โรคผื่นแพ้สัมผัสในเด็ก (Childhood contact dermatitis)


1,529 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ผิวหนัง  ระบบโรคผิวหนัง 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ท้องเสีย 

ทั่วไป

ผื่นแพ้สัมผัส (Contact dermatitis) เป็นผื่นที่เกิดจากปฏิกิริยาการสัมผัสสารที่ผู้ป่วยแพ้ (Allergic contact dermatitis) หรือระคายเคือง (Irritant con tact dermatitis) ซึ่งมักเกิดผื่นในตำแหน่งที่สัมผัสสารนั้นๆ ทั้งนี้ลักษณะผื่นมีได้หลายระยะ ตั้งแต่ระยะเฉียบพลันจนถึงผื่นเรื้อรัง

ผื่นแพ้สัมผัส เป็นโรคเกิดได้ในทุกอายุ โดยในสหรัฐอเมริกา พบได้ประมาณ 7% ของโรคผิวหนังทั้งหมดที่มาพบแพทย์ โดยประมาณ 20% ของเด็กอเมริกันก่อนถึงวัยรุ่นมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ ทั้งนี้ พบในเด็กหญิงบ่อยกว่าเด็กชายประมาณ 2 เท่า

โรคผื่นแพ้สัมผัสในเด็กเกิดขึ้นได้อย่างไร?

โรคผื่นแพ้สัมผัสจากสารระคายเคือง เกิดจากการสัมผัสสารที่ระคายเคืองต่อผิว โดยผื่นสามารถเกิดขึ้นได้กับผิวหนังของทุกคน ถ้าความเข้มข้นของสารที่สัม ผัสนั้นสูง และระยะเวลาสัมผัสนานเพียงพอ

โรคผื่นแพ้สัมผัสจากสารที่ผู้ป่วยแพ้ เกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ชนิด ที่4 (Type 4, T-cell mediated delayed type hypersensitivity) ทำให้เกิดผื่นขึ้นที่ผิวหนังตรงตำแหน่งที่สัมผัสสารนั้นๆ ในเวลาประมาณ 7-10 วันต่อม

โรคผื่นแพ้สัมผัสในเด็กมีอาการอย่างไร?

ลักษณะผื่นผิวหนังในโรคผื่นแพ้สัมผัสนั้นมีลักษณะการอักเสบของผิวหนังหลายระยะ ตั้งแต่ระยะเฉียบพลันจนถึงเรื้อรัง ดังนั้นผื่นอาจมีลักษณะเป็นตุ่มแดง เป็นตุ่มน้ำ เป็นแผ่นแดงลอก มีขุยได้ หรือมีลักษณะของการแกะเกา เป็นปื้นหนา ตรงตำแหน่งที่สัมผัสกับสารที่แพ้ ซึ่งความรุนแรงของผื่นสัมผัสที่เกิดจากการระคายเคือง จะขึ้นสัมพันธ์โดยตรงกับความเข้มข้นของสารที่สัมผัส ส่วนความรุนแรงของผื่นที่เกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ นอกจากจะขึ้นกับสารที่สัมผัส ยังขึ้นกับความไวของร่างกายในการตอบสนองต่อสารนั้นด้วย

แพทย์วินิจฉัยโรคผื่นแพ้สัมผัสในเด็กได้อย่างไร?

การวินิจฉัยโรคผื่นแพ้สัมผัส อาศัยประวัติการสัมผัสสารร่วมกับพบผื่นที่มีลักษณะการอักเสบของผิวหนัง อาจพบมีรูปร่างตามรอยที่สัมผัส หรือผื่นเกิดขึ้นในตำแหน่งที่สัมผัสสารที่สงสัย เช่น ติ่งหู (ตามบริเวณที่ใส่ต่างหู) ข้อมือ (ตามบริเวณที่ใส่นาฬิกา กำไลข้อมือ) สะดือ (ตามบริเวณที่สัมผัสกับหัวเข็มขัด กระดุมกางเกง) เป็นต้น

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การทดสอบการแพ้สาร ที่การตรวจเรียก ว่า Patch test โดยนำสารที่สงสัยว่าผู้ป่วยจะแพ้มาทาติดไว้ที่ผิวหนัง แล้วดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในเวลา 48 และ 72 ชั่วโมง ถ้าผู้ป่วยมีอาการผื่นแพ้จากการสัม ผัสสารชนิดนั้นๆจริง จะเกิดผื่นอักเสบของผิวหนังขึ้นตรงตำแหน่งที่สัมผัสกับสารที่แพ้นั้น

โรคผื่นแพ้สัมผัสในเด็กมีวิธีรักษาอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคผื่นแพ้สัมผัสในเด็ก ได้แก่

  • หลักการรักษาที่สำคัญที่สุดในโรคผื่นแพ้สัมผัส คือต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารที่ผู้ป่วยแพ้ และรักษาผื่นที่เกิดขึ้นตามลักษณะผื่นผิวหนังอักเสบที่พบ ดังนี้คือ
    • ลักษณะการอักเสบของผิวหนังแบบเฉียบพลัน มีน้ำเหลืองไหล จะรักษาโดยใช้น้ำเกลือประคบแผล จนกว่าการไหลซึมของน้ำเหลืองจะแห้งลง
    • ลักษณะการอักเสบของผิวหนังในระยะต่อมา มักพบลักษณะเป็นผื่นแดง เป็นขุย คัน อาจพบร่องรอยจากการแกะเการ่วมด้วย ระยะนี้จะเริ่มการรักษาโดยใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ชนิดทา โดยแพทย์จะเลือกชนิดและความแรงของยา ให้เหมาะสมกับลักษณะและตำแหน่งของผื่น ไม่ควรซื้อยาคอร์ติโคสเตียรอยด์จากร้านขายยาเอง เพราะผู้ป่วยเด็กอาจมีผลข้างเคียงจากยาดังกล่าวได้ (อาจเกิดผิวหนังบาง มีภาวะหลอดเลือดฝอยบริเวณผิวหนังพอง และยาอาจดูดซึมเข้าร่างกาย ก่อให้เกิด โรคต้อกระจก และ/หรือ โรคต้อหินได้ )
  • ปัจจุบันมียากลุ่ม Calcinurin inhibitors ทดแทนยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงในเด็กที่ต้องทายาคอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานานๆ แต่ราคายากลุ่ม Calcinurin inhibitors ยังค่อนข้างสูง จึงพิจารณาเลือกใช้เป็นรายๆ และพิจารณาใช้ในผู้ป่วยที่มีผลข้างเคียงจากยาคอร์ติโคสเตียรอยด์
  • รับประทานยาลดอาการคันเพื่อบรรเทาอาการคัน

โรคผื่นแพ้สัมผัสในเด็กรักษาหายไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

โรคผื่นแพ้สัมผัสในเด็ก สามารถรักษาหายได้หากทราบปัจจัยที่เป็นสาเหตุจากการแพ้สัมผัสชัดเจนและสามารถหลีกเลี่ยงได้ ผู้ป่วยก็จะไม่มีอาการของผื่นแพ้สัมผัสกับสารนั้นอีก

ผลข้างเคียงที่พบได้จากผื่นแพ้สัมผัส คือ เมื่อคันมากและเด็กเกามาก ผื่นอาจลุกลามทำให้ผิวหนังส่วนนั้น หนา แข็ง และคันมากขึ้น และอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียต่อผิวหนังในส่วนที่เกาได้จากเล็บที่ไม่สะอาด อาจเกิดเป็นแผลเป็นถาวรได้

ดูแลเด็กอย่างไรเมื่อเป็นโรคผื่นแพ้สัมผัส? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลเด็กเมื่อเป็นโรคผื่นแพ้สัมผัส และการพบแพทย์ ได้แก่

  • ผู้ปกครองควรสังเกตเสมอว่า อะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กเกิดผื่น รวมทั้งสอนให้เด็กสังเกตตนเองด้วย เพื่อการหลีกเลี่ยง
  • เมื่อสัมผัสสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้น ให้รีบล้างบริเวณสัมผัสให้สะอาดด้วยน้ำสะอาด และสบู่อ่อนโยน ซึ่งรวมไปถึงเสื้อผ้า เครื่องใช้ต่างๆที่สัมผัสสิ่งกระตุ้น ต้องซัก ล้างให้สะอาด
  • อาบน้ำด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ และใช้สบู่ชนิดอ่อนโยนเสมอ
  • สอนเด็กไม่ให้เกา (การเกาเพิ่มโอกาสผื่นติดเชื้อแบคทีเรีย และยังเพิ่มความรุนแรงของผื่น) รักษาความสะอาด มือ เล็บ (ตัดเล็บให้สั้น) ของเด็กเสมอ ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ
  • ทาบริเวณผื่นคันด้วยยาทาแก้คัน คาลามาย (Calamine lotion) ถ้าคันมากกินยาแก้แพ้ แอนติฮีสตามีน (Antihistamine,เมื่อซื้อยากินเอง ควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ) หรือยาตามแพทย์แนะนำ
  • ถ้าคันมาก อาจใช้ประคบบริเวณผื่นคันด้วยความเย็น ครั้งละประมาณ 15-20 นาที ทุกๆ 6-8 ชั่วโมง
  • กินยา หรือทายาต่างๆตามแพทย์แนะนำให้ถูกต้อง ครบถ้วน
  • ควรพบแพทย์ เมื่อผื่นไม่ดีขึ้นหลังดูแลเด็กในเบื้องต้นแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ถ้าผื่นเลวลง เด็กคันมาก หรือ เป็นหนอง ควรรีบพบแพทย์

โรคผื่นแพ้สัมผัสในเด็กป้องกันได้ไหม?

สำหรับโรคผื่นแพ้สัมผัสจากสารระคายเคือง มักเป็นผลจากการสัมผัสกับสารที่ระคายเคืองผิวหนังชัดเจน ดังนั้น การหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารระคายเคือง จึงสามารถป้องกันการเกิดผื่นได้

ในขณะที่โรคผื่นแพ้สัมผัสจากสารที่ผู้ป่วยแพ้นั้น ในเบื้องต้นโดยมากผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าผู้ป่วยแพ้สารใด แต่หากทราบสาร และชนิดที่แพ้ การหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารดังกล่าวก็สามารถป้องกันการเกิดผื่นได้เช่นกัน

เมื่อไรจึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจโรคผื่นแพ้สัมผัส?

ควรพบแพทย์ เมื่อพบว่ามีผื่นคันในตำแหน่งที่สัมผัสสาร โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุของผื่นแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือเมื่อต้องการทราบว่าแพ้สารชนิดใด หรือแพ้สารในผลิตภัณฑ์ใด และ/หรือ ต้องการทำการทดสอบการแพ้สัมผัสทางผิวหนัง (Patch test)
ที่มา   https://haamor.com/th/ผื่นแพ้สัมผัสในเด็ก/

อัพเดทล่าสุด