ไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis)


1,343 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ตับ  ระบบทางเดินอาหาร 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

คลื่นไส้  อ่อนเพลีย 

ทั่วไป

ไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis) คือ โรคเกิดจากการอักเสบของเซลล์ตับ จากติดเชื้อไวรัสในกลุ่ม ไวรัสตับอักเสบ (เฮปาไตติสไวรัส/Hepatitis virus) โดยการติดเชื้อส่วนใหญ่ เป็นการอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งเมื่อหายแล้ว ร่างกายมักฟื้นกลับเป็นปกติ หรือบางคน (เป็นส่วนน้อย) โรคไม่หาย กลายเป็นการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งมักเกิดโรคตับแข็ง ตามมา แต่บางคนมีเชื้อไวรัสนี้อยู่ในตัวโดยไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ เรียกว่า เป็นพาหะโรค (Carrier)

ไวรัสตับอักเสบเป็นโรคติดเชื้อที่พบบ่อยโรคหนึ่ง พบได้ในทุกอายุ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ โดยโอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย

ไวรัสตับอักเสบ จัดเป็นโรคติดต่อ บางชนิดติดต่อทาง ทางเดินอาหาร เช่น ไวรัสตับอักเสบ เอ บางชนิดติดต่อทางสารคัดหลั่งซึ่งรวมทั้งเลือดน้ำเหลืองและทางเพศสัมพันธ์ เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี บางชนิดติดต่อจากการได้รับเลือดในการรักษาโรคต่างๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี และไวรัสตับอักเสบ ซี และบางชนิดติดต่อจากแม่สู่ลูกจากการคลอดบุตร เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี

ไวรัสตับอักเสบมีกี่ชนิด?

ไวรัสตับอักเสบมีหลายชนิด หรือ หลายสายพันธุ์ย่อย กล่าวคือ มีตั้งแต่ไวรัสตับอักเสบ ชนิด เอ ไล่ไปจนถึง ชนิด เอช และยังมีอีกหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยและเป็นปัญหาทางสาธารณสุขสำคัญ คือ ไวรัสตับอักเสบ เอ ไวรัสตับอักเสบ บี และไวรัสตับอักเสบ ซี โดยไวรัสตับอักเสบทุกชนิดให้อาการคล้ายคลึงกัน แต่แยกจากกันโดยการตรวจเลือดดูภูมิต้านทานโรคต่อเชื้อชนิดต่างๆ

ไวรัสตับอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการของไวรัสตับอักเสบทุกสายพันธุ์ หรือทุกชนิด คล้ายกัน มีได้ตั้งแต่อาการน้อยไปจนถึงอาการมาก ขึ้นกับ ปริมาณไวรัสที่ร่างกายได้รับ และสุขภาพดั่งเดิมของผู้ป่วย

อาการพบบ่อยของไวรัสตับอักเสบ ได้แก่

แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบได้จาก ประวัติอาการของผู้ป่วย ประวัติการสัมผัสโรค (เช่น การกินอาหาร การได้รับเลือด การระบาดของโรคในที่ทำงาน การมีเพศสัมพันธ์สำส่อน หรือ การใช้ยาเสพติด) การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูการทำงานของตับ และ การตรวจเลือดดูภูมิต้านทานแยกว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดใด และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

รักษาโรคไวรัสตับอักเสบได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบทุกชนิด เป็นการรักษาประคับประคองตาอาการ ไม่มีการรับประทานยาปฏิชีวนะเพราะยาปฏิชีวนะ ฆ่าได้เฉพาะแบคทีเรีย แต่ฆ่าไวรัสไม่ได้ การดื่มน้ำสะอาดในปริมาณมากกว่าปกติ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว (เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม) และพักผ่อนให้มากๆ ร่างกายจะค่อยๆฟื้นตัว หายได้เอง หรือ อาจมีการใช้ยาเพิ่มภูมิต้านทาน และการใช้ยาอื่นๆ โดยเฉพาะในโรคชนิดเรื้อรัง ทั้งนี้ขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และดุลพินิจของแพทย์

โรคไวรัสตับอักเสบรุนแรงไหม? รักษาหายไหม?

ความรุนแรงของโรคไวรัสตับอักเสบ ขึ้นกับชนิดของไวรัส ปริมาณไวรัสที่ร่างกายได้รับ และสุขภาพเดิมของผู้ป่วย โดยทั่วไป เป็นโรคไม่รุนแรง รักษาหายได้ แต่ในรายที่รุนแรง เซลล์ตับจะมีการอักเสบ ถูกทำลายมาก จนเป็นผลให้ตับวาย และ เสียชีวิตได้เฉียบพลัน หรือ กลายเป็นไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง หรือ โรคตับแข็ง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคมะเร็งตับ

ควรดูแลตนเองอย่างไร? เมื่อไรจึงควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ อาการของไวรัสตับอักเสบ ควรพบแพทย์เสมอเมื่อดูแลตนเองแล้ว อาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน โดยเฉพาะ เมื่อมีไข้สูง กิน หรือ ดื่มน้ำได้น้อยจากคลื่นไส้มาก อาเจียนมาก หรือ เจ็บใต้ชายโครงขวามาก หรือ ปวดท้องมาก หรือมีตา/ตัวเหลือง

ส่วนการดูแลตนเองหลังพบแพทย์แล้ว ที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ
  • พักผ่อนเต็มที่ ควรหยุดงาน หยุดโรงเรียนตามแพทย์แนะนำ
  • ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้วเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • กินยาบรรเทาอาการต่างๆตามแพทย์แนะนำ
  • กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ แต่ควรเป็นอาหารอ่อนย่อยง่าย เพิ่มผัก ผลไม้ให้มากๆ
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดเพราะจะเพิ่มการทำลายเซลล์ตับ
  • ไม่ซื้อยากินเอง เพราะอาจส่งผลให้ตับอักเสบเพิ่มขึ้น หรือ อาจมีผลข้าง เคียงจากยาเพิ่มขึ้น เพราะตับไม่สามารถกำจัดยาส่วนเกินออกจากร่างกายได้ตามปกติ
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร และหลังการขับถ่าย
  • แยกเครื่องใช้ ของใช้ส่วนตัว โดยเฉพาะแก้วน้ำ และช้อน
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง ลดความรุนแรงของโรค และลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
  • พบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือ เมื่ออาการต่างๆเลวลง และควรรีบพบแพทย์เป็นการฉุกเฉินเมื่อ กิน/ดื่มไม่ได้ หรือ เกิดอาการสับสน หรือ ซึมลง เพราะอาจเป็นอาการของตับวาย

ป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบได้อย่างไร?

การป้องกันไวรัสตับอักเสบที่สำคัญ คือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ และเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง
  • ล้างมือให้สะอาดเสมอ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร และหลังการขับถ่าย
  • กินแต่อาหารสุก สะอาด ดื่มน้ำสะอาด ระวังการกินน้ำแข็ง และอาหารสุกๆดิบๆ
  • รักษาความสะอาดแก้วน้ำ และช้อนเสมอ
  • ระมัดระวังการสัมผัสเลือด และสารคัดหลั่งของบุคคลอื่น โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือบางอย่างร่วมกัน เช่น เข็มฉีดยา เครื่องมือสักตามร่างกาย และกรรไกรตัดเล็บ
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบชนิดมีวัคซีน เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบ บี (ปรึกษาแพทย์ในเรื่องการฉีดวัคซีน)

ที่มา   https://haamor.com/th/ไวรัสตับอักเสบ/

อัพเดทล่าสุด