดปกติ คือรู้ว่าเกิดเป็นเวลาเท่าไหร่ เกิดทันที

ดังนั้น ถ้ามีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดข้างต้นโดยอาการเกิดทันที รู้เวลาที่เกิดอาการผิด ปกติเหล่านั้น ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที

ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้บ้าง?

ผู้ที่มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมอง คือ

  • อายุที่สูงขึ้น ตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมอง และ ยิ่งอายุที่มากขึ้นก็ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคนี้มากขึ้น
  • ผู้ชาย มีโอกาสเกิดสูงกว่าผู้หญิง
  • ผู้มีประวัติครอบครัวว่าญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง ท้องเดียวกัน) เป็นโรคนี้ ก็มีโอ กาสเกิดโรคนี้มากขึ้น
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัว ใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจตีบ เป็นต้น
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน และ อ้วน
  • ผู้สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ออกกำลังกาย

เมื่อมีอาการผิดปกติ FAST ควรไปโรงพยาบาลไหน?

ปัจจุบันระบบ 270 นาทีชีวิตนี้ ได้ถูกพัฒนาขึ้นในโรงพยาบาลประจำจังหวัดเกือบทุกโรง พยาบาลประจำจังหวัดในประเทศไทย รวมทั้งโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ๆในประเทศไทยด้วย

ดังนั้น ถ้าท่านมีอาการผิดปกติ FAST ดังกล่าว ให้รีบไปโรงพยาบาลใกล้บ้านท่านให้เร็วที่สุด และแจ้งกับพยาบาลหรือแพทย์ให้ชัดเจนว่า ท่านมีอาการผิดปกติอย่างไร ถ้าโรงพยาบาลแห่งนั้นไม่มีระบบดังกล่าว แพทย์ก็จะรีบประสานงานไปยังโรงพยาบาลที่มีระบบบริการดังกล่าวอย่างเร็วที่สุด

กรณีมีอาการ FAST แต่ไม่มีญาตินำส่งโรงพยาบาล ควรทำอย่างไร?

ปัจจุบัน ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่บริการในชุมชนคือ โทรศัพท์หมายเลข 1669 (เบอร์เดียว ทั่วประเทศไทย บริการตลอด 24 ชั่วโมง) จะมีรถพยาบาลฉุกเฉินไปรับผู้ป่วยถึงบ้านหรือถึงที่เกิดเหตุ และนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

เมื่อไปถึงโรงพยาบาล แพทย์ให้การรักษาอย่างไร?

เมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล ทีมแพทย์ พยาบาลจะรีบคัดกรองว่า อาการผิดปกติดัง กล่าวของผู้ป่วยเข้าได้กับโรคอัมพาต/โรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ ถ้าใช่ แพทย์จะส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ตรวจเลือด และอธิบายให้ผู้ป่วย ญาติ ทราบผลการตรวจ ผลการวินิจฉัยเป็นระยะๆ ถ้าสุดท้ายผลการวินิจฉัยนั้นเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือด (เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด) แพทย์ก็จะอธิบายให้ผู้ป่วย ญาติ ทราบเพื่อการตัดสินใจว่าจะรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดหรือไม่ ขั้นตอนการให้บริการทั้งหมดตั้งแต่ท่านมาถึงโรงพยาบาลจนกระ ทั่งได้รับการรักษาใช้เวลาอย่างรวดเร็วประมาณ 60-90 นาที

ข้อดีหรือผลการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดเป็นอย่างไร?

ผลการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด จากการศึกษาระดับนานาชาติและเป็นมาตรฐาน พบ ว่า 50% ของผู้ป่วยที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือด มีโอกาสหายเป็นปกติที่ 3 เดือน

ข้อเสียของการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดเป็นอย่างไร?

ข้อเสีย หรือ ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากยาละลายลิ่มเลือด คือ ภาวะเลือดออกในอวัยวะต่างๆรวมทั้งในสมอง ประมาณ 6%

ผู้ป่วยกลุ่มไหนที่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนเลือดออกได้สูง?

ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อนจากยาละลายลิ่มเลือด คือ ผู้สูง อายุ ตั้งแต่อายุ 80 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่มีประวัติโรคอัมพาตมาก่อน และผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในช่วงเวลา 180-270 นาทีหลังเกิดอาการ

กรณีผู้ป่วยหายเป็นปกติ ต้องรับการรักษาระยะยาวหรือไม่?

ถึงแม้ผู้ป่วยจะหายเป็นปกติ ก็ยังจำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อป้อง กันการเกิดเป็นซ้ำ รวมทั้งเพื่อรักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงด้วย ไปจนตลอดชีวิต

กรณีผู้ป่วยไม่หายจากการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดควรทำอย่างไร?

กรณีผู้ป่วยไม่หายจากการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด ผูป่วยต้องรักษาด้วยการทำกาย ภาพบำบัด/กายภาพฟื้นฟู เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น ข้อติด แผลกดทับ และเพื่อการฟื้น ฟูสมรรถภาพของร่างกายให้ดีขึ้น ร่วมกับการรักษาควบคุมโรคประจำตัวต่างๆ เพื่อแก้ไขปัจจัยเสี่ยง ปรับพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ซึ่งจะช่วยรักษาให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ถ้าใช้ FAST track โอกาสหายเป็นปกติมีไหม? ในผู้ป่วยกลุ่มใด?

กรณีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดมาเลี้ยงได้เข้าสู่ระบบ Stroke FAST track นั้น จากการศึกษาทั่วโลกและในประเทศไทยพบว่าโอกาสหายเป็นปกติที่ 3 เดือน ประ มาณ 50% โดยเฉพาะกลุ่มที่อาการไม่รุนแรง คือ รอยโรค หรือ ขนาดของเนื้อสมองที่ขาดเลือดบริเวณไม่กว้าง มาพบแพทย์เร็วที่สุด ยิ่งเร็วยิ่งดี อายุไม่มาก ไม่มีโรคประจำตัว โดย เฉพาะ เบาหวานและไม่เคยเป็นโรคอัมพาตมาก่อน

ผู้ป่วยกลุ่มใดที่ใช้ FAST track แล้ว ยังมีโอกาสเกิดอัมพาต?

ผู้ป่วยที่ใช้ FAST track แล้วอาการอาจไม่ดีขึ้น คือ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่ รอยโรคมีขนาดใหญ่ หรือเกิดรอยโรคในสมองส่วนอันตราย เช่น ก้านสมอง ผู้ที่มีโรคประจำตัวและควบคุมโรคนั้นๆได้ไม่ดี และผู้ที่เคยเป็นอัมพาตมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยทุกคนหลังจากรักษาด้วย Stroke FAST track แล้ว ไม่ว่าหายหรือ ไม่หาย ต้องรับการรักษาต่อระยะยาวด้วยทุกคน เพื่อป้องกันการเกิดเป็นซ้ำ โดยการรักษาโรค หรือ ปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยแต่ละราย และการรักษาด้วยยาต้านเกล็ดเลือด และ/หรือ ยาละลายลิ่มเลือด ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดโรคดังกล่าว ผู้ป่วยที่รักษาไม่สม่ำเสมอ ไม่ปรับพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มเหล้า ไม่ออกกำลังกาย อ้วน ก็มีโอกาสเกิดอัมพาตซ้ำได้สูง

ผู้ป่วยกลุ่มใดที่ไม่จำเป็นต้องใช้ Stroke FAST track?

ผู้ป่วยที่มีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดข้างต้น (F A S T) ควรต้องไปพบแพทย์ทุกคน เพราะทุกคนมีโอกาสเกิดอาการอัมพาตที่รุนแรงขึ้นได้เสมอ ถึงแม้เริ่มต้นจะมีอาการไม่รุนแรงก็ตาม ดังนั้นผู้ป่วยทุกคนต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ถ้าไปพบแพทย์แล้วประเมินว่าไม่ใช่โรคอัมพาต แพทย์ก็จะแนะนำการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การรักษาที่เหมาะสมและรวดเร็วแบบนี้ ค่ารักษาแพงหรือไม่?

ค่ารักษาพยาบาลด้วยยาละลายลิ่มเลือด ค่าใช้จ่ายประมาณ 70,000 บาท แต่ทุกคนที่เป็นคนไทย รักษาฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายในผู้ป่วยคนไทยทุกคน และทุกสิทธิการรักษา

สรุป

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคอัมพาตไม่ใช่โรคเวรโรคกรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (เนื่อง จากผู้ป่วยและคนส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่าโรคอัมพาตเป็นโรคที่แก้ไขไม่ได้ และคิดว่าเป็นกรรมเก่า จึงไม่ยอมแก้ไขปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และไม่ยอมไปรักษา เพราะในอดีตโรคอัมพาตรัก ษาไม่หาย) สามารถป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงได้ โดยการรักษาควบคุมโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม (เช่น กินแต่อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ระมัดระวังไม่ให้เกิดโรคอ้วน ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา) และถ้าเกิดอาการผิด ปกติดังกล่าวในตอนต้น (FAST) ให้รีบมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด จำไว้ให้ดีครับ 270 นาทีชีวิต และโทรศัพท์เบอร์ 1669
ที่มา   https://haamor.com/th/อัมพาต270นาทีชีวิต/

อัพเดทล่าสุด