โรคมือ เท้า ปาก (Hand-Foot-and-Mouth Disease)


1,211 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ช่องปาก  เท้า  มือ  ระบบโรคติดเชื้อ 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ไข้  ตุ่มน้ำ  ผื่นที่มือ เท้า ปาก  

บทนำ

โรคมือ เท้า ปาก (Hand-Foot-and-Mouth disease) เป็นโรคที่กุมารแพทย์และแพทย์ทั่วไปพบได้บ่อย บางครั้งมีข่าวระบาดที่นั่นที่นี่อยู่เนืองๆ เร็วๆนี้มีการระบาดใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน มีผู้ป่วย เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้เกิดการตื่นตระหนกมาถึงประเทศไทยจากการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านเรา พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรต้องทราบเรื่องโรค การป้องกัน ตลอดจนการดูแลรักษาเพื่อให้ลูกหลานปลอดภัย

โรคนี้พบได้ตลอดปีในแถบร้อนชื้น มักเป็นในเด็กเล็ก พบมากในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี แต่พบในเด็กอายุมากกว่านี้ก็ได้ และหากมีการเกิดโรคในสถานเลี้ยงเด็ก หรือในโรงเรียนอนุบาล ก็จะพบผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นเพราะโรคนี้ระบาดได้ง่าย หากการควบคุมป้องกันโรคไม่เข้มแข็ง

ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กองควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ 1 มกราคม 2555 ถึง 1 กรกฏาคม 2555 มีเด็กป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก และเฮอร์แปงไจนา (Herpangina การติดเชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดผื่นตามผิวหนัง และตุ่มน้ำในปาก ซึ่งแยกจากโรคมือ เท้า ปาก ด้วยอาการและการตรวจร่างกายยาก) จำนวน 10,813 คน โดยไม่ได้เกิดจาก เอ็นเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71, เชื้อโรคมือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรง) และไม่มีรายงานการเสียชีวิต ซึ่งผู้ เขียนคาดว่า ข้อมูลจำนวนผู้ป่วยอาจน้อยกว่าความเป็นจริง เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ อาการไม่มาก และอาจไม่ได้ไปโรงพยาบาล จึงไม่ได้รายงานเข้าสู่กระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าว พบผู้ป่วยมากกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน และมากขึ้นกว่า 5 ปีก่อน ซึ่งเชื่อว่าจากระบบการรายงานผู้ป่วยที่ดีขึ้น

จำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคมือ เท้า ปากคิดเป็น 17.2 คนต่อประชากร 100,000 คน เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบ 242.76 คนต่อประชากร100,000 คน ตามด้วยกลุ่มอายุ 5-9 ปี 18.70 คนและอายุ 10-14 ปี 2.54 คนต่อประชากร 100,000 คน ตามลำดับ

เด็กชายพบบ่อยกว่าเด็กหญิงคิดเป็นอัตราส่วน 1:0.72

ในกลุ่มอายุน้อยกว่า 5 ปี พบมากที่สุดในอายุ 1 ปี รองลงมาคือ 2 และ 3 ปีโดยมีจำนวนผู้ป่วยเป็น 28.18%, 26.11% และ 17.39% ของผู้ป่วยตามลำดับ

พบผู้ป่วยในภาคเหนือมากที่สุด คือ 26.61 รายต่อประชากร 100,000 คน รองลงมาคือ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็น 26.03, 16.58 และ 8.52 รายต่อประชากร 100,000 คนตามลำดับ

อนึ่ง โรค เท้า-ปาก ที่เกิดในสัตว์ (Foot-and-Mouth disease หรือ Hoof-and-Mouth disease) เป็นคนละโรคกับโรคนี้ โดยเกิดจากเชื้อไวรัสเช่นกัน แต่คนละสายพันธุ์กับที่ทำให้เกิดโรคมือ เท้า ปากในคน โรคเท้า-ปากในสัตว์เกิดเฉพาะในสัตว์กีบคู่ (เช่น วัว ควาย หมู แพะ และแกะ) มี วัคซีนฉีดป้องกันในสัตว์ และโดยทั่วไปไม่ติดต่อสู่คน ยกเว้นมีรายงานการติดเชื้อบ้าง ในคนที่สัมผัสคลุกคลีกับสัตว์ป่วย หรือที่ปฏิบัติงานในห้องทดลองเกี่ยวกับโรคในสัตว์นี้

อะไรเป็นสาเหตุของโรคมือ เท้า ปาก?

โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสที่เรียกว่า คอกแซคกีไวรัส เอ 16 (Coxsackievirus A 16) ในบางครั้งเมื่อเกิดการระบาดอาจเกิดจากเชื้อไวรัสชื่อเอ็นเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71), คอกแซคกีไวรัส เอ 5, 7, 9, 10 และคอกแซคกีไวรัส บี 2 และ 5 และอาจเกิดจากเชื้อไว รัส เอ็คโคไวรัส (Echovirus) ได้บ้าง

***** อนึ่ง เชื้อที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงรุนแรง ถึงกับเสียชีวิตคือ เอ็นเทอโรไวรัส 71

โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อได้อย่างไร? มีระยะฟักตัวนานเท่าไร?

โรคนี้ติดต่อได้ 2 ทาง ทางหนึ่งจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระ หรือน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย อีกทางหนึ่งจากการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่กระจายมาจากผู้ป่วย

เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะใช้เวลาประมาณ 3-6 วัน ผู้ป่วยจึงจะมีอาการ (ระยะฟักตัวของโรค)

โรคมือ เท้า ปากมีอาการอย่างไร?

ส่วนใหญ่ เด็กที่เจ็บป่วยด้วยโรค มือ เท้า ปาก จะมีอาการน้อย โดยอาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้ และมีตุ่มน้ำ หรือตุ่มแดงๆที่มีการอักเสบกระจายทั่วไปบริเวณริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก ลิ้น ด้านหลังของคอหอย กระพุงแก้ม หรืออาจจะทำให้มีแผลตื้นๆบนเยื่อบุปากที่อักเสบ

มักพบมีผื่น หรือตุ่มน้ำ บริเวณมือและเท้า ซึ่งจะเจ็บ ส่วนใหญ่จะพบตุ่มน้ำบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ขนาดประมาณ 3-7 มิลลิเมตร (มม.) มักพบเป็นตุ่มน้ำรูปรีๆ เหมือนลูกรักบี้ อาจพบตุ่มน้ำบริเวณหลังเท้าหรือบริเวณก้นได้ ซึ่งตุ่มน้ำเหล่านี้จะหายไปภายในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์

สำหรับแพทย์หากเห็นตุ่มน้ำที่บริเวณริมฝีปาก ฝ่ามือและฝ่าเท้าก็จะวินิจฉัยโรคมือ เท้า ปากได้ไม่ยาก

โรคมือ เท้า ปากที่เกิดจากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 มักจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักกว่าที่เกิดจากเชื้อคอกแซคกีไวรัส เอ16 โดยมักจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง ทางระบบประสาท (มีการอักเสบของก้านสมอง เนื้อสมองและไขสันหลัง ทำให้เกิดภาวะแขน ขาอ่อนแรง /อัมพาต) ระบบหัวใจ และปอด ได้สูง ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างรวดเร็วจากภาวะปอดบวมน้ำ เลือดออกในปอด และภาวะช็อก

อย่างไรก็ตามเชื้อคอกแซคกีไวรัส เอ16 ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และภาวะช็อกได้ แต่พบได้น้อยกว่า จากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 มาก

เด็กที่เป็นโรคมือ เท้า ปากมักจะกินอาหารและนมได้น้อยลง เด็กเล็กๆจะมีน้ำลายยืดมาก กว่าปกติเพราะมักจะเจ็บปาก กลืนไม่ได้ หากแบมือ และดูที่ฝ่าเท้าจะพบมีตุ่มแดงๆในช่วงแรก ซึ่งต่อมาจะโตขึ้นและเห็นเป็นตุ่มน้ำชัดเจ

แพทย์วินิจฉัยโรคมือ เท้า ปาก อย่างไร?

ส่วนใหญ่ในทางคลินิก แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้จาก อาการ และการตรวจร่างกายของผู้ป่วย

การตรวจหาเชื้อไวรัส เช่น การเพาะเชื้อไวรัส หรือการตรวจหาในระดับโมเลกุลเพื่อการวินิจฉัยเฉพาะเจาะจงอาจทำในกรณีที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสเหล่านั้น ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้ามาก ทำสะดวกและรวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ อาจต้องแยกจากโรคที่มีอาการคล้ายกัน เช่น

นอกจากนี้ หากมีอาการทางระบบประสาท เช่น สมองอักเสบ หรือ อาการทางหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ต้องแยกจากเชื้อที่ทำให้เกิดอาการเหล่านั้นด้วย ซึ่งหากอาการเหล่านั้นเกิดตามหลังการมีตุ่มน้ำในบริเวณที่กล่าวไปแล้ว ก็ทำให้แพทย์นึกถึงว่า เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคมือ เท้า ปากมากขึ้น

รักษาโรคมือ เท้า ปาก อย่างไร?

เนื่องจากโรคมือ เท้า ปากเกิดจากเชื้อไวรัส และส่วนมากอาการไม่รุนแรง การรักษาที่สำคัญคือ การรักษาตาอาการ

ในขณะนี้ มีการรักษาโดยยาบางชนิด หรือสารที่ช่วยให้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยดีขึ้นในกรณีที่มีการติดเชื้อชนิดรุนแรง แต่การรักษายังอยู่ในวงจำกัดซึ่งต้องการหลักฐานจากการศึกษาทางการแพทย์เพิ่มเติม เพื่อให้ได้ผลดีมีประสิทธิภาพ และไม่เป็นอันตรายจากยาที่รักษา

เมื่อไรควรไปพบแพทย์

ควรนำเด็ก/ผู้ป่วยพบแพทย์ เมื่อ

    1. เมื่อผู้ป่วยมีอาการไข้สูงซึ่งต้องหาสาเหตุของไข้ เพื่อได้รับการรักษาและได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมถูกต้อง
    2. เมื่อมีแผลที่ริมฝีปาก มือ เท้า และ/หรือ ร่วมกับมีอาการกินไม่ได้ มีไข้สูง
    3. มีอาการซึม หรือหงุดหงิดไม่สุขสบาย เหนื่อย หายใจเร็ว
    4. มีอาการเขียวคล้ำที่ตัว มือ เท้า หรือชัก ซึ่งแสดงว่ามีอาการหนักมาก

อนึ่ง ในกรณีที่ผู้ป่วยอาการมาก แพทย์จะรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยอาการไม่มาก ไม่จำเป็นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

ดูแลเด็กโรคมือ เท้า ปากที่บ้านอย่างไร?

เด็กที่เป็นโรคมือ เท้า ปาก จะเจ็บปากมาก กินอะไรไม่ค่อยได้ ผู้เขียนจะแนะนำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ให้ลูกกินน้ำเย็น กินนมแช่เย็น หรือเอานมแช่แข็งให้ หรือไอศกรีม เด็กจะกินได้เพราะความเย็นทำให้ชาไม่เจ็บ

แรกๆพ่อแม่ผู้ปกครอง มักกลัวว่ากินของเย็นแล้วไข้จะขึ้น แต่ที่จริงแม้ไม่กินของเย็น ไข้ก็ขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้น หากเด็กเจ็บปาก ลองให้ลูกกินน้ำเย็น นมเย็นดู เขาจะกินอย่างหิวกระหาย การที่เด็กกินได้ ทำให้ไม่เพลียและฟื้นไข้ได้เร็ว

หากมีไข้ให้เช็ดตัวและให้กินยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ลดไข้

ป้องกันโรคมือ เท้า ปาก อย่างไร? มีวัคซีนไหม?

เนื่องจากโรคนี้ติดต่อโดยการได้รับเชื้อไวรัสจากทางเดินอาหาร น้ำมูก น้ำลาย และจากการหายใจ เอาเชื้อที่แพร่จากผู้ป่วยเข้าสู่ร่างกาย และปัจจุบัน ยังไม่วัคซีนป้องกันโรคนี้ ดังนั้นการป้องกันที่สำคัญ คือ

    1. ผู้เลี้ยงดูเด็ก และเด็ก ต้องล้างมือให้สะอาด ทั้งหน้ามือ หลังมือ ซอกนิ้วมือ รอบนิ้วมือ เล็บ ข้อมือทั้งสองข้าง หลังขับถ่าย ก่อนปรุงอาหาร หรือก่อนรับประทานอาหาร และรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) อย่านำบุตรหลานเข้าไปในที่แออัด เมื่อมีการระบาดของโรค
    2. เมื่อบุตรหลานมีอาการของโรคมือ เท้า ปาก ควรให้อยู่บ้าน ไม่ควรพาไปสถานเลี้ยงเด็ก โรงเรียน หรือในที่ชุมชน เพราะจะนำโรคนี้ไปแพร่ให้เด็กอื่น
    3. สถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนอนุบาล ควรมีการสอบถามประวัติอาการเด็กที่หน้าโรง เรียนเกี่ยวกับเรื่องไข้และตุ่มน้ำที่ปาก มือและเท้าในช่วงที่มีการระบาดของโรค หากสงสัยโรคมือ เท้า ปาก ควรให้พ่อแม่ผู้ปกครองพาเด็กกลับบ้านและไปพบแพทย์ อย่านำเด็กเข้าไปในสถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียน และควรให้ความรู้แก่ครูพี่เลี้ยง พ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับโรค และการป้องกันโรคให้ทราบโดยทั่วกัน
    4. ในสถานเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนอนุบาลควรเน้นบุคลากรและเด็กในการดูแลตนเองตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ ควรแยกข้าวของเครื่องใช้ของเด็กแต่ละคนอย่าให้ปะปนกัน เพราะของเล่นต่างๆอาจปนเปื้อนน้ำลาย น้ำมูก หรือสิ่งขับถ่ายของเด็ก ควรหมั่นทำความสะอาดด้วยสบู่ หรือผงซักฟอก แล้วล้างน้ำให้สะอาดและนำไปผึ่งแดดให้แห้ง
    5. การทำความสะอาดพื้นเพื่อฆ่าเชื้อโรค ควรทำความสะอาดด้วยสบู่หรือผงซักฟอกปกติก่อน แล้วตามด้วยน้ำยาฟอกขาว คลอรอกซ์ หรือ ไฮเตอร์ ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วเช็ดด้วยน้ำสะอาดเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง
    6. หากพบเด็กในห้องเรียนเดียวกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเป็นโรคมือ เท้า ปากต้องปิดห้อง เรียน หรือโรงเรียน เป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน

ที่มา   https://haamor.com/th/โรคมือ-เท้า-ปาก/

อัพเดทล่าสุด