สายตาผู้สูงอายุ (Presbyopia)


1,051 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ดวงตา  ระบบตา 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

เห็นภาพไม่ชัด 

นิยามสายตาผู้สูงอายุ

แต่เดิมเรามักเรียก ภาวะ หรือ โรคนี้ว่า สายตาคนแก่ คำว่า “คนแก่ ” คงจะแสลงใจบางคนจึงมีคนหันมาใช้คำว่า “สายตาผู้สูงอายุ” (Presbyopia) แทน ซึ่งฟังดูไพเราะกว่า ตัวผู้เขียนเองมีความรู้สึกคล้ายกับว่า ผู้สูงอายุ หมายถึง ทั้งอายุมาก ประสบการณ์มากด้วย (อาจจะเข้าใจผิดก็ได้) ทั้งนี้เพื่อความสบายใจของตนเอง และยอมรับความเป็นคนแก่ มากขึ้น

ท่านผู้อ่านที่มีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป คงรู้จักภาวะสายตาผู้สูงอายุดี ถือเป็นภาวะปกติที่พบในคนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป โดยมีอาการมองภาพใกล้ๆไม่ชัดเจน ในขณะที่มองไกลยังเห็นได้ดี มีวิธีสังเกตได้ง่ายๆ ก็คือ อ่านหนังสือในระยะห่างจากตา 1 ฟุต หรือระยะที่เคยอ่านเห็นกลับอ่านไม่ชัด ต้องใช้วิธีเลื่อนหนังสือให้ไกลออกไป หรือถ้าเป็นคุณแม่บ้านที่เย็บปักผ้า จะเริ่มสนเข็มไม่เข้าเนื่องจากไม่เห็นรูเข็ม บางคนอาจจะใช้วิธีหยี หรือ หรี่ตาให้เล็กลง ก็จะช่วยให้พออ่านหนังสือได้ง่ายขึ้น

ทำไมผู้สูงอายุจึงมองภาพใกล้ไม่ชัด?

ขอเปรียบเทียบดวงตาคนเราเหมือนกล้องถ่ายรูป ในการใช้กล้องถ่ายรูป ถ้าเราต้องการถ่ายภาพระยะต่างๆ กันให้ได้ภาพที่ชัดเจน เราทำได้โดยการปรับโฟกัส เลื่อนกล้องเข้าออกให้ได้ระยะที่เหมาะสม สำหรับตาคนเราไม่สามารถหด หรือ ยืดลูกตาออกไป แต่จะปรับภาพที่ระยะใกล้ให้ชัดโดยวิธีเพิ่มกำลังให้แก่แก้วตา โดยขบวนการที่เรียกว่าการเพ่ง (Accommodation) กล่าวคือ ในขณะที่เรามองภาพระยะไกล ตาเราจะอยู่ในระยะพัก แต่เมื่อเราต้องการดูระยะใกล้ จะเกิดการหดตัวตึงของกล้ามเนื้อแก้วตาที่ช่วยในการเพ่ง จึงเป็นเหตุให้แก้วตาคนเราป่องออกเป็นการเพิ่มกำลังหักเหของแสง ทำให้เห็นภาพระยะใกล้ชัดเจนขึ้น

กลไกการเพ่งเป็นไปโดยอัตโนมัติ และปกติตั้งแต่เด็กจนถึงอายุประมาณ 40 ปี ต่อจากนั้น ขบวนการเพ่งจึงอ่อนแรงลง ได้มีผู้ศึกษาโดยวิธีตรวจวัด พบว่าในเด็กๆ เราอาจเพ่งได้มาก จึงมองภาพที่อยู่ชิดตาได้ชัดเจน เมื่ออายุมากขึ้น กำลังการเพ่งจะลดลงมาเรื่อยๆ จนถึงอายุประมาณ 40 ปี กำลังเพ่งที่เหลืออยู่ไม่พอที่จะใช้ดูหนังสือที่ระยะ 1 ฟุตได้ ต้องเลื่อนหนังสือให้ไกลออกไป หรือใช้แว่นที่มีกำลังเป็นบวก (เลนส์นูน) ชดเชย ซึ่ง กำลังการเพ่งจะลดลงเรื่อยๆ จนเป็น 0 (ศูนย์) หรือไม่มีเลย เมื่ออายุประมาณ 75 ปี

ขบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ ถือเป็นขบวนการปกติของคนเราทุกคน แต่จะเริ่มเสื่อมลงเร็ว หรือ ช้า ในระยะเวลาต่างๆกันในแต่ละคน โดยเฉลี่ยจะเริ่มอายุประมาณ 40 ปี ผู้หญิงอาจจะเร็วกว่าผู้ชายเล็กน้อย ถ้าคนที่มีสายตาสั้น อาจจะเริ่มเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี คนที่สายตายาว อาจจะเริ่มเมื่ออายุน้อยกว่า 40 ปี นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับว่า ผู้ที่มีสายตาผิดปกตินั้นใช้แก้ไขด้วยวิธีใด เช่น คนสายตาสั้น ถ้าใช้คอนแทคเลนส์ (คอนแทคเลนส์/Contact lens) เป็นประจำ อาจจะเป็นสายตาสูงอายุเร็วกว่าคนสายตาสั้นขนาดเท่ากันที่ใช้แว่นตา เป็นต้น

สายตาผู้สูงอายุมีอาการอย่างไร?

คนบางคนอาจเข้ามาสู่ภาวะสายตาสูงอายุโดยไม่มีอาการอะไรมากเพียงแค่มองใกล้ไม่ชัด อ่านหนังสือไม่ได้ แต่ในบางคนอาจมาด้วยอาการปวดตา และ/หรือ ปวดศีรษะ เวลาใช้สายตามองใกล้ และอาจแสบตา เคืองตา มีอยู่บ่อยๆ ที่ผู้ป่วยมัวไปหาสาเหตุของอาการปวดศีรษะอยู่นานในที่สุดพบว่า เป็นเพียงสายตาสูงอายุเท่านั้นเอง เมื่อแก้ไขโดยใช้แว่น อาการทั้งหมดก็หายไป ถ้าท่านมีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีอาการปวดตา ปวดศีรษะ จึงควรนึกถึงภาวะนี้ไว้ด้วย

สายตายาว กับสายตาผู้สูงอายุเหมือนกันไหม?

อนึ่ง สายตาผู้สูงอายุ บางคนไปสับสนเป็นอันเดียวกับ สายตายาว ความเป็นจริงแล้วไม่ถูกต้อง จริงอยู่ที่ทั้ง 2 สภาวะมีวิธีแก้ไข โดยการใช้เลนส์แว่นตาเป็นเลนส์นูน ซึ่งมีกำลังเป็นบวกเหมือนกัน แต่ต่างเวลากัน สายตาผู้สูงอายุใช้เลนส์นูนเฉพาะเวลาดูใกล้ในคนสูงอายุ ส่วนสายตายาวพบได้ทุกอายุตั้งแต่แรกเกิดเลยก็ได้ และแว่นเลนส์นูนที่ใช้ ใช้ตลอดทั้งดูไกลและใกล้

แก้ไข(รักษา)สายตาผู้สูงอายุได้อย่างไร?

การแก้ไข ภาวะสายตาผู้สูงอายุนี้ถือเป็นปกติตามวัย เฉกเช่น ผมหงอกขาว ผิวหนังเหี่ยวย่น เมื่ออายุมากขึ้น วิธีแก้ไขทำได้ง่ายมาก โดยการวัดสายตาประกอบแว่น ซึ่งมีทางเลือก ดังนี้

  1. ใช้แว่นสายตาเฉพาะมองใกล้ ถ้าจะมองไกลก็ถอดแว่นออก เช่น ถ้าจะอ่านหนังสือ หรือเย็บผ้า ก็สวมแว่น เสร็จงานแล้วก็ถอดแว่นออก แว่นชนิดนี้ไม่เหมาะกับคนที่อยากจะมองทั้งไกล และใกล้ในเวลาเดียวกัน เช่น ครูที่สอนหนังสือ อาจจะต้องมองเด็กหลังชั้นพร้อมกับดูหนังสือ หรือตรวจงานเด็ก ถ้าใช้แว่นชนิดนี้ ทำให้ต้องใส่แว่น ถอดแว่น ใส่ๆ ถอดๆ หรือต้องมองลอดแว่น
  2. ใช้แว่นตา 2 ชั้น เลนส์ของแว่นตาชนิดนี้จะมีรอยต่อระหว่างเลนส์แว่นตาเห็นชัดเจน เมื่อมองไกลใช้เลนส์บน เมื่อมองใกล้ใช้เลนส์ล่าง จึงสะดวกสำหรับผู้ต้องมองทั้งไกลและใกล้ในการทำงาน แว่นตา 2 ชั้น อาจมีรูปร่างต่างๆกัน บริเวณรอยต่ออาจจะโค้ง หรือเป็นเส้นตรงแค่บางส่วนหรือแบ่งครึ่งบนและล่าง แต่ละชนิดมีข้อดี ข้อเสียต่างๆ กัน

    ข้อเสียของเลนส์แว่นตา 2 ชั้น คือ บริเวณรอยต่อ จะมีการเปลี่ยนแปลงการหักเหของแสง หากมองภาพตรงบริเวณรอยต่อจะรู้สึกเหมือนภาพของวัตถุกระโดด หรือเคลื่อนที่ไปจากความเป็นจริง โดยเฉพาะผู้ที่ใช้เลนส์แว่นตาชนิดนี้ใหม่ๆ ไม่ควรใส่แว่นตาชนิดนี้ขึ้นลงบันได เพราะอาจจะก้าวพลาดพลั้งได้ มีหลายๆคนมีความกังวลว่า ใส่แว่นชนิดนี้แล้วจะมีอาการมึนงง ภาพที่เห็นกระโดดไปมา แต่โดยทั่วไปจะเป็นเฉพาะระยะแรกเท่านั้น เมื่อใช้ไปนานเข้า ก็จะปรับตัวได้ ข้อเสียของแว่นตาชนิดนี้อีกประการหนึ่งก็คือ เป็นตัวฟ้องว่าผู้ใช้แว่นชนิดนี้ สูงอายุแล้ว จึงมีคนรังเกียจที่จะใช้

  3. เลนส์แว่นตาชนิดหลายโฟกัส กล่าวคือ ในเลนส์แว่นตาอันนั้นกำลังหักเหของแสงจะลดหลั่นกันลงมา มีการปรับโฟกัสตั้งแต่ระยะไกลที่สุดจนระยะใกล้ที่สุด โดยไม่มีรอยต่อให้เห็นระหว่างแต่ละโฟกัส ดูเหมือนว่าเลนส์ชนิดนี้น่าจะดีที่สุด เพราะเห็นชัดทุกระยะ

    แต่ข้อเสียเช่นเดียวกับเลนส์แว่นตา 2 ชั้น คือบริเวณปรับเปลี่ยนโฟกัส อาจทำให้เห็นภาพเคลื่อนที่ได้ และ ข้อเสีย อีกอย่าง ก็คือ ภาพข้างๆจะบิดเบี้ยวไปจากความจริงมากทำให้ผู้สวมมึนงง วิธีแก้ไขก็คือ อย่าใช้วิธีชำเลืองดู เพราะจะไปมองผ่านด้านข้างๆ ของเลนส์ ให้ใช้วิธีหันหน้าไปมองวัตถุโดยตรง เลนส์ชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ที่ไม่อยากให้ใครเห็นแว่น 2 ชั้น และผู้ที่ต้องการมองภาพชัดเจนหลายระยะด้วยแว่นเดียว

  4. คอนแทคเลนส์ เพื่อสนองความต้องการของผู้สูงอายุ ที่ไม่อยากใช้แว่นตา มีผู้ผลิตคอนแทคเลนส์ ชนิดที่มีโฟกัส 2 อัน คือ เมื่อใช้เลนส์ชนิดนี้แล้วจะสามารถมองเห็นชัดทั้งระยะไกลและใกล้ แต่เลนส์ชนิดนี้ยังไม่ค่อยนิยมกันนัก นอกจากนั้น ในขณะนี้ กำลังเลนส์ที่มีขายยังจำกัด ไม่มีทุกกำลัง จึงแก้ไขได้เฉพาะในบางคนเท่านั้น และผู้ใช้ยังมีความยุ่งยากต้องหมั่นดูแลรักษาคอนแทคเลนส์
  5. การแก้ไข โดยวิธี Monovision สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องใช้สายตาไกลและใกล้ในเวลาเดียวกัน และไม่อยากที่จะใช้แว่นตา 2 ชั้น หรือแว่นหลายโฟกัสไร้รอยต่อ อาจจะทำเลนส์ใช้ดูไกลด้วยตาข้างหนึ่ง และดูใกล้ด้วยตาอีกข้างหนึ่ง โดยใช้ตาที่ถนัด หรือดีกว่ามองใกล้ ตาอีกข้างมองไกล (เนื่องจากเป็นเทคนิคเฉพาะ ถ้าอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ให้ปรึกษาหมอตา/จักษุแพทย์)
  6. การผ่าตัด ขณะนี้กำลังมีวิธีผ่าตัดแก้ไขภาวะสายตาสูงอายุ แต่ผลยังไม่เป็นที่พอใจ จึงยังไม่สมควรทำ คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง

ควรพบหมอตาเมื่อไร?

เมื่อมีอาการทางสายตา ไม่ว่าจะในช่วงอายุใด ควรรีบพบหมอตา (จักษุแพทย์) เสมอ เพราะอาการทางสายตา เกิดได้จากหลายโรค ดังนั้น การพบหมอตา จะช่วยให้วินิจฉัยสาเหตุได้ถูกต้อง และได้รับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็วขึ้น
ที่มา   https://haamor.com/th/สายตาผู้สูงอายุ/

อัพเดทล่าสุด