ทั่วไป
โรค หรือ อาการ สมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD) เป็นโรคทางสมองชนิดหนึ่งที่พบได้ตั้งแต่ในเด็กอายุ 4-5 ปีขึ้นไป และพบได้มากถึง 5% ในเด็กวัยเรียน พบในเด็กผู้ชายมากกว่าในเด็กผู้หญิง ผู้ป่วยมักมีปัญหาการเรียน เช่น ไม่มีสมาธิ เรียนไม่รู้เรื่อง ทำงานไม่เสร็จ หรือมีปัญหาทางพฤติกรรม เช่น อยู่ไม่นิ่ง เล่นรุนแรง ดื้อ-ต่อต้าน แต่อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ ด้วยการรักษาร่วมกันทั้งยา และการปรับพฤติกรรมของเด็ก
โรคสมาธิสั้นเกิดได้อย่างไร?
ดังกล่าวแล้วว่า โรคสมาธิสั้นพบได้มากถึง 5% ปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่ามีสาเหตุจากอะไร เชื่อกันว่าปัจจัยทางกรรมพันธุ์และปัจจัยเสี่ยงต่างๆขณะอยู่ในครรภ์ (เช่น มีการตกเลือดของมารดา) ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลของสารเคมี Norepinephrine และ Dopamine ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทสำคัญในการควบคุมสมาธิของสมองส่วนหน้าของทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเรื่องการเลี้ยงดูที่ผิดวิธี หรือการดูโทรทัศน์เป็นเวลานาน ไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคสมาธิสั้นแต่อย่างใด แต่อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการสมาธิสั้นง่ายขึ้น
โรคสมาธิสั้นมีอาการอย่างไรบ้าง?
โรคสมาธิสั้น ประกอบด้วยกลุ่มอาการ 2 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มอาการอยู่ไม่นิ่ง/หุนหันพลันแล่น (Hyperactivity/Impulsivity) ซึ่งมักแสดงออกมาเป็นปัญหาพฤติกรรม ที่สามารถพบได้ตั้งแต่เด็กอนุบาลขึ้นไป และ
- กลุ่มอาการขาดสมาธิ (Inattention) ซึ่งมักแสดงออกมาเป็นปัญหาการเรียน ที่สามารถพบได้ตั้งแต่เด็กประถมศึกษาขึ้นไป
ทั้งสองกลุ่มอาการนี้ เป็นแค่เพียงปัญหาเบื้องต้นที่อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการในด้านอื่นๆ เช่น ขาดความมั่นใจในตัวเอง ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมไปถึงในโรงเรียนอีกด้วย
นอกจากนี้ โรคสมาธิสั้น สามารถพบร่วมกับโรคอื่นได้ เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า ภาวะการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disorder:LD) ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบทั้งในระยะสั้น เช่น เด็กต้องออกจากระบบการศึกษาก่อนเกณฑ์ หรือในระยะยาว เช่นเด็กติดสารเสพติด หรือปัญหาอาชญากรรมในวัยรุ่น
เมื่อไรควรพบแพทย์ และอาการต่างจากอารมณ์ทั่วไปอย่างไร?
ตามพัฒนาการในช่วงอายุ 1–3 ปี เด็กต้องการสำรวจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและแสดงออก มาเป็นพฤติกรรมซน อยู่ไม่นิ่ง และเอาแต่ใจตัวเอง จนทำให้พ่อแม่หลายท่านเข้าใจว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้น เมื่อเด็กเติบโตผ่านวัย 3 ปีไปแล้ว พฤติกรรมซนจะลดลง การวินิจัยโรคจึงจำเป็น ต้องติดตามอาการอย่างต่อเนื่องจนเด็กมีอายุมากกว่า 3 ปี เนื่องจากอาการของโรคสมาธิสั้นนั้น เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นเด็กอาจไม่สามารถสังเกตอาการด้วยตนเอง พ่อแม่มีความจำเป็นต้องประเมินอาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าเด็กมีอาการมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำ วัน เช่น ผลการเรียนตกลง หรือซนจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ถือว่ามีความแตกต่างจากเด็กตามวัย จำเป็นที่จะต้องมาพบแพทย์เพื่อประเมินอาการของโรคสมาธิสั้น
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างไร?
การวินิจฉัยโรคทำได้ไม่ยาก โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและการเจริญเติบโต ซึ่งแพทย์จะทำการประเมินปัญหาในแต่ละด้านของเด็กเพื่อการวินิจฉัยโรค และรวมไปถึงสาเหตุอื่นๆที่ทำให้เด็กอาจมีอาการคล้ายโรคสมาธิสั้น เช่น โรคทางระบบประสาทอื่นๆ หรือความวิตกกังวล ทั้งนี้การวินิจฉัยโรคสามารถทำได้จากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองและเด็ก โดยไม่จำเป็นต้องเจาะเลือด หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอมอาร์ไอสมองแต่อย่างใด แพทย์อาจมีการประเมินพฤติกรรมที่โรงเรียนจากครูผ่านแบบสอบ ถาม หรือประเมินระดับสติปัญญา (IQ test, Intelligence quotient test) โดยนักจิตวิทยาคลิ นิก ซึ่งแพทย์จะพิจารณาความจำเป็นในเด็กแต่ละรายไป
โรคสมาธิสั้นรักษาได้อย่างไร?
การรักษาโรคสมาธิสั้นประกอบด้วย การปรับพฤติกรรม และการรักษาด้วยยา
- การปรับพฤติกรรม (Behavioral modification) ในเด็กสมาธิสั้นนั้น สามารถทำได้โดยการกำหนดข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับพฤติกรรมดีให้เป็นเป้าหมายที่ชัดเจน และให้แรงจูงใจ หรือคำชมเวลาที่เด็กสามารถทำพฤติกรรมดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การปรับพฤติกรรมต้องใช้เวลานาน และต้องทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ โดยมีแพทย์คอยให้คำปรึกษาในแต่ละขั้นตอน
- การรักษาด้วยยา ในปัจจุบันการรักษาด้วยยาเป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากให้ผลรวดเร็ว สะดวก ปลอดภัย และสามารถทำควบคู่กับการปรับพฤติกรรมได้ ยารักษาโรคสมาธิสั้นในปัจจุ บันมีหลากหลายชนิด ซึ่งผลในการรักษาขึ้นกับหลากหลายปัจจัย เช่น ความรุนแรงของอาการ ลักษณะของอาการต่างๆที่เกิดขึ้นกับเด็ก หรือโรคอื่นๆที่แพทย์ตรวจพบร่วมกับโรคสมาธิสั้น แพทย์จะประเมินความจำเป็นในการใช้ยา และวางแผนติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องหลังเริ่มใช้ยา
ยา Methylphenidate คืออะไร?
ยา Methylphenidate เป็นยาเม็ดรับประทาน เป็นยาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการรัก ษาโรคสมาธิสั้น เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการรักษาดี ยาออกฤทธิ์เร็วและใช้ง่าย ระดับยาอยู่ภายในร่างกายประมาณ 4-6 ชั่วโมง การรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจะไม่เกิดการสะสมของยาภายในร่างกายและไม่ทำให้ติดยา
อย่างไรก็ตาม ยาชนิดนี้มีผลข้างเคียง เช่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ และปวดศีรษะ ซึ่งจำเป็นต้องติดตามอาการเป็นระยะๆ นอกจากนี้เนื่องจากยาออกฤทธิ์สั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องรับประทานยาวันละ 2-3 ครั้งเพื่อควบคุมอาการได้ตลอดทั้งวัน
โรคสมาธิสั้นอยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่หรือไม่?
ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้น
- ประมาณ 40% จะสามารถมีอาการดีขึ้นจนใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
- ประมาณ 30% มีอาการคงที่
- และประมาณ 30% จะมีอาการแย่ลง
ซึ่งเมื่อมีอายุมากขึ้น อาจแสดงออกเป็นอาการหุนหันพลันแล่น ทำงานไม่เสร็จบ่อยครั้ง อย่างไรก็ตาม การรักษาตั้งแต่อายุยังน้อยๆ จะให้ผลการรักษาที่ดี ทำให้อาการหายจนไม่จำเป็นต้องรับ ประทานยาได้
โรงเรียนควรดูแลเด็กสมาธิสั้นอย่างไร?
ปัจจุบัน โรงเรียนการศึกษาพิเศษไม่ได้ครอบคลุมการดูแลเด็กสมาธิสั้น เด็กสมาธิสั้นสา มารถเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ โดยครูสามารถจัดห้องเรียนให้เหมาะสม เช่น นั่งห่างหน้าต่าง หรือนั่งใกล้ครู มีเพื่อนคอยช่วยเหลือเรื่องการจดการบ้าน และพยายามเตือนเวลาเด็กขาดสมาธิ
การจัดการศึกษาแบบเฉพาะบุคคล (Individual Education Program:IEP) มักทำในเด็กสมาธิสั้นบางรายที่มีภาวะการเรียนรู้บกพร่อง (LD)
อนึ่ง ทัศนคติของครู มีความสำคัญที่จะช่วยให้เด็กสมาธิสั้น สามารถเรียนรู้ร่วมกับเด็กในห้องเรียนได้เป็นอย่างดี ดังนั้นพ่อแม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจ และสอบถามอาการเด็กจากครูอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อมีลูกเป็นโรคสมาธิสั้น พ่อแม่ควรทำอย่างไร? ควรดูแลครอบครัวและลูกคนอื่นในครอบครัวอย่าง ไร?
ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้นอย่างถูกต้อง จะช่วยลดอคติในตัวเด็กสมาธิสั้น พ่อแม่ควรอธิบายกับลูกถึงความจำเป็นในการรักษาและในการรับประทานยา เนื่องจากเด็กมักรู้สึกว่าตนเองไม่ปกติ ไม่ควรให้การดูแลเด็กมากเกินไปจนทำให้เด็กได้สิทธิพิเศษ เพราะจะทำให้เด็กขาดทักษะชีวิตที่จำเป็น และเกิดปัญหาระหว่างพี่น้องได้ และไม่ควรละเลยการดูแลที่สำคัญโดยเฉพาะเรื่องการเรียน เพราะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกด้อยคุณค่าตนเอง โดยเฉพาะการออกจากระ บบการเรียนก่อนวัย
นอกจากนี้ พ่อแม่ควรอธิบายพี่น้องของเด็กในครอบครัว ในการลดตัวกระตุ้นอารมณ์ เช่น การเล่นรุนแรง หรือการล้อเลียนเกี่ยวกับโรคที่เด็กเป็นอยู่ เป็นต้น
ที่มา https://haamor.com/th/โรคสมาธิสั้น/