บทนำ
โรคหัด (มีเซิลส์/Measles หรือ รูบีโอลา/Rubeola) เป็นโรคไข้ออกผื่นที่พบบ่อยในเด็กเล็ก แต่สามารถพบได้ในทุกวัย โดยโอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งในเพศหญิงและเพศชาย นับว่าเป็นโรคที่มีความสำคัญมากโรคหนึ่ง เพราะอาจเกิดโรคแทรกซ้อนทำให้ถึงเสียชีวิตได้
โรคหัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อ มอร์บิลลิไวรัส (Morbillivirus) ซึ่งคนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต และโรคนี้มีวัคซีนป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงเกือบ 100%
โรคหัดมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอย่างไร?
ถ้าไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค เด็กมีโอกาสเป็นหัดได้เมื่อภูมิคุ้มกันที่ผ่านมาจากแม่หมดไปเมื่ออายุประมาณ 6-9 เดือน ทั้งนี้สามารถเป็นได้ทุกอายุ แต่อายุที่พบบ่อยคือ 1-6 ปี ในประเทศไทย เริ่มให้วัคซีนป้องกันหัด เมื่อ พ.ศ. 2527 ทำให้อุบัติการณ์ของโรคลดลงเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี แต่ก็ยังพบโรคได้ประปราย และมีการระบาดเป็นครั้งคราวในชนบท ผู้ป่วยที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน และเป็นเด็กอายุเกิน 5 ปีมากขึ้น
โรคหัดติดต่อกันได้ง่ายมาก แพร่หลายได้รวดเร็ว มักจะพบในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน แต่ก็อาจพบได้ประปรายตลอดปี การติดเชื้อเกิดโดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด เชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ บางครั้งเชื้ออยู่ในอากาศ เมื่อหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส (Air borne transmission) เข้าไปก็ทำให้เป็นโรคได้ ซึ่งผู้ติดเชื้อจะเกิดโรคเกือบทุกราย
เมื่อไวรัสหัดมาสัมผัสกับเยื่อบุโพรงจมูกหรือเยื่อบุตา จะมีการแบ่งตัวและลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง และเข้าสู่กระแสเลือด (กระแสโลหิต)ครั้งที่ 1 จากนั้นจะไปแบ่งตัวเพิ่มเติมในเยื่อบุทางเดินหายใจและระบบน้ำเหลือง ม้าม และตับแล้วเข้าสู่กระแสเลือดครั้งที่ 2 ทำให้เกิดผื่นบริเวณผิวหนัง การติดเชื้อทางเดินอาหาร และการติดเชื้อในระบบอื่นๆ ได้
โรคหัดมีอาการอย่างไร?
เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อหัด จะมี ระยะฟักตัว ของโรค โดยถ้านับจากสัมผัสโรคจนมีอาการ (ระยะก่อนออกผื่น) โดยเฉลี่ยประมาณ 8-12 วัน หรือนับตั้งแต่เริ่มสัมผัสโรคจนถึงระยะมีผื่น จะประมาณ 14 วัน
อาการของโรคหัดแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือระยะ ก่อนออกผื่นและระยะที่เป็นผื่น
- ระยะก่อนออกผื่น เริ่มต้นด้วยมีไข้สูง ต่อมามีน้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ ตาแดง หรือตาแฉะ (3 อาการหลัก) อาการอื่นๆคือ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซึ่งอาการต่างๆเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณ 2-4 วัน ก่อนที่จะออกผื่น 1-2 วัน ถ้าสังเกตุให้ดี จะเห็นจุดขาวๆ เล็กๆ เหมือนเกลือป่น มีขอบสีแดง อยู่ภายในกระพุ้งแก้ม ส่วนบริเวณติดฟันกราม ซึ่งเรียกว่า ตุ่มโคปลิค (Koplik spots) เป็นลักษณะเฉพาะของโรคหัด ซึ่งจะไม่พบในโรคติดเชื้ออื่นๆเลย และเมื่อผื่นขึ้นแล้ว จุดเหล่านี้จะหายไป
- ระยะออกผื่น จะเริ่มขึ้นบริเวณใบหน้าชิดขอบผม หลังใบหู ก่อนที่จะกระจายไปตามลำตัว แขน-ขา ลักษณะผื่นเป็นแบบนูนแดง อาจติดกันเป็นปื้นๆใหญ่ เป็นผื่นแบบไม่คัน เมื่อผื่นขึ้นมาประมาณ 2-3 วัน ไข้ก็จะเริ่มลดลง ผื่นในระยะแรกมีสีแดง ต่อมามีสีเข้มขึ้น เป็นสีแดงคล้ำ หรือน้ำตาลแดง ซึ่งคงอยู่นาน 5-6 วัน กว่าจะจางหายไปหมด กินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ บางครั้งจะพบผิวหนังลอกเป็นขุยได้
ผู้ป่วยหัดจะมีเชื้อไวรัสในลำคอและแพร่เชื้อได้ในระยะจาก 1-2 วัน ก่อนที่จะเริ่มมีอาการ (3 ถึง 5 วันก่อนผื่นขึ้น) ไปถึงระยะหลังผื่นขึ้นแล้วประมาณ 4 วัน
ในผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ ผื่นจะมีจำนวนมาก และขนาดใหญ่กว่าในเด็ก และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัดและการติดเชื้อแทรกซ้อนจากแบคทีเรียมากกว่าเมื่อเกิดโรคในเด็ก (อ่านในหัวข้อผลข้างเคียงจากโรค)
แพทย์วินิจฉัยโรคหัดได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคหัดได้จากอาการ ซึ่งรวมถึงลักษณะของผื่น โดยเฉพาะการพบจุดขาวที่กระพุ้งแก้ม และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ คือ การตรวจเลือด (ซีบีซี) จะพบภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
นอกจากนั้น คือ การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเพาะต่อโรคหัด ได้แก่
- การตรวจหาสารภูมิต้านทานโรคหัด (แอนติบอดี/Antibody) ชนิด จี (G) โดยการเจาะ 2 ครั้งเทียบกัน ครั้งแรกเจาะวันที่ 7 หลังมีผื่นขึ้น ครั้งที่ 2 เจาะหลังจากครั้งแรก 10-14 วัน ซึ่งจะพบว่ามีค่าต่างกันมากกว่า 4 เท่า
- การตรวจหาสารภูมิต้านทานโรคหัดชนิดเอ็ม (M) โดยให้เจาะตรวจภายในระหว่างวันที่ 4-30 หลังจากมีผื่นขึ้น
- การตรวจหาสารก่อภูมิต้านทานของโรคหัด (แอนติเจน/Antigen) ในเสมหะ หรือ สารคัดหลั่งที่ได้จากการป้ายหลังโพรงจมูก หรือ จากปัสสาวะในระยะที่มีไข้ ซึ่งเป็นการตรวจโดยเทคนิคพิเศษและยุ่งยาก จึงมักให้การตรวจในผู้ป่วยที่ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพราะผู้ป่วยเหล่านี้มักตรวจหาแอนติบอดีไม่พบ
โรคหัดรักษาได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคหัด คือ
- แนวทางการรักษาหลัก คือ การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น การเช็ดตัว การให้ยาลดไข้ ให้อาหารและน้ำให้เพียงพอ ให้ยาแก้ไอ ขับเสมหะ ถ้ามีอุจจาระร่วงก็ให้น้ำเกลือแร่
- การให้วิตามิน เอ (A) เสริมในขนาดสูง เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้ (ให้การรักษาโดยแพทย์เท่านั้น เพราะอาจก่อผลข้างเคียง คือ ตับอักเสบรุนแรง ปวดศีรษะ และอาเจียน) พบว่าจะช่วยลดอัตราการตายและอัตราการพิการจากผลข้างเคียงจากโรคหัดได้ถึง 50% ดังนั้น แพทย์จะให้การรักษาในผู้ป่วยเฉพาะที่มีข้อบ่งชี้ดังนี้
- ผู้ป่วยอาการรุนแรงที่อาศัยอยู่ในประเทศด้อยพัฒนา หรือในบริเวณที่ยากจนของประเทศที่กำลังพัฒนา
- ผู้ป่วยเด็กอายุ 6-24 เดือน และต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาลด้วยโรคหัดที่มีภาวะแทรกซ้อน
- ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง
- ผู้ป่วยขาดสารอาหาร
- ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติเป็นโรคตา จากการขาดวิตามิน เอ
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องลำไส้ดูดซึมไม่ดี (จึงมักขาดวิตามิน เอ)
- ผู้ป่วยที่พึ่งย้ายมาจากพื้นที่ที่มีอัตราการตายจากโรคหัดสูง
- การให้ยาปฏิชีวนะ ถ้าผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น คือ เกิดหูชั้นกลางอักเสบ หรือปอดอักเสบจากติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้ำซ้อน
- ผู้ป่วยอาการรุนแรงที่มีข้อบ่งชี้เหล่านี้ แพทย์จะพิจารณาให้ยาสารภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้ ได้แก่
- ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เช่น ติดเชื้อไวรัส เอชไอวี (HIV)
- ผู้ป่วยเด็กอายุ 6-12 เดือน
- ผู้ป่วยเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือน แต่เกิดจากมารดาที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต้านทานต่อโรคหัด
- ผู้ป่วยเป็นหญิงตั้งครรภ์
โรคหัดมีผลข้างเคียงไหม? รุนแรงไหม? รักษาหายไหม?
เนื่องจากเชื้อไวรัสจากโรคหัด เข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นระบบภูมิคุ้มกันป้องกันเชื้อโรคต่างๆนี้เอง ทำให้เมื่อติดเชื้อหัดแล้ว จึงมีโอกาสทำให้ผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียง (ภาวะ/ผลแทรกซ้อน) ต่างๆได้ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในสภาพยากจน อยู่ในชุมชนแออัด มีภาวะทุพโภชนาการ และในเด็กเล็ก (เด็กกลุ่มนี้ มักมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ) โดยแบ่งผลข้างเคียงออกตามระบบ ได้แก่
- ระบบทางเดินหายใจ (พบได้บ่อย) เช่น
- หูส่วนกลางอักเสบ พบบ่อยสุดในเด็กเล็ก
- กล่องเสียงอักเสบ
- หลอดลมอักเสบ
- หลอดลมและกล่องเสียงอักเสบ
- ปอดอักเสบ มักพบในผู้ใหญ่ โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อหัดเอง แต่อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนขึ้นมาได้
- อาจทำให้วัณโรคที่เป็นอยู่กำเริบขึ้นมาได้
- ระบบทางเดินอาหาร พบอุจจาระร่วงจากลำไส้อักเสบได้บ่อย ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะทุพโภชนาการ ส่วนในระบบอื่นๆของทางเดินอาหาร เช่น เกิดตับอักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องอักเสบ
- ระบบประสาท
- สมองอักเสบ พบได้ประมาณ 1 ใน 1000 รายที่ป่วยเป็นโรคหัด และประมาณ 10% ของผู้ป่วยจะเสียชีวิต ส่วนผู้ป่วยที่รอดชีวิตส่วนใหญ่จะมีโรคลมชัก และสติปัญญาด้อยลง
- ภาวะเนื้อสมองอักเสบกระด้าง (พบได้น้อย) พบได้ประมาณ 1 ใน 100,000 ราย ถึง 1 ใน 1,000,000 รายที่ป่วยเป็นโรคหัด โดยเกิดจากการเสื่อมของสมองส่วนกลาง อาการ คือ จะมีปัญหาทางด้านการเรียน สติปัญญาจะค่อยๆด้อยลงไปเรื่อยๆ มีอาการหลงลืม พร้อมๆกับพฤติกรรมที่แปลกไป จนถึงขั้นปัญญาอ่อน ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และมีอาการชักร่วมด้วย ซึ่งเวลาโดยเฉลี่ยนับตั้งแต่ติดเชื้อหัดจนถึงเริ่มต้นเกิดอาการคือประมาณ 10-11 ปี และตั้งแต่เกิดอาการจนถึงเสียชีวิตจะประมาณ 2 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เกิดภาวะนี้จะเป็นโรคหัดตอนอายุน้อยกว่า 2 ปี
- ในเด็กที่มีภาวะขาดวิตามินเอ อาการจะรุนแรงและอาจทำให้ตาบอด
มีวิธีดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นหัด? และจะป้องกันโรคหัดได้อย่างไร?
วิธีดูแลตนเอง และป้องกันโรคหัด คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย โดยแยกผู้ป่วยที่สงสัยเป็นหัดจนถึงประมาณ 4 วันหลังผื่นขึ้น
แต่ทั้งนี้ วิธีที่ดีที่สุด คือ ฉีดวัคซีนป้องกัน ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 เมื่อเด็กเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยทั้งสองครั้งให้ในรูปของวัคซีนรวม ป้องกันได้สามโรค คือโรคหัด โรคคางทูม และโรคหัดเยอรมัน เรียกว่า วัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ (MMR, M= Mumps/มัมส์/โรคคางทูม M= Measles/มีเซิลส์/หัด และ R=rubella/รูเบลลา/โรคหัดเยอรมัน)
อนึ่งเด็กที่เคยฉีดวัคซีนมาเพียง 1 ครั้ง (ปกติต้องฉีด 2 ครั้งดังกล่าวแล้ว) เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีโอกาสที่ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจะลดลงจนไม่สามารถป้องกันเชื้อหัด และทำให้เป็นโรคหัดได้
ในบางกรณี แม้ฉีดวัคซีนครบแล้ว ก็อาจเป็นโรคหัดได้ แต่จะเป็นแบบชนิดที่อาการต่างๆจะเป็นน้อย มีผื่นขึ้นน้อย
สำหรับผู้ที่สัมผัสโรคภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง อาจพิจารณาให้วัคซีนหัดทันที ซึ่งจะป้องกันการเกิดโรคได้เมื่อยังไม่เคยเป็นหัดมาก่อน และ/หรือ เมื่อไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อเป็นโรคหัด หรือ สงสัยโรคหัด ควรพบแพทย์เมื่อ
- มีอาการของหัดค่อนข้างรุนแรง เช่น ไข้สูง ทานอาหารไม่ได้
- ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ต้องให้สารภูมิคุ้มกันต้านทานโรค และ/หรือวิตามินเอ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ แนวทางการรักษา
- เมื่อมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัดเกิดขึ้น เช่น การกลับมีไข้ขึ้นมาใหม่หลังจากไข้ลงแล้ว ซึ่งปกติแล้วเมื่อผื่นขึ้นมา 2-3 วัน ไข้จะหายไป และ/หรือมีอาการติดเชื้อตามระบบต่างๆ เช่น ปวดหู มีน้ำหนองไหลจากภาวะหูอักเสบ มีอาการไอมีเสมหะมาก หอบเหนื่อย หายใจเสียงดังจากภาวะติดเชื้อทางเดินหายใจในส่วนต่างๆ มีอาการปวดศีรษะ ซึม ชัก จากภาวะสมองอักเสบ มีอาการอุจจาระร่วงจากลำไส้อักเสบ และมีอาการปวดท้องมากจากไส้ติ่งหรือต่อมน้ำเหลืองในท้องอักเสบ
ที่มา https://haamor.com/th/โรคหัด/