โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)


1,838 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ข้อ  ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ปวดข้อ 

บทนำ

โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) เป็นโรคเรื้อรัง ที่มีกลไกเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายทำลายอวัยวะของตัวเอง โดยทำให้เกิดพยาธิสภาพในหลายอวัยวะ แต่ที่เป็นลักษณะเฉพาะของโรค และเป็นปัญหาทำให้ผู้ป่วยเกิดความพิการตามมา คือ การที่ข้อต่างๆเกิดการอักเสบโดยเฉพาะข้อมือ และข้อนิ้วมือ โดยสาเหตุ หรือ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าพันธุกรรมมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยส่วนหนึ่ง นอกจากนั้น ไม่มียาสำหรับป้องกันการเกิดโรคและรักษาโรคให้หายขาดได้ แต่มียาที่ช่วยบรรเทาอาการและลดความรุนแรงของโรคลงได้

โรคข้อรูมาตอยด์พบได้ทั่วโลก ทุกเผ่าพันธุ์ โดยมีความชุกเฉลี่ย 0.8% ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชายประมาณ 3 เท่า ช่วงอายุที่เริ่มเป็นส่วนใหญ่ คือ 40-50 ปี

โรคข้อรูมาตอยด์มีสาเหตุจากอะไร?

สาเหตุของโรคข้อรูมาตอยด์ ยังไม่ทราบแน่ชัด จากการศึกษาพบว่าพันธุ กรรมเป็นสาเหตุหนึ่ง โดยพบว่า 10% ของผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์ มีญาติสายตรง ที่เป็นโรคนี้เช่นกัน หรือในอีกแง่หนึ่ง ถ้ามีญาติสายตรงเป็นโรคนี้ ก็จะมีโอกาสที่จะเป็นโรคมากกว่าคนทั่วไปประมาณ 4 เท่า การศึกษาในผู้ป่วยที่มีแฝดไข่ใบเดียว กัน พบว่าถ้ามีแฝดคนหนึ่งเป็นโรคข้อรูมาตอยด์ ประมาณ 15-20% จะพบแฝดอีกคนเป็นโรคนี้เช่นกัน แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งที่แฝดไข่ใบเดียวกันมีรหัสพันธุกรรมที่เหมือนกัน แต่กลับไม่ได้เป็นโรคข้อรูมาตอยด์ เหมือนกัน 100% จึงน่าจะมีสาเหตุจากสภาพแวดล้อมภายนอกประกอบด้วย

เนื่องจากโรคนี้พบได้ทั่วโลก จึงมีข้อสันนิษฐานว่า การติดเชื้อบางชนิดที่มีอยู่ทั่วไป อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคได้ เชื้อที่สันนิษฐาน มีทั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัส แต่วิธีการก่อโรคของเชื้อที่ทำให้มีข้ออักเสบเรื้อรัง ปัจจุบันก็ยังไม่มีผู้อธิบายได้

นอกจากนี้สาเหตุจากฮอร์โมนก็น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะโรคนี้พบในผู้ หญิงมากกว่าผู้ชาย และอาการของโรคจะดีขึ้นเมื่อตั้งครรภ์

ไม่ว่าสาเหตุจะเกิดจากอะไรก็ตาม พยาธิสภาพที่ปรากฏคือ ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายถูกกระตุ้นให้ทำงานมากเกินผิดปกติ โดยเฉพาะที่ข้อต่างๆ เซลล์เม็ดเลือดขาว และเซลล์ เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue) ถูกกระตุ้นให้ทำงานมากขึ้น และหลั่งสารเคมีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ซึ่งเป็นการอักเสบแบบเรื้อรัง และส่งผลทำให้เนื้อเยื่อปกติถูกทำลายในที่สุด

โรคข้อรูมาตอยด์มีอาการอย่างไร?

อาการของโรคข้อรูมาตอยด์ที่พบบ่อย คือ ผู้ป่วยที่เริ่มเป็นโรคครั้งแรก ประมาณ 2 ใน 3 จะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งมักจะวินิจฉัยได้หลังจากมีอาการหลายเดือนแล้ว โดยเริ่มต้นจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร และตาม มาด้วยอาการที่เกิดจากข้ออักเสบที่เป็นลักษณะของโรคข้อรูมาตอยด์ มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่จะเริ่มต้นด้วยอาการของข้ออักเสบเลย นอกจากนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต และม้ามโตร่วมด้วย

อาการของข้ออักเสบ คือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวด บวมตามข้อ โดยพบที่ข้อขนาดเล็กๆ เช่น ข้อนิ้วมือ ฝ่ามือ ข้อนิ้วเท้า และฝ่าเท้า มากที่สุด ส่วนข้ออื่นๆที่พบได้ เช่น ข้อของข้อมือ ข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อเท้า ข้อศอก ข้อสะโพก ข้อกระดูกสันหลังส่วนคอ แต่จะไม่พบที่ข้อปลายนิ้วมือ และที่ข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว ดัง นั้นถ้ามีอาการปวดเอวเรื้อรัง ไม่ควรนึกถึงโรคข้อรูมาตอยด์

ลักษณะอาการปวดตามข้อที่จำเพาะต่อโรคนี้ คือ จะมีอาการที่ตำแหน่งข้อเหมือนกันทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ความปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อใช้งานข้อนั้นๆ และเมื่อพักการใช้ข้อนานๆ เช่น หลังตื่นนอน จะมีอาการข้อยึดแข็ง ขยับไม่ได้เป็นเวลามากกว่า 1 ชั่วโมง

การที่ข้อบวมและปวด เกิดจากมีน้ำสะสมอยู่ในข้อ เยื่อบุข้อมีการหนาตัว มีเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบเข้ามาอยู่มากมาย มีการหลั่งสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบจากเซลล์เหล่านั้น และสารเคมีบางตัวก็ทำให้เกิดความเจ็บปวดนอกจากนี้เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่อยู่รอบข้อก็มีการอักเสบร่วมด้วย เมื่อการอักเสบดำเนินต่อไปเป็นระยะเวลาหลายสิบปี กระดูกอ่อนที่เป็นส่วนประกอบของข้อจะถูกทำลาย กระดูกที่อยู่รอบข้อเหล่านั้นจะบางลง และในที่สุดจะเกิดพังผืดขึ้นมาแทนที่ ดึงรั้งให้ข้อเสียรูปร่าง ใช้งานไม่ได้ เนื้อเยื่อรอบๆข้อที่ทำหน้าที่พยุงข้อไว้ ก็จะเสียไป เส้นเอ็นที่เกาะอยู่ที่ข้อจะถูกทำลายและส่งผลทำให้กล้ามเนื้อทำงานไม่ได้ตามปกติ ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนเดิม เช่น อาบน้ำ แต่งตัว ทำอาหาร งานบ้านต่างๆ ซึ่งเป็นผลกระทบที่ร้ายแรงสำหรับโรคนี้

ลักษณะการผิดรูปร่าง ความพิการของข้อต่างๆ และผลกระทบที่พบ คือ

  • ถ้าเป็นที่ข้อนิ้วมือและข้อมือ จะเกิดการผิดรูปได้ 3 แบบ ได้แก่
    1. แบบรูปร่าง Z (Z deformity) คือข้อมือจะงอออกด้านข้าง ในขณะที่ข้อนิ้วมือทั้งหมดงอเข้าด้านใน และมักพบข้อนิ้วมือส่วนต้นมีการเลื่อนหลุด
    2. แบบคอห่าน (Swan neck deformity) ข้อนิ้วมือส่วนต้นจะเหยียดออกไปด้านหลังของมือ ทำให้ข้อนิ้วมือส่วนปลายงอเข้าหาฝ่ามือ
    3. แบบ Boutonniere deformity คือข้อนิ้วมือส่วนต้นจะงอเข้าหาฝ่ามือ ทำให้ข้อนิ้วมือส่วนปลายเหยียดออกไปด้านหลัง
    • สำหรับข้อมือ นอกจากจะทำให้ขยับข้อไม่ได้และผิดรูปร่างแล้ว พัง ผืดรอบๆข้ออาจกดทับเส้นประสาทส่วนปลายได้ ทำให้มีอาการปวด ชาหรือเสียวที่มือ และ กล้ามเนื้อมือฝ่อลีบ
    • ถ้าเป็นที่ข้อเท้า ข้อนิ้วเท้า ก็ทำให้ผิดรูป และอาจพิการจนเดินไม่ได้ แต่ไม่ได้มีลักษณะที่เฉพาะเหมือนกับที่มือ
    • ถ้าเป็นที่ข้อศอก ข้อศอกจะหดงอ ยืดไม่ออก
    • ถ้าเป็นที่ข้อเข่า ก็จะทำให้เข่าหดงอ อาจเดินไม่ได้ และมีถุงน้ำเกิดด้านข้อพับของเข่าได้
    • ถ้าเป็นที่ข้อกระดูกสันหลังส่วนคอ อาจทำให้ข้อมีการเลื่อนหลุดและ กระดูกที่เลื่อนหลุดอาจไปกดเส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้มีอาการปวด ชาหรือเสียวแขน มีแขนอ่อนแรงได้ หรือที่อันตราย คือไปกดทับไขสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาตได้

อนึ่ง นอกจากอาการจะเกิดกับข้อต่างๆแล้ว ยังสามารถตรวจพบพยาธิสภาพ (ความผิดปกติ) ที่อวัยวะอื่นๆได้ด้วย แต่มักไม่ส่งผลให้เกิดปัญหาสำคัญ โดยจะพบเฉพาะกับผู้ป่วยที่ตรวจเลือดพบสารภูมิต้านทาน (Antibody)ของโรคนี้ ที่เรียกว่า Rheumatoid factor เท่านั้น พยาธิสภาพเหล่านั้นได้แก่

  1. การเกิดปุ่มเนื้อ ที่เรียกว่า Rheumatoid nodules พบได้ประมาณ 20-30% ของผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์ซึ่งพยาธิสภาพ คือ เป็นปุ่มเนื้อที่เกิดจากการรวมตัวของเม็ดเลือดขาวชนิดเก็บกินเซลล์ต่างๆที่ตายแล้ว (Macrophage) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นในเนื้อเยื่อชนิดใดและอวัยวะใดก็ได้ เช่น เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มสมอง แต่ตำแหน่งที่พบได้บ่อย คือ เนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนังที่อยู่บริเวณปลายแขน ศีรษะด้านหลัง และเส้นเอ็นที่ปลายขา
  2. กล้ามเนื้อเกิดการฝ่อลีบ ซึ่งมักเกิดกับกล้ามเนื้อที่อยู่เหนือต่อข้อที่มีการอักเสบ
  3. พยาธิสภาพที่เกิดขึ้นที่ปอด มีได้หลายอย่าง ได้แก่ การเกิดพังผืดในปอด เนื้อเยื่อปอดอักเสบ มีปุ่มเนื้อ rheumatoid nodule ในเนื้อปอด เยื่อหุ้มปอดอักเสบ มีน้ำในเยื่อหุ้มปอด โดยส่วนใหญ่มักไม่ทำให้เกิดอาการที่รุนแรง
  4. การเกิดเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ แต่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆ มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจศพ ซึ่งพบได้ประมาณ 50% ของผู้ป่วยโรคนี้
  5. การเกิดหลอดเลือดอักเสบทั่วร่างกาย จะพบในผู้ป่วยที่มีระดับสารภูมิต้านทาน Rheumatoid factor ในเลือดขึ้นสูงมากๆ โดยตรวจร่างกายพบ จุดสีน้ำ ตาลที่ฐานเล็บ ปลายนิ้ว มีอาการชาปลายมือ ปลายเท้า และอาจมีแผลเรื้อรังที่ขาร่วมด้วยจากเนื้อเยื่อขาขาดเลือดหล่อเลี้ยง
  6. การเกิด กระจกตา อักเสบ พบได้น้อย คือน้อยกว่า 1% ของผู้ป่วยโรคนี้ บางครั้งอาจรุนแรงจนทำให้เปลือกลูกตาบางและทะลุได้ในที่สุด
  7. พยาธิสภาพของระบบประสาท เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ การที่ข้ออักเสบเรื้อรัง มีพังผืดเกิดขึ้น ทำให้กดทับเส้นประสาทส่วนปลาย หรือเกิดจากกระดูกสันหลังส่วนคอเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาท หรือไขสันหลัง และอาจเกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาทส่วนปลายมีการอักเสบ แต่สำหรับสมอง จะไม่เกิดพยาธิสภาพใดๆ
  8. การเกิด โรคกระดูกพรุน โดยตัวของโรคข้อรูมาตอยด์เองทำให้มวลกระดูกลดลงปานกลาง แต่การที่ต้องใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid)รักษา จะยิ่งกระตุ้นให้สูญเสียมวลกระดูกมากขึ้น
  9. การเกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า Felty’s syndrome (Felty เป็นชื่อ แพทย์ชาวอเมริกัน ที่รายงานกลุ่มอาการนี้เป็นคนแรก) คือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อรูมาตอยด์ ร่วมกับมีม้ามโต และเม็ดเลือดขาวต่ำ มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อรูมาตอยด์มานาน และเนื่องจากมีเม็ดเลือดขาวต่ำ ผู้ป่วยจึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย และอาจรุนแรงจนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

แพทย์วินิจฉัยโรคข้อรูมาตอยด์ได้อย่างไร?

โดยทั่วไป เมื่อเริ่มเป็นโรคข้อรูมาตอยด์ อาการมักไม่ค่อยชัดเจน ให้การวินิจฉัยโรคได้ยาก เวลาโดยเฉลี่ยนับตั้งแต่เริ่มมีอาการของโรคจนกระทั่งวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคข้อรูมาตอยด์อยู่ที่ประมาณ 9 เดือน การวินิจฉัยจะอาศัยอาการ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญโรคนี้จากสหรัฐอเมริกา (American College of Rheumatology) ได้วางกฎเกณฑ์สำหรับการวินิจฉัยโรคไว้ดังนี้ โดยให้ถือว่า “ผู้ป่วยที่มีอาการอย่างน้อย 4 ใน 7 ข้อเหล่านี้ เป็นโรคข้อรูมาตอยด์

  1. มีอาการข้อแข็งในตอนเช้า ขยับไม่ได้ตามปกติ ซึ่งต้องมีอาการนานมากกว่า 1 ชั่วโมง ก่อนที่อาการจะหายไป
  2. มีอาการปวดข้อมากกว่า 3 ข้อขึ้นไป โดยมีอาการบวมของข้อร่วมด้วย
  3. ข้อที่อักเสบนั้น จะต้องมีข้อของมือรวมอยู่ด้วย โดยอาจจะเป็น ข้อมือ ข้อฝ่ามือ หรือข้อนิ้วมือก็ได้
  4. ข้อที่อักเสบเหล่านั้น จะต้องเป็นทั้งข้างซ้ายและข้างขวาเหมือนกัน และเป็นพร้อมๆ กัน
  5. ตรวจพบมีปุ่มเนื้อ Rheumatoid nodules
  6. การตรวจทางห้องปฏิบัติการพบสารภูมิต้านทาน Rheumatoid factor ในเลือด การตรวจพบสารภูมิต้านทาน Rheumatoid factor เพียงอย่างเดียว ไม่ได้จำเพาะกับโรคนี้ เพราะสามารถตรวจพบได้ในคนทั่วไปประมาณ 5% และยิ่งมีอายุมาก โอกาสที่จะตรวจพบอาจมีถึง 20% จึงต้องอาศัยเกณฑ์ข้ออื่นร่วมด้วย
  7. การตรวจเอ๊กซเรย์กระดูก พบความผิดปกติของกระดูกรอบข้อ เช่น กระดูกรอบข้อบางตัวลง

เนื่องจากการอาศัยการวินิจฉัยตามกฎเกณฑ์เหล่านี้ อาจทำให้เกิดความล่าช้าในการวินิจฉัยโรคข้อรูมาตอยด์ และการรีบให้ยารักษาตั้งแต่เริ่มเป็น จะช่วยลดการดำเนินของโรคไม่ให้รุนแรง และไม่ให้เกิดความพิการตามมาได้ ทางกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้งจากสหรัฐอเมริกาและจากยุโรป American College of Rheumatology และ European League Against Rheumatism จึงได้ตั้งกฎ เกณฑ์ใหม่ขึ้นในปี 2010 แต่เนื่องจากยังเป็นของใหม่และมีรายละเอียดมากมายเฉพาะทางของโรค จึงไม่ขอกล่าวถึง แต่ทั้งนี้ เมื่อพบแพทย์ ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านโรคนี้ แพทย์จะเป็นผู้ดำเนินการตรวจตามแนวทางเหล่านี้ให้ผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้เอง

รักษาโรคข้อรูมาตอยด์อย่างไร?

เป้าหมายของการรักษาโรคข้อรูมาตอยด์ คือ

  1. ลดอาการปวด บวม ของข้อ
  2. ลดภาวะการอักเสบของข้อ
  3. ป้องกันไม่ให้ข้อเสียหายจนใช้การไม่ได้
  4. การทำให้ข้อที่ใช้งานไม่ได้กลับมาใช้งานได้ และ
  5. รักษาอาการที่เกิดกับอวัยวะอื่นๆ

ยาที่ใช้รักษาโรคข้อรูมาตอยด์ จะใช้ยาหลายตัวร่วมกัน ไม่มียาตัวไหนที่จะหยุดยั้งการดำเนินของโรคและทำให้หายได้ ยาที่ใช้รักษาจะเป็นเพียงเพื่อลดและป้องกัน การปวด บวมของข้อ ลดการดำเนินของโรคให้ช้าลง และไม่ให้รุนแรงจนข้อเสียหายพิการ ยาที่ใช้มีอยู่ 5 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่ม ยาแก้ปวด ที่เรียกว่า เอ็นเสดส์ (NSAIDs, Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs) ซึ่งมียาอยู่หลายตัวให้เลือกใช้ ยาจะทำหน้าที่ลดอาการปวด บวม ที่เกิดจากการอักเสบเท่านั้น แต่ไม่ได้ช่วยลดการดำเนินของโรค
  2. ยากลุ่มสเตียรอยด์โรคแผลในกระเพาะอาหาร การติดเชื้อ และโรคกระดูกพรุน นอกจากช่วยลดอาการที่เกิดจากการอัก เสบแล้ว ยังอาจช่วยลดการดำเนินของโรคให้ไม่รุนแรง และให้โรครุนแรงช้าลงได้ โดยใช้ยาในปริมาณต่ำ เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่มีมากมายจากยาตัวนี้ เช่น
  3. ยากลุ่ม DMARDs (Disease-Modifying Antirheumatic Drugs) เป็นยากลุ่มที่จะช่วยควบคุมไม่ให้เกิดอาการจากการอักเสบ ลดความรุน แรง และการดำเนินของโรค ยาในกลุ่มนี้มีอยู่หลายตัว เช่น ยาเคมีบำบัดบางชนิด เช่น methotrexate และยารักษาโรคมาลาเรีย (Antimalaria drugs)
  4. ยาต้านการทำงานของสารเคมี และสัมพันธ์กับภูมิคุ้มกันต้าน ทานโรค ชื่อ TNF-alpha และ IL-1 ซึ่งเป็นสารเคมีที่เกี่ยวข้องในกระบวนการอัก เสบของข้อ ยากลุ่มนี้ช่วยควบคุมไม่ให้เกิดอาการจากการอักเสบได้ และอาจช่วยลดการดำเนินของโรคได้ แต่มีผลข้างเคียงที่น่ากลัว คือ อาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อที่รุนแรง เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
  5. กลุ่มยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย เช่น ยาเคมีบำ บัดรักษามะเร็ง ชนิด Cyclophosphamide ยา Cyclosporine หรือ ยา Azathiopine เป็นต้น ยากลุ่มนี้มีประสิทธิภาพดีเหมือนกับยากลุ่ม DMARDs แต่มีผลข้างเคียงที่มากกว่า จึงจะพิจารณาใช้เมื่อใช้ยาในกลุ่ม DMARDs ไม่ได้ผล

อนึ่ง นอกจากการใช้ยา คือ การผ่าตัด ซึ่งจะพิจารณาทำในผู้ป่วยที่มีข้อผิดรูปร่าง พิการใช้งานไม่ได้ ให้กลับมาใช้งานได้ ส่วนใหญ่ผ่าตัดรักษาได้แต่ในข้อใหญ่ๆ เช่น ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อไหล่ ส่วนข้อมือ ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า การผ่าตัดให้กลับมาใช้งานได้นั้น ทำได้ยาก

โรคข้อรูมาตอยด์รุนแรงไหม?

การดำเนินของโรค หรือ ความรุนแรงของโรคข้อรูมาตอยด์ ค่อนข้างจะหลากหลาย ไม่แน่นอน แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน โดยส่วนใหญ่อาการปวด บวมของข้อ จะเป็นๆ หายๆ แต่การทำลายของข้อจากการอักเสบก็ยังคงดำเนินต่อ ไป ทำให้มีการผิดรูปร่างของข้อ และใช้งานไม่ได้มากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยมีผู้ป่วยเฉลี่ย 50% ที่มีอาการมาแล้วประมาณ 10 ปี จะไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป ในขณะที่ผู้ป่วยประมาณ 15% จะมีอาการปวด บวม จากการอักเสบของข้อเป็นอยู่ไม่นาน ไม่มีความพิการของข้อให้เห็นและสามารถทำงานได้เหมือนปกติ

ลักษณะที่บ่งว่าผู้ป่วยมีการพยากรณ์โรคไม่ดี จะเกิดความพิการของข้อตาม มา ได้แก่ มีจำนวนข้อที่ปวด บวมมากกว่า 20 ข้อ เริ่มเป็นโรคเมื่อมีอายุมากแล้ว มีปุ่มเนื้อ Rheumatoid nodules มีค่าตรวจเลือดที่เรียกว่า การตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (ESR) สูง มีโรคประจำตัวอื่นๆร่วมด้วย มีฐานะยากจน และอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมบางชนิด

นอกจากนี้ การตรวจพบค่าสารภูมิต้านทาน Rheumatoid factor มีระดับสูงมากเท่าใด ก็มีโอกาสที่โรคจะรุนแรง และดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ทั้งพยาธิสภาพที่เกิดกับข้อและอวัยวะอื่นๆด้วย

ผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์ จะมีอายุโดยเฉลี่ยสั้นกว่าคนปกติทั่วไป ประมาณ 3-7 ปี ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีข้อต่างๆพิการ จะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตมาก กว่าคนปกติทั่วไป ประมาณ 2.5 เท่า โดยสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อ การมีเลือดออกในทางเดินอาหาร และโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งผลข้าง เคียงจากยาที่ใช้รักษาก็มีส่วนที่เป็นสาเหตุด้วยเช่นกัน

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคข้อรูมาตอยด์ คือ

  1. การรักษา จะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น ควรพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรซื้อยากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจได้ยาในขนาดสูงจนเป็นอันตราย หรือได้ชนิดยาไม่เหมาะสมที่จะช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้ ไม่ควรใช้ยาสมุนไพร ยาต้ม ยาลูกกลอน เพราะมักมียากลุ่มสเตียรอยด์ผสม ซึ่งทำให้การใช้ยาในช่วงแรกอาจดูเหมือนได้ผลดี แต่หลัง จากนั้นจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาอีกมากมาย ดังกล่าวแล้ว
  2. การออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น เพราะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ช่วยให้ข้อเคลื่อนไหวได้เต็มองศาของข้อนั้น ช่วยลดความปวดและอาการอ่อนเพลีย โดยการออกกำลังกายในน้ำ หรือว่ายน้ำเป็นทาง เลือกที่ดีที่สุด เพราะไม่ทำให้ข้อได้รับการกระทบกระเทือนจากการลงน้ำหนัก แต่อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดถึงวิธีการออกกำลังกายก่อนที่จะเริ่มทำจริงจัง เพราะจะได้ทราบถึงวิธีการออกกำลังกาย ท่าทางต่างๆ ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน
  3. <li.>
  4. หลีกเลี่ยงการกระทำที่ส่งผลให้ข้อได้รับความกระทบกระเทือน เช่น ไม่ยก ไม่แบกของหนัก ไม่กระโดดจากที่สูง หลีกเลี่ยงการทำงานที่ใช้สว่านขุดเจาะ พยายามใช้ข้อใหญ่ในการทำงานก่อน เช่น ถ้าต้องยกของ ก็พยายามใช้ข้อมือ หรือข้อศอกในการออกแรง ใช้แรงจากข้อนิ้วให้น้อยที่สุด เป็นต้น
  5. ถ้ามี น้ำหนักตัวเกิน หรือ โรคอ้วน ควรต้องลดน้ำหนัก จะช่วยลดการรับน้ำหนักของ ข้อเข่า ข้อเท้าได้ แต่ต้องได้รับอาหารที่มีแคลเซียม วิตามินดี และวิตามินซี อย่างเพียงพอ เพื่อการบำรุงเนื้อเยื่อ และกระดูก
  6. นอกจากการใช้ยาเพื่อลดอาการ ปวด บวม ของข้อแล้ว การแช่น้ำอุ่น พาราฟินอุ่น หรือการแช่ในน้ำแข็ง การประคบเย็น (Ice pack) ก็สามารถช่วยลดอาการได้ การที่จะเลือกใช้น้ำอุ่นหรือน้ำแข็ง ขึ้นกับแต่ละบุคคลว่าตอบ สนองกับวิธีใดมากกว่ากัน

บุคคลทั่วไปควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

บุคคลทั่วไป เมื่อมีอาการ ปวด บวม ตามข้อและ/หรือมีข้อยึดแข็ง ที่เป็นมานานมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

ป้องกันโรคข้อรูมาตอยด์ได้อย่างไร?

เนื่องจากเป็นโรคยังไม่ทราบสาเหตุ ปัจจุบันจึงยังไม่มีวิธีป้องกันโรคข้อรูมาตอยด์ แต่จะเห็นได้ว่า ตัวโรคเองและผลข้างเคียงจากการรักษา อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้น การป้องกันการติดเชื้อด้วยการรักษา สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) จึงสามารถช่วยลดโอกาสติดเชื้อให้น้อยลงได้


ที่มา   https://haamor.com/th/โรคข้อรูมาตอยด์/

อัพเดทล่าสุด