นิยามสายตายาว
สายตายาว (farsighted) เป็นภาวะที่กำลังหักเหแสงของ กระจกตาและของ แก้วตา มีน้อยเกินไป หรือ ลูกตาเล็กเกินไป ทำให้แสงจากวัตถุทั้งระยะไกลและใกล้ ไม่ไปโฟกัสบนจอประสาทตา (จอตา) กลับไปโฟกัสหลังลูกตา หรือ หลังจอประสาทตาแทน จึงทำให้ผู้นั้นมองไม่ชัดทั้งไกลและใกล้
ผู้ที่สายตายาว มักจะมีดวงตาที่เล็ก แม้แต่กระจกตาก็อาจจะมีขนาดเล็กกว่าคนทั่วไปเล็กน้อย ดวงตาที่เล็กยังทำให้ผู้ที่สายตายาวมีโอกาสเกิด ต้อหินเฉียบพลันขึ้นได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
คำว่า สายตายาว ในทางการแพทย์หมายถึง อาการสายตายาวที่เกิดตั้งแต่อายุยังน้อย ยังไม่ถึงวัยสูงอายุ (เมื่อสูงอายุมากตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป และมีสายตายาวเกิดขึ้น ทางแพทย์เรียกว่า สายตาผู้สูงอายุ) แก้ไขด้วยแว่นเลนส์นูน ซึ่งเป็นการเพิ่มกำลังหักเหของแสง และต้องใช้แว่นทั้งชนิดมองไกล และชนิดมองใกล้ ซึ่งต่างจากสายตาผู้สูงอายุ ที่แก้ไขด้วยเลนส์นูนเหมือนกัน แต่ใช้เฉพาะมองใกล้เท่านั้น
โดยความเป็นจริง ผู้ที่สายตายาว จะมองชัดหรือไม่ ขึ้นกับขนาดสายตาที่ยาว และ กำลังการเพ่งของตา (กำลังการปรับรูปร่างของแก้วตา) ซึ่งขึ้นกับอายุ
ตัวอย่างเช่น กำลังหักเหแสงของคนปกติประมาณ 63 ไดออปเตอร์ (เกิดจากกระจกตา 43 ไดออปเตอร์ และจากแก้วตา 20 ไดออปเตอร์) ถ้าผู้ป่วยมีกำลังหักเหของแสงเพียง 60 ไดออปเตอร์ ขาดไป 3 ไดออปเตอร์ หรือมีสายตายาว 3 ไดออปเตอร์ ในขณะที่มีอายุ 10 ปี มีกำลังเพ่งปกติสูงถึง 8 ไดออปเตอร์ ซึ่งหมายถึง สามารถเพิ่มกำลังของแก้วตา จาก 20 เป็น 28 ไดออปเตอร์ แต่ผู้ป่วยออกกำลังเพ่งเพิ่มเพียง 3 ไดออปเตอร์ จากมีสายตายาว 3 ไดออปเตอร์ ก็พอชดเชยความผิดปกติได้ เพราะทำให้กำลังหักเหแสงโดยรวมเป็น 63 ไดออปเตอร์ตามปกติ ผู้ป่วยจึงมองเห็นเป็นปกติ ไม่ต้องใช้แว่น เมื่ออายุมากขึ้นเป็น 20 ปี กำลังเพ่งลดลงบ้าง (กำลังเพ่งจะลดลงตามอายุ) อาจจะยังเพ่งเพิ่มได้ถึง 4 ไดออปเตอร์ ก็ยังเห็นชัดอยู่ แต่เมื่ออายุ 40 ปี กำลังเพ่งลดลงไปอีกและมีไม่ถึง 3 ไดออปเตอร์ คราวนี้สายตาจะมัวลง เป็นต้น
คนสายตายาวมีอาการอย่างไร?
อาการพบบ่อยของคนสายตายาว ได้แก่
- มองภาพไม่ชัด ขึ้นอยู่กับความยาวของสายตาและกำลังเพ่งที่มี ตามที่กล่าวแล้ว ถ้าสายตายาวมาก และกำลังเพ่งเหลือน้อยก็จะมองภาพไม่ชัด แต่ถ้ากำลังเพ่งยังมีมาก สายตาอาจปกติ
- มองใกล้ไม่ชัดเร็วกว่าวัยปกติ หรือนัยหนึ่ง มีอาการของสายตาผู้สูงอายุเร็วกว่าคนทั่วไป กล่าวคือ คนทั่วไปจะมีภาวะสายตาผู้สูงอายุ เมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ผู้ที่มีสายตายาวอยู่ก่อนแล้ว อาจจะเกิดภาวะสายตาสูงอายุเมื่ออายุเร็วกว่า อาจเป็น 37 ปี โดยในระยะแรก การมองใกล้ไม่ชัดมักเกิดเมื่อร่างกายอ่อนล้า เช่น ทำงานมาแล้วทั้งวัน หรือ เมื่อแสงไม่พอ
- ปวดศีรษะ มักจะปวดบริเวณหน้าผาก และอาการมากขึ้นเมื่อใช้สายตามากขึ้น จึงมักไม่มีอาการในตอนเช้า แต่จะปวดหัวในตอนเย็น และถ้างดใช้สายตามองใกล้ อาการปวดจะหายไป
มีผู้ป่วยบางรายมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดศีรษะเรื้อรัง เป็นที่ทราบดีว่าอาการปวดศีรษะเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่จากสายตามักจะคิดถึงน้อย ทำให้ผู้ป่วยไปรับการตรวจทางระบบประสาทอยู่นาน จนหมดกำลังใจที่จะรับการตรวจอีกแล้ว บางรายได้รับยามามากหลายชนิด อาการปวดศีรษะยังไม่หาย แต่มาหายอย่างปลิดทิ้งเมื่อตรวจพบสายตายาวและได้รับการแก้ไข - ไม่สบายตา อาจเรียกอีกคำว่า เมื่อยตา หรือ ตาล้า ผู้ป่วยอาจจะบอกว่า เมื่อมองภาพต้องใช้เวลาถึงจะชัด โดยเฉพาะมองภาพที่เคลื่อนไหว เช่น การดูภาพยนตร์ จะมีอาการปวด และเมื่อยตาได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
- สู้แสงไม่ได้ หรือ มีความไวต่อแสงมากกว่าคนปกติ มีผู้ป่วยสายตายาวหลายรายมาด้วยอาการนี้ เมื่อแก้ไขสายตายาวให้แล้ว อาการสู้แสงไม่ได้ก็หายไปด้วย
- บางคนอาจมาด้วยมองเห็นวัตถุเป็นสองสิ่ง เนื่องจากต้องเพ่งตามากทำให้ลูกตามารวมกันตรงกลาง
- ตาเข เด็กที่มีสายตายาวขนาดปานกลาง ทำให้ต้องเพ่งตามากตลอดเวลา ตาจึงเขเข้าใน แต่หากสายตายาวมากเด็กเพ่งไม่ไหวจึงเลิกเพ่ง จึงไม่เกิดตาเข ส่วนเด็กที่สายตายาวไม่มาก ใช้กำลังเพ่งไม่มาก ตาจึงไม่เข ซึ่งโดยทั่วไปเด็กเกิดใหม่จะมีสายตายาว หลังจากนั้นเมื่อเด็กโตขึ้นความโค้งของกระจกตา ตลอดจนขนาดลูกตาค่อยๆ เปลี่ยนไป เพื่อไปสู่สายตาปกติเป็นส่วนใหญ่
มีวิธีแก้ไข(รักษา) สายตายาวอย่างไร?
ไม่มีกฎตายตัวลงไปว่าสายตายาวเท่าไร ควรแก้ไข และสายตายาวเท่าไร ไม่ต้องแก้ไข ในคนสายตายาวหากพบว่ามีภาวะตาเขเข้าในด้วย ให้สันนิษฐานว่าตาเขเข้าในนั้นเกิดจากสายตายาว ทำให้เด็กต้องเพ่งตาตลอดเวลาเป็นเหตุให้ตาหมุนเข้าใน ในกรณีเช่นนี้ต้องแก้ไขด้วยใส่แว่น เพื่อเด็กไม่ต้องเพ่งอีก
ในกรณีที่สายตายาวโดยไม่มีตาเขร่วมด้วย จะตัดสินใจใช้แว่นแก้ไขหรือไม่ขึ้นอยู่กับการใช้สายตาของผู้ป่วย ถ้าใช้สายตามากอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตา ก็ควรแก้ไข หากไม่มีอาการ ก็อาจปรับดูจากดวงตาเอาเอง หรือ ถ้าสายตายาวแต่การมองเห็นยังไม่บกพร่อง ยังไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในชีวิตประจำวันก็อาจไม่ต้องแก้ไข
อนึ่ง การวัดสายตาดูว่าสายตายาวเป็นเท่าไรในเด็กที่มีสายตายาวมักจะมีปัญหา การวัดทำได้ไม่แม่นยำ โดยเฉพาะการวัดด้วยคอมพิวเตอร์ เนื่องจากเด็กมักจะเพ่งสายตาจนเป็นนิสัย ขณะเด็กเพ่งจะวัดสายตาออกมาเป็นสั้นกว่าปกติ สายตายาวจึงอาจออกมาเป็นสายตาปกติได้ หรือแม้แต่ สายตาปกติอาจกลายเป็นสายตาสั้น หรือถ้ามีสายตาสั้นเล็กน้อย อาจจะกลายเป็นสายตาสั้นมาก
การวัดสายตาในเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตัดแว่นครั้งแรก ควรจะวัดสายตาในขณะที่เด็กไม่เพ่ง โดยการใช้ยาหยอดตา ซึ่งจะขจัดความสามารถในการเพ่งออกไป ได้แก่ การใช้ยาซึ่งทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้เพ่งเกิดเป็นอัมพาตชั่วคราว
อีกประการหนึ่ง การตัดแว่นสายตายาวให้แก่ผู้ป่วยคู่แรกไม่ว่าในเด็ก หรือ คนโตแล้ว มักจะมีปัญหา เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะเพ่งสายตาจนเคยชิน เมื่อตัดแว่นเท่าที่วัดได้ จึงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่ามองไม่ชัด จำเป็นต้องมีการอธิบาย และอาจต้องปรับแว่นใหม่ที่เหมาะสม
ควรพบหมอตาเมื่อไร?
เมื่อมองภาพไม่ชัด หรือ มีการมองเห็นผิดปกติไปจากเดิม ควรพบหมอตา (จักษุแพทย์)ก่อนเสมอ เพื่อตรวจให้แน่ชัดว่ามีสาเหตุจากอะไร เพื่อการรักษาได้ถูกต้อง ไม่ควรไปร้านตัดแว่นเลย
ที่มา https://haamor.com/th/สายตายาว/