โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)


1,300 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ทั้งตัว  ระบบต่อมไร้ท่อ  โภชนาการ 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

อ้วน 

นิยาม

น้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วน (overweight and obesity) โดยองค์การอนามัยโลก ให้นิยามว่า น้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนหมายถึง ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันในส่วนต่างๆของร่างกายเกินปกติ จนเป็นปัจจัยเสี่ยง หรือ เป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆที่ส่งผลถึงสุขภาพ จนอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ โดยเมื่อมีค่าดรรชนีมวลกาย หรือ ดัชนีมวลกาย (Body mass index หรือ เรียกย่อว่า BMI/บีเอ็มไอ) ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป เรียกว่า น้ำหนักตัวเกิน แต่ถ้ามีค่าดรรชนีมวลกาย ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป เรียกว่า เป็นโรคอ้วน

น้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วน มีสาเหตุ วิธีวินิจฉัย การดูแลรักษา และปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆเช่นเดียวกันทุกประการ แตกต่างกันที่ความรุนแรงของปัญหาทางสุขภาพ ในคนน้ำหนักตัวเกินจะรุนแรงน้อยกว่าในคนเป็นโรคอ้วน ดังนั้นในทางการแพทย์ ทั้งน้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วนจึงมักกล่าวถึงควบคู่กันไปเสมอ

ดัชนีมวลกาย คือ ค่าซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างน้ำหนักตัวกับส่วนสูง ซึ่งนิยมใช้เป็นตัววินิจฉัยว่า ใครน้ำหนักเกิน หรือ ใครเป็นโรคอ้วน โดยหน่วยของน้ำหนัก คิดเป็น กิโลกรัม และหน่วยของความสูงคิดเป็นเมตร โดยค่าดรรชนีมวลกายของแต่ละคน จะมีค่าเท่ากับ น้ำหนักของคนๆนั้น หารด้วยความสูงยกกำลังสอง ดังนั้นหน่วยของดรรชนีมวลกายจึงเป็น กิโลกรัม/เมตร2 (ทดสอบค่าดรรชนีมวลกายของแต่ละคน ได้จาก https://dopah.anamai.moph.go.th/bmi.php) ซึ่งค่าดรรชนีมวลกายของคนปกติ และคนผอมตามนิยามขององค์การอนามัยโลกคือ 18.5-24.9 และ ต่ำกว่า 18.5 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม บางการศึกษา แนะนำว่า นิยามโรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกินในคนเอเชีย ควรแตกต่างจากที่องค์การอนามัยโลกกำหนด เพราะคนเอเชียมีรูปร่างเล็กกว่าคนอเมริกัน ยุโรป และอัฟริกัน โดย กำหนดให้คนผอม และคนปกติของชาวเอเชีย มีค่าดรรชนีมวลกาย น้อยกว่า 18.5 และ 18.5-22.9 ตามลำดับ ส่วนโรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน มีค่าดรรชนีมวลกาย ตั้งแต่ 23 ขึ้นไป และ ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป ตามลำดับ

องค์การอนามัยโลก และกลุ่มแพทย์ชาวเอเชีย ยังแบ่งโรคอ้วนออกเป็น 3 ระดับ เพื่อบอกความรุนแรงของภาวะ หรือ ของโรคว่า ปานกลาง รุนแรง และรุนแรงมาก โดยระดับความรุนแรงมาก คือ ค่าดรรชนีมวลกายตั้งแต่ 40 ขึ้นไป (องค์การอนามัยโลก) หรือ ตั้งแต่ 30 ขึ้นไปในคนเอเชีย

อนึ่ง ค่าดรรชนีมวลกายในผู้ใหญ่และในเด็กต่างกัน เพราะเด็กอยู่ในวัยเจริญเติบโต และมีความแตกต่างกันในการเจริญเติบโตระหว่างเด็กหญิง และเด็ก ชาย ดังนั้นในการคำนวณค่าบีเอ็มไอ จึงต้องใช้อายุ และเพศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เรียกว่า ค่า BMI-for-Age percentile ซึ่งบทความนี้จะไม่กล่าวถึง เรื่องของน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนในเด็ก จะครอบคลุมเรื่องน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนเฉพาะในผู้ใหญ่เท่านั้น (อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง เด็กอ้วน)

อัตราส่วนระหว่างเอวกับสะโพก(Waist-hip ratio หรือ เรียกย่อว่า WHR/ ดับเบิลยูเอชอาร์) เพื่อให้ง่ายขึ้น บางการศึกษาแนะนำให้วินิจฉัยว่า การมีไขมันเกินจนเป็นปัญหาต่อสุขภาพให้วัดรอบเอว และหารด้วยรอบสะโพก ในผู้ชาย ค่า มากกว่า 1 และในผู้หญิง ค่ามากกว่า 0.85 แสดงว่า มีปัญหาจากร่างกายสะสมไขมันเกินแล้ว ทั้งนี้การวัดรอบเอว ให้วัดในตำแหน่ง กึ่งกลางระหว่าง ซี่โครงซี่สุดท้ายที่คลำได้และสันกระดูกปีกสะโพก(iliac crest) ส่วนรอบสะโพกให้วัดในตำแหน่งระดับที่โคนขาด้านในของทั้งสองข้างชนกัน

รู้ได้อย่างไรว่า น้ำหนักตัวเกิน หรือ เป็นโรคอ้วน?

แพทย์วินิจฉัยว่ามี น้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน ได้จากการหาค่าดรรชนีมวลกาย ดังกล่าวแล้ว(ค่าดรรชนีมวลกาย BMI) ส่วนตัวเราเองสังเกตได้ง่ายๆว่าอ้วนขึ้น จากการที่เสื้อ ผ้าเดิมๆใส่คับขึ้น หรือ น้ำหนักขึ้นเสมอจากการชั่งน้ำหนัก หรือ รู้สึกอึดอัด และเหนื่อยง่ายกว่าเดิม

ทำไมโรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกินถึงเป็นปัญหาทางการแพทย์?

น้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนในปัจจุบัน จัดเป็นปัญหาทางสาธารณสุข เพราะประชากรทั่วโลก รวมทั้งในคนไทย มีปัญหาน้ำหนักตัวเกิน และเป็นโรคอ้วนเพิ่ม ขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งน้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วน เป็นทั้งปัจจัยเสี่ยง และสาเหตุสำคัญของโรคเรื้อรังต่างๆ ที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพ และเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงมาก แต่อัตราเสียชีวิตก็ยังคงสูงต่อเนื่อง

โรคที่มี น้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยง หรือ เป็นสาเหตุ คือ

 

โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกินมีสาเหตุจากอะไร?

สาเหตุของน้ำหนักตัวและโรคอ้วน ที่พบบ่อย คือ กินอาหารเกินความต้อง การของร่างกายทั้ง ประเภท(อาหารแป้ง ไขมัน และอาหารใยอาหารต่ำ) และปริมาณอาหาร ร่วมกับ ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม และขาดการเคลื่อนไหวร่างกายจากสภาพการทำงาน และจากการมีเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ รวม ทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เคลื่อนไหว เช่น ติดทีวี ติดเกมส์ หรือ ติดคอมพิวเตอร์

นอกจากนั้น ที่พบเป็นสาเหตุได้บ้างเป็นส่วนน้อย คือ จากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้ร่างกายสะสมไขมันได้สูงโรคเกี่ยวกับฮอร์โมน เช่น โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง หรือ โรคต่อมไทรอยด์ทำงานพร่อง/ต่ำ(ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) การกินยาบางชนิดซึ่งมีผลข้างเคียงกระตุ้นให้อยากอาหาร เช่น ยากันชัก หรือ ยารักษาโรคทางจิตเวช การผ่อนคลายความเครียดด้วยการกิน คนท้องซึ่งกินมากในช่วงตั้งครรภ์และเมื่อคลอดแล้วไม่สามารถลดน้ำหนักได้ ในผู้สูงอายุเพราะเคลื่อนไหวได้ช้า และมีโรคประจำตัวซึ่งเป็นอุปสรรคต่อ การเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย และมีบางการ ศึกษาพบว่า การอดนอนเสมอ(นอนวันละ 5 ชั่วโมง หรือ น้อยกว่า) ทั้งนี้เพราะในขณะนอนหลับ ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนเพื่อลดการอยากอาหาร(ฮอร์โมนเลปติน/Leptin) และฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นการใช้พลังงานของร่างกาย(ฮอร์โมนอินซูลิน/ insulin)

ปัจจัยเสี่ยงของคนไทยต่อการมีโรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกินมีอะไรบ้าง?

จากการศึกษาของ Jitnarin, N. และคณะ ซึ่งรายงานผลการศึกษาในปี ค.ศ. 2009 พบว่าปัจจัยเสี่ยงของผู้ใหญ่ไทยต่อการมีน้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วน สำหรับผู้ชาย คือ สูงอายุ อยู่อาศัยในเมือง มีฐานทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี และไม่สูบบุหรี่ ส่วนในผู้หญิง คือ สูงอายุ มีการศึกษา โสด ทำงานวิชาชีพ หรือ กึ่งวิชา ชีพ

แพทย์รักษาโรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกินได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนของแพทย์ ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น สาเหตุ อายุ สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยโรคร่วมต่างๆ น้ำหนักตัวผู้ป่วยและขีดความสามารถของผู้ป่วยและครอบครัวในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งการรักษามักใช้หลายๆวิธีการร่วมกัน โดยมักเริ่มจากการตั้งเป้าหมาย และประเมินผลการรักษาตามเป้า หมายเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีรักษา เช่น ให้ลดน้ำหนักได้ 10% ใน 6 เดือน และต่อจาก นั้นดูว่าผู้ป่วยสามารถลดน้ำหนักลงได้อีกไหม และ/หรือ สามารถคงน้ำหนักอยู่เช่น นั้นได้ไหม? เป็นต้น ซึ่งวิธีการรักษา มีตั้งแต่การควบคุมปริมาณ และประเภทอาหาร การออกกำลังกาย การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต การใช้ยาลดการอยากอาหาร จนถึงการผ่าตัดกระเพาะอาหาร ซึ่งในการแนะนำการผ่าตัด จะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ และปัจจัยต่างๆดังกล่าวแล้วเช่นกัน

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อน้ำหนักตัวเกินหรือ เป็นโรคอ้วน? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองเมื่อปล่อยให้อ้วนแล้ว มักเป็นการยากที่จะควบคุมน้ำหนักได้ ดังนั้นจึงต้องเริ่มควบคุมน้ำหนักตั้งแต่เมื่อเริ่มมีน้ำหนักเกิน เช่น รู้สึกเสื้อผ้าคับ หรือ เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วน้ำหนักขึ้นต่อเนื่องทุกอาทิตย์ ซึ่งการดูแลตนเองที่สำคัญ คือ ต้องตระหนักถึงความสำคัญของโทษของโรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน และมีอุตสาหะในการควบคุมน้ำหนัก โดย

  • กินอาหารแต่ละมื้อให้น้อยลง ค่อยๆทยอยลด เพราะถ้าลดฮวบฮาบ จะทนหิวไม่ได้ ไม่กินจุบจิบ และเมื่อมีกิจกรรมต่างๆ เช่น ท่องเที่ยว ประชุม ก็ยังควรต้องจำกัดอาหารเสมอ
  • จำกัดอาหารแป้ง หวาน และไขมัน เพิ่ม ผักและผลไม้
  • ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เคลื่อนไหว/เคลื่อนไหวน้อย เช่น ลดการดูทีวี โดยทำงานบ้านทดแทน
  • พยายามหาทางให้ร่างกายใช้พลังงาน เช่น ลงรถเมล์ก่อนถึงป้ายที่ทำงาน 1 ป้าย หรือ ใช้ลิฟต์เฉพาะเมื่อจำเป็น
  • พยายามออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาที
  • ชั่งน้ำหนักทุกสัปดาห์
  • การควบคุมน้ำหนัก ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคนในครอบครัว โดย เฉพาะในเรื่องอาหาร เช่น ไม่ซื้อขนมเข้าบ้าน
  • ไม่ซื้อยาลดความอ้วนกินเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะยามีผลข้างเคียงหลายอย่างที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ และอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ เช่น เบื่ออาหารมากจนกินได้น้อย ขาดอาหาร การรับรสชาติผิดปกติ ท้องผูก ปากแห้ง เหงื่อออกมาก นอนไม่หลับ คลื่นไส้อาเจียน ความดันโลหิตสูง ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ปวดหัว กังวล หงุดหงิดง่าย และสับสน
  • ควรพบแพทย์ เมื่อดูแลตนเองแล้ว น้ำหนักยังขึ้นต่อเนื่อง หรือเมื่อกังวลในเรื่องน้ำหนัก
 

ป้องกันโรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกินได้อย่างไร?

วิธีป้องกันน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน เช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วในหัวข้อ การดูแลตนเอง (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ การดูแลตนเอง

อัพเดทล่าสุด