บทนำ
โรคเกาต์เทียม (Pseudogout) เป็นโรคที่มีการสะสมของผลึกสารเคมีชื่อ Calcium pyro phosphate ในข้อต่อต่างๆ โรคนี้มีชื่ออย่างถูกต้องว่า “โรค Calcium pyrophosphate de position disease เรียกย่อว่า โรค CPDD, ซีพีดีดี” ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคนี้ที่ชัดเจน
ผู้ที่เป็นโรคนี้มีทั้งผู้ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการของข้ออักเสบเฉียบพลันเหมือนกับโรคเกาต์ชนิดเฉียบพลัน หรือมีอาการปวดข้อแบบเรื้อรังก็ได้ และยังไม่มียารักษาให้หาย แต่มียาสำหรับบรรเทาอาการต่างๆที่เกิดขึ้นได้
โรคเกาต์เทียมพบได้ในคนทุกเชื้อชาติ เพศชายและเพศหญิงมีโอกาสเป็นโรคได้เท่าๆ กัน ความเสี่ยงของการเกิดโรคจะเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยผู้ที่มีอายุ 65-75 ปี พบเป็นโรคได้ 10-15% แต่หากอายุมากกว่า 85 ปีขึ้นไป พบโอกาสเป็นโรคได้ถึง 30-50% และพบว่าจำนวนผู้ ป่วยมากกว่า 80% มีอายุมากกว่า 60 ปี
โรคเกาต์เทียมมีพยาธิสภาพอย่างไร?
ในผู้ป่วยโรคเกาต์เทียม พบว่า ตามข้อต่างๆมีสารที่ให้พลังงานชื่อ Adenosine triphos phate (ATP) มากกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากเอนไซม์ชื่อ Nucleoside triphosphate pyrophospho hydrolase ที่ทำหน้าที่ย่อยสลายสาร ATP มากขึ้นกว่าปกติ ทำให้เกิดเกลือแร่ที่ทำให้เกิดโรคนี้ที่ชื่อ Inorganic pyrophosphate มากขึ้น และเกลือแร่ที่มีปริมาณมากชนิดนี้จะไปจับตัวกับเกลือแร่ แคลเซียม (Calcium) และรวมตัวกันจนมีขนาดใหญ่กลายเป็นผลึกชื่อ Calcium pyrophosphate ผลึกชนิดนี้จะเกาะอยู่ตามกระดูกอ่อนของข้อต่างๆ และหากผลึกหลุดเข้ามาอยู่ในช่องว่างระหว่างข้อ เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆในร่างกาย ก็จะเข้ามาเพื่อพยายามกำจัดผลึกที่อยู่ในช่องระหว่างข้อเหล่านี้ และเม็ดเลือดขาวเหล่านี้จะหลั่งสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ และทำให้มีการอักเสบของข้อเกิดขึ้น ซึ่งก็คือ “โรคข้ออักเสบเกาต์เทียม” นั่นเอง
อะไรเป็นสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงของโรคเกาต์เทียม?
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคเกาต์เทียมที่ชัดเจน สันนิษฐานว่า เมื่ออายุมากขึ้น ทำให้กระบวนการทางเคมีในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงไป จนก่อให้เกิดลักษณะดังกล่าวในหัว ข้อ พยาธิสภาพของโรค
การเป็นโรคบางอย่างก็ทำให้มีโอกาสเกิด/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกาต์เทียมมากขึ้น เนื่องจากทำให้สมดุลของระบบเกลือแร่ในร่างกาย โดยเฉพาะแคลเซียม และฟอสฟอรัส (Phosphorus) ผิดปกติ รวมทั้งมีกระบวนการทางเคมีของเกลือแร่ต่างๆเหล่านี้ที่ผิดปกติไป เช่น
- โรคที่มีฮอร์โมนพาราไทรอยด์จากต่อมพาราไทรอยด์ (ต่อมเล็กๆอยู่ใต้ต่อมไทรอยด์ ที่ควบ คุมการทำงานของแคลเซียมในร่างกาย) สูงผิดปกติ (Hyperparathyroidism)
- โรคที่การสะสมของธาตุเหล็กในร่างกายมากผิดปกติ (Hemochromatosis)
- โรคที่มีฟอสฟอรัสในเลือดต่ำกว่าปกติ (Hypophosphatasia)
- โรคที่มีแมกนีเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ (Hypomagnesemia)
โรคอื่นๆ ที่พบว่าอาจทำให้มีโอกาสเป็นเกาต์เทียมได้มากขึ้น เช่น โรคเกาต์ โรคข้อเสื่อมอักเสบ (Osteoarthritis) ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothy roidism) เป็นต้น
นอกจากนี้พบว่า มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่เป็นโรคนี้ เนื่องจากมีความผิดปกติทางพันธุกรรมบนโครโมโซมแท่งที่ 5 หรือ 8 ซึ่งมีรหัสพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการทำงานของสารเค มีที่ทำให้เกิดโรคนี้ที่ชื่อ Pyrophosphate และความผิดปกตินี้อาจถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานได้
โรคเกาต์เทียมมีอาการอย่างไร?
ผู้ป่วยโรคเกาต์เทียมมีอาการได้หลายรูปแบบคือ
- ไม่มีอาการ (Asymptomatic CPDD) คือผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดปรากฏ แต่หากนำผู้ป่วยไปเอกซเรย์ จะพบหินปูนเกาะบริเวณกระดูกอ่อนที่อยู่รอบข้อต่างๆ (ซึ่งก็คือผลึก Calcium pyrophosphate นั่นเอง) ซึ่งเรียกว่า Chondrocalcinosis โดยข้อที่พบบ่อย ได้แก่ ข้อเข่า ข้อมือ ข้อต่อกระดูกบริเวณหัวหน่าว และข้อสะโพก
- อาการข้ออักเสบเฉียบพลัน (Acute pseudogout) ผู้ป่วยกลุ่มนี้พบได้ประมาณ 25% อาการจะคล้ายผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์ จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกโรคนี้ว่าเกาต์เทียม โดยจะมีอาการปวดและบวมเฉียบพลันเกิดขึ้นที่ข้อ ผิวหนังรอบๆข้อจะมีสีแดง จับแล้วจะรู้สึกร้อน ส่วนใหญ่จะเป็นแค่ข้อเดียวหรือ 2-3 ข้อ มักเกิดที่ข้อเข่าและข้อมือ ข้ออื่นๆที่พบได้ เช่น ข้อเท้า ข้อระหว่างข้อเท้าและนิ้วเท้า (Metatarsophalangeal joint) ข้อนิ้วมือ ข้อศอก ข้อไหล่ ข้อสะโพก เป็นต้น
ถ้าไม่ได้ยารักษา อาการจะเป็นอยู่นานประมาณ 5-12 วัน หรืออาจนานหลายสัปดาห์ได้ แต่ถ้าได้ยารักษา ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อเกิดอาการขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้ว จะมีโอกาสเกิดอาการขึ้นได้อีก โดยความถี่ของการเกิดจะไม่แน่นอน อาจเกิดขึ้นทุกๆ 2-3 สัปดาห์ หรืออาจเกิดขึ้นเพียงปีละครั้ง โดยการเกิดในครั้งหลังๆอาการจะรุนแรงขึ้น และระยะเวลาที่เกิดอาการจะยาวนานขึ้น และเมื่อเป็นหลายๆ ครั้ง กระดูกอ่อนและกระดูกของข้อนั้นๆ ก็จะค่อยๆถูกทำลายและทำให้เกิดข้อผิดรูปตามมาได้
- อาการข้ออักเสบเรื้อรังคล้ายโรคข้อเสื่อมอักเสบ (Pseudoosteoarthritis) เป็นกลุ่มที่พบมากที่สุด คือประมาณ 50% โดยจะมีอาการปวดข้อเป็นๆหายๆ หรือปวดแบบเรื้อรัง โดยจะปวดมากขึ้นเมื่อใช้งานข้อนั้นๆ แต่จะดีขึ้นเมื่อพักการใช้งาน ในรายที่โรคเป็นมานานแล้ว อาจมีอาการปวดตลอดเวลา มีอาการข้อฝืด ข้อยึด โดยจะเป็นหลังจากหยุดการใช้ข้อเป็นเวลา นาน เช่น หลังตื่นนอนเช้า เมื่อได้ขยับเคลื่อนไหวสักระยะหนึ่ง ก็จะขยับได้เป็นปกติ มีอาการข้อบวมเป็นๆ หายๆ และเมื่อเป็นนานๆ ข้อจะผิดรูปร่างได้ และทำให้การเคลื่อนไหวข้อทำได้ลดน้อยลง ข้อที่พบเกิดอาการบ่อยคือ ข้อระหว่างข้อมือและนิ้วมือ (Metacarpophalangeal joint) ข้อมือ ข้อศอก และข้อไหล่
- อาการข้ออักเสบคล้ายโรคข้อรูมาตอยด์ (Pseudorheumatoid arthritis) ผู้ป่วยกลุ่มนี้พบได้ประมาณ 5% อาการคือปวดที่ข้อระหว่างนิ้วมือ (Interpharangeal joint) หรือข้อที่อยู่ระหว่างข้อมือและนิ้วมือ (Metacarpophalangeal joint) โดยจะเป็นเหมือนกันทั้งที่มือข้างซ้ายและข้างขวา อาการปวดเป็นแบบเรื้อรัง มีอาการบวมของข้อ และมีข้อแข็ง ข้อยึด หลังตื่นนอนในตอนเช้าโดยจะเป็นอยู่นานเป็นชั่วโมง
- อาการข้ออักเสบคล้ายโรคข้อที่เรียกว่า Neuropathic joint (Pseudoneuropathic joint) Neuropathic joint คือ โรคข้อเสื่อมที่มักพบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือโรคที่เส้นประสาทส่วนปลายมีการเสื่อม ผู้ป่วยกลุ่มนี้พบได้น้อยกว่า 5% โดยจะมีอาการปวดข้อเรื้อรัง ข้อบวม กระดูกอ่อนและกระดูกรอบๆข้อถูกทำลายอย่างมากจากการอักเสบเรื้อรัง ทำให้ข้อผิดรูปร่างและใช้งานไม่ได้ มักพบในข้อเข่า
แพทย์วินิจฉัยโรคเกาต์เทียมอย่างไร?
หลักการวินิจฉัยโรคเกาต์เทียม คือ เมื่อให้การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรค เกาต์เทียม ต้องตรวจหาโรคอื่นๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ซึ่งผู้ป่วยอาจเป็นร่วมอยู่และเป็นสาเหตุของการเกิดโรคนี้ได้
อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยโรคเกาต์เทียม อาศัยจากประวัติอาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมกัน โดย
- ประวัติอาการ
- ในผู้ป่วยที่มีข้ออักเสบเฉียบพลัน อาการจะคล้ายกับผู้ที่เป็นโรคเกาต์มาก ต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการมาช่วยในการวินิจฉัย
- ในผู้ป่วยเกาต์เทียมที่มีข้ออักเสบเรื้อรัง อาการจะคล้ายโรคข้อเสื่อม แต่ข้อที่มักเป็นคือข้อระ หว่างมือและนิ้วมือ (Metacarpophalangeal joint) ข้อมือ ข้อศอก และข้อไหล่ ซึ่งจะไม่เหมือนผู้ที่เป็นโรคข้อเสื่อมที่มักจะเป็นที่ข้อเข่า ข้อนิ้วมือส่วนต้น (Proximal interphalangeal joint) และกระดูกสันหลัง
- และในผู้ป่วยเกาต์เทียมที่มีอาการคล้ายโรคข้อรูมาตอยด์และ Neuropathic joint ต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการมาช่วยในการวินิจฉัย แยกจากกันด้วยอาการไม่ได้
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่
- การเอกซเรย์บริเวณข้อ จะพบหินปูนเกาะที่กระดูกอ่อน เรียกว่า Chondrocalcinosis ซึ่งมักจะไม่พบในโรคข้ออื่นๆ
- การเจาะน้ำในข้อไปตรวจ ในผู้ป่วยที่มีน้ำในข้อ หากเจาะน้ำไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบผลึก Calcium pyrophosphate ซึ่งจะเห็นเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู และเมื่อใช้กล้องจุล ทรรศน์ชนิดพิเศษที่เรียกว่า Polarized microscopy มาตรวจดูก็จะเห็นสีขึ้นมา (ผลึกที่เกิดจากโรคที่ต่างชนิดกันจะให้สีที่ต่างกัน) ซึ่งสีที่เห็นจะเป็นแบบที่เรียกว่า Weakly positive birefrin gent การเห็นผลึกนี้จะช่วยวินิจฉัยแยกออกจากโรคเกาต์ได้ โดยผลึกของโรคเกาต์จะเรียวแหลมเหมือนแท่งเข็มและการตรวจดูด้วย Polarized microscopy จะเห็นสีแบบที่เรียกว่า Strongly negative birefringent
ในผู้ป่วยที่เกิดข้ออักเสบแบบเฉียบพลัน การวินิจฉัยจะต้องแยกออกจากข้ออักเสบติดเชื้อด้วย ซึ่งอาการจะคล้ายกัน การเจาะน้ำในข้อไปตรวจจะพบเม็ดเลือดขาวเหมือนกัน และนอก จากนี้ผู้ป่วยโรคเกาต์เทียม ที่มีข้ออักเสบเฉียบพลันอาจมีการติดเชื้อเป็นข้ออักเสบร่วมด้วยได้ ดังนั้นการเจาะน้ำในข้อไปตรวจ จึงต้องนำไปเพาะหาเชื้อด้วย
เมื่อวินิจฉัยได้แล้วว่าผู้ป่วยเป็นโรคเกาต์เทียม ต้องตรวจผู้ป่วยต่อไปว่ามีโรคอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่ ได้แก่ การเจาะเลือดตรวจหาระดับกรดยูริค (Uric acid) ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ และฮอร์โมนพาราไทรอยด์ ตรวจหาระดับเกลือแร่ต่างๆ เช่น ฟอสฟอรัส และธาตุเหล็กในร่างกาย เป็นต้น
สิ่งสำคัญที่จะต้องตระหนักคือ ผู้ป่วยอาจเป็นทั้งข้ออักเสบเฉียบพลันจากโรคเกาต์เทียมและโรคเกาต์ร่วมกันได้ หรืออาจเป็นโรคข้อเสื่อมอักเสบอยู่และเกิดข้ออักเสบเฉียบพลันจากโรคเกาต์เทียมขึ้นมาก็ได้
รักษาโรคเกาต์เทียมอย่างไร?
การรักษาโรคเกาต์เทียม คือ
- ผู้ป่วยในกลุ่มไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องให้การรักษา
- ผู้ป่วยในกลุ่มอื่นๆ การรักษาหลักคือการให้ยาแก้ปวดและลดบวมของข้อต่างๆ ซึ่งยามีให้เลือกหลายกลุ่ม หลายชนิด เช่น
- การให้ยาแก้ปวดลดการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อกลุ่มเอ็นเสดส์ (NSAID,Non-steroidal anti-inflammatory drugs) เช่น Voltaren, Indomethacin, Celebrex ซึ่งอาจให้ในรูปแบบกินหรือฉีด
- การให้ยาลดอักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ ในผู้ป่วยที่มีข้ออักเสบแบบเฉียบพลัน มักให้ยาโดยการฉีดเข้าไปในข้อที่อักเสบโดยตรง หรืออาจจะให้ในรูปแบบกินหรือฉีด หากมีข้ออัก เสบเกิดขึ้นหลายข้อ
- การให้ยา Colchicine ซึ่งปกติเป็นยาสำหรับรักษาโรคเกาต์ โดยการให้ยาในขนาดสูงจะช่วยลดอาการในผู้ป่วยที่มีอาการข้ออักเสบเฉียบพลันได้ แต่จะไม่เลือกใช้เป็นยา กลุ่มแรกๆในการรักษา เพราะจะมีผลข้างเคียงทำให้มีถ่ายอุจจาระเหลวรุนแรงได้ แพทย์อาจเลือกให้กินยานี้ในขนาดต่ำๆ ในผู้ป่วยที่เคยมีข้ออักเสบเฉียบพลัน เพื่อลดโอกาสการเกิดข้ออัก เสบเฉียบพลันขึ้นมาอีก แต่ประสิทธิภาพยังไม่แน่นอน
- ผู้ป่วยที่ข้อบวมมาก ซึ่งเกิดจากมีน้ำในข้อมาก การเจาะดูดเอาน้ำในข้อเพื่อเป็นการระบายออก จะช่วยลดอาการปวดและการอักเสบของข้อลงได้
- ผู้ป่วยที่เกิดข้อผิดรูปร่างแล้ว อาจเลือกรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อ ซึ่งจะทำได้เฉพาะบางข้อเท่านั้น
โรคเกาต์เทียมรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงจากโรคอย่างไร?
ผลข้างเคียงและความรุนแรงจากโรคเกาต์เทียม คือ
- ผู้ป่วยที่มีข้ออักเสบเฉียบพลัน เมื่อเป็นหลายๆครั้ง กระดูกอ่อนและกระดูกของข้อนั้นๆ ก็จะค่อยๆถูกทำลายและทำให้เกิดข้อผิดรูปได้
- ผู้ป่วยในกลุ่มอื่นๆ ในที่สุดจะเกิดข้อผิดรูปจนใช้งานไม่ได้เหมือนปกติ
- การให้ยารักษาดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงการบรรเทาอาการเท่านั้น ไม่สามารถหยุดการดำเนินของโรคได้ และไม่มียาที่จะช่วยรักษาให้ข้อที่เสื่อมและผิดรูปไปแล้วกลับมาปกติได้
ควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคเกาต์เทียม?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเกาต์เทียม คือ
- การเกิดข้ออักเสบเฉียบพลันในผู้ป่วยที่เป็นเกาต์เทียมนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับชนิดของอาหารที่กินเหมือนกับในโรคเกาต์ที่จะเกิดอาการข้ออักเสบเฉียบพลันขึ้นมา หากกินอาหารที่มีกรดยูริคในปริมาณสูงเข้าไป ผู้ป่วยโรคนี้จึงไม่จำเป็นต้องควบคุมชนิดของอาหารที่กินเหมือนในโรคเกาต์ เว้นแต่จะเป็นโรคเกาต์ร่วมอยู่ด้วย
- เมื่อเกิดข้ออักเสบเฉียบพลันเกิดขึ้น ควรหยุดพักการใช้งานของข้อนั้นๆ การใช้ความเย็นประคบอาจช่วยลดอาการได้
- ผู้ที่มีอาการปวด บวมของข้อแบบเรื้อรัง ควรพบแพทย์ที่ดูแลเป็นประจำสม่ำ เสมอ เพื่อประโยชน์ในการใช้และปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสม และติดตามอาการรวมทั้งผลข้างเคียงแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นมาได้ ไม่ควรใช้สมุนไพร ยาต้ม ยาลูกกลอน เพราะมักมีสารกลุ่มสเตียรอยด์ผสม ซึ่งการใช้สมุนไพรในช่วงแรกอาจดูเหมือนได้ผลดี แต่หลังจากนั้นจะทำให้เกิด ผลข้างเคียงแทรกซ้อนตามมาอีกมากมาย เช่น กระดูกพรุน กระเพาะอาหารอักเสบก่อให้เกิดแผลและเกิดเลือดออกจากกระเพาะอาหารได้
- หลีกเลี่ยงการกระทำที่ส่งผลให้ข้อต้องรับน้ำหนักหรือได้รับความกระทบกระเทือนมากขึ้น เช่น ไม่ยก ไม่แบกของหนักเกินกำลัง ไม่กระโดดจากที่สูง ไม่ปล่อยให้น้ำ หนักตัวมาก หรือเกิดโรคอ้วน เป็นต้น
- ดูแลรักษา ควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
เมื่อมีอาการปวด และบวมของข้อแบบเฉียบพลัน หรือแบบเรื้อรัง ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและเพื่อการรักษาที่เหมาะสมเสมอ
ป้องกันโรคเกาต์เทียมอย่างไร?
เมื่อดูจากสาเหตุแล้ว การป้องกันโรคเกาต์เทียมเป็นไปได้ยาก อาจลดโอกาสเกิดลงได้บ้าง จากการดูแลรักษา ควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง และเมื่อเป็นโรคแล้ว การกินยาตามแพทย์แนะนำสม่ำเสมอ ถูกต้อง จะช่วยป้องกัน/ลดความรุนแรงของอาการ และช่วยลดโอกาสเกิดการอักเสบเฉียบพลันย้อนกลับเป็นซ้ำลงได้
ที่มา https://haamor.com/th/เกาต์เทียม/