เฮอร์แปงไจนา (Herpangina)


1,810 ผู้ชม


บทนำ

ช่วงที่มีโรคมือ เท้า ปาก (Hand, Foot and Mouth disease, HFMD) ระบาด เป็นเวลาที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะวิตกกังวลมาก เพราะกลัวว่าลูกหลานของตนจะเป็นโรคนี้ ทั้งนี้ นอกจากโรคมือเท้าปากแล้ว เรื่องตุ่มหรือแผลในปากโดยเฉพาะที่เพดานปากในเด็กที่พบได้บ่อยๆ อีกโรคหนึ่งคือ เฮอร์แปงไจนา (Herpangina)” ผู้เขียนจึงคิดว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองควรทราบเกี่ยว กับโรคนี้ด้วย

โรคเฮอร์แปงไจนา มักระบาดในช่วงฤดูร้อน และพบบ่อยในเด็กอายุ 3 ถึง 10 ปี เด็กผู้ ชายและเด็กผู้หญิงพบเท่าๆกัน พบน้อยลงในวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาว ไม่ค่อยพบในวัยกลางคน หรือในผู้สูงอายุ

ความชุกและอัตราการเกิดโรคไม่ชัดเจนเนื่องจากอาการของโรคแยกยากจากโรคมือ เท้าปาก จึงมักมีรายงานโรครวมๆกัน

อะไรเป็นสาเหตุของโรคเฮอร์แปงไจนา?

โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในกลุ่มคอกแซกกีไวรัสกรุ๊ปเอ (Coxsackieviruses A sero type 1 ถึง 10, 16 และ 22) นอกจากนี้อาจเกิดจากคอกแซกกีไวรัสกรุ๊ปบี 1 ถึง 5, เอคโคไวรัส (Echovirus กลุ่ม 3, 6, 16, 17, 25 และ 30) รวมทั้งมีข้อมูลว่าเกิดจากเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) ด้วย ในกรณีหลังเป็นการรายงานจากไต้หวัน ไม่ได้แยกโรคมือเท้าปากกับเฮอร์แปงไจนาออกจากกัน

โรคเฮอร์แปงไจนา ติดต่อได้อย่างไร?

โรคเฮอร์แปงไจนาเป็นโรคติดต่อได้ง่ายมาก เป็นโรคติดต่อจากการคลุกคลีกับผู้ป่วย จากน้ำลาย ละอองน้ำมูก น้ำลายจากการไอ จาม จากอุจจาระ และจากมือ เข้าสู่ปาก (Fecal-oral route) ทั้งนี้ผู้ป่วยจะมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 4-14 วัน (ระยะฟักตัวของโรค) ซึ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะแพร่เชื้อได้ตั้งแต่วันแรกที่ติดเชื้อ ไปจนกว่าจะหายจากโรค คือ ประมาณ 1-2 สัปดาห์นับจากติดเชื้อ

โรคเฮอร์แปงไจนามีอาการอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคเฮอร์แปงไจนา มักมีไข้เฉียบพลัน ไข้อาจสูงถึง 41 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ ปวดตามตัว อาจมีอาเจียน และอาการเด่น คือจะมีอาการเจ็บบริเวณเพดานปากและคอนำมาก่อน ต่อมา (ภายใน 1 วัน) จะมีจุดแดงๆบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ และอาจมีตุ่มแดงที่ทอนซิล หรือบริเวณในลำคอด้วยก็ได้

ภายใน 24 ชั่วโมง จุดแดงๆ จะกลายเป็นตุ่มแดงขนาดเริ่มต้น 1-2 มิลลิเมตร แล้วกลาย เป็นตุ่มน้ำขนาด 2-4 มิลลิเมตร อาจเป็นแผลเล็กๆตรงกลางตุ่มน้ำนั้น หรืออาจมีการอักเสบรอบ ๆแผลได้ แผลอาจใหญ่ได้ถึง 10 มิลลิเมตร ส่วนใหญ่ตุ่มน้ำมีจำนวนไม่มาก มักไม่เกิน 6 ตุ่ม แต่ก็อาจพบมากกว่า 15 ตุ่มได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดที่ตุ่มและแผลพอประมาณ อย่างไรก็ตาม ไข้จะลดลงภายใน 2-4 วัน แต่แผลอาจคงอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์

แพทย์วินิจฉัยโรคเฮอร์แปงไจนาอย่างไร?

อาการของโรคเฮอร์แปงไจนา ต้องแยกจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัสที่บริเวณทอน ซิลหรือในลำคอ ได้แก่

  1. การติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสที่ในลำคอและทอนซิล (โรค ต่อมทอนซิลอักเสบ) ซึ่งจะตรวจพบมีอาการแดงที่คอหรือทอนซิล และอาจมีจุดเลือดออกบริเวณคอ (Petechiae) และอาจมีต่อมน้ำเหลืองที่ใต้คาง หรือบริเวณคอโต และเจ็บ อาการทั่วไปจะมีไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อตามตัว
  2. การติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งจะมีตุ่มแดง หรือตุ่มน้ำที่ ริมฝีปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ข้อมือ แขน ขา หรือผื่นบริเวณอื่นๆในปากได้บ้าง (อ่านเพิ่มเติมในเรื่องโรคมือ เท้า ปาก)
  3. การติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ (โรคเริม) ที่เหงือกและในปาก (Herpes sim plex virus gingivostomatitis) ซึ่งจะมีการอักเสบบริเวณส่วนหน้าของช่องปาก โดยเฉพาะด้านในของริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น และอาจมีการอักเสบของเหงือกเด่นชัด ทำให้มีอาการไข้ และมีต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโตขึ้น ซึ่งในเฮอร์แปงไจนามักไม่พบต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
  4. แอฟทัส (Aphthous stomatis) จะเป็นแผลใหญ่บริเวณริมฝีปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม มักพบเป็นๆ หายๆ พบในเด็กโตเด็กวัยรุ่น และผู้ใหญ่ บางทีคนชอบเรียกว่า แผลร้อนใน

ดังนั้น ส่วนใหญ่โรคเฮอร์แปงไจนา แพทย์วินิจฉัยจากอาการ และการตรวจดูลักษณะและตำแหน่งของตุ่มน้ำและแผล ร่วมกับการพิจารณาแยกจากโรคอื่นๆดังกล่าวแล้ว โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องเพาะเชื้อไวรัส ยกเว้นมีกรณีที่สงสัยในการวินิจฉัย

รักษาโรคเฮอร์แปงไจนาอย่างไร?

เนื่องจากโรคเฮอร์แปงไจนามีอาการไม่มาก มักหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ แนวทาง การรักษาคือ การรักษาตาอาการ ได้แก่ การเช็ดตัวเพื่อช่วยลดไข้ ให้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส หรือยาต้านจุลชีพ (ยาปฏิชีวนะ) ยกเว้นในรายที่สงสัยว่ามีอา การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน

การให้ยาชากลั้วปาก อาจช่วยในเด็กโตบางคน แต่ส่วนใหญ่ในการดูแลผู้ป่วยเด็กเล็ก แนะนำให้กินน้ำเย็น นมแช่เย็น หรือไอศกรีม (ทำจากนมแม่แช่เย็นเองเพราะบางทีที่ซื้อไม่สะ อาด เด็กอาจเกิดท้องเสียได้) ผู้ป่วยมักกินได้ดี เนื่องจากความเย็นทำให้ชา ไม่เจ็บเวลากลืน และจะพบอาการ/ภาวะขาดน้ำ ขาดอาหารไม่มาก

อนึ่ง การดื่มน้ำผลไม้ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด จะทำให้มีอาการเจ็บแสบบริเวณแผลมากขึ้น

มีผลข้างเคียงจากโรคเฮอร์แปงไจนาอย่างไร?

เนื่องจากโรคเฮอร์แปงไจนา เกิดจากไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (รวมคอกแซกกีไว รัส) อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง หรืออาการแทรกซ้อนในอวัยวะอื่นโดยเฉพาะที่สมองได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Aseptic meningitis) สมองอักเสบ(Encephalitis) ซึ่งอาจก่อให้เกิดอัม พาตเฉียบพลัน (Acute flaccid paralysis) ได้

เมื่อไรควรนำเด็กพบแพทย์?

ควรรีบนำเด็กพบแพทย์ เมื่อเด็กมีอาการมาก ได้แก่

  1. เมื่ออาการไข้ไม่ลดลงภายใน 5 วัน หรือไข้สูงไม่ยอมลด แม้เช็ดตัว และกินยาลดไข้แล้ว
  2. กินอาหารไม่ได้ มีภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ปัสสาวะน้อยลง
  3. ซึมลง
  4. ไม่แน่ใจว่าลูกเป็นอะไร โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโรคต่างๆ ซึ่งต้องแยกจากโรคอื่นๆ เช่น โรคมือ เท้า ปากหรือมีอาการเจ็บคอมาก ต้องแยกจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดสเตร็ปโคคอคคัสในคอ และทอนซิล (โรคต่อมทอนซิลอักเสบ) ซึ่งต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะให้เพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่ไตหรือหัวใจ

ป้องกันโรคเฮอร์แปงไจนาอย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเฮอร์แปงไจนา ดังนั้น วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ

ล้างมือให้สะอาด ระวังการสัมผัส น้ำลาย น้ำมูก ข้าวของเครื่องใช้ของเด็กที่เป็นโรค ซึ่งรวมทั้งของเล่นต่างๆด้วย

เนื่องจากโรคเฮอร์แปงไจนาเองอาการไม่รุนแรง แต่แยกจากโรคมือ เท้า ปาก ได้ยากในช่วงแรก ซึ่งอาการของตุ่มในปากของโรคมือ เท้า ปาก อาจเกิดในบริเวณอื่นในปากก็ได้ แม้ ว่า โรคมือ เท้า ปาก ส่วนใหญ่อาการไม่มาก แต่มีผู้ป่วยบางส่วนที่อาการมาก (จากเอ็นเทอโรไวรัส 71) การป้องกันโดยวิธีการแบบการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก จึงน่าจะเป็นประโยชน์ พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะอุ่นใจด้วย ซึ่งคือ

  1. ผู้เลี้ยงดูเด็ก และเด็ก ต้องล้างมือให้สะอาด ทั้งหน้ามือ หลังมือ ซอกนิ้วมือ รอบนิ้วมือ เล็บ ข้อมือทั้งสองข้าง หลังขับถ่าย ก่อนปรุงอาหาร หรือรับประทานอาหาร และรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) อย่านำบุตรหลานเข้าไปในที่แออัด เมื่อมีการระบาดของโรค
  2. เมื่อบุตรหลานมีอาการป่วย ควรให้อยู่บ้าน ไม่ควรพาไปสถานเลี้ยงเด็ก โรงเรียน หรือในที่ชุมชน เพราะจะนำโรค ไปแพร่ให้เด็กอื่น
  3. สถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนอนุบาล ควรมีการสอบถามประวัติอาการเด็กที่หน้าโรง เรียนเกี่ยวกับเรื่องไข้ และตุ่มน้ำที่ปาก มือ และเท้า ในช่วงที่มีการระบาดของโรค หากสงสัยโรคเฮอร์แปงไจนา หรือโรคมือ เท้า ปาก ควรให้พ่อแม่ผู้ปกครองพาเด็กกลับบ้าน และไปพบแพทย์ อย่านำเด็กเข้าไปในสถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียน และควรให้ความรู้แก่ครูพี่เลี้ยง พ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับโรค และการป้องกันโรคให้ทราบโดยทั่วกัน
  4. ในสถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนอนุบาล ควรเน้นบุคลากรและเด็กในการดูแลตนเองตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ ควรแยกข้าวของเครื่องใช้ของเด็กแต่ละคนอย่าให้ปะปนกัน เพราะของเล่นต่างๆอาจปนเปื้อนน้ำลาย น้ำมูก หรือสิ่งขับถ่ายของเด็ก ควรหมั่นทำความสะอาดด้วยสบู่ หรือผงซักฟอก แล้วล้างน้ำให้สะอาดและนำไปผึ่งแดดให้แห้ง
  5. การทำความสะอาดพื้น เพื่อฆ่าเชื้อโรค ควรทำความสะอาดด้วยสบู่หรือผงซักฟอกปกติก่อน แล้วตามด้วยน้ำยาฟอกขาว คลอรอกซ์ หรือ ไฮเตอร์ ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วเช็ดด้วยน้ำสะอาดเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง
  6. หากพบเด็กในห้องเรียนเดียวกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเป็นโรคเฮอร์แปงไจนา หรือ โรคมือ เท้า ปาก ควรต้องปิดห้องเรียน หรือโรงเรียน เป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน

ที่มา  https://haamor.com/th/เฮอร์แปงไจนา/

อัพเดทล่าสุด