ทั่วไป
โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) และโรคกระดูกบาง (Osteopenia) คือ โรคเกิดจากมีมวลกระดูกลดต่ำลง จนเป็นปัจจัยเสี่ยง หรือ เป็นสาเหตุของกระดูก หักได้สูง เป็นโรคพบได้บ่อยมากโรคหนึ่ง เป็นโรคของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุผู้หญิงพบเกิดได้บ่อยกว่าผู้ชาย ปัจจุบันจัดเป็นอีกโรคที่เป็นปัญหาสาธารณ สุข รวมทั้งในประเทศไทยด้วย
โรคกระดูกพรุนหมายความว่าอย่างไร?
โรคกระดูกพรุน หมายถึง โรคที่มวลกระดูกของร่างกายลดต่ำกว่าค่ามวลกระดูกมาตรฐานซึ่งเรียกว่า ค่า ทีสกอร์ (ค่า T-score ในคนปกติ คือ ไม่ต่ำกว่า 1) ตั้งแต่ 2.5 เท่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (ค่า เอสดี หรือ SD, Standard devia tion) ขึ้นไป หรือ ทางแพทย์ใช้เขียนเป็นตัวเลขตั้งแต่ -2.5 เอสดีขึ้นไป
โรคกระดูกบางหมายความว่าอย่างไร?
โรคกระดูกบาง หมายถึง โรคที่มวลกระดูกของร่างกายลดต่ำกว่าค่ามาตร ฐาน แต่ยังไม่ต่ำถึงค่าที่เป็นโรคกระดูกพรุน ดังนั้นค่ามวลกระดูกของโรคกระดูกบาง จึงอยู่ในช่วง -1 ถึงน้อยกว่า -2.5 เอสดี
ซึ่งโรคกระดูกบางเมื่อปล่อยไว้โดยไม่รักษา จะมีการเสียมวลกระดูกเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นโรคกระดุกพรุน แต่ในบางคนเป็นโรคกระดูกพรุนได้โดยไม่ผ่านการเป็นโรคกระดูกบางก่อน
ดังนั้น เรื่องต่างๆของโรคกระดูกบาง เช่น สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง อาการ และอื่นๆ จึงเช่นเดียวกับโรคกระดูกพรุน ซึ่งในบทนี้ต่อไป จะใช้คำว่า โรคกระดูกพรุน ซึ่งหมายรวมถึง กระดูกบางด้วย
โรคกระดูกพรุนเกิดได้อย่างไร?
กลไกการเกิดกระดูกพรุนที่แน่นอนยังไม่ทราบ แต่ในเบื้องต้นพบว่าเกิดจากการเสียสมดุลระหว่างเซลล์สร้างกระดูกและเซลล์ดูดซึมทำลายกระดูก ซึ่งการมีกระดูกที่แข็งแรง ต้องมีสมดุลระหว่างเซลล์ทั้งสองชนิดนี้เสมอ ซึ่งการเสียสมดุล เกิดได้จากหลายสาเหตุ คือ
- อายุ อายุที่มากขึ้น เซลล์ต่างๆจึงเสื่อมลง รวมทั้งเซลล์สร้างกระดูก การสร้างกระดูกจึงลดลง แต่เซลล์ทำลายกระดูกยังทำงานได้ตามปกติ หรือ อาจทำ งานมากขึ้น
- ภาวะขาดฮอร์โมนเพศ ซึ่งเป็นฮอร์โมนช่วยการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก ดังนั้น โรคกระดูกพรุนจึงพบได้บ่อยในผู้หญิง และโดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนถาวร
- ภาวะขาดอาหารสำหรับการสร้างกระดูกผู้สูงอายุมักขาดอาหารทั้งสามชนิดนี้ การขาดอาหารจะลดการสร้างมวลกระดูก และกระตุ้นให้เซลล์ทำลายกระดูกทำ งานสูงขึ้น อาหารสำคัญของการสร้างกระดูกคือ โปรตีน แคลเซียม และวิตามิน ดี ซึ่ง
- ขาดการออกกำลังกาย การเคลื่อนไหวออกกำลังกายจะกระตุ้นการทำ งานของเซลล์สร้างกระดูก และลดการทำงานของเซลล์ทำลายกระดูก ตรงกันข้าม เมื่อขาดการออกกำลังกาย เซลล์ทำลายกระดูกจะทำงานเพิ่มขึ้น
- พันธุกรรม เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในคนมีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
- โรคต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมนผิดปกติ เช่น โรคต่อมไท รอยด์ทำงานเกิน หรือโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนมีอะไรบ้าง?
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน คือ
- สูงอายุ โดยเฉพาะตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้หญิง เพราะมีการหมดประจำเดือน (หมดฮอร์โมนเพศ)
- ขาดอาหาร ดังกล่าวแล้ว
- ขาดการออกกำลังกาย
- สูบบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ลดการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดตีบ กระดูกจึงขาดอาหารจากขาดเลือดได้ อีกด้วย
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นสาเหตุให้ขาดอาหาร
- มีโรคเรื้อรังต่างๆที่ส่งผลถึงสุขภาพ ซึ่งรวมถึงสุขภาพของกระดูกด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
- มีพันธุกรรมที่คนในครอบครัวเป็นโรคนี้
โรคกระดูกพรุนมีอาการอย่างไร?
โดยทั่วไป โรคกระดูกพรุนไม่ก่ออาการ ยกเว้น เป็นปัจจัยเสี่ยงให้กระดูกหักได้ง่าย ซึ่งถ้าเกิดจากการขาดประจำเดือน มักเกิดกระดูกหักง่ายที่ปลายกระดูกแขน และเกิดการยุบตัวของกระดูกสันหลัง และ/หรือกระดูกสันหลังเสื่อม เกิดการปวดหลังเรื้อรัง ส่วนกระดูกพรุนจากสูงอายุ มักเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อกระดูกสะโพกหัก
แพทย์วินิจฉัยโรคกระดูกพรุนได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคกระดูกพรุน ได้จาก ประวัติอาการ ประวัติเจ็บป่วยต่างๆ ประวัติการออกกำลังกาย อายุ การตรวจร่างกาย และการตรวจมวลกระดูกด้วยเครื่องตรวจมวลกระดูก ซึ่งเป็นเครื่องเอกซเรย์พลังงานต่ำกว่าเอกซเรย์ในการตรวจโรคทั่วไป
ผลข้างเคียงจากโรคกระดูกพรุนมีอะไรบ้าง?
ผลข้างเคียงสำคัญของโรคกระดูกพรุน คือ กระดูกหักง่าย และอาการปวดหลังเรื้อรัง
โรคกระดูกพรุนรุนแรงไหม?
โรคกระดูกพรุน เป็นโรคเรื้อรังที่ถึงแม้ไม่ทำให้เสียชีวิต แต่เป็นเหตุให้คุณภาพชีวิตลดลงอย่างมาก จากผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อกระดูกสะโพกหัก
รักษาโรคกระดูกพรุนได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคกระดูกพรุน คือ เพิ่มการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก และหยุด หรือลดการทำงานของเซลล์ทำลายกระดูก ได้แก่ การกินวิตามิน เกลือแร่เสริมอาหารต่างๆ (ซึ่งควรเป็นการแนะนำขนาดรับประทานโดยแพทย์ เพราะวิตามินเกลือแร่ เมื่อกินมากเกินไปอาจเกิดโทษได้) การใช้ยาหยุดการทำงานของเซลล์ทำลายกระดูก การให้ฮอร์โมนต่างๆทั้งเพื่อเพิ่มการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก และลดการทำงานของเซลล์ทำลายกระดูก และการออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพ
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคกระดูกพรุน คือ การกินวิตามินเกลือแร่เสริมอาหาร และ/หรือ ยาต่างๆตามแพทย์แนะนำ การกินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ครบ ถ้วนทุกวันในปริมาณพอเหมาะที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน การออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ป้องกันโรคกระดูกพรุนได้อย่างไร?
การป้องกันโรคกระดูกพรุน คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วที่หลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะ บุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การออกกำลังกายสม่ำ เสมอตามควรกับสุขภาพ กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน การพบแพทย์เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยกลางคน เพื่อการตรวจสุขภาพ ซึ่งอาจมีการตรวจมวลกระดูกด้วยโดยเฉพาะเมื่อเป็นสตรีในวัยหมดประจำเดือน แต่ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ และการเสริมอาหารด้วยวิตามินเกลือแร่ตามแพทย์แนะนำ
ที่มา https://haamor.com/th/กระดูกพรุน/