ต้อหินเฉียบพลัน (Acute glaucoma)


731 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ดวงตา  ระบบตา 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ตามัว  ปวดตา 

โรคต้อหินเฉียบพลันคืออะไร? มีอาการอย่างไร? รุนแรงไหม?

ในบรรดาโรคต้อทั้งหลายที่ร้ายแรงที่สุด เป็นที่ทุกขเวทนาที่สุดสำหรับผู้ป่วยคงเป็นอื่นไปไม่ได้ ต้องเป็น “โรคต้อหินเฉียบพลัน” เพราะทำให้ผู้ป่วยทั้ง ตาแดง ปวดตา และตาบอด ในเวลาอันสั้น ทุกอย่างเป็นไปอย่างฉับพลัน โรคต้อหินเรื้อรัง ว่าร้ายแรงแล้วยังถือว่าน้อยกว่ามาก เพราะ ต้อหินเรื้อรัง กว่าตาจะบอดต้องใช้เวลานานหลายๆปี อีกทั้งเมื่อตาไม่เห็นแล้วก็ไม่มีอาการอื่น ไม่มีตาแดง และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการปวดตาเลย เรียกกันว่า “ตาบอด ตาใส”

ส่วนต้อหินเฉียบพลันจะมีอาการหลัก 3 อย่าง ทั้ง 3 อย่างทำให้ผู้ป่วยทรมานทั้งสิ้น ได้แก่ ตาแดง ปวดตา (ส่วนใหญ่จะปวดศีรษะไปทั้งซีกเลย อาจร่วมกับคลื่นไส้ อาเจียนตามัวและบอดอย่างรวดเร็วในไม่กี่วัน หากรักษาไม่ทัน

หากท่านมีญาติผู้ใหญ่มีอาการ 3 อย่างข้างต้น ต้องรีบพาไปพบหมอด่วนที่สุด โดยเฉพาะหมอตา (จักษุแพทย์) มิเช่นนั้นตาอาจบอดโดยไม่มีวิธีแก้ไข

ต้อหินเฉียบพลันเกิดได้อย่างไร?

ต้อหินเฉียบพลัน ก่อให้เกิดปวดตา ตามัว ตาแดง ได้อย่างไร กล่าวคือลูกตาคนเราเป็นรูปทรงกลม มีอวัยวะที่ละเอียดอ่อนภายในเพื่อให้เกิดกลไกการมองเห็น เปรียบเสมือนเป็นกล้องถ่ายรูปขนาดจิ๋ว และภายในดวงตายังมีน้ำทั้งชนิดใสและข้นเป็นองค์ประกอบ ทำให้ลูกตาเกิดแรงดันอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งถ้าใช้เครื่องมือไปวัดจะได้ประมาณ 10-20 มิลลิเมตรปรอท (มม.ปรอท)

น้ำในลูกตามีการไหลเวียนแลกเปลี่ยนกับกระแสเลือด มีน้ำเข้าในและออกนอกลูกตาเป็นประจำ น้ำเข้าและออกจะได้สมดุลกัน นำมาซึ่งความดันตาค่อนข้างคงที่อยู่ในช่วง 10–20 มม.ปรอท

ในผู้ป่วยที่เป็นต้อหินเฉียบพลันนั้น เกิดจากกลไกการไหลเวียนนี้ผิดพลาด น้ำออกจากตาน้อยกว่าน้ำเข้าตา ทำให้ความดันตาขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว จาก 10- 20 มม.ปรอท มาเป็น 50–60 มม.ปรอท ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดตา ปวดศีรษะอย่างรุนแรงในทันที ขณะเดียวกันแรงดันที่สูงขนาดนี้ ทำให้ กระจกตา (ตาดำ) ที่ปกติใส จะขุ่นมัวทันที ทำให้ผู้ป่วยตามัวลงอย่างทันทีด้วย แล้วทำไมการไหลเวียนจึงเกิดการติดขัดทันที ทั้งนี้เป็นจากกายวิภาค (รูปร่าง ลักษณะ) ของตาผู้ป่วย ที่มีช่องต่างๆภายในดวงตาที่แคบเกินไปในบางช่อง โรคนี้จึงเกิดได้เฉพาะในคนที่มีกายวิภาคภายในของตาผิดปกติ มองข้างนอกจะเป็นลูกตาปกติ ร่วมกับภาวะแวดล้อมที่ทำให้ ม่านตา ขยายผิดปกติ เช่น จากการใช้ยาบางชนิด และมักพบโรคนี้ในผู้หญิงสูงอายุ ด้วยเหตุที่ผู้หญิงมักมีขนาดดวงตาเล็กกว่าผู้ชาย เมื่ออายุยิ่งมากขึ้น จึงดูเหมือนขนาด แก้วตา ซึ่งอยู่ภายในดวงตาใหญ่ขึ้น (เพราะเนื้อเยื่อบางส่วนของตาเสื่อมลงตามวัย) จึงทำให้ช่องต่างๆ ภายในดวงตาแคบลงนั่นเอง

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อหินเฉียบพลันมีอะไรบ้าง?

แม้ว่าเราจะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของความดันตาสูงขึ้นอย่างกะทันหัน แต่พอจะทราบว่า ผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่เกิดโรคต้อหินเฉียบพลันนี้มีใครบ้าง ซึ่งได้แก่

  • ผู้ป่วยบางเชื้อชาติ เช่น ชาวเอเชีย พบมากกว่าชาวยุโรป
  • ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย
  • อายุที่มากขึ้นมีโอกาสเป็นมากขึ้น มักพบในอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
  • มี บิดา มารดา และ/หรือ ญาติพี่น้อง เป็นโรคนี้ กล่าวคือ เป็นโรคทางพันธุกรรม
  • ส่วนใหญ่โรคนี้จะเป็นอย่างฉับพลัน โดยไม่มีโรคตาอื่นๆนำมาก่อน มีบ้างที่เกิดจากมีโรคตาบางอย่าง เช่น เป็น ต้อกระจกที่ต้อแก่แล้วไม่ไปรับการผ่าตัด หรือ ได้รับอุบัติเหตุจนแก้วตาเคลื่อนไปจากเดิม

มีอาการอะไรบ้างที่น่าสงสัยเป็นต้อหินเฉียบพลัน?

ในผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการเตือนนำมาก่อนการเกิดต้อหินเฉียบพลัน อาการเตือนต่างๆ ได้แก่ รู้สึกปวดตาเวลาใช้สายตามากๆ ทำให้ตาพร่าไปชั่วคราว เมื่อได้นอนพักอาการดีขึ้น แต่จะมีอาการแบบนี้บ่อยๆ ตามักพร่ามัวเวลาพลบค่ำ บางครั้งมองเห็นสีรุ้งรอบดวงไฟ พอนอนพักอาการจะดีขึ้น

ดังนั้น ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้หญิง หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเฉพาะหมอตา ซึ่งหากหมอตาพบว่า เป็นอาการเตือนของโรคนี้ร่วมกับมีกายวิภาคทางตาที่แคบ หรือ ตื้น การป้องกันด้วยการใช้แสงเลเซอร์รักษา จะป้องกันโรคนี้ได้ตลอดไป

ควรพบแพทย์เมื่อไร? และต้อหินมีแนวทางการรักษาอย่างไร?

ดังได้กล่าวแล้วว่า อาการสำคัญของต้อหินเฉียบพลันมี 3 อย่าง ได้แก่ ตาแดง ตามัว และ ปวดตา อาการเหล่านี้ ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน ต้องรีบพบหมอตาทันที ซึ่งหากแพทย์วินิจฉัยได้เร็ว ให้ยาลดความดันตา ตามด้วยการยิงแสงเลเซอร์อาการทั้ง 3 อย่าง ข้างต้นจะหายเป็นปลิดทิ้ง ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ โดยไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาลแต่อย่างใด

แต่ถ้าผู้ป่วยมาพบหมอตาช้าเกินไป การรักษาจะยุ่งยากยิ่งขึ้น การยิงเลเซอร์อาจทำไม่สำเร็จหรือไม่ได้ผล จำเป็นต้องให้ยาช่วย หรือ ที่รุนแรงอาจต้องลงเอยด้วยการผ่าตัดตาด้วยเทคนิคเฉพาะ เมื่อไม่สามารถควบคุมความดันตาให้ลงมาสู่ระดับปกติได้ หรือถ้าบางคนมาช้าเกินไป หมออาจรักษาได้แค่หายปวด แต่ตาไม่กลับมาเห็นได้อีก

อนึ่งผู้ป่วยโรคนี้ หากเป็นกับตาข้างหนึ่งแล้ว อีกข้างอาจเป็นในเวลาต่อมา ซึ่งแพทย์มักจะยิงแสงเลเซอร์ป้องกันภาวะนี้ในตาอีกข้างด้วย ดังนั้น ผู้ป่วยโรคนี้ จึงควรพบหมอตาตามนัดเสมอ อย่าได้นิ่งนอนใจ
ที่มา   https://haamor.com/th/ต้อหินเฉียบพลัน/

อัพเดทล่าสุด