โรคเท้าปุก (Clubfoot)


1,324 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

เท้า  ระบบกระดูกและข้อ 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

เท้าพิการแต่กำเนิด 

บทนำ

เท้าปุก (Clubfoot) ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง เท้าที่พิการมีรูปดังกำปั้น

ในทางการแพทย์ เท้าปุก หมายถึง

  • เป็นความผิดรูปของเท้าแต่กำเนิดชนิดหนึ่ง (รูป 1) อาจเกิดกับเท้าข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้
  • เกิดขึ้นในเด็กที่ไม่มีความผิดปกติอื่นๆ
  • ต้องการการรักษาเร็วเท่าที่จะเป็นไปได้ และอย่างถูกต้องด้วยวิธีที่ไม่ใช่การผ่าตัด
  • มิฉะนั้นเด็กจะมีความพิการอย่างมากทำให้ต้องเดินด้วยหลังเท้าหรือปลายเท้า ปวดเท้า ใส่รองเท้าไม่ได้ และไม่สามารถประกอบอาชีพได้เหมือนอย่างคนอื่นๆ (รูป 2)

สถิติของทั่วโลกพบอุบัติการณ์ของโรคเท้าปุกในทารกแรกเกิดประมาณ 1:1,000 ถึง 1:1,500 คน ถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคนี้ หรือมีลูกที่เป็นโรคนี้ โอกาสที่จะมีลูกคนแรกหรือคนต่อไปเป็นโรคนี้ จะสูงกว่านี้เล็กน้อย

พ่อแม่ของเด็กทารกที่เป็นเท้าปุก (Clubfoot) ควรได้รับการเน้นย้ำจากแพทย์ว่า ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องโดยแพทย์ที่มีความชำนาญ เด็กจะหายกลับมามีเท้าที่ปกติ สามารถใช้งานได้เช่นเท้าปกติทั่วไป ไม่เป็นปมด้อยของเด็กอีกต่อไป (รูป 3)

โรคเท้าปุกเกิดได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ยังไม่ทราบว่า เท้าปุกที่พบในเด็กที่ร่างกายส่วนอื่นปกติและเป็นตั้งแต่กำเนิด มีสาเหตุมาจากอะไร ปัจจัยเสี่ยงคงเป็นเรื่องที่ว่าถ้าพ่อหรือแม่เด็กเป็นเท้าปุก หรือเคยมีลูกที่เป็นเท้าปุก ลูกที่จะคลอดออกมาก็มีความเสี่ยงในการเป็นเท้าปุกมากกว่ากรณีพ่อแม่ที่ไม่เป็น แต่ในประสบการณ์ร่วม 20 ปีของผู้เขียนในการรักษาโรคเท้าปุก ความเสี่ยงนี้มีต่ำมากจนไม่ควรต้องกังวลถ้าคุณอยากมีลูก

โรคเท้าปุกมีอาการอย่างไร?

โรคเท้าปุกไม่มีอาการอะไร เพียงมีรูปเท้าที่บิดเบี้ยวจนดูเหมือนไม้ตีกอล์ฟ ซึ่งถ้าไม่รัก ษาจะทำให้พิการ ไม่สามารถใช้เท้าเดินได้เหมือนเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ปกติ และจะพัฒนาจนมีอา การเจ็บปวดเมื่อโตขึ้น เพราะเกิดการสึกหรอของกระดูกและข้อต่อที่บิดเบี้ยว หรือผิวหนังเท้าส่วนที่หนาตัวขึ้นเพื่อรับน้ำหนัก เกิดเป็นแผลเรื้อรังขึ้นมา

แพทย์วินิจฉัยโรคเท้าปุกได้อย่างไร?

การวินิจฉัยโรคเท้าปุกโดย ใช้เพียงการสอบถามประวัติทางการแพทย์ต่างๆของเด็ก และของบิดามารดา ตรวจร่างกายและการตรวจดูลักษณะเท้าของเด็ก การถ่ายภาพ x-ray จึงไม่จำเป็น ซึ่งการตรวจร่างกายเด็กโดยละเอียด ทำเพื่อดูว่ามีโรคอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่

โรคเท้าปุกมีกี่ชนิด?

เท้าที่บิดเบี้ยวจนดูคล้ายไม้ตีกอล์ฟ มีหลายชนิด แบ่งชนิดตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ดังนี้

  • เท้าปุกที่เป็นแต่กำเนิด ที่ไม่พบสาเหตุหรือยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุ (Congenital idiopathic clubfoot)
  • เท้าปุกที่เป็นแต่กำเนิดที่มีสาเหตุที่อธิบายได้ (Teratologic clubfoot)
  • เท้าที่ผิดรูปจนดูเหมือนเท้าปุกแต่ไม่ได้เป็นตั้งแต่กำเนิด (Clubfoot-like deformity)
    • เกิดจากโรคความพิการทางสมอง (Equinovarus foot in Cerebral Palsy)
    • เกิดจากเส้นประสาทคอมมอนเพอโรเนี่ยวขาด (Equinovarus foot from common peroneal nerve injury)
    • เกิดจากสาเหตุอื่นๆ

อนึ่ง โรคเท้าปุกที่จะพูดถึงในที่นี้ เป็นเท้าปุกประเภทที่ 1 เท่านั้น ซึ่งคือ โรคเท้าปุกที่เป็นแต่กำเนิดที่ไม่พบสาเหตุหรือยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุ (Congenital idiopathic clubfoot)

โรคเท้าปุกมีวิธีรักษาอย่างไร? รักษานานแค่ไหน?

เท้าปุก ส่วนใหญ่จะมีรูปร่างกลับมาเป็นปกติ ภายหลังจากได้รับการดัดเท้าและเข้าเฝือกด้วยวิธีพอนเซตี้/Ponseti method (รูป 4) ในเวลาเพียง 6-8 สัปดาห์ การรักษาอาศัยเพียงความเข้าใจเกี่ยวกับ

  • กายวิภาค
  • ความสัมพันธ์ของกระดูกของเท้าในการเคลื่อนไหวของกระดูกเท้า
  • รวมถึงความรู้เกี่ยวกับการตอบสนองของตัวกระดูก เอ็น และกล้ามเนื้อ ต่อการดัดเท้าแบบค่อยเป็นค่อยไป

ในจำนวนผู้ป่วยเท้าปุกทั้งหมด มีไม่ถึง 5% ที่มีความรุนแรงมากจนการดัดเท้าไม่ได้ผลสมบูรณ์ และต้องรักษาต่อด้วยการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดควรทำเมื่อการดัดเท้าไม่ได้ ผลเท่านั้น

เด็กที่เป็นเท้าปุก ควรได้รับการรักษาภายใน 2-3 อาทิตย์แรกหลังคลอด อาศัยความได้ เปรียบในขณะที่เนื้อเยื่อของ เอ็นข้อ/เอ็นกระดูก เอ็นกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อหุ้มข้อ ยังพอมีความยืดหยุ่นอยู่ ด้วยการดัดที่ถูกต้องทุกๆอาทิตย์ ซึ่งเนื้อเยื่อเหล่านี้จะค่อยๆยืดออก ภายหลังการดัดแต่ละครั้ง เท้าจะได้รับการเข้าเฝือกจากปลายเท้าจนถึงโคนขาในท่าที่เข่างอ 90 องศา เพื่อบังคับเท้าให้อยู่ในท่าที่ดัดได้ ดังนั้น เท้าจะค่อยๆถูกดัดให้เป็นปกติในที่สุด

โดยทั่วไปจะใช้เฝือกเพียง 5-7 อัน แม้แต่เท้าปุกที่เป็นมากๆ ก็ใช้เฝือกไม่เกิน 8-9 อัน ก่อนใส่เฝือกอันสุดท้าย เด็กจะได้รับการตัดเอ็นร้อยหวาย (รูป 5) เพื่อทำให้ข้อเท้ากระดกขึ้น เฝือกอันสุดท้ายจะใส่อยู่ 3-4 สัปดาห์ เพื่อให้เอ็นที่ถูกตัดติดกันในท่าที่ยืดยาวขึ้น

หลังจากเด็กหายแล้ว เด็กที่เคยมีเท้าปุก อาจกลับเป็นใหม่ได้ เพราะฉะนั้น หลังสิ้นสุดการเข้าเฝือก จะต้องใส่กายอุปกรณ์เท้า (Abduction foot orthosis) (รูป 6) ทั้งวันทั้งคืน 2-3 เดือน และใส่เฉพาะกลางคืนหรือเวลานอนอีก 4 ปี ก็จะหายเป็นปกติหรือเกือบปกติ สามารถดำ เนินชีวิตและเล่นกีฬาได้เหมือนเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ปกติทั่วๆไป

ในผู้ป่วยบางรายที่รักษาหายแล้ว อาจมีความไม่สมดุลของเอ็นในการดึงเท้า ทำให้ดูเหมือนว่าเท้ายังผิดรูปอยู่ อาจมีการผ่าตัดเพื่อย้ายเอ็นให้มีแนวดึงที่ตรงขึ้น (Tibialis Anterior transfer)

จากรายงานต่างๆที่บอกว่า การรักษาโรคเท้าปุก ด้วยการดัดและการเข้าเฝือกไม่ได้ผล อาจจากวิธีการเหล่านั้นมีปัญหาทางด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับ กายวิภาค และการเคลื่อนไหวของเท้า ส่วนการผ่าตัดในรายที่การดัดและเข้าเฝือกไม่ได้ผล ควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัดรักษาโรคนี้เท่านั้น

โรคเท้าปุกรักษาหายไหม?

ในปัจจุบันโรคนี้ สามารถรักษาให้หายจนปกติหรือเกือบปกติได้โดยไม่ต้องทำการผ่าตัดใหญ่เลย ขอเพียงแต่ ได้รับการรักษากับแพทย์ที่ได้ฝึกฝนการรักษาด้วยวิธีพอนเซตี้เท่านั้น การรักษาด้วยการผ่าตัดที่เคยเป็นที่นิยมในอดีตได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว ถ้าแพทย์ที่รักษาลูกท่านแนะนำให้ผ่าตัดใหญ่ ได้โปรดปรึกษาแพทย์ที่สามารถรักษาด้วยการดัดและเข้าเฝือกโดยวิธีพอนเซตี้เสียก่อน

เมื่อไรจึงควรพบแพทย์เพื่อรักษาโรคเท้าปุก?

เมื่อท่านมีบุตรหรือญาติพี่น้องหรือคนรู้จัก คนข้างบ้าน ที่มีลูกหลานที่เป็นเท้าปุก ได้โปรดพามารักษากับแพทย์ออร์โธปิดิกส์เด็กที่ได้รับการฝึกฝนวิธีพอนเซตี้

สรุป

เด็กที่ครั้งหนึ่งในอดีต ต้องเป็นเด็กพิการแน่ๆเพราะเกิดมามีเท้าบิดเบี้ยวเหมือนไม้กอล์ฟ (โรคเท้าปุก) ปัจจุบันถ้าได้รับการรักษาด้วยวิธีพอนเซตี้ ก็สามารถหายจนเป็นปกติ สามารถประ กอบอาชีพและดำเนินชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไปได้ ขอให้ท่านที่มีเด็กในครอบครัวที่เป็นโรคนี้ โปรดนำเด็กมาพบแพทย์โรคกระดูกเด็ก ที่ได้รับการอบรมวิธีรักษาด้วยวิธีพอนเซตี้
ที่มา    https://haamor.com/th/โรคเท้าปุก/

อัพเดทล่าสุด