โรคสมองเสื่อม (Dementia)


1,307 ผู้ชม


โรคสมองเสื่อมคืออะไร?

โรค/ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) เป็นคำที่เรียกกลุ่มอาการต่างๆที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานของสมองที่เสื่อมลงหลายๆด้าน คนทั่วไปมักเข้าใจว่าผู้ป่วยมีความบกพร่องเฉพาะความจำเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว ยังมีปัญหาในการใช้ความคิด การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลงทางอา รมณ์ พฤติกรรม และบุคลิกภาพ จนส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งในด้านการงาน การเข้าสังคม และชีวิตส่วนตัว

โรคสมองเสื่อมพบบ่อยแค่ไหน?

โรคสมองเสื่อมเป็นโรค/ภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปพบได้ประมาณ 6-8% และจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆเมื่ออายุมากขึ้น โดยพบสูงถึงประมาณ 30% ในผู้ที่อายุ 85 ปี

โรคสมองเสื่อมกับโรคอัลไซเมอร์เหมือนกันหรือไม่?

ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดเหมารวมว่าโรค/ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคเดียว กัน แท้จริงแล้วโรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อย คือประมาณ 65% ของโรคสมองเสื่อมทั้งหมด โดยผู้ป่วยจะมีความผิดปกติอย่างช้าๆ เป็นปีๆ ทำให้ผู้ใกล้ชิดบอกจุด เริ่มต้นของอาการไม่ชัดเจน ส่วนสาเหตุอื่นของโรคสมองเสื่อมยังมีได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคสมองเสื่อมจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จากพิษสุราเรื้อรัง จากภาวะสมองขาดออกซิเจน จากภาวะเลือดคั่งในสมอง(เช่น จากอุบัติเหตุที่สมอง หรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น) และภาวะขาดวิตามินบางชนิด เช่น การขาดวิตามินในกลุ่มวิตามิน บี เป็นต้น

อะไรบ้างที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคสมองเสื่อม?

มีหลายปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค/ภาวะสมองเสื่อม ดังจะกล่าวต่อไป ซึ่งจะเห็นว่า บางปัจจัยสามารถป้องกันรักษาได้ เช่นโรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น แต่บางปัจ จัยก็ป้องกันไม่ได้ เช่น ทางพันธุกรรม เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อม คือ

อาการหลงลืมในผู้สูงอายุแตกต่างจากภาวะสมองเสื่อมอย่างไร?

สิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอคือโรค/ภาวะสมองเสื่อม ไม่ใช่ภาวะปกติของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุมัก จะคิดว่าตนเองมีความจำบกพร่อง แท้จริงแล้วอาการหลงลืมเล็กๆน้อยๆนี้สามารถเกิดได้ในผู้สูง อายุ ซึ่งเรียกว่า อาการหลงลืมตามวัย เช่น ลืมว่าวางของไว้ที่ไหน ลืมชื่อคนที่เคยรู้จัก ลืมว่าวันนี้วันที่เท่าไร เป็นต้น ที่สำคัญอาการหลงลืมนี้ต้องไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ สูงอายุ อาการหลงลืมตามวัยนี้สามารถช่วยให้ดีขึ้นได้ ถ้าผู้สูงอายุมีสมาธิมากขึ้น การจดบันทึกเพื่อเตือนตัวเองก็จะช่วยได้เป็นอย่างดี

ส่วนอาการหลงลืมในโรคสมองเสื่อมนั้น จะมีลักษณะที่แตกต่างออกไป มีลักษณะแปลกๆ และมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ โดยอาการหลงลืมมักค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อ เนื่องจนจำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้เลย หรือมีพฤติกรรมแปลกๆ เช่น ใส่เสื้อกลับด้าน หรือจำไม่ได้ว่าใส่เสื้ออย่างไร อาบน้ำอย่างไร ลืมชื่อสมาชิกในครอบครัว หลงทางกลับบ้าน เป็นต้น

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคสมองเสื่อมหรือไม่?

อาการของโรค/ภาวะสมองเสื่อมมีความแตกต่างได้หลากหลาย และในโรคที่มีสาเหตุเดียวกัน แต่ละคนก็อาจมีอาการและความรุนแรงที่แตกต่างกัน เช่น บางรายมีอาการหลงลืมเป็นอาการเด่น บางรายมีอาการด้านพฤติกรรม หรือการใช้ภาษาเป็นอาการเด่น เป็นต้น โดยความผิด ปกตินี้จะเกิดขึ้นอย่างน้อย 6 เดือน แพทย์จึงสามารถให้การวินิจฉัยได้ว่าเกิดจากโรคสมองเสื่อม อาการที่ผู้ใกล้ชิดจะสังเกตได้ คือ

  • มีความบกพร่องในความจำ การรับรู้หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เช่น ลืมคำพูดระหว่างการสนทนา จึงถามซ้ำๆบ่อยๆหรือพูดวกวนในเรื่องเก่าๆ ลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น เช่น กินข้าวแล้วก็บอกว่ายังไม่กิน ลืมของมีค่าบ่อยๆ เช่น กระเป๋าสตางค์ นาฬิกาข้อมือ กุญแจบ้าน เป็นต้น หลงทางในที่ที่คุ้นเคย เช่น ออกจากบ้านแล้วหาทางกลับบ้านไม่ถูก หรือลืมว่าต้องนั่งรถประจำทางสายใด ทั้งๆที่เดิมเคยนั่งอยู่เป็นประจำ เป็นต้น
  • มีความบกพร่องเกี่ยวกับการรับรู้สิ่งรอบตัว ได้แก่ จำวันที่ เดือน ปีไม่ได้ จำชื่อเพื่อน สมาชิกในครอบครัวและบ้านเลขที่ตัวเองไม่ได้
  • มีพฤติกรรมผิดปกติ ได้แก่ มีความบกพร่องในการตัดสินใจแก้ปัญหา เช่น นั่งดูน้ำเดือดบนเตาเฉยๆ หรือปล่อยให้น้ำล้นอ่าง โดยไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร มีการวางแผนงานหรือความสา มารถในการทำงานลดลง ไม่กล้าตัดสินใจหรือตัดสินใจผิดในเรื่องเล็กๆน้อยๆ มีสุขอนามัยเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ไม่ยอมอาบน้ำ เสื้อผ้าสกปรก หรือไม่โกนหนวดในผู้ชาย ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อาจมีอาการทางจิตเวช เช่น เห็นภาพหลอน หูแว่ว มีความเชื่อหรือความคิดหลงผิด นอนไม่หลับเดินไปเดินมาตอนกลางคืน หรือนอนมากเกินไปทั้งกลางวันกลางคืน
  • มีอารมณ์ที่ผิดปกติ เช่น อารมณ์เฉยเมย เฉื่อยชา ไม่อยากคุยกับใคร แยกตัวจากสังคม หรือมีอารมณ์แปรปรวน โมโหง่าย พูดจาก้าวร้าว มีความอดทนต่ำ รอนานไม่ได้ ขาดความสนใจในสิ่งที่เคยชอบมาก่อน ขาดแรงจูงใจในการทำกิจกรรม
  • การเปลี่ยนแปลงด้านความคิด มีความคิดที่ไม่ยืดหยุ่น มีความบกพร่องในการใช้ภาษาทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน เช่น นึกคำไม่ออก ใช้คำที่เสียงใกล้เคียงกัน เช่น เรียกเสื้อเป็นแสง ใช้คำศัพท์แปลกๆแทนหรือใช้คำว่า ไอ้นั่น ไอ้นี่ พูดตะกุกตะกัก ไม่เป็นประโยคต่อเนื่อง พูดน้อย ลง หรือไม่พูดเลย มีความคิดสร้างสรรค์ลดลง มีความบกพร่องในการเริ่มต้นหัวข้อสนทนา เป็นต้น
  • มีความบกพร่องในการประกอบกิจวัตร และกิจกรรมประจำวัน เช่น ไม่อาบน้ำ ไม่แต่ง ตัว หรือแต่งตัวไม่เหมาะสม เช่น ใส่เสื้อชุดนอนไปซื้อของที่ตลาด กลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ หรือปล่อยให้ราดในที่สาธารณะ กินอาหารมูมมามเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่สามารถทำกิจวัตรที่เคยทำเป็นประจำได้ เช่น เคยทำอาหารได้ ก็ลืมขั้นตอนการทำ รสชาติอาหารต่างไปจากเดิม เคยใช้โทร ศัพท์มือถือได้ ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าได้ ก็ทำไม่ได้ จนในที่สุดจะมีลักษณะเป็นเหมือนเด็ก ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

แพทย์วินิจฉัยโรคสมองเสื่อมอย่างไร?

เมื่อท่านสงสัยว่า ตัวท่านเองหรือญาติของท่านเป็นโรคสมองเสื่อม ท่านควรไปปรึกษาแพทย์ด้านอายุรกรรม แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกายโดยละเอียด รวมทั้งให้ท่านทำแบบทด สอบเกี่ยวกับความจำเพื่อประเมินว่ามีความผิดปกติหรือไม่ นอกจากนี้แพทย์จำเป็นต้องตรวจเพิ่ม เติมทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและหาสาเหตุอื่นที่สามารถรักษาได้ เช่น ตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์และเกลือแร่ในเลือด และบางรายอาจต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง และ/หรือเอมอาร์ไอสมอง

การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอสมอง จะช่วยให้เห็นความผิดปกติในเนื้อสมองที่การเอกซเรย์ธรรมดามองไม่เห็น เช่น เห็นเลือดคั่งในสมอง บริเวณที่สมองขาดเลือด และเนื้องอกในสมอง เป็นต้น ข้อห้ามในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้อาหารทะเล แพ้สารทึบรังสี โรคไต และแพ้สารอาหารอื่นๆ ส่วนข้อห้ามในการตรวจเอมอาร์ไอ คือ โรคไต และการมีโลหะอยู่ในตัว เช่น จากการอุดฟัน จากการผ่าตัดกระดูกหัก เป็นต้น ทั้งนี้ก่อนตรวจต้องงดน้ำ งดอาหาร และ/หรือยา ตามที่เจ้าหน้าที่ห้องเอกซเรย์แนะนำ

มีแนวทางรักษาโรคสมองเสื่อมอย่างไร?

ก่อนอื่น แพทย์ต้องตรวจวินิจฉัยหาโรคหรือภาวะอื่นที่สามารถรักษาได้ก่อนแม้จะเป็นส่วนน้อย เช่น เลือดคั่งในสมอง สาเหตุจากผลข้างเคียงของยา หรือ จากสารเสพติด การติดเชื้อ หรือการขาดวิตามินบางชนิด จากนั้นจึงเหลือกลุ่มโรคสมองเสื่อมเรื้อรัง

โดยจุดมุ่งหมายในการดูแลโรค/ภาวะสมองเสื่อม คือ ชะลอการลดลงของสติปัญญา ให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุดและคงอยู่ได้นานที่สุด โดยเพิ่มความสามารถในการดำรงชีวิตประจำวัน และเพิ่มคุณภาพชีวิตทั้งต่อผู้ป่วยเองและต่อผู้ดูแลผู้ป่วย

การรักษาโรคสมองเสื่อม ได้แก่ การรักษาปัญหาการลดลงของสติปัญญา และการรักษาปัญหาทางพฤติกรรมและจิตเวชในผู้ป่วยสมองเสื่อม โดย

  1. การรักษาปัญหาการลดลงของสติปัญญา ในปัจจุบันโรคสมองเสื่อมเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ยาที่มีในปัจจุบันเป็นเพียงยาที่ชะลอการดำเนินโรค/ความรุนแรงของโรค หรือเป็นการรัก ษาตาอาการ ยา ที่ได้รับการยอมรับทั่วไป ได้แก่ ยาโดนีพีซิล (Donepezil), ไรวาสติกมีน (Rivastig mine), กาแลนตามีน (Galantamine), และอีบิซ่า (Ebixa) ทั้งนี้ประสิทธิภาพของยาในแต่ละคนแตก ต่างกัน หากพูดคร่าวๆ คือ 1 ใน 3 ของคนที่ได้รับยา อาการโดยรวมจะดีขึ้นได้ อีก 1 ใน 3 อาการเท่าๆเดิม และอีก 1 ใน 3 อาการแย่มากขึ้น ซึ่งผลข้างเคียงของยา มักเกิดโดยเฉพาะกับความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีอาการฝันร้าย หัวใจเต้นผิดปกติ กล้ามเนื้อเกร็ง ส่วนยา หรืออาหารเสริมอื่นๆ เช่น วิตามินอี วิตามินบี 12 กรดโฟลิก ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เอนเสดส์, NSAIDs) และแปะก๊วย ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่สรุปว่ามีประสิทธิภาพจริง
  2. การรักษาปัญหาพฤติกรรมและอาการทางจิตเวช แบ่งเป็นการรักษาด้วยการไม่ใช้ยา และการใช้ยา
    1. การรักษาโดยไม่ใช้ยา ส่วนนี้มีความสำคัญมาก ต้องพิจารณาในการรักษาก่อนเสมอ ถ้าไม่ได้ผลจึงให้การรักษาควบคู่กับการให้ยาประกอบไปด้วย ได้แก่
      • การจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมือนที่เคยอยู่ตามปกติ ควรจัดสิ่งแวดล้อมให้ง่ายต่อการทำกิจกรรมต่างๆ โดยพยายามเปลี่ยนแปลงให้น้อยที่สุด แต่จะปรับเปลี่ยนในกรณีที่ไม่เหมาะสม เป็นอันตรายแก่ผู้ป่วย เช่น ควรเอาพรมเช็ดเท้าที่ทำให้ลื่นหกล้มได้ง่ายออก ควรมีไฟบริเวณทางเดินไปห้องน้ำตอนกลางคืน ควรมีราวจับในห้องน้ำ ห้องส้วม และบันได พื้นบ้านรวมถึงในห้องน้ำ ห้องส้วม ควรแห้งอยู่เสมอ ควรจัดห้องนอนอยู่ชั้นล่าง ใกล้ห้องน้ำ ไม่มีสิ่งกีดขวางทางเดิน รวม ทั้งบริเวณหน้าและหลังบ้านด้วย
      • การใช้ภาษา ควรให้ความเคารพนับถือผู้ป่วยเหมือนเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง อย่าดูแลเขาเหมือนเป็นเด็กเล็ก ผู้ดูแลต้องใจเย็น พยายามใช้สายตาเป็นสื่อ ปลอบโยนผู้ป่วย ใช้ภาษาที่สุภาพ สั้นและง่ายต่อการเข้าใจ ให้เวลาผู้สูงอายุในการถามหรือตอบ พยายามหลีกเลี่ยงการสนทนาที่มีคำ ถามเยอะๆที่ต้องตอบหลายคำตอบ เพราะทำให้ผู้ป่วยสับสนและมีพฤติกรรมก้าวร้าวตามมาได้ ควรจัดสิ่งแวดล้อมไม่ให้มีเสียงดัง เช่น เปิดโทรทัศน์หรือวิทยุเสียงดัง
      • การจัดกิจกรรมประจำวัน ควรให้ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรมมากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อเสริม สร้างความมั่นใจแก่ผู้ป่วย ควรให้ความช่วยเหลือบางส่วนถ้าไม่สามารถทำได้เอง ให้เวลาผู้ป่วยในการทำกิจกรรม ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถทำได้ ให้อธิบายใหม่ ใช้คำพูดที่เข้าใจง่าย สั้น ตรงไปตรงมา พยายามทำขั้นตอนของกิจกรรมให้สั้นลงถ้าผู้ป่วยไม่สามารถทำได้ อาทิ การแต่งตัวให้บอกทีละขั้น ตอน ให้ผู้ป่วยทำเอง ถ้าทำไม่ได้จึงค่อยช่วยเหลือ ที่สำคัญต้องเข้าใจว่าผู้ป่วยมีอาการขึ้นๆลงๆได้ บางวันทำได้ วันถัดไปอาจทำไม่ได้ หรือแม้แต่ในวันเดียวกันก็มีความแตกต่างกันได้ การใช้พฤติ กรรมบำบัดอาจมีประโยชน์ เช่น การฟังเพลง ร้องเพลงร่วมกัน การให้ผู้ป่วยรำลึกความหลังโดยดูรูปเก่าๆ การคุยถึงเหตุการณ์ในรูปนั้นๆ การบำบัดรักษาโรคโดยใช้กลิ่น การรดน้ำต้นไม้ ปลูกต้นไม้ การสัมผัส และการนวด ควรทำกิจกรรมในวันหนึ่งๆให้เป็นกิจวัตรเหมือนกันทุกวันเพื่อให้ผู้ป่วยไม่สับสน
      • กิจกรรมเพื่อรักษาระดับความสามารถของความจำ ได้แก่
        • การฝึกความจำ ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความจำที่ยังใช้ได้ โดยต้องประเมินความสามารถทางด้านระบบประสาทสัมผัสเบื้องต้นของผู้ป่วยก่อน อาทิ การฝึกจำหน้าคน การเล่นเกมหลับตาทายสิ่งของ การฟังเพลงที่คุ้นเคย การร้องเพลงและการสวดมนต์ ข้อพึงระวังคือ หากฝึกมากเกินไป อาจทำให้ผู้ป่วยเครียด ซึมเศร้า พึ่งพาคนดูแลและแยกตัวจากสังคมมากขึ้น
        • กิจกรรมเพื่อฝึกทักษะ เป็นการรักษาระดับความรู้ความสามารถให้อยู่ในระดับเดิมให้มากที่สุด และเรียนรู้ทักษะที่ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้ได้ อาทิ การวาดภาพ การปั้นดินน้ำมัน การเต้นรำ และการแต่งตัว
      • อาการอุจจาระและปัสสาวะราด อาจเนื่องจากผู้ป่วยมีความจำกัดทางกายภาพ เช่น ปวดข้อเข่าจึงไปเข้าห้องน้ำไม่ทัน มีโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ หรือเนื่องจากกระเพาะปัสสาวะไวกว่าปกติจึงมีปัสสาวะราด ดังนั้นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อหาสาเหตุและแก้ไขก่อนที่จะบอกว่าเป็นจากโรคสมองเสื่อมซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ในผู้ที่มีปัสสาวะราด ผู้ดูแลต้องแน่ใจว่าผู้ ป่วยได้รับปริมาณน้ำเพียงพอต่อวัน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม อาจจัดตารางการถ่ายปัสสาวะ เช่น เข้าห้องน้ำทุก 4 ชั่วโมง และเข้าห้องน้ำก่อนนอนตอนกลางคืน ไม่ดื่มน้ำมากก่อนนอน ใส่เสื้อผ้าที่ถอดออกง่ายเมื่อไปเข้าห้องน้ำ เช่นกางเกงยางยืด เสื้อผ้าค่อนข้างหลวม หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ พิจารณาใช้แผ่นอนามัยผ้ากันเปื้อนที่กันน้ำได้ ปูไว้บนเก้าอี้ที่ผู้ป่วยนั่งและบนเตียงนอน
      • อาการนอนไม่หลับ ญาติควรหากิจกรรมให้ผู้ป่วยทำตอนบ่ายๆ หลีกเลี่ยงการนอนหลับยาวตอนกลางวัน ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับรูปแบบการนอน เพื่อพิจารณาหยุดหรือเปลี่ยนยาที่อาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ และแน่ใจว่าจัดห้องนอนให้เหมาะสมต่อการนอน ผู้ป่วยสามารถเดินเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนได้ปลอดภัย หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ กาเฟอีนและยานอนหลับ อาจให้ดื่มนมอุ่นๆก่อนนอน และให้เข้านอนเป็นเวลา
      • พฤติกรรมก้าวร้าวและอาการทางจิตเวช เช่น คิดหลงผิด ระแวง เห็นภาพหลอน หูแว่วอาการเหล่านี้อาจเป็นอาการจากตัวโรคเองหรือเป็นจากยาที่กินอยู่ โดยมีสิ่งแวดล้อมเป็นตัวเสริม เช่นตาและหูทำงานบกพร่อง จึงระแวงว่าคนอื่นกำลังนินทาตนเอง ผู้ดูแลควรพยายามหาว่า สิ่งกระตุ้นพฤติกรรมนั้นๆคืออะไร ที่สำคัญต้องเข้าใจและอดทนต่อพฤติกรรมของผู้ป่วยว่า เป็นจากตัวโรค ผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น เมื่อมีพฤติกรรมก้าวร้าว พยายามเบนความสนใจผู้ป่วยไปเรื่องอื่น และหลีกเลี่ยงสาเหตุเสริมที่ทำให้พฤติกรรมนั้นๆเป็นมากขึ้น หากผู้ป่วยเดินไปมาไม่หยุด ควรมองหาว่าเดินเพราะอะไร มีตัวกระตุ้นหรือไม่ เช่น มีเสียงดังจึงอยากเดินหนี หรือจากผลข้างเคียงจากยา ก็ให้แก้ไขต้นเหตุนั้นๆ ก่อนที่จะโทษว่าเป็นอาการหนึ่งของโรคสมองเสื่อม
      • อาการซึมเศร้า ผู้ป่วยอาจแสดงออกมาในรูปของอารมณ์เสียใจ น้อยใจ กังวล คิดว่าตนเองไร้ค่า อยากฆ่าตัวตาย หรืออาจเฉยเมย แยกตัวออกจากสังคม ซึ่งอาจเป็นอาการจากโรคสมองเสื่อมเอง หรือมีโรคซึมเศร้าร่วมด้วย
      • การพูดจาซ้ำซาก ผู้ดูแลควรให้ความมั่นใจผู้ป่วยว่า ทุกอย่างเรียบร้อยดี ไม่ต้องกัง วล พยายามเบี่ยงเบนไปทำกิจกรรมอื่น อาจมีเครื่องช่วยเตือนความจำ เช่น กระดานหรือสมุดจดกิจ กรรมที่ทำประจำวัน พยายามตอบคำถามหรือเปลี่ยนการตอบคำถามเป็นเรื่องราวสนทนากันมากกว่าพูดซ้ำๆอยู่ที่เดิม
    2. การรักษาโดยการใช้ยา แพทย์จะให้ยาในกรณีที่มีอาการรุนแรงหรือให้การรักษาโดยการไม่ใช้ยาแล้วไม่ได้ผล ได้แก่ ยาที่รักษาโรคจิตกลุ่มเดิมที่เคยใช้ในอดีต ได้แก่ ยาฮาโลเพอริดอล (Haloperidol) และยากลุ่มใหม่ เช่น ยารีสเพอริโดน (Risperidone), ยาโอลานซาพีน (Olanzapine) ผลข้างเคียงที่สำคัญของยา คืออาการเคลื่อนไหวผิดปกติที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเริ่มยาจากขนาดต่ำสุด แล้วค่อยๆเพิ่มยาจนได้ขนาดที่น้อยสุดที่สามารถควบคุมอาการได้ เพื่อช่วยลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยา

โรคสมองเสื่อมส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงอย่างไร?

ผู้ป่วยโรค/ภาวะสมองเสื่อมในระยะสุดท้าย ที่ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต้องนอนติดเตียงนั้น จะมีโอกาสเกิดผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนได้บ่อย โดยเฉพาะภาวะแทรกซ้อนระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากผู้ป่วยมีโอกาสสำลักน้ำลายและอาหารได้ง่าย นอกจากนี้อาจเกิดแผลกดทับได้บ่อย การติดเชื้อ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งผู้ป่วยบางรายที่ต้องทานยาเพื่อควบคุมอาการผิดปกติทางจิตนั้น มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากยาได้ง่าย และพบ ว่ามีโอกาสเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบได้ง่ายกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้ยาดังกล่าว

โรคสมองเสื่อมมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของโรค/ภาวะสมองเสื่อมขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะสมองเสื่อม กรณีที่เกิดจากสาเหตุที่รักษาได้ เช่น

โรคสมองเสื่อมป้องกันได้หรือไม่?

ปัจจุบันยังไม่มียาใดๆที่รักษาการเกิดโรค/ภาวะสมองเสื่อมให้หายได้ โดยทั่วไปจึงเน้นการป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมดังนี้

  1. ควรตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ รักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดสมองเสื่อม เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง อย่างต่อเนื่อง
  2. ไม่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา สารเสพติด
  3. ควรให้ผู้สูงอายุได้รับข้อมูลข่าวสารโรคต่างๆสม่ำเสมอเพื่อช่วยเพิ่มความเข้าใจและรู้จักดูแลตน เอง ส่งเสริมให้ทำกิจกรรมเพื่อกระตุ้นสมอง เช่น เล่นดนตรี เล่นเกม เต้นรำ
  4. รับประทานอาหารอย่างถูกต้อง (อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ โดยจำกัดปริมาณอาหารไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน และจำกัด อาหารแป้ง น้ำตาล ไขมัน และเค็ม แต่เพิ่ม ผัก ผลไม้ ให้มากๆ) ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  5. พบปะญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง และเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆเป็นประจำ
  6. กระตุ้นให้ทำกิจกรรมที่ช่วยชะลอการเสื่อมของร่างกาย เข่น เดินเล่น วิ่งเหยาะๆ ปั่นจักรยาน

เมื่อเริ่มรู้ตัวว่ามีสมองเสื่อมควรดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อรู้ตัวว่าตนเองมีภาวะสมองเสื่อมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก สิ่งแรกที่ควรทำ คือ การฝึกสมองอย่างต่อเนื่องและเป็นประจำทุกวัน เช่น การร้องเพลง เล่นเกมส์ความจำ การเล่นอักษรไขว้ การอ่านหนังสือแล้วมาเล่าให้สมาชิกในครอบครัวฟังอีกครั้ง ถ้ามีโรคประจำตัวก็ต้องรักษาควบคุมให้ดี โดยการทานยาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ พยายามลดความเครียด การนั่งสมาธิก็เป็นวิธีหนึ่งที่แนะนำ

เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงหรือมีอาการหลงลืมควรพบแพทย์เมื่อไร?

กรณีที่เรามีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค/ภาวะสมองเสื่อม ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง หรือเริ่มมีอาการหลงลืม สิ่งที่แนะนำ คือ ควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ได้ประเมินถึง แม้จะมีอาการผิดปกติเล็กน้อยก็ตาม เพื่อที่จะได้ตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาได้ทัน ไม่ควรรอให้มีอาการมากแล้วจึงมาพบแพทย์

กรณีที่มีปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีอาการหลงลืมนั้น ก็ควรหมั่นฝึกสมองอย่างสม่ำเสมอ และทำแบบประเมินอาการหลงลืมด้วยตนเองหรือพบแพทย์อย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อประเมินหาโรค/ภาวะผิดปกติที่ต้องแก้ไข เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง เพื่อป้องกันการเกิดภาวะสมองขาดเลือดมาเลี้ยง (โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ) ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะสมองเสื่อม

เมื่อเป็นโรคสมองเสื่อมควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

กรณีที่เป็นโรค/ภาวะสมองเสื่อมและมีความผิดปกติทางจิตหรืออาการทรุดลง เช่น หลงลืมมากขึ้น นอนไม่หลับ มี อาการสับสนไข้ขึ้นสูง ปัสสาวะไม่สะดวก ไอ มีเสมหะสีเขียว ยาหมดก่อนกำหนดนัด ก็ควรรีบมาพบแพทย์ก่อนนัด อย่ารอให้ถึงวันนัดเพราะอาจช้าเกินไป
ที่มา   https://haamor.com/th/โรคสมองเสื่อม/

อัพเดทล่าสุด