บทนำ
“ผลการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT-scan) สมองของคุณ พบความผิดปกติเข้าได้กับเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด (Brain infraction) บริเวณสมองซีกขวา” ถ้าใครได้ยินประโยคข้างต้นก็คงต้องตกใจกลัว เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดคืออะไร เราจะเป็นอัมพาตหรือไม่ เราจะมีอาการสมองเสื่อมหรือไม่ เราจะเดินไม่ได้หรือเปล่า และเราจะเสียชีวิตเร็วกว่าคนอื่นๆหรือเปล่า คำถามต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นมากมาย เมื่อได้ยินคำว่า “เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด” จริงแล้วเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดคืออะไร ลองติดตามบทความนี้เพื่อความกระจ่างของข้อสงสัย
เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดคืออะไร?
เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด (Brain infarction หรือ Cerebral infraction) คือ โรคหลอดเลือดสมอง หรือ ที่เรารู้จักกันดีในคำว่าโรคอัมพาต โดยเกิดจากหลอดเลือดสมองเกิดการอุดตัน หรือ ตีบตัน ทำให้เลือดมาเลี้ยงสมองไม่ได้ ส่งผลให้เนื้อสมองส่วนนั้นๆขาดเลือดมาเลี้ยง และเซลล์สมองบริเวณขาดเลือดนั้นๆตาย
กรณีที่แพทย์วินิจฉัยภาวะเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดจากผลการตรวจเอกซเรย์คอมพิว เตอร์สมอง (CT scan brain) หรือ จากการตรวจด้วยแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง/เอมอาร์ไอสมอง (MRI brain)
- การตรวจพบความผิดปกติที่บ่งชี้ว่ามีเนื้อสมองตาย คือ สมองส่วนนั้นจะพบเป็นสีดำ (Hypo density lesion) กรณีตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง
- ส่วนกรณีตรวจด้วยเอมอาร์ไอ ภาพสมองส่วนขาดเลือดจะเป็นสีขาว (Hyper intensity)
กรณีที่เกิดภาวะเนื้อสมองตายนี้เป็นมานานแล้ว ลักษณะภาพสมองขาดเลือดที่เห็นจากทั้งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ เอมอาร์ไอ สมอง นอกจากดังกล่าวแล้ว ยังอาจมีการสูญ เสียปริมาตรของเนื้อสมองบริเวณนั้นๆ (Loss of brain volume) ซึ่งคือมีภาวะสมองฝ่อ ที่ส่ง ผลให้โพรงน้ำในสมองมีขนาดขยายโตขึ้น เพื่อทดแทนเนื้อสมองที่ฝ่อไปจากการสูญเสียเนื้อสมองบางส่วนจากการขาดเลือดนั่นเอง อย่างไรก็ตาม การตรวจภาพรังสีสมอง ถ้าตรวจภายใน 24 ชั่วโมงแรก อาจไม่พบการเปลี่ยนแปลงใดๆให้เห็นชัดเจนได้
แพทย์ทราบได้อย่างไรว่าเป็นเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด?
การวินิจฉัย ภาวะเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด แพทย์จะวินิจฉัยจาก ประวัติอาการของผู้ ป่วย ประวัติที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ (ดังจะได้กล่าวในหัวข้อต่อๆไป) การตรวจร่างกาย และการตรวจทางรังสีวินิจฉัย (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์และ/หรือ เอมอาร์ไอ) สมอง ซึ่งเป็นการตรวจที่สำคัญในการช่วยวินิจฉัยภาวะนี้
เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดมีอาการอย่างไร? มีอันตรายหรือไม่?
การตรวจพบเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดจะมีอันตรายหรือไม่นั้น ขึ้นกับอาการที่เรามีหรือ ไม่มีก่อนไปรับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอมอาร์ไอสมอง โดยแบ่งความรุนแรงตามอาการที่เกิดขึ้นเป็น 3 กรณี ดังนี้
- กรณีที่ผู้รับการตรวจมีสุขภาพปกติ ไม่มีอาการ แล้วตรวจพบภาวะเนื้อสมองตายฯจากการตรวจภาพสมองทางรังสีวินิจฉัยส่วนใหญ่แล้ว พบว่า ไม่มีผลเสียใดๆต่อสมอง ผู้ป่วยไม่ต้องกังวล ทั้งนี้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ เมื่อได้รับการดูแลรักษาควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวถึงในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง อย่างถูกต้อง โอกาสเกิดอันตรายเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองจะต่ำ
- กรณีมีอาการผิดปกติของระบบประสาท เช่น หลงลืม/สมองเสื่อม ลมชัก ร่วมกับมีความผิดปกติจากการตรวจสมองทางรังสีวินิจฉัย ก็บ่งชี้ว่า อาการหลงลืมนั้นน่าจะมีสาเหตุจากเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดนั้นเอง (Vascular dementia) เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นลมชัก สาเหตุของการชักก็น่าจะเป็นจากเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด (Post stroke seizures) ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ จัดอยู่ในกลุ่มมีอันตรายสูงปานกลาง มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง ประมาณ 20%
- กรณีมีอาการของอัมพาต เช่น แขน ขา อ่อนแรงครึ่งซีกของร่างกายและตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจภาพสมองทางรังสีวินิจฉัย ก็สรุปได้ว่าสาเหตุของอัมพาตนั้น เกิดจากเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ จัดเป็นกลุ่มมีอันตรายสูง ประมาณ 50% ที่จะเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด?
ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุในการเกิดเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
- ส่วนที่ 1 ปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุที่แก้ไขไม่ได้ ประกอบด้วย เพศชาย ผู้สูงอายุ และผู้มีประ วัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
- ส่วนที่ 2 ปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุที่แก้ไขได้ ประกอบด้วย การเป็นโรคเรื้อรังต่างๆที่สำคัญ คือ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง ภาวะ/โรคอ้วน การสูบบุหรี่ และการไม่ออกกำลังกาย
เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดรักษาอย่างไร?
การรักษาภาวะสมองตายเหตุขาดเลือด ประกอบด้วย
- การรักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงหรือเป็นสาเหตุ เช่น การรักษาควบคุมโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
- การให้ยาป้องกันการเกิดเป็นซ้ำ เช่น ยาต้านเกล็ดเลือดเพื่อลดการจับตัวเป็นลิ่มเลือดของเลือดเพื่อป้องกันหลอดเลือดสมองอุดตัน เช่น ยาแอสไพริน หรือ ยาโคลพิโดเกรล (Clopido grel) เป็นต้น
- ปรับพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง โดย ลดน้ำหนัก เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มสุรา และออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกวัน
เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดที่ตรวจพบโดยไม่มีอาการ จำเป็นต้องรักษาหรือไม่?
การตรวจพบเนื้อสมองตายฯด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอสมอง จริงๆแล้วก็ คือ มีความผิดปกติจริงๆ (ผลบวก) ที่สมอง โดยโอกาสตรวจเป็นผลบวกปลอมนั้นน้อยมากๆ การตรวจพบจึงแสดงว่ามีเนื้อสมองบางส่วนตายเพราะขาดเลือดมาเลี้ยงจริง (Cerebral infarction) ดังนั้น ควรตรวจหาปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง เพื่อปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เป็นปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุ และป้องกัน รักษา ควบคุม ปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุต่างๆที่ตรวจพบ รวมทั้ง แพทย์อาจต้องพิจารณาว่า จำเป็นต้องทานยาเพื่อป้องกันการเกิดเป็นซ้ำของเนื้อสมองตายฯในบริเวณเดิม หรือในบริเวณใหม่หรือไม่ โดยการพิจารณา ขึ้นอยู่กับรอยโรคที่ตรวจพบและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ (ที่กล่าวในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง) ในแต่ละบุคคล
เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดรักษาหายหรือไม่?
อาการผู้ป่วยภาวะเนื้อสมองตายฯจะค่อยๆดีขึ้น จากการฟื้นตัวตามธรรมชาติของเนื้อสมองที่ตาย ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด/กายภาพฟื้นฟู (กรณีมีอาการผิดปกติ) กรณีไม่มีอา การผิดปกติใดๆ เนื้อสมองส่วนขาดเลือดนั้นก็จะค่อยๆฟื้นตัวตามธรรมชาติเช่นกัน
กรณีมีอาการ ผู้ป่วยจะหายเป็นปกติหรือไม่ ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ขนาด/ปริมาณเนื้อสมองที่ตาย ตำแหน่งเนื้อสมองตายปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุของการเกิดเนื้อสมองตาย ผลการรักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งรวมถึงการให้ความร่วมมือในการดูแลรักษาตนเอง และของครอบครัว
การรักษาเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดควรรีบรักษาหรือไม่?
กรณีไม่มีอาการผิดปกติจากเนื้อสมองตายฯ ก็ไม่ต้องรีบไปโรงพยาบาล แต่ก็ควรพบแพทย์ในเวลาปกติ และรักษาควบคุมปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันหรือลดโอ กาสการเป็นซ้ำหรือเป็นมากขึ้น
แต่กรณีมีอาการแขนขาอ่อนแรง หรือ อาการของอัมพาตนั้น ต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะปัจจุบันการรักษาอาการเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด มีวิธีการรักษาด้วยการฉีดยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytic treatment) เพื่อให้เลือดไหลเข้าไปเลี้ยงเนื้อสมองส่วนที่กำลังจะตาย ให้หายเป็นปกติ โดยต้องรักษาให้เร็วที่สุด ภายในเวลาที่ช้าที่สุดไม่เกิน 270 นาที หรือ ที่เรียกว่า 270 นาทีชีวิต (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง อัมพาต:270 นาทีชีวิต)
สามารถป้องกันเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือดได้หรือไม่?
การป้องกันเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด สามารถทำได้โดย การปรับพฤติกรรมการใช้ชี วิตให้เหมาะสมเพื่อ ป้องกัน รักษา และควบคุม ปัจจัยเสี่ยง (ที่กล่าวในหัวข้อปัจจัยเสี่ยง) ต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดภาวะเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด รวมทั้งออกกำลังสมองอย่างต่อเนื่อง (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง สมองฝ่อ)
เมื่อมีเนื้อสมองตาย ควรดูแลตนเองอย่างไร?
เนื้อสมองที่ตายนั้น โดยทั่วไปแล้วมีโอกาสฟื้นตัวเป็นปกติน้อยมาก แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาในปัจจุบันพบว่า สมองมนุษย์เรานั้นมีความยืดหยุ่น (Neuroplasticity) ที่ดีมาก สา มารถมีการพัฒนาให้ดีขึ้นได้ และสมองส่วนข้างเคียงก็สามารถพัฒนาหน้าที่ให้ทดแทนส่วนที่ตายได้ ดังนั้นการดูแลสุขภาพสมองให้ดีนั้น คือ การรักษาโรคประจำตัวหรือปัจจัยเสี่ยงต่างๆ (กล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง) ของการเกิดเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด และการออกกำลังสมอง (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่องสมองฝ่อ) ฝึกฝนให้สมองได้ทำกิจกรรมที่แปลกใหม่เป็นประจำ ที่สำคัญต้องได้รับการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจรักษาและป้องกันการเป็นซ้ำ
สรุป
จะเห็นได้ว่า เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ดังนั้นเมื่อทราบผลการตรวจจากแพทย์แล้ว ก็ไม่ต้องกังวลแต่ต้องตระหนักว่า เรามีความผิดปกติบางส่วนของเนื้อสมอง ต้องพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อเนื่อง ที่สำคัญ ควรเริ่มหาทางป้องกันภาวะสมองตายเหตุขาดเลือด ตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีของเราทุกคน
ที่มา https://haamor.com/th/เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด/