โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก (Atopic dermatitis)


1,126 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ผิวหนัง 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ผื่น 

ทั่วไป

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) เป็นโรคที่เกิดจากผิวหนังมีการอักเสบเรื้อรังจากปฏิกิริยาทางภูมิแพ้ พบได้บ่อยในผู้ป่วยเด็ก โดยผิวหนังมักมีลักษณะแห้ง ขึ้นผื่น มีอาการคันมาก ตำแหน่งการกระจายของผื่นแตกต่างกันตามอายุ

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเกิดได้อย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน โดยพื้นทางพันธุกรรมที่มีในตัวผู้ป่วยเอง หรือคนในครอบครัวที่มีโรคภูมิแพ้ เช่น โรคหืด แพ้อากาศ ร่วมกับภาวะทางภูมิคุ้มกันต้านทานโรคในร่างกายผู้ป่วย เมื่อมีปัจจัยกระตุ้น เช่น อาหารบางอย่าง สภาพอากาศ สิ่งระคายเคือง เช่น สารเคมี น้ำหอม สบู่ แป้ง ผงซักฟอก ตัวไรฝุ่น เหงื่อ เนื้อผ้าที่ระคายผิว การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา การเกา และ/หรือ ความเครียด ร่วมกันจะทำให้เกิดผื่น และกระตุ้นให้ผื่นรุนแรงขึ้น

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีอาการอย่างไร?

ลักษณะผื่นผิวหนังในโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังนั้น มีลักษณะการอักเสบของผิวหนังหลายระยะ ตั้งแต่ระยะเฉียบพลันจนถึงระยะเรื้อรัง ลักษณะที่พบได้คือเป็นผื่นตุ่มแดงคัน เป็น แผ่นแดง ลอก และเป็นขุยได้ มีอาการคันมากและมีการกระจายตามตัวต่างกันในแต่ละช่วงอายุ ดังนี้

  • วัยทารก มักเริ่มในวัยเด็กเล็กอายุ 2-3 เดือน ตามบริเวณแก้ม ด้านนอกของแขน และขา ที่สัมผัสสารระคายเคือง หรือมีการเสียดสี
  • วัยเด็กโต ลักษณะผื่นจะหนาขึ้น มีรอยเกา บริเวณลำคอ ข้อพับของแขนและขา

แพทย์วินิจฉัยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้จากอาการ และลักษณะของผื่น ที่มีอาการคัน ตำแหน่งของผื่นตามช่วงอายุ ประวัติการเกิดผื่นเป็นๆหายๆ และประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนว่าผู้ป่วยเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังแพทย์วินิจฉัยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้จากอาการ และลักษณะของผื่น ที่มีอาการคัน ตำแหน่งของผื่นตามช่วงอายุ ประวัติการเกิดผื่นเป็นๆหายๆ และประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนว่าผู้ป่วยเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจหาระดับสารภูมิคุ้มกันต้านทาน ไอจีอี (IgE) ในเลือด การตรวจทดสอบภูมิแพ้ที่ผิวหนัง ช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรคได้ แต่การตรวจเหล่านี้ไม่เฉพาะเจาะจง การวินิจฉัยต้องอาศัยอาการต่างๆรวมทั้งอาการทางผิวหนังร่วมด้วยเสมอ

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีวิธีรักษาอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ได้แก่

  • ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆที่อาจทำให้ผื่นกำเริบ โดยเฉพาะถ้ามีประวัติชัดเจน เช่น อาหาร เหงื่อ สารเคมี ที่อาจระคายเคือง
  • พยายามให้ผิวหนังชุ่มชื้น โดยหลีกเลี่ยงการอาบน้ำบ่อยเกินไป หรืออาบน้ำอุ่นจนเกินไป จะทำให้ผิวแห้งมากขึ้น
  • แนะนำให้ทาครีม หรือโลชันบำรุงผิวทันทีหลังอาบน้ำตอนผิวยังเปียก เพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้น
  • เมื่อมีผื่นเกิดขึ้น แพทย์จะให้การรักษาผื่นตามลักษณะและระยะของผื่น เป็นต้นว่า หากมีลักษณะการอักเสบของผิวหนังแบบเฉียบพลัน มีน้ำเหลืองไหล จะใช้น้ำเกลือประคบแผล หากระยะของผื่นเกิดมานาน จะเริ่มการรักษาโดยใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ชนิดทา โดยแพทย์จะเลือกชนิดและความแรงของยาให้เหมาะสมกับลักษณะ และตำแหน่งของผื่น ไม่ควรซื้อยาคอร์ติโคสเตียรอยด์จากร้านขายยาเอง เพราะผู้ป่วยเด็กอาจมีผลข้างเคียงจากยาดังกล่าวได้ (เช่นผิวหนังส่วนที่ทายาบางลง เกิดแผลแตก และติดเชื้อได้ง่าย เกิดผื่นอีกชนิด และยาอาจดูดซึมเข้าร่างกาย ก่อการทำงานผิดปกติของเซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะของต่อมหมวกไต)
  • ปัจจุบันมียากลุ่มต้านการอักเสบ Calcinurin inhibitors ทดแทนยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงในเด็กที่ต้องทายาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ แต่ราคายังค่อนข้างสูง จึงพิจารณาเลือกใช้เป็นรายๆไป และพิจารณาใช้ในผู้ป่วยที่มีผลข้างเคียงจากยาคอร์ติโคสเตียรอยด์
  • ฝ้าระวัง และมองหาภาวะการติดเชื้อแทรกซ้อนที่ผิวหนัง หากตรวจพบต้องให้การรักษาภาวะแทรกซ้อนนั้นๆ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อติดเชื้อแบคทีเรีย
  • รับประทานยาลดอาการคัน เพื่อบรรเทาอาการคันที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังรักษาหายไหม?

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีลักษณะการดำเนินโรคเรื้อรัง และมีความรุนแรงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยจะมีผื่นเกิดขึ้นเป็นๆหายๆ มีช่วงที่โรคสงบ/ผื่นยุบ และมีช่วงที่ผื่นกำเริบ ทั้งนี้ขึ้นกับการดูแลผิวหนัง และการสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดผื่นซึ่งแตกต่างกันในแต่ละราย มีโอกาสที่โรคจะสงบและหายได้ เมื่ออายุมากขึ้นส่วนใหญ่ผื่นผิวหนังจะดีขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยเรียนรู้วิธีการดูแลผิวหนังตนเองได้ดีขึ้นนั่นเอง

เมื่อไรจึงควรพบแพทย์?

เมื่อมีผื่นที่ผิวหนัง ควรพบแพทย์เมื่อพบว่ามีผื่นคันเป็นๆหายๆ ในตำแหน่งต่างๆ โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุของผื่นแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น หรือเมื่อพบลักษณะการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่ต่างไปจากเดิม เพราะอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัสแทรกซ้อนบริเวณผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเดิมได้

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังป้องกันได้ไหม?

เนื่องจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งส่วนของพื้นทางพันธุกรรมที่มีในตัวผู้ป่วยเอง หรือคนในครอบครัวที่มีโรคภูมิแพ้ ปัจจุบันจึงไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ เช่น อาหารบางอย่าง สภาพอากาศ สิ่งระคายเคือง เช่น สารเคมี น้ำหอม สบู่ แป้ง ผงซักฟอก ตัวไรฝุ่น เหงื่อ เนื้อผ้าที่ระคายผิว การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา การเกาและความเครียด จะสามารถป้องกันการเกิดผื่น และลดความรุนแรงของผื่นได้
ที่มา   https://haamor.com/th/โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก/

อัพเดทล่าสุด