โรคหืด (Asthma)


1,225 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

หลอดลม  ระบบทางเดินหายใจ 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

หอบ  หายใจลำบาก 

ทั่วไป

โรคหืด (Asthma) เป็นโรคพบบ่อยในประเทศไทย โดยพบโรคหืดในเด็กมีมากถึง 10-12% ของเด็กทั้งหมด ส่วนผู้ใหญ่พบน้อยกว่า คือประมาณ 6.9% ซึ่งในประเทศไทยคาดว่าน่าจะมีผู้ป่วยโรคหืดไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน โรคหืดยังเป็นโรคที่มีผลกระทบต่อผู้ป่วย และระบบสาธารณสุขของประเทศค่อนข้างสูง เพราะเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคหืดจะมีอาการหอบเหนื่อยเป็นๆหายๆ สมรรถภาพในการทำงานของปอดลดลง ทำให้เหนื่อยง่ายกว่าคนปกติ บางครั้งจะมีอาการหอบรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน หรือต้องเข้านอนรับการรักษาในโรงพยาบาล ทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยลดลง บางครั้งอาจถึงกับต้องหยุดการทำงาน ส่งผลให้สูญเสียรายได้ และลดผลผลิตของประเทศ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรง พยาบาลเนื่องจากโรคหืดเพิ่มขึ้นทุกปีนับตั้งแต่ 66,679 คนในปี พ.ศ. 2538 เป็น 102,273 คนในปี พ.ศ.2552 และที่สำคัญคือ มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหืด 806 คนในปี พ.ศ. 2540 เพิ่มเป็น 1,697 คนในปี พ.ศ.2546

โรคหืดเกิดขึ้นได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหืด ได้แก่ กรรมพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม เช่นถ้าพ่อแม่เป็นโรคหืด ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคหืดเพิ่มขึ้น ส่วนสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดโรคหืดที่สำคัญ ได้แก่ สารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ขนสุนัข ขนแมว เป็นต้น มีการศึกษาพบ ว่า บ้านที่พ่อและ/หรือแม่สูบบุหรี่ ลูกมีโอกาสเป็นโรคหืดมากกว่าบ้านที่พ่อแม่ไม่สูบบุหรี่

โรคหืดมีอาการอย่างไร?

อาการสำคัญของผู้ป่วยโรคหืดคือ อาการไอ อาการหอบ และหายใจมีเสียงหวีด อาการไอมักจะไอแห้งๆ หรืออาจมีเสมหะเล็กน้อย สีขาวใส ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นๆหายๆ อาการมักเป็นมากในเวลากลางคืน หรือ เวลาที่สัมผัสสิ่งกระตุ้น (สารก่อภูมิแพ้) เนื่องจากหลอดลมผู้ป่วยโรคหืดไวต่อสิ่งกระตุ้นผิดปกติ ดังนั้นเวลาสัมผัสสิ่งกระตุ้น หลอดลมจะหดตัวทำให้หลอดลมตีบ ทำให้ผู้ป่วยโรคหืดมีอาการ ไอ หอบ หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด ซึ่งเราเรียกว่า การจับหืด

ถ้าหลอดลมไม่ตีบมากนัก ผู้ป่วยอาจมีแต่อาการไอเพียงอย่างเดียว และไม่รู้สึกเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก หรือมีเสียงหวีด

อาการหอบหายใจลำบาก และมีเสียงหวีดนี้ บางทีก็อาจทุเลาหายไปได้เอง หรือดีขึ้นเมื่อกินยาหรือพ่นยาขยายหลอดลม แต่ถ้าหลอดลมตีบมากผู้ป่วยก็จะมีอาการมากจนทำงานปกติไม่ไหว ต้องหยุดงานและต้องมารับการรักษาที่โรงพยาบาล หรือห้องฉุกเฉิน บางครั้งหลอดลมตีบมาก ผู้ป่วยอาจหายใจไม่ได้เลย ส่งผลให้ขาดอากาศหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งเรามักจะไม่ทราบว่าโรคหืดทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ เพราะส่วนมากผู้ป่วยจะไม่เสียชีวิต เพราะได้รับการรักษาก่อน

สิ่งกระตุ้นที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคหืด หอบได้ มีหลายอย่างเช่น

  • สารก่อภูมิแพ้ เช่น ขนสุนัข ขนแมว ไรฝุ่น และละอองเกสรดอกไม้
  • การสัมผัสความร้อน-เย็น เช่น การรับประทานไอศกรีม หรือเข้าห้องแอร์
  • การออกกำลังกาย การหัวเราะมากๆ
  • มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น เครียด
  • การเป็นไข้หวัด หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน (จมูก ไซนัส ลำคอ ท่อลม)
  • การรับประทานยาบางตัว เช่น ยากลุ่มแอสไพริน และ ยาต้านการอักเสบในกลุ่มเอ็นเสดส์ (NSAIDs) และยาลดความดันโลหิตกลุ่ม บีตา บลอกเกอร์ (Beta-blocker) เช่น ยาโปรปาโนโลล (Propanolol) เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยโรคหืดได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคหืดได้โดยอาศัย การซักประวัติ ที่มีอาการที่เข้าได้กับโรคหืด เช่น มีอาการไอ หอบ หายใจมีเสียงหวีดเป็นๆ หายๆ หรือมีอาการไอเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไอมากในเวลากลางคืน หรือคนที่ไอเรื้อรังหลังจากเป็นไข้หวัด

แพทย์จะอาศัยการตรวจร่างกาย ตรวจฟังการหายใจจากหูฟัง เพื่อดูว่า มีหลอดลมตีบหรือไม่ ถ้ามีหลอดลมตีบแพทย์จะตรวจได้เสียงดังหวีดที่ทรวงอกทั้งสองข้าง แต่ส่วนมากอาจตรวจไม่พบความผิดปกติ เพราะจะได้ยินเสียงหวีดก็ต่อ เมื่อหลอดลมตีบมากเท่านั้น

การจะยืนยันได้แน่นอนว่าเป็นโรคหืดจริง ต้องอาศัยการตรวจสมรรถภาพปอด ซึ่งอาจทำได้โดย

  1. การตรวจสมรรถภาพปอดโดยการใช้เครื่องตรวจสมรรถภาพปอด (Spirometry) การตรวจสมรรถภาพปอดเป็นการตรวจที่ทำได้ไม่ยากและไม่เจ็บตัว โดยการให้ผู้ป่วยเป่าลมแรงๆเข้าไปในเครื่องตรวจสมรรถภาพปอด เครื่องจะวัดปริมาตรและความเร็วลมที่เป่าออกมา ถ้าหลอดลมตีบ ความเร็วลมที่เป่าออกมาจะลดลง ซึ่งถ้าพบว่ามีการอุดกั้นทางเดินหายใจ (หลอดลมตีบ) แล้วให้ผู้ป่วยพ่นยาขยายหลอด ลม หลังจากนั้น ตรวจความเร็วลมที่เป่าออกมาซ้ำ ค่าการตรวจความเร็วลมดีขึ้นมากกว่าเดิม 12% ก็สามารถให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคหืดได้ ซึ่งการตรวจสมรรถภาพปอด ยังสามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยมีหลอดลมตีบมากน้อยเพียงใด

    คนไข้โรคหืด ควรได้รับการตรวจสมรรถภาพปอดทุกคน เพื่อวินิจฉัยว่า เป็นโรคหืดจริงหรือไม่ ถ้าเป็นโรค เป็นรุนแรงระดับไหน นอก จากนี้การตรวจสมรรถภาพปอดยังใช้ในการติดตามดูผลของการรักษาว่า ดีขึ้นมากน้อยเพียงไหน หลังการรักษาแล้วสมรรถภาพปอดจะกลับมาเป็นปกติหรือยัง

  2. นอกจากนี้ มีวิธีตรวจสมรรถภาพปอดแบบง่ายๆ ที่ผู้ป่วยสามารถทำเองได้ที่บ้าน หรือที่โรงพยาบาลขนาดเล็ก โดยการใช้ เครื่องวัดความเร็วสูงสุดของลม หรือพีคโฟลว์มิเตอร์ (Peak Flow Meter) ซึ่งมีราคาไม่แพงมาก ประมาณ 800 บาท ซึ่งจะช่วยผู้ป่วยในการประเมินความรุนแรงของโรคหืดได้

    วิธีการใช้พีคโฟลว์มิเตอร์ ก็ไม่ยาก เพียงแต่ผู้ป่วยสูดลมให้เต็มปอดแล้วเป่าออกให้แรงที่สุด ค่าที่วัดได้จะเป็นค่าความเร็วสูงสุดของลมที่เป่าออกได้ (Peak expiratory flow rate หรือ PEFR/พีอีเอฟอาร์) หน่วยเป็นลิตร/นาที ถ้าหลอดลมตีบ ค่าที่เป่าได้จะต่ำ ถ้าหลอดลมไม่ตีบ ค่าที่เป่าได้ จะได้สูง และเมื่อพ่นยาขยายหลอดลมแล้วค่า พีอีเอฟอาร์ ดีขึ้นมากกว่า 20% ก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคหืดได้

  3. การวัดความผันผวนของค่า พีอีเอฟอาร์ (Peak flow variability) โดยใช้เครื่องวัดความเร็วของลมสูงสุดพีคโฟลว์มิเตอร์ดังกล่าว วิธีการตรวจ คือ ให้ผู้ป่วยวัดค่า พีอีเอฟอาร์ เช้า และเย็นเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วจดบันทึกมามอบให้แพทย์ แล้วแพทย์นำมาคำนวณหาค่าความผันผวน ซึ่งมีวิธีคำนวณได้หลายแบบ ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

    ในคนปกติ หลอดลมไม่ค่อยจะหดขยายมากนัก ดังนั้นความผันผวนจะน้อยกว่า 20 % แต่หลอดลมผู้ป่วยโรคหืดจะหดขยายอยู่เรื่อยๆ ทำให้ค่าความผันผวนของ พีอีเอฟอาร์ มากกว่า 20% ดังนั้นถ้าวัดความผันผวนของค่า พีอีเอฟอาร์ ได้มากกว่า 20% ก็ถือว่าเป็นโรคหืดได้

  4. การวัดความไวของหลอดลมต่อสิ่งกระตุ้น (Bronchial provocation test) บางครั้งผู้ป่วยไม่มีอาการหอบ การตรวจสมรรถภาพปอดอาจจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทำให้วินิจฉัยโรคหืดไม่ได้ ในกรณีเช่นนี้ แพทย์จะวินิจฉัย โรคหืดได้โดยการวัดความไวของหลอดลมต่อสิ่งกระตุ้นเพราะ ผู้ป่วยโรคหืดจะมีหลอดลมที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าคนปกติ

    วิธีการวัดความไวของหลอดลมทำได้ไม่ยาก โดยให้ผู้ป่วยเป่าลมในการตรวจสมรรถภาพปอด แล้วให้สูดดมสารกระตุ้น เช่น สารเมธาโคลีน (Methacholine) หลังจากนั้น วัดค่าการเป่าลมซ้ำ แล้วค่อยๆเพิ่มความเข้มข้นของสารกระตุ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งค่าเป่าลมลดลง 20% ซึ่งแพทย์จะแปลผล และวินิจฉัยโรคหืดได้จาก การนำค่าสมรรถภาพปอดที่ลดลง และขนาดของสารกระตุ้น มาเขียนเป็นรูปกราฟ

  5. นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจอื่นๆเพิ่มเติม เช่น การตรวจเอ็กเรย์ปอด เพื่อดูว่า ไม่มีโรคอื่นที่ให้อาการคล้ายๆโรคหืด ซึ่งการตรวจเอ็กเรย์ปอดของผู้ป่วยโรคหืด จะไม่พบความผิดปกติ

โรคหืดมีความรุนแรงกี่ระดับ?

โรคหืดอาจแบ่งตามความรุนแรงของโรคเป็น 4 ระดับ โดยอาศัยจากความถี่ห่างของอาการหอบในช่วงกลางวัน ความถี่ห่างของอาการหอบในช่วงกลางคืน การวัดสมรรถภาพปอด และค่าความผันผวนของ พีอีเอฟอาร์ (ตารางที่ 1) ซึ่งการจำแนกความรุนแรงของโรคหืดเพื่อแพทย์ให้ยารักษาตามความรุนแรง

ตารางที่ 1. การจำแนกความรุนแรงของโรคหืดโดยอาศัย ความถี่ของอาการหอบในช่วงกลางวัน ความถี่ของอาการหอบในช่วงกลางคืน การตรวจสมรรถภาพปอด หรือ พีอีเอฟอาร์ และ ค่าความผันผวนของ PEFR 4,5

         

โรคหืดมีวิธีรักษาอย่างไร?

แต่ก่อนเราจะเข้าใจว่า โรคหืดเป็นโรคที่รักษาไม่ได้ เนื่องจากเราไม่เข้าใจสาเหตุที่หลอดลมคนไข้โรคหืดไวต่อสิ่งกระตุ้น เลยไม่รู้วิธีรักษา และคิดว่าโรคหืดรักษาไม่ได้ จึงรักษาแต่อาการที่เกิดจากหลอดลมหดโดยการให้ยาคลายกล้าม เนื้อหรือยาขยายหลอดลม ปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับโรคหืดพัฒนาไปมาก ทำให้เรามีวิธีการรักษาโรคหืดที่ได้ผล จนทำให้คนไข้โรคหืด มีชีวิตเหมือนคนปกติธรรมดาได้โดยไม่ยาก

หลักการรักษาโรคหืดในปัจจุบัน เราทราบว่าสาเหตุของโรคหืด คือมีหลอด ลมอักเสบ ซึ่งการอักเสบชนิดไม่ได้เกิดจากติดเชื้อทำให้หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น ดังนั้นเวลาสัมผัสสิ่งกระตุ้น หลอดลมจะตีบ ทำให้เกิดการหอบ หายใจมีเสียงหวีด เรียกว่าจับหืด เมื่อเรารักษาหลอดลมอักเสบให้ดีขึ้น หลอดลมก็จะไม่ไวต่อสิ่งกระตุ้น พอสัมผัสสิ่งกระตุ้นก็จะไม่หอบ คนไข้โรคหืดก็จะกลับมาเป็นคนปกติได้

ในอดีตเรามักใช้แต่ยาขยายหลอดลมเวลามีอาการจับหืด ทำให้อาการดีขึ้นชั่วคราว ซึ่งเป็นการรักษาอาการเท่านั้นไม่ได้รักษาการอักเสบของหลอดลม ดังนั้นโรคหืดจึงไม่ดีขึ้น และอาการมักจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่เป็นหืด แต่ในปัจจุบันเราทราบว่าการอักเสบเป็นสาเหตุของหลอดลมไว ดังนั้นแพทย์จะให้ยาลดการอักเสบของหลอดลม ซึ่งได้แก่ ยาพ่นเสตียรอยด์ เมื่อหลอดลมอักเสบลด ลงหรือหายไป หลอดลมก็จะไม่ไวต่อสิ่งกระตุ้น และเวลาเจอสิ่งกระตุ้นก็จะไม่หอบ ดังนั้นยาพ่นเสตียรอยด์ จึงเป็นยาหลักในการรักษาโรคหืดและเมื่อเราใช้ยาลดการอักเสบเป็นเวลานาน โรคหืดสามารถรักษาให้สงบลงได้และสามารถหยุดยาได้

ปัจจุบันมีแนวทางการรักษาโรคหืดที่ทำให้การรักษาโรคหืดทั่วโลกเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เรียกว่า GINA Guideline 4 ในประเทศไทยก็มีแนวทางการรักษาตามแบบของ GINA Guideline ที่เรียกว่า แนวปฏิบัติบริการสาธารณสุข:การดูแลผู้ป่วยโรคหืด พ.ศ. 25515

เป้าหมายการรักษาในปัจจุบัน คือทำให้ผู้ป่วยโรคหืดมีชีวิตเช่นคน ปกติ นั่นคือ สามารถควบคุมโรคให้สงบได้ ป้องกันการกำเริบของโรค ยกสมรรถภาพปอดให้เป็นปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตเช่นคนปกติ หลีกเลี่ยงภาวะแทรก ซ้อนจากการใช้ยา และลดการเสียชีวิตจากโรคหืด

แนวทางการรักษา คือ

  1. ผู้ป่วยและญาติต้องมีความรู้และความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคหืด และยารักษาโรค เพื่อให้เกิดความร่วมมือกับแพทย์ในการรักษา สิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยต้องเข้าใจก็คือ โรคหืดเป็นโรคที่มีการอักเสบของหลอดลม ทำให้หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น เมื่อเจอสิ่งกระตุ้นหลอด ลมจึงตีบ ดังนั้นการรักษาโรคหืดไม่ใช่การรักษาหลอดลมตีบ แต่เป็นการรักษาหลอดลมอักเสบซึ่งต้องใช้เวลาในการรักษานาน ถึง แม้ว่าอาการอาจจะไม่มีแล้วก็ตาม ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากจะไม่เข้าใจ และผู้ป่วยต้องเข้าใจว่า ยารักษาโรคหืดจะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้ แก่ ยารักษาโรคหืด คือ ยาพ่นเสตียรอยด์ซึ่งลดการอักเสบ และยาขยายหลอดลมซึ่งใช้เพื่อบรรเทาอาการหอบ
  2. ผู้ป่วยจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้หอบ สิ่งสำคัญคือสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นบ้าน ไรฝุ่น และขนสัตว์
  3. ผู้ป่วยจะต้องรู้จักการประเมินโรค การประเมินโรคอาศัยอาการหอบอย่างเดียวไม่พอ จะต้องมีการประเมินสมรรถภาพปอดด้วย เพราะว่าหลอดลมที่ตีบไม่มากผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการ ผู้ป่วยจะมีอาการต่อเมื่อหลอดลมตีบมาก ดังนั้นถ้ารอดูแต่อาการเราจะประเมินโรคต่ำกว่าที่ควร ให้การรักษาต่ำกว่าที่ควร ผู้ป่วยอาจจะหาซื้อเครื่องวัดความเร็วสูงสุดของลมที่เป่าออกที่เรียกว่า พีคโฟลว์ มิเตอร์ (Peak Flow Meter) ราคาประมาณ 800 บาท ดังกล่าวแล้ว ก็จะสามารถประเมินโรคได้ดีขึ้น
  4. การใช้ยารักษา ยารักษาโรคหืดแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
    • ยาควบคุมโรค (Controllers) เป็นยาที่ใช้เพื่อควบคุมโรคจะต้องใช้สม่ำเสมอแม้ว่าจะไม่มีอาการ ซึ่งประกอบด้วย ยาพ่นสเตียรอยด์ (Inhaled corticosteroids) เป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคหืดเพราะมีฤทธิ์ ลดการอักเสบของหลอด ลมได้ เมื่อหลอดลมอักเสบดีขึ้น หลอดลมจะไม่ไวต่อสิ่งกระตุ้น อาการหอบก็จะหายไปในที่สุด ยาพ่น สเตียรอยด์ถือว่าเป็นยารักษาโรคหืดได้ ยาพ่นสเตียรอยด์เป็นยาที่ปลอดภัย เพราะขนาดยาที่ใช้จะต่ำมาก ไม่เหมือนกับการกินยาสเตียรอยด์ซึ่งจะมีโทษมาก โทษของยาพ่นสเตีย รอยด์ที่อาจจะพบได้ เช่น เสียงแหบ และมีฝ้าขาวในปากจากเชื้อรา ซึ่งป้องกันได้โดยบ้วนปากทุกครั้งหลังพ่นยาด้วยน้ำประปาสะอาด หรือน้ำเกลือโรงพยาบาล (Normal saline) ซึ่งมีขายตามร้านขายยาทั่วไป หรือ ยาบ้วนปากตามแพทย์/พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยแนะนำ
    • ยาขยายหลอดลม หรือยาบรรเทาอาการ (Relievers) ที่สำคัญคือยาพ่นขยายหลอดลม เบต้าอะโกนิส (2 agonist) เช่น เวนโทลิน (Ventolin) บริคคานิล (Bricanyl) หรือ เม็บติน (Meptin) ซึ่งใช้บรรเทาอาการเวลาหอบ โดยจะใช้เฉพาะเวลาที่มีอาการหอบเท่านั้น อาการข้างเคียงของยากลุ่มนี้คืออาจจะมีใจสั่น มือสั่น บ้าง

อนึ่ง ยาที่ใช้รักษาโรคหืดมีทั้ง ยากิน ยาฉีด ยาพ่น ซึ่งยาพ่นเป็นยาที่ดี เพราะเป็นยาที่ใช้เฉพาะที่ จึงได้ผลดีและปริมาณยาที่ใช้จะมีขนาดต่ำมาก จึงมีอาการข้างเคียงน้อยกว่ายากิน ดังนั้นในปัจจุบันการรักษาโรคหืดจึงนิยมใช้ยาชนิดสูดพ่นเป็นหลัก

โรคหืดรักษาหายไหม?

โรคหืดสามารถรักษาจนผู้ป่วยมีชีวิตเช่นคนปกติได้ไม่ยาก โดยการให้ยารักษาซึ่งได้แก่ยาพ่นเสตียรอยด์ เมื่อใช้ยาพ่นเสตียรอยด์เป็นเวลานานๆ เช่น 1-3 ปี จะทำให้การอักเสบของหลอดลมลดลงมาก ทำให้หลอดลมไม่ไวต่อสิ่งกระตุ้น ผู้ป่วยก็จะไม่มีอาการได้ ซึ่งเรียกว่าโรคหืดอยู่ในระยะสงบ ทั้งนี้ ในโรคระยะนี้ ผู้ ป่วยสามารถหยุดยาได้ ซึ่งผู้ป่วยจะไม่มีอาการหอบและผู้ป่วยไม่ต้องใช้ยา ดังนั้น ผู้ป่วยจะพูดว่าหายจากโรคหืดแล้ว แต่แพทย์จะไม่เรียกว่า โรคหืดหาย แพทย์จะเรียกว่า โรคหืดอยู่ในภาวะสงบ ซึ่งอาจจะสงบไปนานเท่าไหร่ก็ได้ ขึ้นกับการดูแลตนเองของผู้ป่วย และการพบแพทย์สม่ำเสมอตามนัด

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคหืดไหม?

เนื่องจากโรคหืดเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เมื่อมีประวัติ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นโรคหืด ก็มีโอกาสเป็นโรคหืดมากกว่าคนอื่น โดยอาการที่จะต้องสงสัยว่าเป็นโรคหืด ได้แก่ อาการไอเรื้อรัง โดยเฉพาะเวลาที่ไม่ได้เป็นหวัดเด็กที่ไอเวลาวิ่งเหนื่อยๆ ไอเวลากลางคืน ไอแล้วอาเจียน เป็นหวัดแล้วหายช้ากว่าปกติ อาการเหล่านี้ ควรต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคหืดได้ เมื่อมีอาการเหล่านี้ จึงควรพบแพทย์เพื่อจะได้รับการตรวจวินิจฉัยให้แน่นอน

โรคหืดป้องกันได้ไหม?

โรคหืดมีสาเหตุจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ในเด็กที่พ่อแม่เป็นโรคหืด ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคหืดเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยนี้อาจจะป้องกันไม่ได้ สิ่งแวดล้อม มีผลต่อการเกิดโรคหืดมาก สิ่งที่สำคัญ ได้แก่ สารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ ควันบุหรี่ ฯลฯ ทั้งนี้ มีการศึกษาพบว่า เด็กที่อาศัยในบ้านที่มีระดับสารก่อภูมิแพ้มาก จะมีโอกาสเป็นโรคหืดมากกว่าเด็กที่อาศัยในบ้านที่มีระดับสารก่อภูมิแพ้ต่ำ เด็กที่อาศัยในบ้านที่พ่อหรือแม่สูบบุหรี่ มีโอกาสเกิดโรคหืดมากกว่าเด็กที่อาศัยในบ้านที่พ่อแม่ไม่สูบบุหรี่ ดังนั้น จากความรู้ที่เรามี เราอาจสามารถลดการเกิดโรคหืดได้โดยพยายามดูแลบ้านให้สะอาดปราศ จากฝุ่นละออง ไม่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงในบ้าน ไม่มีคนสูบบุหรี่ เป็นต้น

เมื่อไรจึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจโรคหืด?

เมื่อมีอาการต้องสงสัยดังกล่าว ก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยโรคหืดที่แน่นอน และเพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เมื่อไปพบแพทย์ สิ่งที่แพทย์จะให้การดูแลรักษา คือ

  1. ให้การวินิจฉัย ว่าเป็นโรคหืดจริงหรือไม่ มีโรคอื่นๆร่วมกับโรคหืดหรือเปล่า เพราะว่าผู้ป่วยโรคหืด 60-70% จะมีโรคภูมิแพ้จมูกร่วมด้วย ซึ่งถ้าไม่รักษาไปด้วยก็จะทำให้การรักษาโรคหืดไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
  2. ประเมินว่าโรคหืดควบคุมได้หรือยัง เป้าหมายของการรักษาโรคหืด คือควบคุมโรคหืดให้ได้ ซึ่งแพทย์จะบอกว่าควบคุมโรคหืดได้ เมื่อผู้ป่วย
    • มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการเลย
    • มีโรคกำเริบน้อยครั้ง
    • ไม่ต้องหอบมากจนต้องไปห้องฉุกเฉิน
    • ใช้ยาขยายหลอดลมน้อยมากหรือไม่ต้องใช้เลย
    • สามารถทำกิจกรรมต่างๆรวมทั้งสามารถออกกำลังกายได้เป็นปกติ
    • มีสมรรถภาพปอดปกติ
    • ไม่มีอาการข้างเคียงจากยา

    ดังนั้น จะเห็นว่าผู้ป่วยสามารถประเมินตนเองได้บางส่วน แต่บางส่วนจะต้องให้แพทย์ช่วยประเมิน คือ การตรวจสมรรถภาพปอด และการดูอาการข้างเคียงจากการใช้ยา

  3. จัดการรักษาโดยการให้ยาที่เหมาะสม การรักษาโรคหืดจะต้องมีการเพิ่มหรือลดยาตลอดเวลา ตามความรุนแรงของโรค การรักษาโรคหืดจะพยายามใช้ยาให้น้อยที่สุดที่พอจะควบคุมโรคได้ เพื่อจะลดอาการข้างเคียงจากยา ดังนั้นจึงจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ตามแพทย์นัดเสมอ เช่น ทุก 3-6 เดือน
  4. แพทย์อาจวางแผนการรักษา ให้ผู้ป่วยในกรณีที่โรคกำเริบ ว่าควรจะต้องทำอะไร เช่น อาจจะมีการเตรียมยาเสตียรอยด์ ชนิดเม็ดไว้ที่บ้านเมื่อมีอาการกำเริบ ก็รีบกินก่อนที่จะหอบรุนแรง ก็จะลดการที่จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลงได้

ที่มา  https://haamor.com/th/โรคหืด/

อัพเดทล่าสุด