โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)


1,126 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

สมอง  ระบบประสาทวิทยา 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

สูญเสียความจำ 

บทนำ

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เป็นหนึ่งในโรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด โรคนี้ถูกบรรยายไว้ครั้งแรกโดยจิตแพทย์ชาวเยอรมันชื่อ Alois Alzheimer ในปี พ.ศ. 2499 ผู้ ป่วยโรคนี้จะมีอาการสำคัญ คือ ความจำเสื่อม หลงลืม มีพฤติกรรมและนิสัยเปลี่ยนไป อาการจะดำเนินไปอย่างช้าๆ แต่ค่อยๆรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และเสีย ชีวิตในที่สุด ไม่มีวิธีป้องกันหรือวิธีสำหรับรักษาให้หายได้

โรคอัลไซเมอร์จะพบในผู้สูงอายุ ยิ่งอายุมากขึ้นก็จะพบอัตราการเป็นโรคมากขึ้น โดยในช่วงอายุ 65-69 ปี พบอุบัติการณ์การเกิดผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 3 คนต่อพันคนต่อปี แต่หากเป็นช่วงอายุ 85-89 ปี จะพบสูงถึง 40 คนต่อพันคนต่อปี พบได้ในทุกเชื้อชาติ เพศหญิงพบมากกว่าเพศชายเล็กน้อย อาจเนื่องจากเพศหญิงมีอายุยืนยาวกว่า ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 2-4% ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และจะพบเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุก 5 ปีหลังอายุ 60 ปี

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์?

ผู้ป่วยประมาณ 7% มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม และสามารถถ่ายทอดสู่ลูกหลานได้ ตำแหน่งความผิดปกติบนโครโมโซมที่พบชัดเจนแล้วว่าทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์อยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 21, 14, 1, และ 19 ผู้ที่มีความผิดปกติของพันธุกรรมเหล่านี้จะป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ที่อายุน้อยกว่าคนที่ไม่ได้มีความผิดปกติทางพันธุกรรม นอกจากนี้พบว่าในผู้ป่วยโรคกลุ่มอาการดาวน์(Down’s syndrome) ซึ่งมีความผิดปกติคือมีสารพันธุกรรมของโครโมโซมแท่งที่ 21 เกินมา หากมีชีวิตอยู่เกิน 40 ปี จะป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ในที่สุด

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เหลือไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่พบปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ ดังนี้ คือ อายุที่มากขึ้น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ เคยประสบอุบัติเหตุที่สมอง หรือสมองได้รับบาดเจ็บ เป็นโรคอ้วน เป็นโรคเบาหวาน (เพิ่มความเสี่ยงขึ้นประมาณ 3 เท่า) เป็นโรคความดันโลหิตสูง และเป็นโรคไขมันในเลือดสูง แต่ระดับการศึกษาและระดับสติ ปัญญาไม่มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค

นอกจากนี้ มีการศึกษาพบว่าสารเคมีในธรรมชาติบางตัว เช่น อะลูมิเนียม ปรอท รวมทั้งไวรัสบางชนิด อาจเป็นสาเหตุของโรคนี้ แต่หลักฐานก็ยังไม่ชัดเจน

ส่วนปัจจัยที่ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคนี้ลงได้ ได้แก่ การใช้ยาต้านการอักเสบในกลุ่มเอนเสดส์ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs, NSAIDs) การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในหญิงวัยหมดประจำเดือน การกินผักและผลไม้เป็นประจำ การดื่มไวน์แดงในปริมาณที่เหมาะสม การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การใช้สมองฝึกคิด ฝึกเรียนรู้สิ่งใหม่ๆเป็นประจำ

อนึ่ง ยาทั้งสองชนิดที่กล่าวถึง ไม่ควรซื้อกินเองเพราะมีผลข้างเคียงสูง เช่น เอนเสดส์อาจก่อให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร(โรคแผลเปบติค) และเอสโตรเจน เพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม และภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ

พยาธิสภาพสมองผู้ป่วยอัลไซเมอร์เป็นอย่างไร?

เมื่อนำสมองของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มาตรวจดู จะพบลักษณะดังนี้

  1. พบกลุ่มแผ่น (Plaque) ที่เกิดจากการรวมตัวของโปรตีนที่ผิดปกติและถูกล้อม รอบด้วยเซลล์ประสาทที่เสื่อม (Dystrophic neuritis) เรียกกลุ่มแผ่นนี้ว่า Amyloid plaques หรือ Neuritic plaques ซึ่งต้องตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ โดยจะพบกลุ่มแผ่นเหล่านี้อยู่ในเนื้อของสมองแต่อยู่นอกเซลล์ประสาท โปรตีนที่ประกอบกันเป็นกลุ่มแผ่นนี้ มีโปรตีนที่ชื่อ Beta-amyloid protein เป็นองค์ประกอบหลัก

    ในช่วงระยะแรกของการเป็นโรค บริเวณของสมองที่จะพบ Amyloid plaques คือส่วนของกลีบสมองใหญ่ส่วนลึกที่เรียกว่า Hippocampus และ Entorhinal cortex ซึ่งเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ

    ในช่วงระยะหลังของโรค จะพบที่สมองใหญ่บริเวณที่เกี่ยวข้องกับกระบวน การคิดและเหตุผล

    ส่วนสมองบริเวณที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวร่างกาย การรับรู้ความรู้สึก จะไม่ค่อยพบ Amyloid plaques

    ในสมองคนสูงอายุทั่วไป สามารถพบ Amyloid plaques ได้ แต่จะมีปริมาณไม่มากเท่ากับคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์

  2. พบเส้นใยฝอย (Fibril) ของโปรตีนที่มาพันรวมตัวกันผิดปกติ เรียกว่า Neurofibril lary tangles (NFT) ซึ่งต้องตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ โดยจะพบอยู่ในเซล์ประสาทส่วนที่ไม่ ใช่นิวเคลียส์ โปรตีนที่เกิดความผิดปกตินี้ชื่อว่า Tau protein ตำแหน่งที่พบจะเหมือนกับ Amy loid plaques ซึ่งเซลล์ประสาทที่มี NFT นั้นในที่สุดก็จะตายไป แต่การพบ NFT นี้ไม่ได้เป็นลักษณะเฉพาะของโรคอัลไซเมอร์ เพราะสามารถพบได้ในโรคสมองเสื่อมชนิดอื่นๆด้วย
  3. การตรวจดูสมองด้วยตาเปล่า จะพบการฝ่อลีบของสมอง โดยเฉพาะบริเวณกลีบต่างๆของสมอง

โรคอัลไซเมอร์มีอาการอย่างไร?

อาการของโรคนี้จะค่อยเป็นค่อยไป และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด โดยคร่าวๆ จะแบ่งอาการเป็นระยะต่างๆ ดังนี้

  1. ระยะก่อนสมองเสื่อม ผู้ป่วยจะมีความบกพร่องทางการเรียนรู้เล็กน้อย (Mild cog nitive impairment) มีปัญหาในการจดจำข้อมูลที่เพิ่งเรียนรู้มาไม่นาน หรือไม่สามารถรับข้อ มูลใหม่ๆได้ แต่โดยทั่วไปยังสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ ยังตัดสินใจทำในสิ่งต่างๆได้ ยกเว้นเรื่องที่สลับซับซ้อน และหากนำผู้ป่วยไปทำการทดสอบทางสมองและสภาพจิต ก็จะยังไม่พบสิ่งผิดปกติ ผู้ป่วยในระยะนี้ก็จะไม่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ แต่ใน ทางการศึกษา เมื่อตรวจสมองของผู้ป่วยเหล่านี้จะพบความผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว เช่นสมองส่วน Entorhinal cortex มีการฝ่อลีบ พบ Amyloid plaques, Neurofibrillary tangles เป็นต้น และสันนิษฐานว่าการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสมองเหล่านี้ น่าจะปรากฏมา 10-20 ปี ก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการต่างๆในระยะต่างๆของโรคนี้ตามมา
  2. สมองเสื่อมระยะแรก ผู้ป่วยจะมีการสูญเสียความจำในระยะสั้น ความจำใหม่ หรือความจำที่เพิ่งเรียนรู้มา เช่น ลืมว่าเก็บกุญแจไว้ที่ไหน ลืมนัด กินยารักษาโรคประจำตัวซ้ำ ถามซ้ำ พูดซ้ำ ส่วนความทรงจำในระยะยาวที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวของผู้ป่วย เช่น เกิดที่จังหวัดไหน เรียนจบอะไรมา รวมทั้งความจำที่เป็นความรู้ทั่วไป เช่น ไฟแดงหมายถึงให้หยุดรถ และความจำที่เป็นความจำโดยปริยาย (ความจำของร่างกายว่าทำสิ่งต่างๆอย่างไร เช่น การใช้ช้อนส้อมรับประทานอาหาร) ยังพอจำได้เป็นปกติ

    การใช้ชีวิตของผู้ป่วยในระยะนี้ จะเริ่มไม่เป็นปกติ เช่น กำลังขับรถจะไปทำธุระบางอย่าง เกิดจำไม่ได้ว่าสถานที่นั้นต้องขับรถไปทางไหน และก็อาจจะขับรถกลับบ้านไม่ถูก มีปัญหาในเรื่องการใช้จ่ายเงิน เพราะจำไม่ได้ว่าจ่ายเงินไปแล้วหรือยัง อาจจะโดนหลอกได้ ความคิดในการสร้างสรรค์งานใหม่ๆจะลดลง การตัดสินใจจะช้าลง คิดนานขึ้น ไม่มีสมาธิในการทำงาน ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้ การใช้คำศัพท์ไม่คล่องเหมือนเดิม ทำให้พูดหรือเขียนหนังสือและใช้ภาษาได้น้อยลง แต่ยังสามารถสื่อสารบอกความคิดพื้นฐานของตนได้ ทำกิจวัตรประจำวันต่างๆได้ไม่คล่องแคล่วเหมือนเดิม ทำให้ผู้ป่วยดูเงอะงะ นอกจากนี้อารมณ์จะเริ่มเปลี่ยนไป มีความวิตกกังวลมากขึ้น

  3. สมองเสื่อมระยะปานกลาง นอกจากสูญเสียความทรงจำในระยะสั้นแล้ว ความจำในระยะยาว และความรู้ทั่วไปก็จะค่อยๆบกพร่องไป ผู้ป่วยจะจำชื่อและหน้าตาของเพื่อนๆไม่ได้ และก็อาจจะจำคนในครอบครัวไม่ได้ หรือแม้กระทั่งคู่ชีวิตของตนเอง ก็จำไม่ได้ว่าเป็นใคร ดัง นั้นแม้ผู้ป่วยจะอยู่ในบ้านของตัวเอง ก็จะรู้สึกเหมือนอยู่ในสถานที่แปลก อยู่กับคนแปลกหน้า ไม่คุ้นเคยตลอดเวลา

    การพูดและการใช้ภาษาจะบกพร่องชัดเจน เช่น จะไม่สามารถนึกคำเรียกชื่อสิ่งของที่มองเห็นอยู่ตรงหน้าได้ (เรียกว่า Agnosia) หรือใช้ศัพท์คำอื่นมาเรียกแทน (เรียกว่า Paraphasia) มีปัญหาในการสื่อสารบอกความคิดของตนเอง ทักษะการอ่านและการเขียนค่อยๆเสียไปเรื่อยๆ การทำกิจวัตรประจำวันต่างๆก็จะเริ่มมีปัญหา เช่น การแต่งตัว ไม่รู้ว่าชุดไหนควรเอาไว้ใส่เวลาใด หรือแม้กระทั่งจะใส่เสื้อตัวนี้ต้องทำอย่างไร เป็นต้น

    ผู้ป่วยจะมีอารมณ์สับสน วิตกกังวล กระวนกระวาย หงุดหงิด โมโหง่าย อารมณ์แปรปรวน เช่น ร้องไห้ หรือก้าวร้าวอย่างไม่มีเหตุผล มีอาการหลงผิด เห็นภาพหลอนโดยเฉพาะในเวลาโพล้เพล้ มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น เดินหนีออกจากบ้านโดยเฉพาะในช่วงเวลาเย็นหรือตอนกลางคืน ผู้ป่วยจะเดินไปอย่างไร้จุดหมาย และก็จะกลับบ้านไม่ถูก การควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก็เสียไป เช่น เมื่ออากาศร้อนก็ถอดเสื้อผ้า ถอดเสื้อชั้นในออกหมดแม้จะอยู่ในที่สาธารณะ โดยไม่เข้าใจหรือลืมไปแล้วว่าการกระทำเช่นนี้ไม่เหมาะสม

  4. สมองเสื่อมระยะสุดท้าย ความทรงจำในระยะสั้น ความทรงจำในระยะยาว ความรู้ทั่วไป และกระทั่งความจำที่เป็นความจำโดยปริยาย (ความจำของร่างกายว่าทำสิ่งต่างๆอย่างไร เช่น การใช้ช้อนส้อมรับประทานอาหาร) ก็จะสูญเสียไป การใช้ภาษาของผู้ป่วยจะลดลงอย่างมาก อาจพูดเพียงแค่วลีง่ายๆ หรือคำเดี่ยวๆ จน กระทั่งไม่สามารถพูดได้เลย ในระยะนี้ ลักษณะพฤติกรรมก้าวร้าวจะลดลง ภาวะไร้อารมณ์เด่นกว่า ผู้ป่วยต้องอาศัยพึ่งพาผู้ดูแลตลอดเวลา การทำกิจวัตรประจำ วันต่างๆจะค่อยๆลดลง บางคนอาจมีท่าทางการเดินแบบซอยเท้าสั้นๆ มีอาการตัวแข็งคล้ายกับคนเป็นโรคพาร์กินสันได้ ในที่สุดผู้ป่วยจะไม่สามารถทำกิจกรรมใดๆได้เลย ทั้งการอาบน้ำ กินข้าว แต่งตัว แม้กระทั่งการเดิน หรือการนั่ง ถ้าไม่มีผู้ดูแล ผู้ป่วยก็จะได้แต่นอนนิ่งๆอยู่บนเตียงตลอดเวลา และไม่สามารถควบคุมการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้ บางคนอาจมีอาการชัก กลืนลำบาก สุดท้ายผู้ ป่วยก็จะเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น เกิดแผลกดทับและติดเชื้อตาม มา เกิดปอดบวมติดเชื้อ ร่างกายขาดสารน้ำ ระบบเกลือแร่ขาดสมดุล เป็นต้น โดยไม่ได้เสียชีวิตจากตัวโรคโดยตรง

แพทย์วินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างไร?

การวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ จะอาศัยจากอาการเป็นหลัก โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะรู้ตัวว่ามีปัญหาในด้านความจำและการใช้ชีวิตประจำวัน แต่อาจมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ตระหนักว่าตน เองกำลังมีความผิดปกติอยู่ (เรียกว่า Anosognosia) ซึ่งคนใกล้ชิดจะเป็นผู้สังเกตเห็นความผิดปกติแทน สิ่งที่สำคัญคือการวินิจฉัยว่าอาการความจำเสื่อม หลงลืม ที่เกิดขึ้นในระยะเริ่มแรกนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร เพราะอาการความจำเสื่อมพบได้ในโรคอื่นๆ อีกหลายโรค บางโรคมีวิธีรักษาให้หายได้ สาเหตุอื่นๆของโรคความจำเสื่อม ได้แก่ ภาวะขาดไทรอยด์ฮอรโมน การขาดวิตามินบี 12 การมีเลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมอง มีเนื้องอกและมะเร็งสมอง โรคเนื้อสมองตายเหตุจากขาดเลือด (Multi infarct dementia) โรคซึมเศร้า ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางตัว (เช่น ยาทางจิตเวชบางชนิด) และเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดอื่นๆ เช่น Fronotemporal dementia, Dementia with Lewy bodies, Creutzfeldt-Jakob disease เป็นต้น

ดังนั้นเมื่อวินิจฉัยจากอาการได้แล้วว่าผู้ป่วยมีภาวะของความจำเสื่อมเกิดขึ้น ขั้นต่อไปแพทย์จะต้องตรวจหาสาเหตุของความจำเสื่อมนั้น โดยอาศัยการตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการและการเอกซเรย์ต่างๆ เพื่อให้การวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุของความจำเสื่อม และให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป เช่น การเจาะเลือดดูภาวะไทรอยด์ฮอร์โมน การเอกซเรย์คอม พิวเตอร์สมองเพื่อดูว่ามีเนื้องอกในสมอง มีเลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมองหรือไม่ เป็นต้น

ถ้าการตรวจวินิจฉัยไม่พบสาเหตุอื่นๆ ประกอบกับอาการและการทดสอบทางสมองและสภาพจิต เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยของโรคอัลไซเมอร์ จึงจะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์

ในกรณีที่มีปัญหาในการวินิจฉัย อาจต้องอาศัยการตัดชิ้นเนื้อสมองเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

สำหรับเกณฑ์การวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์นั้น มีผู้เชี่ยวชาญหลายกลุ่มได้ตั้งกฎเกณฑ์ไว้ ได้แก่ National Institues of Neurological and Communicative Disorders and Stroke - Alzheimer’ disease and Related Disorders Association (NINCDS-ADRDA), Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fourth Revision, Text Revision (DSM-IV-TR) ของกลุ่ม American Psychiatric Association เป็นต้น

โรคอัลไซเมอร์มีผลข้างเคียงจากโรคและมีความรุนแรงอย่างไร?

โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่รักษาไม่หาย ผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 8-10 ปี นับตั้งแต่มีอาการ ผู้ป่วยบางคนอาจมีการดำเนินของโรคเร็วกว่านี้ และบางคนมีอาการดำเนินช้ากว่านี้ได้

ในระยะแรก ผู้ป่วยจะรู้สึกลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ในระยะหลังๆ ของโรค ภาระทางการเงินและความลำบากจะตกอยู่กับผู้ที่อยู่ใกล้ชิดที่จะต้องดูแลผู้ป่วยตลอดเวลา โดยที่ผู้ป่วยก็ไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป เพราะความทรงจำต่างๆได้จางหายไปหมดแล้ว อีกทั้งนิสัยและพฤติกรรมก็เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจของผู้ใกล้ชิดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันมา

ในทางสังคมก็เช่นกัน ต้องสูญเสียคนมีประสบการณ์ คนเก่ง คนที่มีประโยชน์ต่อบ้าน เมือง อีกทั้งต้องสูญเสียรายได้ในการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ด้วย

รักษาโรคอัลไซเมอร์อย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด การรักษาด้วยยาอาจช่วยรักษาอาการที่เป็นได้มากน้อยแตกต่างกันไป แต่ไม่มียาตัวไหนที่จะสามารถชะลอหรือหยุดการดำ เนินของโรคได้ แบ่งการรักษาออกได้เป็น

  1. การรักษาด้วยยา แบ่งเป็น
    • การรักษาอาการความจำเสื่อม ปัจจุบันมียาอยู่ 4 ชนิดที่ได้รับการรับรองจากคณะ กรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ในการนำมาใช้กับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ คือ Donezpezil , Rivastigmin, Galantamine, และ Memantine มีการศึกษาพบว่า การใช้สารสกัดจากใบแปะก๊วย (Ginkgo biloba) ช่วยบรร เทาอาการของผู้ป่วยได้ แต่ก็ยังไม่มีการศึกษายืนยันชัดเจน บางการศึกษาพบว่าการให้วิตามินอี เสริมในขนาดสูงจะช่วยชะลอการเสียชีวิตได้ แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดได้
    • การรักษาอารมณ์และพฤติกรรมที่รุนแรง รวมทั้งอาการประสาทหลอน โดยการใช้ยารักษาโรคจิตมารักษาตามอาการที่ปรากฏ
  2. การรักษาทางจิตสังคม ได้แก่
    • การรักษาที่มุ่งเน้นการกระตุ้นสมอง เช่น ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด การบำบัดโดยอาศัยสัตว์เลี้ยง
    • การบำบัดด้วยการรำลึกถึงเรื่องราวในอดีต เช่น การรวมกลุ่มทำกิจกรรมแลก เปลี่ยนประสบการณ์ในอดีต การใช้ภาพถ่าย สิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน ดนตรี ที่ผู้ป่วยคุ้นเคยในอดีตมาช่วยฟื้นความทรงจำ
    • การให้เข้าไปอยู่ในห้องที่เรียกว่า Snoezelen room ซึ่งเป็นห้องที่ออกแบบให้มีสภาพแวดล้อมภายในที่เหมาะกับวิธีการกระตุ้นการรับรู้และความรู้สึกที่หลากหลาย ที่เรียกว่า Multisensory integration อันได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรับสัมผัส และการเคลื่อนไหว
  3. การให้การดูแลผู้ป่วย เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดจะต้องเข้าใจอาการของโรค ทำใจ ยอมรับ อดทน ไม่ทอดทิ้งผู้ป่วยไว้คนเดียว และเข้าใจการดำเนินของโรคว่า ผู้ป่วยต้องอาศัยความช่วยเหลือเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานมากขึ้นเรื่อยๆ

ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์อย่างไร?

การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ คือ

  1. ผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการของความจำเสื่อมควรหยุดขับรถด้วยตนเองคนเดียว ไม่ควรไปยังสถานที่ไม่คุ้นเคยเพียงลำพังหรือไปทำธุระคนเดียวโดยเฉพาะหากเป็นเรื่องสำคัญ เช่น ธุรกรรมทางการเงิน และเมื่อมีอาการมากแล้วจะต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิดตลอดเวลา
  2. ผู้ดูแลผู้ป่วยต้องพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ เพื่อประเมินอาการต่างๆ ติดตามการใช้ยา และภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
  3. ผู้ป่วยควรพกป้ายประจำตัว หรือใส่สายข้อมือที่ระบุชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรติด ต่อให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการพลัดหลงหากต้องออกนอกบ้าน หรือเกิดเดินหนีออกนอกบ้านไปคนเดียว
  4. ภายในบ้านที่มีผู้ป่วยอยู่ ควรมีการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยและลดภาระต่อผู้ดูแลได้บ้าง เช่น การล็อกบ้านและรั้วไม่ให้ผู้ป่วยออกนอกบ้านไปคนเดียว การติดป้ายบนเครื่องใช้ต่างๆภายในบ้านให้ชัดเจนโดยระบุว่าคืออะไร ใช้งานอย่าง ไร การติดป้ายหน้าห้องต่างๆ ให้ชัดเจนว่าเป็นห้องอะไร เป็นต้น
  5. ไม่ควรจำกัดกิจกรรมและบริเวณที่ผู้ป่วยอยู่ เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเครียด วิตกกังวล ควรหากิจกรรมให้ผู้ป่วยทำ และควรเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกับผู้ที่ดูแลและคนที่อยู่ในบ้าน เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้ผู้ป่วยสม่ำเสมอ
  6. ในขณะเดียวกันครอบครัวก็ควรต้องรู้จักดูแลตนเองจากภาระในการดูแลผู้ป่วยด้วย

ป้องกันโรคอัลไซเมอร์อย่างไร?

มีคำแนะนำถึงวิธีต่างๆ ที่เชื่อว่าอาจป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ ได้แก่

  • การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน แต่ก็ไม่แนะนำเนื่องจากเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านม และถ้าใช้ฮอร์โมนชนิดผสมเอสโตรเจน-โปรเจสโตโรน นอกจากเสี่ยงต่อโรคมะเร็งแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ด้วย
  • การใช้ยาต้านการอักเสบในกลุ่มเอนเสดส์ แต่การใช้ยาเหล่านี้เป็นประจำก็เสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (โรคแผลเปบติค) ได้
  • อาจใช้ยาลดไขมันกลุ่ม HMG-CoA reductase inhibitors ซึ่งยังอยู่ในขั้น ตอนการศึกษาวิจัย
  • การรับประทานอาหารบางชนิดเป็นประจำ เช่น ผักและผลไม้สด ธัญพืชต่างๆ น้ำมันมะกอก ปลา ไวน์แดง รวมไปถึงอาหารที่มีวิตามินบี 12 วิตามินซี และกรดโฟลิกสูง อาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคลงได้
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารเค็มจัด หวานจัด อาหารจานด่วนต่างๆ เพราะเป็นอาหารที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งต่อการป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์
  • หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อลดโอกาสการเป็นโรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานทำให้เลือดไหลเวียนดี เพิ่มออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง รวมไปถึงการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จัดการกับความเครียด เช่น การนั่งสมาธิ
  • การทำกิจกรรมที่ให้สมองได้ฝึกคิดเป็นประจำ เช่น อ่านหนังสือ เล่นหมากกระดาน เล่นปริศนาอักษรไขว้ รวมถึงการได้ลองทำกิจกรรมใหม่ๆที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ การฝึกเล่นดนตรี ทำงานประดิษฐ์ การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเป็นประจำ เช่น การจัดกลุ่มพูดคุยอภิปรายเรื่องราวต่างๆ นอกจากนี้พบว่า การที่พูดได้มากกว่า 1 ภาษาขึ้นไปจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้เช่นกัน

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

ผู้สูงอายุที่มีอาการหลงลืมเล็กๆน้อยๆเป็นประจำ ควรได้รับการทดสอบทางสมองและสภาพจิต เพื่อประเมินว่ามีอาการของความจำเสื่อมแล้วหรือไม่ และเพื่อจะได้หาสาเหตุต่อไปว่าเกิดจากโรคใด หากเป็นโรคที่รักษาได้จะได้รีบรักษา หากป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ผู้ใกล้ชิดก็จะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับโรคและการดูแลผู้ป่วยต่อไป
ที่มา   https://haamor.com/th/อัลไซเมอร์/

อัพเดทล่าสุด