เอดส์ (AIDS)


1,753 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ทั้งตัว  ระบบโรคติดเชื้อ 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

อ่อนเพลีย  ติดเชื้อง่าย  

โรคเอดส์คืออะไร?

โรคเอดส์ (AIDS) คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ซึ่งย่อมาจากคำว่า Human immunodeficiency virus จัดเป็นไวรัสในกลุ่มรีโทรไวรัส (Retrovirus) โดยถือว่าเมื่อโรคเข้าสู่ระยะที่สามของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีจะเรียกว่าเป็นโรคเอดส์โดยสมบูรณ์แล้ว

คำว่าเอดส์ (AIDS) เป็นชื่อโรคย่อมาจากคำว่า Acquired immunodeficiency syndrome มีความหมายกว้างๆว่า โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องซึ่งไม่ได้เป็นมาตั้งแต่กำเนิด

โรคเอดส์เกิดได้อย่างไร?

โรคเอดส์เป็นโรคที่เกิดต่อเนื่องมาจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ซึ่งระยะที่ 1 ของการติดเชื้อ จะมีอาการเพียงเล็กน้อย ต่อมาระยะที่ 2 ซึ่งเรียกว่าระยะเรื้อรัง ซึ่งระยะที่ 2 นี้จะใช้เวลาประมาณ 7-10 ปีก่อนที่จะเข้าสู่ระยะที่ 3

โดยทั่วไป ถือว่าเมื่อการติดเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งร่างกายจะมีอาการที่เกิดจากเชื้อเอชไอวีเอง จากโรคติดเชื้อฉวยโอกาส (Opportunistic infection) และ/หรือจากโรคมะเร็ง จะเรียกว่าเป็นโรคเอดส์

เหตุผลที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาส และโรคมะเร็งมากขึ้นในโรคเอดส์นั้นเป็นเพราะไวรัสเอชไอวีซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเอดส์นั้น ทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่ำลง เนื่องจากเชื้อไวรัสจะเข้าไปอยู่ในเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด ที-ลิมโฟซัยท์ที่มีซีดี 4 เป็นบวก (CD 4 positive T cell) และจะทำลายเซลล์ชนิดนี้ไปเรื่อยๆ เซลล์ชนิดนี้มีบทบาทสำคัญมากในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ต้านทานโรคของร่างกาย ดังนั้น ร่างกายจะเสียความสามารถในการป้องกันโรคติดเชื้อต่างๆอย่างรุนแรง ผลที่ตามมาคือ เกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสชนิดต่างๆ ซึ่งไม่ค่อยเป็นในคนปกติ เช่น เชื้อราในปอด และ/หรือในสมอง เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังทำให้เกิดโรคมะเร็งในผู้ป่วยมากขึ้น เพราะระบบภูมิคุ้มกันต้านทานได้สูญเสียความสามารถในการเฝ้าระวัง และการกำจัดเซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้นในร่างกาย เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) และโรคมะเร็งของเนื้อเยื่อซึ่งรวมทั้งเนื้อเยื่อหลอดเลือดที่เรียกว่า โรคมะเร็งคาโปสิซาร์โคมา (Kaposi’s sarcoma)

อีกอย่างหนึ่งที่จะเกิดตามมา คือ อาการผิดปกติของสมอง เกิดจากการที่เชื้อไวรัสนี้เข้าไปอยู่ในเซลล์สมองชนิดที่เรียกว่าไมโครเกลีย (Microglia) ซึ่งเซลล์ชนิดนี้จะถูกไวรัสซึ่งเข้าไปอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์ บังคับให้สร้างสารพิษชนิดต่างๆออกมาทำลายเซลล์สมองชนิดอื่นๆได้ การทำงานของสมองที่ผิดปกติไป จะสะท้อนออกมาเป็นอาการผิดปกติต่างๆ เช่น ซึม ชักเอะอะโวยวาย ความจำเสื่อม เป็นต้น

นอกจากเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด CD4 positive T cell แล้ว ไวรัสตัวนี้ยังสามารถเข้าไปอยู่ในเซลล์ชนิดอื่นๆของร่างกายได้อีก เช่น เซลล์ มาโครฟาจ (Macrophage) เดนไดรติคเซลล์ (Dendritic cell) ไมโครเกลียของสมอง (Microglia) และเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดโมโนซัยท์ (Monocyte)

การระบาดของโรคเอดส์

โรคเอดส์ พบครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2524 ในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยผู้ป่วยเป็นชายรักร่วมเพศที่เสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมซิสติสคารินิไอ (Pneumocystis carinii) ผู้ที่สามารถแยกเชื้อไวรัสเอชไอวีได้เป็นคนแรก คือ ศาสตราจารย์โรเบิร์ต กาลโล (Robert Gallo) จากประเทศสหรัฐอเมริกาและศาสตราจารย์ลุค มอนทาเนียร์ (Luc Montagnier) จากประเทศฝรั่งเศส

ส่วนในประเทศไทยนั้น ผู้ป่วยคนแรกเป็นชายอายุ 28 ปี เดินทางไปศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ เริ่มมีอาการในปีพุทธศักราช 2526 รักษาตัวขั้นแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยอาการปอดบวมจากเชื้อนิวโมซิสติสคารินิไอและกลับมาเสียชีวิตที่ประเทศไทย ปัจจุบันเชื้อไวรัสเอชไอวีในประเทศไทยมีอย่างน้อย 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ B ซึ่งแพร่ระบาดในกลุ่มเกย์ และผู้ที่ติดยาเสพติด อีกสายพันธุ์ได้แก่สายพันธุ์ E หรือ A/E ซึ่งแพร่ระบาดจากการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงทั่วไป ในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีในประเทศไทยหลายแสนคน ส่วนใหญ่ได้รับเชื้อไวรัสจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย

ปัจจุบันพบว่าโรคเอดส์ได้ระบาดไปใน 190 กว่าประเทศทั่วโลก จำนวนคนที่ติดเชื้อแล้วมีถึง 60 ล้านคนทั่วโลกในปี ค.ศ.2006 และมีคนที่เสียชีวิตไปแล้วก่อนหน้านั้นไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน บางท่านเปรียบเทียบโรคเอดส์ว่า เปรียบเสมือนกาฬโรคในยุดใหม่ เพราะกาฬโรคซึ่งเคยระบาดในอดีต และทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วหลายล้านคนเช่นกัน มีคนที่ติดเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่ต่ำกว่า 33 ล้านคนทั่วโลก ส่วนใหญ่ประมาณ 65% ของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ อาศัยอยู่ในทวีปอาฟริกา และ 20% อยู่ในทวีปเอเชีย ในปี ค.ศ.2006 เพียงปีเดียว มีผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกประมาณ 2.5 ล้านคน และในปี ค.ศ.2006 นี้ปีเดียวนี้ ก็มีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์มากถึง 2.1 ล้านคนทั่วโลก ปัจจุบัน มียาที่ใช้ควบคุมอาการของโรคเอดส์ที่มีคุณภาพดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยโรคเอดส์มีชีวิตยืนยาวมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มจำนวนของผู้ที่เป็นพาหะของโรคที่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นมากขึ้นด้วยเช่นกัน

โรคเอดส์ติดต่อได้ทางไหน?

โรคเอดส์สามารถติดต่อได้โดยการได้รับเลือด และ/หรือสารคัดหลั่ง (Secretion) เช่นน้ำอสุจิ น้ำเมือกในช่องคลอด จากผู้ที่ติดเชื้อซึ่งมีหลายวิธี ดังต่อไปนี้

  1. ทางการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งเพศสัมพันธ์เพศเดียวกันระหว่างชายรักร่วมเพศ และการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิง การติดต่อทางเพศสัมพันธ์นี้คิดเป็นอัตราประมาณ 78 % ของการติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมด
  2. การใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น (หลอดเลือด) โดยใช้เข็มฉีดร่วมกับคนอื่น ผู้ที่ติดเชื้อโดยวิธีนี้มีประมาณ 20 %
  3. ทางการรับเลือดจากผู้อื่นที่มีเชื้อไวรัสอยู่ ผู้ที่มีความเสี่ยงในกลุ่มนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเลือดเรื้อรังที่ต้องรับเลือดเป็นประจำ เช่น โรคฮีโมฟิเลีย (Hemophilia) หรือผู้ที่รับการปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้ที่ติดเชื้อ การติดเชื้อโดยวิธีนี้มีประมาณ 1.5 %
  4. ติดต่อจากแม่ที่ติดเชื้อสู่ลูก ซึ่งอาจติดต่อได้ทางเลือดจากแม่สู่ลูกโดยตรงผ่านทางรก หรือจากการที่ทารกกลืนเลือดของแม่ระหว่างการคลอด หรือได้รับเชื้อที่อยู่ในน้ำนมแม่ก็ได้
  5. การติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์จากอุบัติเหตุทางการแพทย์ เช่น ถูกเข็มฉีดยา หรือเข็มเจาะเลือดผู้ป่วยตำนิ้วโดยบังเอิญ ซึ่งเคยมีรายงานว่าทำให้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อได้ ถึงแม้จะมีโอกาสน้อยก็ตา
  6. โรคเอดส์ไม่สามารถติดต่อทางยุงกัด หรือการสัมผัสผิวหนังภายนอก เช่น การจับมือ การกอด
  7. เชื้อไวรัสที่ปะปนออกมาในเลือด และในเสมหะที่ออกมาอยู่นอกร่างกายแล้วโดยมากจะมีชีวิตอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง และจะถูกทำลายได้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทั่วไป น้ำยาฟอร์มาลิน น้ำยาแอลกอฮอล์ การตายของเซลล์ที่ตัวไวรัสอาศัยอยู่จากความแห้ง หรือจากแสงแดด ก็จะทำให้เชื้อตายไปด้วยเช่นกัน
  8. การติดเชื้อเอชไอวี จากน้ำลาย หรือ น้ำตา มีโอกาสเกิดได้น้อยมากๆ มักเป็นในกรณี มีเลือดปนสารคัดหลั่งเหล่านี้ด้วย ดังนั้น การจูบปากโดยปิดปาก จึงไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้

ป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ ได้อย่างไร?

การป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีมีหลายวิธี ได้แก่

  1. เมื่อมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ใช่สามี หรือภรรยาของตัวเอง ต้องใช้ถุงยางอนามัยเสมอ ฝ่ายชายจะมีเพศสัมพันธ์กับใครต้องใช้ถุงยางอนามัยให้เป็นนิสัยโดยไม่มีข้อยกเว้น ฝ่ายหญิงจะมีเพศสัมพันธ์กับชายใด ต้องให้ฝ่ายชายใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งโดยไม่มีข้อยกเว้น ถ้าฝ่ายชายไม่ยอมใช้ ต้องปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์โดยเด็ดขาด รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก และทางทวารหนักด้วย ก็ต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเช่นกัน
  2. ฝ่ายชายไม่ควรใช้ปากกับอวัยวะเพศหญิงที่ไม่ใช่ภรรยา เพราะอาจมีเชื้อไวรัสในน้ำเมือกจากช่องคลอดของฝ่ายหญิง ซึ่งถ้าเข้าปากฝ่ายชายแล้ว อาจทำให้ฝ่ายชายติดเชื้อได้ เคยมีรายงานการติดเชื้อโดยวิธีนี้แล้ว ถึงแม้จะไม่มากเท่าการติดเชื้อจากน้ำอสุจิของฝ่ายชายก็ตา
  3. หลีกเลี่ยงการจูบปากกับคนที่ไม่รู้จัก หรือไม่ทราบว่าเป็นพาหะนำเชื้อหรือไม่ ถึงแม้ว่าในน้ำลายจะมีโอกาสน้อยที่จะมีเชื้อไวรัสเอชไอวี แต่ก็ไม่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าบังเอิญมีแผลภายในช่องปากก็อาจเป็นทางเข้าของเชื้อไวรัสได้
  4. อย่าใช้การฉีดยาเสพติดชนิดเข้าเส้น อย่าใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกับคนอื่น
  5. หลีกเลี่ยงการสักตาผิวหนัง การเจาะส่วนต่างๆของร่างกาย เพราะบางแห่งอาจรักษาความสะอาดของเครื่องมือไม่ดีพอ
  6. บุคคลากรทางการแพทย์ ถ้าเกิดอุบัติเหตุเข็มตำ ต้องรีบแจ้งหน่วยที่ดูแลทางการติดเชื้อเพื่อรับยาต้านไวรัสอย่างทันท่วงที วิธีนี้สามารถป้องกันการติดเชื้อได้มาก
  7. ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ยังอยู่ในระยะของการศึกษาวิจัย ยังไม่มีการผลิตออกมาใช้ในวงกว้าง ในระยะใกล้ๆนี้ จึงไม่สามารถใช้วัคซีนในการป้องกันได้
  8. ต้องเตือนตนเองไว้เสมอว่า เราไม่สามารถรู้ว่าใครติดเชื้อไวรัสเอชไอวีจากการดูลักษณะภายนอก คนที่ดูภายนอกสวยงาม หรือหล่อเหลาสะอาดสะอ้านเพียงใดก็ไม่สามารถไว้ใจได้ว่า เขาหรือเธอจะไม่ใช่พาหะนำโรคมาสู่เรา ต้องป้องกันไว้เสมอ
  9. ก่อนแต่งงานกับใคร ต้องตรวจเลือดของผู้ที่จะมาแต่งงานกับเราก่อนเสมอทั้งหญิงและชายว่ามีเชื้อโรคอะไร หรือเป็นพาหะของโรคใด ทั้งนี้ไม่เฉพาะโรคเอดส์แต่รวมถึง โรคซิฟิลิส และโรคไวรัสตับอักเสบ ด้วย

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นเอดส์แล้ว?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นเอดส์แล้ว ได้แก่

  1. ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ให้มากที่สุด
  2. ศึกษาวิธีป้องกันการแพร่เชื้อทั้งเอชไอวีและเชื้อฉวยโอกาส ไปสู่คนอื่น
  3. กินยาต้านไวรัส (Antiretroviral therapy) เป็นประจำ ตรงเวลา และอย่าให้ขาดยา
  4. ป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโรคอื่นๆจากผู้อื่น เช่น ไม่เข้าไปใกล้ชิดกับคนที่กำลังไม่สบาย ใช้หน้ากากอนามัยเสมอ หลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาล หรือในสถานที่มีคนอยู่หนาแน่น
  5. รักษาสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง ผู้ที่ติดเชื้อแล้วจะยังไม่เกิดอาการรุนแรงหรือไม่มีอาการอยู่เป็นเวลานานประมาณ 7-10 ปี บางคนไม่มีอาการผิดปกติเป็นเวลานานกว่า 10 ปีก็มี ในช่วงเวลาเหล่านี้ควรออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ (อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่) พักผ่อนให้เพียงพอ เลิกดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ เลิกพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม (รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน/สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  6. หาวิธีลดความเคร่งเครียดทางจิตใจด้วยวิธีการต่างๆ
  7. เมื่อติดเชื้อแล้วต้องรู้จักวิธีป้องกันการแพร่เชื้อให้คนอื่นด้วย

อนึ่งคนที่ติดเชื้อแล้วควรมีวิธีปฏิบัติตัว ดังนี้ คนที่ติดเชื้อแล้ว สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นๆได้ตลอดไป ถึงแม้จะกินยาควบคุมการเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสอยู่ ก็ยังสามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นๆได้ ดังนั้น

  • ถ้าเป็นเพศชายที่ติดเชื้อ ให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาของตนเอง กับหญิง หรือกับชายอื่น แม้แต่กับผู้ที่ติดเชื้อเหมือนกันก็ต้องใช้ถุงยางอนามัยเช่นกัน เพราะเชื้อที่แต่ละคนมี อาจมีความแตกต่างในสายพันธุ์ ทำให้การตอบสนองต่อยา ความรุนแรงของเชื้อ หรือการดื้อยา แพร่กระจายไปได้ แม้แต่การมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก หรือทางทวารหนัก ก็ต้องใช้ถุงยางอนามัย และห้ามปล่อยน้ำอสุจิเข้าปากให้อีกฝ่ายกลืนเข้าไปโดยเด็ดขาด การจูบปากกับผู้อื่นควรหลีกเลี่ยง ถึงแม้จะมีโอกาสแพร่เชื้อได้ยากกว่าทางอื่น แต่ก็ไม่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเคยมีรายงานการพบเชื้อไวรัสเอชไอวีในน้ำลาย ถึงแม้ปริมาณจะน้อยก็ตาม
  • ถ้าเป็นเพศหญิงที่ติดเชื้อ ต้องให้ชายที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นสามี หรือชายอื่น อย่าให้คู่ที่มีเพศสัมพันธ์ใช้ปากกับอวัยวะเพศของฝ่ายหญิงที่ติดเชื้อ เพราะในน้ำเมือก หรือสารคัดหลั่งจากช่องคลอด สามารถมีเชื้อไวรัสออกมาได้ การมีเพศสัมพันธ์ทางปาก ก็ต้องใช้ถุงยางอนามัยเช่นกัน ควรหลีกเลี่ยงการจูบปากกับผู้อื่น
  • ผู้ติดเชื้อห้ามบริจาคโลหิต (เลือด) ให้ผู้อื่น เพราะในเลือดจะมีเชื้อไวรัสเป็นจำนวนมาก แต่สามารถรับโลหิตจากผู้อื่นได้
  • ผู้ติดเชื้อเพศหญิง ควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ เพราะในช่วงตั้งครรภ์ ร่างกายจะอ่อนแอลง โรคอาจจะกำเริบ และบุตรที่เกิดมาอาจติดเชื้อจากมารดาได้ แต่ในเรื่องการตั้งครรภ์นี้ ยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่บ้าง เพราะบางรายงานบอกว่า ผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการของโรค สามารถตั้งครรภ์ และคลอดได้ตามปกติ
  • เมื่อผู้ติดเชื้อจำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล หรือผ่าตัด หรือคลอดบุตร ควรแจ้งให้บุคลากรทางการแพทย์ทราบว่า ตนเองติดเชื้อ เพราะบุคลากรทางการแพทย์อาจติดเชื้อจากเลือดของท่านได้ ถ้าทราบก่อนจะได้ป้องกันอย่างถูกต้อง
  • เมื่อผู้ติดเชื้อจะแต่งงาน ควรแจ้งให้คู่แต่งงานทราบก่อนว่า เป็นผู้ติดเชื้อ เพื่อจะได้ปฏิบัติตนในการป้องกันให้ถูกต้องต่อไป
  • ผู้ติดเชื้อ ไม่ควรบ้วนน้ำลาย ขากเสมหะในที่สาธารณะทั่วไป ถึงแม้จะไม่ใช่ทางแพร่เชื้อไวรัสเอชไอวี แต่ในน้ำลาย หรือเสมหะนั้น อาจมีเชื้อโรคชนิดอื่นๆ เช่น เชื้อวัณโรค ซึ่งผู้ติดเชื้อมีโอกาสเป็นได้มาก และสามารถแพร่กระจายทางเสมหะได้ ควรใช้หน้ากากอนามัยเวลาที่มีอาการไอ หรือเมื่อเจ็บป่วย

การรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์มีวิธีใดบ้าง?

โรคจากติดเชื้อเอชไอวี และโรคเอดส์ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สามารถควบคุมโรคและทำให้มีชีวิตอยู่ได้นานอย่างคนปกติได้ โดยแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ ได้แก่

  1. การใช้ยายับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส หรือยาต้านเชื้อไวรัส ซึ่งต้องรับประทานไปตลอดชีวิต เรียกว่า Antiretroviral therapy ซึ่งเราสามารถติดตามผลการรักษาได้จากการเจาะเลือดดูปริมาณเม็ดเลือดขาว CD 4 positive T cell ว่า อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ และนับปริมาณไวรัสในเลือดได้โดยตรง (Viral load) ปัจจุบันยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีมีหลายชนิดได้แก่
    • ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์รีเวิสทรานสคริปเตส (Nucleoside analogues Reverse transcriptase inhibitors) เช่น ยาชื่อ Zidovudine (AZT), Didanosine (ddI), Zalcitabine (ddC), Stavudine (d4T), Lamivudine (3TC)
    • ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์รีเวิสทรานสคริปเตสที่ไม่ใช่นิวคลีโอไซด์ (Non-nucleoside reverse transcriptase inhibitors) เช่น ยาชื่อ Delavirdine, Loviride, Nevirapine
    • ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส (Protease inhibitors) เช่น ยาชื่อ Nelfinavir, Indinavir, Ritonavir, Saquinavir

    อนึ่ง หลักการให้ยาต้านไวรัสในปัจจุบัน คือ ต้องให้ยาอย่างน้อย 3 ชนิดโดยใช้ยาในกลุ่ม Nucleoside analogue 2 ตัว ร่วมกับยาในกลุ่ม Non-nucleoside หรือ Protease inhibitor อีก 1 ตัวรวมเป็น 3 ตัว โดยต้องใช้ยาทุกวัน และตรงตามเวลาที่กำหนดโดยเคร่งครัด

  2. การใช้ยารักษาโรคติดเชื้อที่เกิดจากมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง หรือ เชื้อฉวยโอกาส ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ป่วยติดเชื้อชนิดใด เช่น ติดเชื้อวัณโรคก็ให้ยารักษาวัณโรค ติดเชื้อราก็ให้ยารักษาเชื้อรา หรือถ้าเป็นโรคมะเร็งก็รักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น
  3. การให้ยาต้านเชื้อไวรัส อาจให้ได้ในผู้ติดเชื้อ ที่มี CD4+T-cell ต่ำมากๆ หรือมารดาที่กำลังตั้งครรภ์ หรือบุตรที่เพิงคลอดจากมารดาที่มีเชื้อไวรัส ก็ควรได้ยาต้านเชื้อไวรัสตั้งแต่แรกเกิดเช่นกัน
  4. ผู้ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี โรคเอดส์ หรือบุคคลากรทางการแพทย์ที่มีบาดแผลโดยอุบัติเหตุ เช่น เข็มตำ เลือดผู้ป่วยกระเด็นเข้าตา หรือเข้าปาก ควรได้รับยาต้านไวรัสด้วย

โรคเอดส์มีอาการอย่างไร?

อาการของโรคเอดส์จะเกิดขึ้นเมื่อโรคเปลี่ยนจากระยะเรื้อรัง (ระยะที่ 2) เป็นโรค ที่มีอาการ คือ เป็นโรคเอดส์อย่างสมบูรณ์ (ระยะที่ 3) อาการของโรคเอดส์เหล่านี้จะไม่เหมือนกันในผู้ป่วยแต่ละคน และไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ อาการเหล่านี้ ได้แก่

  1. มีไข้เรื้อรังเกิน 1 เดือน โดยมีระดับอุณหภูมิร่างกายไม่ต่ำกว่า 37.8 องศาเซลเซียส ทราบโดยใช้ปรอทวัดไข้(อุณหภูมิร่างกายปกติคือ 37 องศาเซลเซียส) อาการไข้อาจเกิดจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสเรื้อรังบางชนิด เช่นวัณโรคหรือโรคติดเชื้อฉวยโอกาสชนิดอื่นๆ
  2. น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว โดยมากถือเกณฑ์ว่าน้ำหนักตัวลดลงเกิน 10% ของน้ำหนักตัวเดิมภายในเวลา 3 เดือน โดยไม่มีสาเหตุที่อธิบายได้ชัดเจนว่าน้ำหนักลดลงเพราะอะไร
  3. ไอเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุต่อเนื่อง หรือไม่หายขาดนานเกิน 3 เดือน อาการไออาจเกิดจาก วัณโรคปอดปอดบวมจากเชื้อรา เชื้อไวรัส หรือเชื้อฉวยโอกาสชนิดอื่นๆ
  4. ถ่ายอุจจาระเหลวบ่อยๆ (ท้องร่วง/ท้องเสียเรื้อรัง) โดยไม่หายขาดเกิน 3 เดือนเป็นอาการของโรคติดเชื้อฉวยโอกาสในลำไส้
  5. ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอ ขาหนีบ เหนือข้อศอก รักแร้ มีขนาดใหญ่ผิดปกติสามารถคลำต่อมน้ำเหลืองได้ชัดเจนเป็นเวลานานเกิน 3 เดือน อาการต่อมน้ำเหลืองโตอาจเกิดจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาส หรือโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่พบมากขึ้นกว่าในคนปกติ
  6. เกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสในบางอวัยวะ เช่น ลิ้นเป็นฝ้าขาวเรื้อรัง หรือในช่องปากส่วนอื่นๆ ติดต่อกันนานเกิน 3 เดือนซึ่งเป็นอาการของโรคติดเชื้อราแคนดิดา (Candidiasis) หรือเอปสไตน์บาร์ไวรัส หรือ อีบีวี (Epstein-Barr virus, EBV)
  7. โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มีก้อนนูนสีแดงปนม่วงขึ้นตามลำตัว หรือตามแขน ขา ซึ่งเป็นอาการของโรคมะเร็งคาโปสิซาร์โคมา เป็นต้น
  8. มีอาการทางระบบประสาทเช่น อาการชัก แขนขาอ่อนแรง ซึม หลงลืม เอะอะโวยวาย โดยที่ไม่เคยมีอาการเหล่านี้มาก่อน อาการเหล่านี้เป็นอาการทางสมองของโรคเอดส์ ที่เรียกว่า เอดส์ดีเมนเชียคอมเพล็กซ์ (AIDS -dementia complex)
  9. มีผื่นเชื้อรา หรือโรคกลาก เป็นบริเวณกว้าง โรคเริม ที่เป็นอย่างรุนแรง โรคงูสวัด โรคหูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum) และแผลอักเสบเรื้อรัง

อนึ่งอาการเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญในการแยกจากการติดเชื้อระยะที่ 2 เพราะในระยะที่ 2 ของการติดเชื้อมักไม่ค่อยมีอาการแสดงออกมาภายนอกให้ตรวจพบได้ชัดเจนเช่นนี้

แพทย์วินิจฉัยโรคเอดส์ได้อย่างไร?

การวินิจฉัยโรคเอดส์ ขั้นแรกสุด คือ การซักประวัติของผู้ป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งมักจะมีประวัติการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีมาก่อนแล้ว ซึ่งแพทย์สามารถทราบจากการตรวจเลือดว่า มีผลบวกต่อเอชไอวีหรือไม่ แต่ถ้าผู้ป่วยไม่เคยตรวจเลือดมาก่อนการที่ผู้ป่วยมีพฤติกรรมของผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี เช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย การฉีดยาเสพติดเข้าเส้น ก็จะทำให้แพทย์สงสัยว่าอาจจะเป็นผู้ที่ได้ติดเชื้อมาแล้วได้ นอกจากนั้นการตรวจร่างกายมักจะพบอาการแสดงที่บ่งชี้ว่า ผู้ป่วยอยู่ในระยะของการเป็นโรคเอดส์แล้ว ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น

วิธีต่อมา คือ การตรวจเลือดว่า มีภูมิต้านทานต่อไวรัสเอชไอวี (Anti-HIV antibody) เกิดขึ้นหรือไม่ โดยมากการตรวจเบื้องต้นทางห้องปฏิบัติการ จะใช้วิธีที่เรียกว่าอีไลซา (ELISA ย่อมาจาก Enzyme-linked immunosorbent assay) ถ้าเลือดผู้ป่วยมีภูมิต้านทาน (Anti-HIV antibody)เกิดขึ้น เรียกว่า เลือดบวกต่อการตรวจภูมิต้านทานต่อไวรัสเอชไอวี (Anti-HIV – POSITIVE) แสดงว่าผู้ป่วยเคยได้ติดเชื้อมาแล้ว ในการรายงานผล เราไม่ควรเรียกว่าเลือดบวกอย่างเดียวเพราะการตรวจเลือดว่า มีผลบวกหรือลบในทางการแพทย์นั้น สามารถตรวจได้หลายโรค เช่น โรคซิฟิลิส โรคไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น ซึ่งถ้ากล่าวเพียงว่าเลือดบวกจะไม่ทราบว่าเลือดบวกต่อโรคอะไรอาจจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดได้ ถ้าตรวจแล้วไม่พบภูมิต้านทานต่อเชื้อเอชไอวีเราเรียกว่า ผลเลือดเป็นลบต่อการตรวจภูมิต้านทานต่อไวรัสเอชไอวี (Anti-HIV – NEGATIVE) แสดงว่าคนๆนั้นไม่เคยได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายมาก่อนเลย ร่างกายจึงไม่สร้างภูมิต้านทานให้ตรวจพบได้ ผู้ที่ตรวจเลือดครั้งแรกได้ผลบวก โดยมากแพทย์จะให้ตรวจซ้ำอีกครั้งหนึ่งโดยใช้วิธีที่เรียกว่าเวสเทิร์นบลอท (Western blot) หรืออิมมูโนฟลูออเรสเซนส์แอสเส (Immunofluorescence assay) เพื่อให้มั่นใจว่าเลือดให้ผลบวกแน่นอน การตรวจวิธีเหล่านี้มีจุดอ่อนที่ทำให้ผลเป็นลบ ทั้งๆที่ได้รับเชื้อเอชไอวีเข้ามาในร่างกายเรียบร้อยแล้วเมื่อตรวจในช่วงที่ร่างกายยังไม่สร้างภูมิต้านทาน ทั้งนี้เป็นเพราะร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3-12 สัปดาห์ในการสร้างภูมิต้านทาน (ระยะเวลาในแต่ละคนไม่เท่ากัน) ถ้าตรวจเลือดในช่วงนี้จะไม่พบ และจะทำให้เข้าใจผิดว่าไม่ได้ ติดเชื้อ ระยะเวลาช่วงนี้เรียกว่า Window period

การเจาะเลือดเพื่อนับจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิด ทีลิมโฟซัยท์ที่มีซีดี 4 เป็นบวก (CD 4-positive T cell) จะพบว่าจำนวนลดลงมาก เพราะเชื้อไวรัสจะเข้าไปอยู่ในเซลล์ชนิดนี้ และจะทำลายเซลล์ชนิดนี้ไปเรื่อยๆ โดยมากถ้ามีปริมาณของทีลิมโฟซัยท์ที่มีซีดี 4 เป็นบวกลดลงต่ำกว่า 350 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตรในผู้ใหญ่ (ค่าปกติ 600-1200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร) ระดับของ CD4+ T-cell ที่ใช้ในการวินิจฉัยถ้าเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 12 เดือนจะมี CD4+น้อยกว่า 30 % ของเม็ดเลือดขาวทั้งหมด เด็กอายุ12-35 เดือนจะมี CD4+ น้อยกว่า 25% และเด็กอายุ 36-59 เดือนจะมี CD4+ น้อยกว่า 20%

การนับจำนวนของเชื้อไวรัสในเลือด โดยมากเราไม่สามารถนับเชื้อไวรัสโดยตรงได้ แต่เราใช้วิธีนับสารพันธุกรรมที่เรียกว่า อาร์เอ็นเอของไวรัส (Serum HIV RNA) หรือเรียกว่า การตรวจหา Viral load การตรวจหาสารพันธุกรรมนี้ จะทำให้วินิจฉัยโรคได้เร็วกว่าการตรวจหาสารภูมิต้านทานไวรัสเอชไอวี เพราะสามารถพบสารพันธุกรรมของไวรัสนี้ได้ตั้งแต่ 3-5 สัปดาห์หลังติดเชื้อ

การตรวจวิธีอื่นๆ เช่น เอ๊กซเรย์ปอด อาจพบว่า มีความผิดปกติ เช่น วัณโรคปอด ปอดบวมจากเชื้อรา หรือ จากเชื้อฉวยโอกาสชนิดอื่นได้

การตรวจเลือดเพื่อหาหลักฐานการติดเชื้อฉวยโอกาสชนิดอื่นๆ

การตรวจอุจจาระเพื่อหาหลักฐานการติดเชื้อฉวยโอกาสในทางเดินอาหาร

เมื่อติดเชื้อเอชไอวี หรือ เป็นโรคเอดส์แล้ว มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนอะไรได้บ้าง?

เมื่อติดเชื้อเอชไอวี หรือเป็นโรคเอดส์แล้ว มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน ได้ดังนี้

  1. โรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น เชื้อราแอสเปอจิลลัส (Aspergillosis) เชื้อราแคนดิดา (Candidiasis) เชื้อราฮิสโตพลาสโมสิส (Histoplasmosis) เชื้อราเพนนิซิลเลียม (Penicillosis) เชื้อทอกโซพลาสมา (Toxoplasmosis) เชื้อนิวโมซิสตีส (Pneumocystis jiroveci) เชื้อวัณโรค เชื้อไวรัสซัยโตเมกาโลไวรัส (Cytomegalovirus หรือ CMV) เชื้อไวรัสเริม (Herpes simplex) เชื้อไวรัสงูสวัด (Herpes zoster) เป็นต้น ซึ่งเชื้อฉวยโอกาสเหล่านี้มักจะทำให้เกิดการติดเชื้อที่อวัยวะภายใน เช่น ปอด สมอง ตับ ไต ต่อมน้ำเหลือง และมักจะมีความรุนแรงของโรคมากกว่าปกติ รักษายากกว่าปกติเพราะร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่จะต่อสู้กับเชื้อฉวยโอกาสเหล่านี้ ยาที่จะใช้รักษาก็มักมีผลข้างเคียงหลายอย่าง โดยมากโรคแทรกซ้อนเหล่านี้จะเกิดภายในเวลา 7-10 ปี นับตั้งแต่เริ่มติดเชื้อไวรัส แต่ผู้ป่วยบางคนก็มีอาการเร็วกว่านั้น เช่น เกิดอาการน้ำหนักลด ต่อมน้ำเหลืองโต ติดเชื้อฉวยโอกาสภายในเวลา 2-3 ปีนับจากได้รับเชื้อได้ แต่เป็นส่วนน้อย
  2. โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคมะเร็งคาโปสิซาร์โคมา รวมทั้งโรคมะเร็งชนิดอื่นๆด้วย เช่น โรคมะเร็งปากมดลูกโรคมะเร็งไต และโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น มีสมมุติฐานว่าระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค จะคอยทำลายเซลล์มะเร็งที่เกิดในร่างกายตลอดเวลา เมื่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เซลล์มะเร็งก็มีโอกาสเจริญแบ่งตัวมากขึ้น จนกลายเป็นก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ได้
  3. โรคแทรกซ้อนทางสมอง (AIDS-dementia complex)ได้แก่ อาการที่เกิดจากเชื้อไวรัสทำลายเนื้อสมองจากการที่เชื้อไวรัสเข้าไปอยู่ในเซลล์ของสมองชนิดไมโครเกลีย ไวรัสจะทำให้เซลล์ไมโครเกลียนี้ ปล่อยสารเคมีออกมาหลายชนิด เช่น อินเตอลูคิน 1 และ 6 (Interleukin 1,6) สารทีเอ็นเอฟ (TNF-tumor necrotic factor) ซึ่งสารเหล่านี้จะทำลายเซลล์สมองส่วนอื่นๆด้วย ผู้ป่วยอาจมีอาการทางสมองได้หลายอย่าง เช่น ซึม โวยวาย ความจำเสื่อมหมดสติ ชัก และ/หรือ อาการคล้ายโรคจิต เป็นต้น

เมื่อเป็นเอดส์ควรพบแพทย์เมื่อใด?

ถ้าทราบอยู่แล้วว่าติดเชื้อไวรัสเอชไอวีแต่ยังไม่มีอาการ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัสตามนัดโดยสม่ำเสมอ อย่าให้ขาดยาโดยเด็ดขาด เพราะเชื้อจะเกิดดื้อยา และยาที่เคยใช้ได้ผล จะไม่ได้ผลอีกต่อไป

ถ้ามีอาการผิดปกติจากเดิมเกิดขึ้น เช่น น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ต่อมน้ำเหลืองโตหลายแห่งทั่วตัว มีไข้เรื้อรัง ท้องเสียเรื้อรัง มีฝ้าขาวที่ลิ้น มีผื่นหรือเชื้อราตามผิวหนัง มีโรคงูสวัด แขนขาอ่อนแรง หรืออาการชัก อาการเหล่านี้เป็นอาการของโรคเอดส์ ควรไปพบแพทย์ทันที

อนึ่ง ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ถ้าเกิดตั้งครรภ์ควรไปพบแพทย์ทันทีเช่นกัน

ญาติที่ดูแลผู้ป่วยเอดส์และตัวญาติเองควรปฏิบัติตัวอย่างไร?

การปฏิบัติตัวต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ ควรทำเหมือนปกติ ให้กำลังใจ อย่าแสดงท่ารังเกียจ นอกจากนั้น ที่สำคัญ ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ติดเชื้อจากผู้ป่วยได้
  • เวลาทำความสะอาดให้ผู้ป่วย เช่น อาบน้ำ เช็ดตัว เช็ดล้างอุจจาระ ปัสสาวะ อาเจียน ทำแผล เปลี่ยนเสื้อผ้า ควรใส่ถุงมือยางชนิดใช้แล้วทิ้ง ล้างมือทุกครั้งหลังการดูแลผู้ป่วย ถ้าไม่ได้ใส่ถุงมือให้ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสดูแลผู้ป่วย
  • รับประทานอาหารร่วมกันได้ แต่ควรใช้ช้อนกลางตักกับข้าว
  • รักษาอนามัยส่วนบุคคลให้ดี ล้างมือบ่อยๆ
  • ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับยาต้านเชื้อไวรัสอย่างสม่ำเสมอ พาไปพบแพทย์ตามกำหนด การรับประทานยาต้องตรงเวลาในแต่ละครั้งตามที่แพทย์กำหนด การกินยาผิดเวลาจะทำให้เชื่อดื้อยาได้
  • ไม่จำเป็นต้องแยกห้องน้ำ ห้องส้วม
  • หาความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ เช่น ควรรู้ว่าโรคนี้ไม่สามารถติดต่อทางยุง หรือการสัมผัสเนื้อตัวภายนอก เป็นต้น
  • ถ้ามีการสัมผัสกับเลือด เสมหะ น้ำหนองจากบาดแผลของผู้ป่วยกับผิวหนังของผู้ดูแลที่มีบาดแผล หรือเลือดเข้าปาก เข้าตาโดยบังเอิญ ควรรีบไปพบแพทย์เพราะอาจมีความจำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส

เป็นเอดส์แล้วตั้งครรภ์ได้ไหม? ถ้าตั้งครรภ์ควรทำอย่างไร?

คนที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีในระยะที่ยังไม่เป็นโรคเอดส์ สามารถตั้งครรภ์ได้ แต่ก็มีผู้ให้เหตุผลว่า ไม่ควรตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้โรคในมารดากำเริบได้ และทารกมีโอกาสที่จะติดเชื้อจากมารดาในอัตราตั้งแต่ 15-40% และถ้ามารดาเกิดเป็นโรคเอดส์เสียชีวิตในเวลาต่อมาใครจะดูแลบุตรต่อไปในอนาคต

ถ้าเป็นระยะที่เป็นโรคเอดส์แล้ว ไม่ควรตั้งครรภ์อย่างยิ่ง เพราะร่างกายของมารดาจะอ่อนแอมากและมีการติดเชื้อฉวยโอกาสหลายชนิด ซึ่งอาจติดต่อไปถึงทารกในครรภ์ได้ เช่น ไวรัสซีเอ็มวี (CMV-cytomegalovirus) เป็นต้น

ที่สำคัญ คือ ทารกในครรภ์มีโอกาสติดเชื้อจากมารดาได้ โอกาสของการติดเชื้อของทารก มีรายงานว่าอยู่ระหว่าง 15-40 % ดังกล่าวแล้ว มารดาควรฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ และบางครั้งแพทย์อาจให้ยาต้านเชื้อไวรัสในระหว่างการตั้งครรภ์เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของทารกด้วย การให้ยาต้านเชื้อไวรัสแก่มารดาในระหว่างตั้งครรภ์นี้ ทำให้การติดเชื้อของทารกลดลงมากจนเหลือเพียงประมาณ 8%

  • ทารกที่คลอดจากมารดาที่ติดเชื้อจะได้รับยาต้านไวรัสเพื่อลดอัตราการติดเชื้อในทารก
  • เมื่อคลอดทารกแล้ว ไม่ควรเลี้ยงด้วยนมของมารดาที่ติดเชื้อ เพราะเชื้ออาจอยู่ในน้ำนมได้ถึงแม้จะไม่มากก็ตาม ซึ่งทารกที่รอดจากการติดเชื้อในครรภ์ และจากระหว่างการคลอดมาได้ อาจจะมาติดเชื้อจากนมมารดาได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้นควรเลี้ยงทารกด้วยนมชนิดอื่นที่ไม่ใช่นมจากมารดา

สามี ภรรยา และลูกๆควรทำอย่างไร?

การดูแลครอบครัวผู้ป่วย ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยเอดส์ต้องไม่ปิดบังความจริงจากคู่ครอง และทำทุกวิถีทางที่จะไม่ให้คู่ครองติดเชื้อได้ ในความเป็นจริงกรณีนี้ มักเกิดจากฝ่ายชายที่ไปเที่ยวสำส่อนนอกบ้านจนติดโรคแล้ว นำมาแพร่เชื้อให้ภรรยาที่บ้านโดยภรรยาไม่รู้ตัวและไม่เคยคิดป้องกันการติดเชื้อที่มาทางสามีเลย เพราะไม่ทราบว่าสามีไปมีเพศสัมพันธ์กับหญิงอื่นนอกบ้าน กว่าจะทราบก็ติดเชื้อไปแล้ว

  • ถ้าสามีเป็นฝ่ายติดเชื้อ การมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาทุกครั้งต้องใช้ถุงยางอนามัยตลอดไปและปรับพฤติกรรมที่อาจจะแพร่เชื้อให้ภรรยาได้
  • ถ้าภรรยาติดเชื้อจากสามีแล้ว ก็ต้องใช้ถุงยางอนามัยเช่นกัน เพื่อไม่ให้ภรรยารับเชื้อไวรัสเพิ่มเข้าไปอีก และต้องไปรับการรักษารับยาต้านเชื้อไวรัสทั้งสามีและภรรยาตลอดไป
  • บุตรของผู้ที่เป็นเอดส์สามารถใช้ชีวิตในบ้านเดียวกับพ่อแม่ที่เป็นเอดส์ได้ตามปกติ แต่ก็ต้องปฏิบัติตนในการรักษาอนามัยส่วนบุคคลเช่นเดียวกับผู้ที่ดูแลผู้ป่วยเช่นกัน

อะไรเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญของผู้ป่วยโรคเอดส์?

สาเหตุการตายที่สำคัญที่สุดของผู้ป่วยเอดส์ คือ ตายจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสในอวัยวะสำคัญต่างๆ เช่น โรคปอดบวมจากเชื้อราชนิดต่างๆ วัณโรคที่แพร่กระจายไปทั่วร่างกาย และโรควัณโรคชนิดอื่นๆในเกือบทุกอวัยวะของร่างกาย เป็นต้น

อาจตายจากโรคเอดส์เอง คนที่เป็นโรคเอดส์เรื้อรังนานๆ ร่างกายจะผอมลงเรื่อยๆ การทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ เช่น สมองทางเดินอาหารจะค่อยๆเสียไป มีอาการทางสมองช่วยตัวเองไม่ได้

อาจตายจากโรคมะเร็งชนิดต่างๆที่เกิดขึ้น

เด็กที่เป็นเอดส์ ควรทำอย่างไร?

เด็กที่เป็นเอดส์ส่วนใหญ่ จะติดเชื้อมาจากมารดาตั้งแต่แรกเกิด ถ้าไม่ได้รับการรักษา ส่วนใหญ่เด็กจะเสียชีวิตจากโรคเอดส์ภายใน 3-5 ปี ปัจจุบันเด็กที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านเชื้อไวรัสเพื่อที่จะทำให้มีชีวิตยืนยาวต่อไปได้ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ก็ตาม

ทำไมยังมีคนเป็นเอดส์อยู่มากทั้งๆที่รู้ว่าเกิดจากอะไร?

ปัจจุบันการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีจะเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยระหว่างชายกับหญิงมากที่สุด ซึ่งความประมาทหรือละเลยในการใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้โรคเอดส์ยังคงระบาดอยู่ โดยเฉพาะในคนอายุน้อย หรือในวัยรุ่น ส่วนการติดเชื้อในเด็กจะตามมาจากการติดเชื้อของมารดา

การลดจำนวนคนเป็นเอดส์ คือ ต้องส่งเสริมให้ชายหญิงมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย (Safe sex) ใช้ถุงยางอนามัยจนเป็นนิสัย รวมถึงการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อทุกชนิด ซึ่ง คือการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) นั่นเอง
ที่มา   https://haamor.com/th/เอดส์/

อัพเดทล่าสุด