วัยหมดประจำเดือน (Menopause)


1,084 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

มดลูก  รังไข่  ระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ขาดประจำเดือน 

วัยใกล้หมดและวัยหมดประจำเดือนคืออะไร?

วัยใกล้หมดประจำเดือน (Perimenopause) เป็นช่วงเวลาที่ผู้หญิงยังไม่หมดประจำเดือน หรือ ไม่มีประจำเดือนมาระยะเวลาหนึ่ง แต่ไม่ถึง 1 ปี ร่วมกับการที่มีอาการผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง การนอนหลับที่ผิดปกติ/นอนไม่หลับ และอารมณ์แปรปรวน อาการต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้เกิดจากการที่ระดับฮอร์ โมนเพศมีความแปรปรวนค่อนข้างมาก วัยใกล้หมดประจำเดือนอาจยาวนานได้ถึง 6 ปีก่อนการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายของชีวิต หรือก่อนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ในกรณีที่ผู้หญิงมีอายุราว 40 หรือ 50 ปีแต่ไม่มีอาการหรือความผิดปกติต่างๆเกิดขึ้น และยังคงมีประจำเดือนตามปกติ เราจะไม่เรียกผู้หญิงกลุ่มที่ไม่มีอาการดังกล่าวเหล่านี้ว่า อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน

ส่วนวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน (Menopause) นั้น ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สิ้นสุดการมีประจำเดือน อันเนื่องมาจากการที่รังไข่หยุดทำงาน อายุโดยเฉลี่ยของผู้หญิงไทยที่หมดประจำ เดือนประมาณ 49-52 ปี สำหรับกรณีที่ไม่มีประจำเดือนเพราะได้รับการผ่าตัดมดลูกออก แต่รังไข่ยังคงทำงานอยู่ เราไม่เรียกว่าเป็นวัยหมดประจำเดือน การวินิจฉัยว่าเป็นวัยหมดประจำเดือนหรือไม่ (หรือรังไข่หยุดทำงานหรือไม่) ทำได้โดยพิจารณาจากอาการที่เกิดขึ้น และในบางกรณีอาจต้องอาศัยการตรวจวัดระดับฮอร์โมนในกระแสเลือดร่วมด้วย

ข้อควรระวังของผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปคือ หากท่านมีประจำเดือนผิดปกติ อันได้แก่ ประจำเดือนมามากหรือมานาน มากะปริดกะปรอยระหว่างรอบเดือน หรือมาไม่เป็นรอบ ควรรีบพบแพทย์ หรือสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ อีกทั้งในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนไปแล้วมาก กว่าหนึ่งปี แต่ต่อมาพบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอดอีกครั้ง (คนทั่วไปเรียกว่ากลับมามีประจำ เดือนอีก) ก็ต้องรีบปรึกษาแพทย์เช่นเดียวกัน เพราะเป็นอาการสำคัญว่า อาจเกิดจากโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (มะเร็งเยื่อบุมดลูก) ได้

ปัจจัยที่กระตุ้นให้หมดประจำเดือนเร็วมีอะไรบ้าง?

ปัจจัยที่กระตุ้นให้ผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็วขึ้นได้แก่ การสูบบุหรี่ การผ่าตัดรังไข่ออกทั้งสองข้างเพื่อรักษาโรคบางอย่าง เช่น โรคเนื้องอกรังไข่ การให้ยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด และในการฉายแสง/รังสีรักษาบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือช่องท้องน้อย (ผลข้างเคียงและวิธีดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง และ/หรืออุ้งเชิงกราน)

อาการของวัยหมดประจำเดือนมีอะไรบ้าง?

เอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากรังไข่จะมีระดับลดลงในช่วงวัยหมดประจำเดือน จึงก่อให้เกิดอาการต่างๆซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว

กลุ่มอาการของวัยหมดประจำเดือน ประกอบด้วย ความรู้สึกร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากในเวลากลางคืน นอนไม่หลับหรือหลับยาก หลับไม่ลึก เครียด อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ขาดความมั่นใจ วิตกกังวล หลงลืมง่าย ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเล็ด หรือกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ช่องคลอดแห้ง คัน เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ แต่ในผู้หญิงบางคนอาจจะไม่มีอาการใดๆเกิดขึ้นเลย หรือมีอาการเพียงบางอย่าง ในขณะที่บางคนอาจมีอาการเกิดขึ้นอย่างมากจนทำให้เกิดผลกระ ทบต่อการทำงาน และการดำเนินชีวิตประจำวัน

กลุ่มอาการของวัยหมดประจำเดือนจะเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยใกล้หมดประจำเดือน หรืออยู่ในวัยหมดประจำเดือนในระยะแรกๆ และอาการดังกล่าวมักจะหายได้เองเมื่อระยะเวลาผ่านไป 2-5 ปี อาจมีเพียงประมาณ 15% ที่อาการอาจจะคงอยู่ไปตลอดชีวิต

ความผิดปกติของการขับถ่ายปัสสาวะและอาการทางช่องคลอดที่ได้กล่าวมา มักจะปรา กฏให้เห็นได้อย่างเด่นชัดเมื่อหมดประจำเดือนไปได้สักระยะหนึ่งคือ 3-5 ปี

เมื่อผู้หญิงต้องเผชิญอาการของวัยหมดประจำเดือน และมีความรุนแรงมากจนกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ชีวิตครอบครัว หรือการทำงาน ควรปรึกษาแพทย์ หรือสูตินรีแพทย์เสมอ

ภัยเงียบในวัยหมดประจำเดือนมีอะไรบ้าง?

ภัยเงียบที่พบในวัยหมดประจำเดือน ซึ่งจะเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาว ได้แก่ โรคกระดูกพรุน (ซึ่งการสูญเสียเนื้อกระดูกอย่างมากจนทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนจะทำให้เกิดกระ ดูกหักง่ายแม้หกล้มเพียงเล็กน้อย) โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง

จะรู้ได้อย่างไรว่าเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว?

สิ่งสำคัญที่บ่งชี้ว่าผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว หรือการหมดประจำเดือนอย่างถาวร คือ การหมดประจำเดือน/ไม่มีประจำเดือนอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไปในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ร่วมกับมีอาการผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ คือ มีวัยก่อนหมดประจำเดือน เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง การนอนหลับที่ผิดปกติ และอารมณ์แปร ปรวน

อย่างไรก็ดี มีผู้หญิงบางรายที่อาจหมดประจำเดือนอย่างถาวรก่อนอายุ 40 ปีได้ เราเรียกกลุ่มนี้ว่า หมดประจำเดือนก่อนวัยอันสมควร เช่น การผ่าตัดรังไข่ทั้งสองข้างในการรักษาโรคเนื้องอกรังไข่ ซึ่งควรปรึกษาแพทย์/สูตินรีแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาที่เหมาะสมตลอดจนการรับฮอร์โมนทดแทน ทั้งนี้ยกเว้นในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่การให้ฮอร์โมนชดเชย อาจส่งผลต่อการกำเริบของโรคมะเร็งได้ ดังนั้นในผู้ป่วยหญิงโรคมะเร็ง เมื่อหมดประจำเดือนหลังการรักษา ห้ามซื้อยาฮอร์โมนต่างๆใช้เอง ต้องปรึกษาแพทย์โรคมะเร็งก่อนเสมอ

ดำเนินชีวิตอย่างไรในวัยหมดประจำเดือน?

หลักในการดำเนินชีวิตในวัยหมดประจำเดือนเพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรงมีดังต่อไปนี้

  1. การพักผ่อนที่เพียงพอ และการรักษาอารมณ์ให้ปกติโดยการคิดบวกเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการมีสุขภาพดี ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต
  2. อาหาร ควรรับประทานให้หลากหลายเพื่อได้สารอาหารที่ครบถ้วน ลดการบริโภคอาหารไขมัน หวานจัดหรือเค็มจัด เน้นการบริโภคผักและผลไม้เป็นประจำ โปรตีนจากปลา อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม กะปิ กุ้งแห้ง ปลาเล็กปลาน้อย (ที่กินกระดูกปลาได้) หรือผักที่มีสีเขียวเข้ม
  3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ นานครั้งละ 30 นาทีขึ้นไป เช่น การเดินเร็ว การวิ่งเหยาะๆ หรือเต้นแอโรบิก แต่ทั้งนี้ควรเป็นตามสุขภาพด้วย
  4. การตรวจสุขภาพเป็นประจำ อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

แพทย์รักษากลุ่มอาการวัยหมดประจำเดือนอย่างไร?

ในผู้ที่มีอาการของวัยหมดประจำเดือน แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยว่า อาการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นจากการหมดประจำเดือนจริงๆ ไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่น

หากอาการที่เกิดขึ้นเป็นจากการหมดประจำเดือนจริง แต่อาการที่เกิดขึ้น ไม่ได้รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันแต่อย่างใด ในกรณีนี้ แพทย์ก็จะไม่ได้ทำการรักษา แต่จะให้เพียงคำ แนะนำในการปฏิบัติตัวเท่านั้น อาการต่างๆที่เกิดขึ้นนี้ จะเป็นอยู่นานประมาณ 2-5 ปี มีเพียงประมาณ 5-15% ของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่จะมีอาการของวัยหมดประจำเดือนไปตลอดชีวิต

กรณีที่มีอาการมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน แพทย์จะทำการรักษาโดยอาจให้ฮอร์โมนทดแทน หรือหากท่านมีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมน แพทย์ก็จะเลือกใช้ยาตัวอื่นที่สามารถรักษาอาการต่างๆที่เกิดขึ้น

จะใช้ฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือนดีหรือไม่?

ผู้หญิงที่หมดประจำเดือน ไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนทุกราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ามีข้อบ่งชี้ในการใช้ฮอร์โมน หรือมีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนหรือไม่

ข้อบ่งชี้ในการใช้ฮอร์โมนได้แก่ รักษาอาการของวัยทองที่เกิดขึ้นจนมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ป้องกันภาวะ/โรคกระดูกพรุน และรักษาอาการ หรือความผิดปกติของช่องคลอด หรือระบบทางเดินปัสสาวะที่เกิดจากการขาดฮอร์โมน

ข้อห้ามใช้ฮอร์โมนได้แก่ ผู้ที่มีภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ ไม่แน่ใจว่าตั้งครรภ์หรือไม่ โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โรคตับอักเสบเฉียบพลัน และภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ)

ประโยชน์และโทษของการใช้ฮอร์โมน นอกจากฮอร์โมนจะช่วยรักษาอาการต่างๆในวัยทอง และลดการสูญเสียมวลกระดูกแล้ว การใช้ฮอร์โมน เอสโตรเจนร่วมกับฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) อาจช่วยลดการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ข้อเสียของการใช้ฮอร์โมนเพศดัง กล่าวคือ ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ส่วนความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองนั้นขึ้นอยู่กับอายุที่เริ่มใช้ฮอร์โมน โดยพบว่าเมื่อเริ่มใช้เมื่อหมดประจำเดือนไปหลายปี เช่น 10 ปี จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าผู้ที่เริ่มใช้ฮอร์โมนเมื่อหมดประจำเดือนไปไม่นาน

การใช้ฮอร์โมนเพศนี้ แพทย์และผู้หญิงวัยทองจะต้องตัดสินใจร่วมกันบนพื้นฐานของความรู้ความเข้าใจถึง ข้อบ่งชี้และข้อห้ามใช้ ตลอดจนประโยชน์และโทษของฮอร์โมน ผู้หญิงที่หมดประจำเดือน ไม่ควรซื้อฮอร์โมนมาใช้เอง โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
ที่มา   https://haamor.com/th/วัยหมดประจำเดือน/

อัพเดทล่าสุด