ผู้สูงอายุ (Older person)


1,050 ผู้ชม


นิยามเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุ เป็นวัยซึ่งมีความแตกต่างจากวัยอื่น เป็นวัยบั้นปลายของชีวิต ดัง นั้นปัญหาของผู้สูงอายุในทุกด้านโดยเฉพาะด้านสังคม และสาธารณสุข จึงแตก ต่างจากคนในวัยอื่น ปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลไทย และทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงมีความพยายาม และมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ให้ทุกคนตระหนัก เข้าใจ และพร้อมดูแลผู้สูงอายุให้ทัดเทียมเช่นเดียวกับการดูแลประชากรในกลุ่มอายุอื่น

บทความนี้ มีวัตถุประสงค์นำเสนอเรื่องราวของผู้สูงอายุในด้านทั่วไป เช่น คำนิยาม อายุคาดเฉลี่ย ปฏิญญาผู้สูงอายุ และสถิติต่างๆ เพื่อเป็นความรู้พื้นฐานในเรื่องที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุ หรือบางคนเรียกว่า ผู้สูงวัย เป็นคำที่บ่งบอกถึงตัวเลขของอายุว่า มีอายุมาก โดยนิยมนับตามอายุตั้งแต่แรกเกิด (Chronological age) หรือ ทั่วไป เรียกว่า คนแก่ หรือ คนชรา โดยพจนานุกรมฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายของคำว่า คนแก่ คือ มีอายุมาก หรือ อยู่ในวัยชรา และ ให้ความ หมายของคำว่า ชรา คือ แก่ด้วยอายุ ชำรุดทรุดโทรม นอกจากนั้น ยังมีการเรียกผู้สูงอายุว่า ราษฎรอาวุโส (Senior citizen) ส่วน องค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) และองค์การสหประชาชาติ (United Nations,UN) ใช้คำในภาษาอังกฤษของผู้สูงอายุว่า Older person or elderly person แต่เท่าที่ผู้เขียนอ่านจากเอกสารต่างๆ ของจากทั้งองค์การอนามัยโลก และองค์การสห ประชาชาติ มักใช้คำว่า Older person มากกว่า Elderly person

องค์การสหประชาชาติ ได้ให้นิยามว่า "ผู้สูงอายุ" คือ ประชากรทั้งเพศชาย และเพศหญิงซึ่งมีอายุ มากกว่า 60 ปีขึ้นไป (60+) โดยเป็นการนิยาม นับตั้ง แต่อายุเกิด ส่วนองค์การอนามัยโลก ยังไม่มีการให้นิยามผู้สูงอายุ โดยมีเหตุผลว่า ประเทศต่างๆทั่วโลกมีการนิยาม ผู้สูงอายุต่างกัน ทั้งนิยามตามอายุเกิด ตามสังคม (Social) วัฒนธรรม (Culture) และสภาพร่างกาย (Functional markers) เช่น ในประเทศที่เจริญแล้ว มักจัดผู้สูงอายุ นับจากอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือบางประเทศ อาจนิยามผู้สูงอายุ ตามอายุกำหนดให้เกษียณงาน (อายุ 50 หรือ 60 หรือ 65 ปี) หรือนิยามตามสภาพของร่างกาย โดยผู้หญิงสูงอายุอยู่ในช่วง 45-55 ปี ส่วนชายสูง อายุ อยู่ในช่วง 55-75 ปี

สำหรับประเทศไทย "ผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 หมายความว่า บุคคลซึ่ง มีอายุเกินกว่าหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีสัญชาติไทย

ส่วนคำว่า "สังคมผู้สูงอายุ" องค์การสหประชาชาติ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing society หรือ Aging society) ระดับ สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) และระดับ Super-aged society โดยให้นิยามของระดับต่างๆ ซึ่งทั้งประเทศไทย และรวมทั้งประเทศต่างๆทั่วโลก ใช้ความหมายเดียวกันในนิยามของทุกระดับของสังคมผู้สูงอายุ ดังนี้

การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ การมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปรวมทั้งเพศชายและเพศหญิงมากกว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี เกิน 7% ของประชากรทั้งประเทศ

สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คือ เมื่อประชากรอายุ 60+ปี เพิ่มขึ้นเป็น 20% หรือ ประชากรอายุ 65 ปี เพิ่มเป็น 14% ของประชากรโดยรวมทั้งหมดของทั้งประเทศ

Super-aged society คือ สังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศทั่วโลกมีการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในช่วงเวลาแตกต่างกันตามความเจริญมั่งคั่ง ซึ่งมีผลต่อสุขภาพและการมีอายุยืนของประชาชน เช่น

ประเทศ ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
ญี่ปุ่น ค.ศ.1970 (พ.ศ.2513) ค.ศ.1994 (พ.ศ.2537)
จีน ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) ค.ศ.2026 (พ.ศ.2569)

ในส่วนของประเทศไทย ได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี พ.ศ.2547-2548 โดยมีจำนวนประชากรสูงอายุ 60+ คิดเป็นร้อยละ ๑๐.๒-๑๐.๔ ของประชากรไทยทั้งประเทศ และคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ประมาณปี พ.ศ. 2567-2568 แต่บางการศึกษาคาดว่าอาจภายในปี พ.ศ. 2570

อนึ่ง ในทางการแพทย์ สาขาวิชาเฉพาะทางที่ให้การรักษาผู้สูงอายุหรือวิทยาการด้านการแพทย์เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เรียกว่า Geriatrics หรือ Geriatric medicine โดยรากศัพท์มาจากภาษา กรีก Geron แปลว่า คนแก่ และ iatros แปล ว่า ผู้รักษา แต่บางท่านเรียกว่า Medical Gerontology และเรียก การศึกษาเกี่ยว กับผู้สูงอายุ หรือวิทยาการว่าด้วยผู้สูงอายุว่า Gerontology เรียกการพยาบาลเฉพาะทางผู้สูงอายุว่า Geriatric nursing หรือ Gerontological Nursing

ความหมายของอายุขัย และอายุคาดเฉลี่ย

อายุนับตั้งแต่เกิดจนถึงตายของคนเรา หรือความยืนยาวของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย หรือช่วงชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เรียกว่า อายุขัย พจนานุกรม ฉบับราช บัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้นิยามคำว่า อายุขัยว่า อัตรากำหนดอายุจนสิ้นอายุ การสิ้นอายุ ความตาย ศัพท์แพทยศาสตร์ อังกฤษ-ไทย ไทย-อังกฤษ ฉบับราช บัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2543 แปลคำอายุขัยเป็นภาษาอังกฤษว่า Life span และแปลคำ Life expectancy ว่า การคาดหมายคงชีพ แต่สำนักสถิติแห่งชาติ ใช้คำว่า อายุคาดเฉลี่ย ซึ่งความหมาย คือ อายุขัยเฉลี่ยที่คาดคะเนว่าน่าจะเป็นเท่าไร อายุคาดเฉลี่ย แบ่งย่อยตามอายุต่างๆ ตามแต่ที่เราต้องการทราบ หรือต้องการศึกษา เช่น อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด (Life expectancy at birth) คือ อายุคาดเฉลี่ยนับ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเสียชีวิตของแต่ละคน และอายุคาดเฉลี่ยเมื่ออายุ 60 ปี (Life expectancy at age 60) หมายถึง เมื่อมีอายุได้ 60 ปีแล้ว คาดว่าจะมีอายุต่อไปได้อีกกี่ปีจึงจะเสียชีวิต

อายุขัย และอายุคาดเฉลี่ยของคนทั่วโลกแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นกับพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม สุขอนามัยพื้นฐาน การสาธารณสุข และฐานะทางเศรษฐกิจ ในปัจจุบันอายุขัยและอายุคาดเฉลี่ยของคนไทยและทั่วโลกเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยผู้หญิงจะมีอายุยืนกว่าผู้ชาย ทั้งนี้อาจเพราะการมีฮอร์โมนเพศที่ต่างกัน รวมทั้งลักษณะการใช้ชีวิตที่เพิ่มความเสี่ยงของเพศชาย เช่น ลักษณะงาน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้ชีวิตนอกบ้าน

องค์การสหประชาชาติ ได้ประเมินอายุคาดเฉลี่ยแรกเกิด โดยรวมทั้ง 2 เพศ และแยกเป็นเพศชาย และเพศหญิงของคนในชาติต่างๆทั่วโลกในช่วงปี ค.ศ. 2005-2010 โดยประชากรทั่วโลก รวมทั้งสองเพศ เพศชาย และเพศหญิง จะมีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด ประมาณ 67.2 ปี 65.0 ปี และ 69.5 ปี ตามลำดับ ซึ่งผู้เขียนได้ยกตัวอย่างเฉพาะประเทศที่เราคุ้นเคยของแต่ละภูมิภาค ดังแสดงในตารางที่ 1 Asia: Life expectancy at birth by the United Nations (Average for the 2005-2010 period) และตารางที่ 2 Non Asia: Life expectancy at birth by the United Nations (Average for the 2005-2010 period)

สำหรับประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2549

  อายุขัยเฉลี่ย/อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของคนไทย
พ.ศ. ผู้ชายไทย ผู้หญิงไทย
2548-2553 70.6 77.5
2553-2558 71.9 78.8
2558-2563 73.3 80.1

สำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานในช่วงปี พ.ศ. 2548-2549 อายุคาดเฉลี่ยที่อายุ 60 ปีของชายไทย คือ 19.3 ปี และของหญิงไทย คือ 21.7 ปี

สถิติผู้สูงอายุต่างประเทศและประเทศไทย

จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยภาพรวม โลกก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้ง แต่ปี พ.ศ. 2548

  อายุประชากรโลก
พ.ศ. 0-14 ปี 15-59 ปี 60+ปี
2553 27.00% 61.90% 11.10%
2568 24.20% 60.80% 15.00%

ประชากรสูงอายุของโลก (60+ปี) มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี จาก 10% ในปีพ.ศ.2543 เป็น 10.4%, 11.1%, 12.3%, 13.6% และ 15.0% ในปี พ.ศ.2548, 2553, 2558, 2563 และ 2568 ตามลำดับ

สถิติผู้สูงอายุในประเทศไทย ตามนิยามของการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือมีประชากรอายุ 60+มากกว่า 10% ของประชากรรวมทั้งประเทศ ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547-2548 กล่าวคือ มีประชากรผู้สูงอายุทั้ง หมด คิดเป็น 10.2-10.4% และในปี พ.ศ. 2553 ประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด คิดเป็น 11.36 % โดยมีผู้สูงอายุคิดเป็นประชากรทั้งหมด 7,639,000 คน เพศชาย 3,477,000 คน (10.4%) และเพศหญิง 4,162,000 คน (12.31%) ตารางที่ ๓ แสดงสถิติผู้สูงอายุในประเทศไทย ทั่วราชอาณาจักร และตารางที่ ๔ แสดงสถิติผู้สูงอายุของกรุงเทพมหานคร และเช่นเดียวกับประชากรโลก จำนวนผู้สูงอายุของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 9.4% เป็น 10.3%,11.7%,13.8%, 16.8%,และ 20% ในปี พ.ศ. 2543,2548,2553,2558,2563,และ 2568 (เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์) ตามลำดับ หรือเพิ่มจากประมาณ 6 ล้านคน (10%) ในปี พ.ศ. 2548 เป็นประมาณ 16 ล้านคน (25%) ในปี พ.ศ. 2578

อนึ่ง ยังอาจแบ่งผู้สูงอายุ ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้สูงอายุตอนต้น ได้แก่ผู้สูง อายุ ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วง 60-69 ปี และผู้สูงอายุตอนปลาย ได้แก่ ผู้มีอายุในช่วง ตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งปัญหาทางสังคมจะพบได้สูงมากขึ้นในผู้สูงอายุตอนปลาย

ปัจจุบัน ประชากรโลกรวมทั้งในประเทศไทย มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นตาม ลำดับ ซึ่งสาเหตุน่ามาจาก 3 สาเหตุสำคัญ ได้แก่ อัตราเจริญพันธุ์ หรืออัตราเกิด อัตราเสียชีวิต หรืออัตราตาย และอายุขัยของประชากร สาเหตุจากอัตราเกิดของประชากรลดลง โดยอัตราเกิด หรือ อัตราเจริญพันธุ์รวม (Total fertility rate หมายถึง เฉลี่ยแล้ว หนึ่งครอบครัวโดยรวมมีลูกกี่คน) ของประชากรโลก ลดจาก 4.7 คน ในช่วงปี พ.ศ. 2513-2518 เป็น 2.6 คนในช่วง 2548-2553 ส่วนของประเทศไทย ลดจาก 6.3 คนในช่วงปี 2507-2508 เป็น 1.53 คน ในช่วงปี 2553-2558

สาเหตุจากอัตราเสียชีวิตของประชากรลดลง จากการแพทย์ การสาธารณสุขที่ดีขึ้น ในประเทศไทย อัตราตาย (คิดเทียบจากจำนวนประชากรทั้ง หมด 1,000 คน) ลดลงจาก 6.5 ในปีพ.ศ. 2515 เป็น 4.4 ในปี 2532

สาเหตุจากอายุขัยของประชากรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละภูมิ ภาคของโลกตามฐานะทางการพัฒนาและเศรษฐกิจ รายงานจากสหประชาชาติ เรื่อง World population ageing 1950-2050 ใน ตารางที่ 5 แสดงอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของประชากรโลกและประชากรในภูมิภาคต่างๆของโลก ส่วนในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2523-2528 อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดเพิ่มจาก 60.3 ปี ในเพศชาย และ 66.3 ปี ในเพศหญิง เป็น 66.8 ปี และ 70.8 ปี ในปีพ.ศ. 2543-2548 ตามลำดับ และตารางที่ 6 แสดงอายุคาดเฉลี่ยที่อายุ 60 ปี 65 ปี และ 80 ปี ของประชากรโลก และประชากรไทย

วันผู้สูงอายุสากลและของประเทศไทย

เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ องค์การสหประชาชาติ ได้ลงมติให้มีวันผู้สูงอายุสากล หรือวันผู้สูงอายุโลก (International day of older person) เมื่อ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1990 โดยกำหนดให้ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี และเริ่มทั่วโลกเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1991 นอกจากนั้นยังได้จัดให้ปี ค.ศ. 1999 เป็นปีผู้สูงอายุสากล (International year of older persons)

ในประเทศไทย เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ และปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้น เมื่อ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ในสมัย พล. เอก เปรม ตินสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติกำหนดให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็นวันผู้ สูงอายุแห่งชาติ ทั้งนี้เพราะความสำคัญของวันสงกรานต์สื่อความหมายตรงกับความสำคัญของผู้สูงอายุ โดยเริ่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526 และมีดอกลำดวน (Lamdman, White cheesewood, Devil tree มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Melodorum fruticosum lour และมีชื่อวงศ์ว่า Annonaceae) เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของผู้สูง อายุ เนื่องจากลำดวน เป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืน ให้ความร่มเย็น ให้ร่มเงาดี มีใบเขียวตลอดปี ดอกมีกลิ่นหอม กลีบดอกแข็ง ไม่ร่วงง่าย และยังใช้เป็นสมุนไพรไทยมีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ซึ่งทั้งหมดเปรียบเหมือนกับผู้สูงอายุ ที่คงคุณธรรมความดีงามไว้เป็นตัวอย่างต่อบุตรหลานตลอดไป

ปฏิญญาผู้สูงอายุไทย

คำว่า "ปฏิญญา" ตามความหมายจากพจนานุกรมฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง คำมั่นสัญญา หรือ แสดงการยืนยัน โดยถือเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ ความสุจริตใจเป็นที่ตั้ง

ในปี พ.ศ. 2525 องค์การสหประชาชาติ ได้จัดประชุมครั้งแรกในแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และในปี พ.ศ. 2541 ได้จัดประชุมที่เมืองมาเก๊าประเทศจีน และได้ออกปฏิญญามาเก๊าในเรื่องผู้สูงอายุในเอเชียและแปซิฟิก เพื่อประเทศต่างๆทั่วโลก ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ รับรองสิทธิ และดำเนินการในเรื่องเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ โดยอยู่บนพื้นฐานของการมีอิสสระ การมีส่วนร่วม การได้รับการดูแลเอาใจใส่ ความพึงพอใจ และมีศักดิ์ ศรีในตนเอง

ประเทศไทย ในปี 2542 เป็นวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษา ประกอบกับองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นปีสากลของผู้สูงอายุ และเพื่อให้สอดคล้องกับปฏิญญาผู้สูงอายุมาเก๊า ผู้แทนจากองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรผู้สูงอายุ และผู้ ทรงคุณวุฒิ ได้ร่วมกันจัดทำปฏิญญาผู้สูงอายุไทยขึ้น เพื่อให้ถือปฏิบัติไปในทิศ ทางเดียวกัน และให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้สูงอายุไทย และทัดเทียมกับคนในทุกวัย ซึ่งคณะรัฐมนตรี ในสมัย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบ และประกาศเป็นปฏิญญาผู้สูงอายุไทยเมื่อ 23 มีนาคม 2542 ซึ่งปฏิญญาผู้สูงอายุไทยมีทั้งหมด 9 ข้อ โดยสรุป คือ

  1. เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรี
  2. การยอมรับได้อยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข
  3. การมีโอกาสได้มีการศึกษาอย่างต่อเนื่องตามความต้องการ เพื่อการพัฒนา ศักยภาพ
  4. มีโอกาสได้ทำงานถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของตนเอง โดยได้รับค่าตอบแทน
  5. มีโอกาสได้เรียนรู้การดูแลสุขภาพอนามัยของตนเอง และได้รับหลักประกันในการบริการด้านสุขภาพ
  6. ได้รับโอกาสให้มีส่วนร่วมในครอบครัวและสังคม
  7. รัฐ และองค์กรต่างๆต้องดำเนินการในการจัดการดูแลผู้สูงอายุ ให้เป็นไปตามเป้าหมายรัฐ และประชาคมโลก
  8. ต้องมีกฎหมายเพื่อการคุ้มครองผู้สูงอายุในด้านต่างๆ
  9. รัฐและสังคมต้องรณรงค์ และปลูกฝังค่านิยมให้สังคมตระหนักถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ

พระราชบัญญัติผู้สูงอายุไทย

เพื่อสิทธิ การคุ้มครอง และสวัสดิการ รัฐจึงได้ออกกฎหมาย พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 120 ตอนที่ 130 วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2546 และมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 มกราคม 2547 พระราชบัญญัตินี้มีทั้งหมด 24 มาตรา โดยสรุป คือ คุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุน ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและมีสัญชาติไทยในด้านต่างๆ ที่สำคัญคือ การแพทย์และการสาธารณสุข การศาสนา ข้อมูลข่าวสาร การประกอบอาชีพ การพัฒนาตนเอง การศึกษา การอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย การช่วยเหลือ การยกเว้น การลดหย่อนค่าธรรมเนียม และภาษีอากร เบี้ยเลี้ยงชีพ ที่อยู่อาศัย การสงเคราะห์การจัดงานศพตามประเพณี และอื่นๆตามประกาศของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อย โอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นกรรมการและเลขานุการ

ทำไมต้องเฉพาะผู้สูงอายุ?

ผู้สูงอายุ เป็นประชากรซึ่งมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว กล่าวคือ เป็นแหล่งความรู้ ความชำนาญที่มีคุณค่า เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งประเพณี วัฒนธรรม และเป็นสายใยแห่งครอบครัว เชื่อมต่อระหว่างบุคคลในช่วงวัยต่างๆ แต่ขณะเดียวกัน มีปัญหาในด้านสุขภาพ อนามัย ปัญหาด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นกว่าวัยอื่นๆ

ปัญหาด้านสุขภาพ เกิดเนื่องจากเป็นวัยชรา เซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะต่างๆเสื่อมลงตามธรรมชาติ ทำให้เกิดโรคการเสื่อมของอวัยวะต่างๆ เกิดภาวะสมรรถ ภาพทดถอย ไร้แรงงาน หรือไร้สมรรถภาพ (Disability) เช่น โรคกระดูกเสื่อม โรคข้อเสื่อมหรือความจำ สติปัญญาเสื่อมถอย สับสนง่าย เกิดการทรงตัวไม่ดี เชื่อง ช้า ล้มได้ง่าย กระดูกหักง่าย เกิดโรคขาดอาหารได้ง่ายจากการเสื่อมสภาพของเหงือกและฟัน รวมทั้งภูมิต้านทานคุ้มกันโรคลดลง มีการติดเชื้อได้ง่าย และมักเป็นการติดเชื้อรุนแรง มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งสูงกว่าวัยอื่น ต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือจากบุคคลอื่น รวมทั้งในด้านการรักษาพยาบาล มีภาระด้านค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าในวัยอื่น เป็นปัญหาสาธารณสุขในระดับชาติ

ในด้านสังคม ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่มีรายได้ ต้องพึ่งพา เป็นภาระทั้งต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ทั้งด้านสุขภาพ การเงิน ความเสื่อมจากเซลล์สมอง การขาดแคลนคนดูแล คนเข้าใจและ แรงทรัพย์ เป็นเหตุให้ผู้สูงอายุมักมีอาการซึมเศร้าได้ง่าย

ดังนั้น ถ้าไม่ตระหนักถึงข้อดี ถึงปัญหาของผู้สูงอายุ และให้การดูแลอย่างถูกต้อง ผู้สูงอายุจะกลายเป็นปัญหาใหญ่หลวงของประเทศชาติในทุกด้าน

  อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด (ปี)
ภูมิภาค/ประเทศ รวมชายและหญิง ชาย หญิง
เอเซีย
ไทย 70.6 66.5 75.0
กัมพูชา 59.7 57.3 61.9
เกาหลีใต้ 79.1 78.1 80.1
ญี่ปุ่น 82.6 79.0 86.1
ฟิลิปปินส์ 71.7 69.5 73.9
มาเก๊า 80.7 78.5 82.8
มาเลเซีย 74.2 72.0 76.7
ลาว 64.4 63.0 65.8
เวียดนาม 74.2 72.3 76.2
สิงคโปร์ 80.8 78.0 81.9
อินเดีย 64.7 63.2 66.4
อินโดนีเซีย 70.7 68.7 72.7
ฮ่องกง 82.2 79.4 85.1

ตารางที่ 1 Asia : Life expectancy by the United Nations (Average for the 2005-2010 period)

  อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด (ปี)
ภูมิภาค/ประเทศ รวมชายและหญิง ชาย หญิง
สหรัฐอเมริกา 78.2 75.6 80.8
ออสเตรเลีย 81.2 78.9 83.6
อังกฤษ 79.4 77.2 81.6
รัสเซีย 65.5 59.0 72.6
ยุโรป
สวิตเซอร์แลนด์ 81.1 79.0 84.2
สวีเดน 80.9 78.7 83.0
สเปน 80.9 77.7 84.2
อิตาลี 80.5 77.5 83.5
ตะวันออกกลาง
จอร์แดน 72.5 70.8 74.5
ซาอุดิอะราเบีย 72.8 70.9 75.3
อิสราเอล 80.7 78.5 82.8
อัฟริกา
อัฟริกาใต้ 49.3 48.8 49.7
เอธิโอเปีย 52.9 51.7 54.3
สวาซิแลนด์ 39.6 39.8 39.4
ลาตินอเมริกา
เม็กซิโก 76.2 73.7 78.6
อาร์เจนตินา 75.3 71.6 79.1

ตารางที่2 Non Asia: Life expectancy by the United Nations (Average for the 2005-2010 period)

  พ.ศ. 2538 พ.ศ. 2543 พ.ศ. 2548 พ.ศ. 2553
รวมผู้สูงอายุ (60+ ปี) (จำนวนคน) 4,816,000 5,733,000 6,617,000 7,639,000
เพศชาย 2,228,000 2,637,000 3,022,000 3,477,000
เพศหญิง 2,588,000 3,096,000 3,595,000 4,162,000
ร้อยละของผู้สูงอายุ 8.11 9.19 10.17 11.36
เพศชาย 7.51 8.48 9.34 10.40
เพศหญิง 8.71 9.89 11.01 12.31

ตารางที่ 3 สถิติผู้สูงอายุในประเทศไทย ทั่วราชอาณาจักร

  พ.ศ. 2538 พ.ศ. 2543 พ.ศ. 2548 พ.ศ. 2553
รวมผู้สูงอายุ (60+ ปี) (จำนวนคน) 456,000 587,000 721,000 906,000
เพศชาย 200,000 261,000 320,000 402,000
เพศหญิง 256,000 326,000 401,000 504,000
ร้อยละของผู้สูงอายุ 6.59 7.69 8.61 9.93
เพศชาย 5.98 7.14 8.05 9.33
เพศหญิง 7.16 8.19 9.12 10.47

ตารางที่ 4 สถิติผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร

World/regions ค.ศ. 2000-2005 ค.ศ. 2025-2030 ค.ศ. 2045-2050
World 66 72 76
More developed regions 76 80 82
Less developed regions 66 72 76
Least developed regions 52 62 69

ตารางที่ 5 อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของประชากรโลกและประชากรในภูมิภาคต่างๆ

อายุคาดเฉลี่ย ประชากรโลก :อายุ (ปี) ประชากรไทย: อายุ (ปี )
  ค.ศ. 2000-2005 ค.ศ. 2045-2050 ค.ศ. 2006
อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดรวมสองเพศ 66 76 -
ชาย - - 68
หญิง - - 75
อายุคาดเฉลี่ยเมื่ออายุ 60 ปีรวมสองเพศ 18.8 22.2 -
ชาย - - 19
หญิง - - 21.5
อายุคาดเฉลี่ยเมื่ออายุ 65 ปีรวมสองเพศ 15.4 18.2 -
ชาย - - 5.7
หญิง - - 6.4

ตารางที่ 6 อายุคาดเฉลี่ยของประชากรโลก และประชากรไทย
ที่มา    https://haamor.com/th/ผู้สูงอายุ/

อัพเดทล่าสุด