ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :
ตับ ระบบทางเดินอาหาร ระบบโรคติดเชื้ออาการที่เกี่ยวข้อง :
คลื่นไส้ ตัวเหลือง อ่อนเพลีย ตาเหลืองทั่วไป
ไวรัสตับอักเสบ บี เป็นโรคหนึ่งในกลุ่มเดียวกับโรคไวรัสตับอักเสบ ซึ่งไวรัสตับอักเสบมีได้หลายสายพันธุ์ย่อย แต่ที่พบบ่อย คือ สายพันธุ์ เอ บี และซี
ไวรัสตับอักเสบ บี เป็นโรคพบบ่อยทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ และโอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย
โรคไวรัสตับอักเสบ บี เกิดจากอะไร? ติดต่อได้ไหม? อย่างไร?
ไวรัสตับอักเสบ บี เกิดจากตับติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด บี (Hepatitis B virus/HBV) จัดเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย โดยเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน จากได้รับเชื้อผ่านทางบาดแผลของผิวหนังแม้เพียงเล็กน้อย จากการสัมผัสกับเลือด และ/หรือ สารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น น้ำอสุจิ น้ำจากช่องคลอด น้ำลาย น้ำมูก บาด แผลของผู้ติดเชื้อ จากการใช้ของใช้ที่สัมผัสสารคัดหลั่งผู้ป่วยร่วมกัน เช่น เข็มฉีดยา การสักลาย การเจาะหู กรรไกรตัดเล็บ จากเพศสัมพันธ์ (ไวรัสตับอักเสบ บี จึงจัดอยู่ในกลุ่มโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ด้วย) จากเลือดสู่เลือด เช่น จากการให้เลือด และทารกในครรภ์สามารถติดเชื้อจากมารดาได้เมื่อมารดาติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ทั้งขณะอยู่ในครรภ์ และในช่วงการคลอด
เมื่อเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บ เกิดเป็นการอักเสบของเซลล์ตับ จึงเกิดเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ บี ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้ จะมีเชื้ออยู่ในเลือด และในสารคัดหลั่งต่างๆดังกล่าวแล้ว
ไวรัสตับอักเสบ บี ทนต่ออุณหภูมิปกติได้เป็นชั่วโมง ไม่ตายด้วยการแช่แข็ง แต่ตายได้จากการต้มเดือดนานอย่างน้อย 20 นาที หรือ แช่ในน้ำยาคลอรอกซ์ (Clorox) นานอย่างน้อย 30 นาที-1ชั่วโมง
โรคไวรัสตับอักเสบ บี มีอาการอย่างไร?
โดยทั่วไป จะเกิดอาการประมาณ 30-180 วัน หลังได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี(ระยะฟักตัว) โดยอาการของไวรัสตับอักเสบไม่ว่าเกิดจากสายพันธุ์ใด จะเหมือนกัน ซึ่งที่พบบ่อย คือ เริ่มจากมีอาการคล้ายโรคไข้หวัดทั่วไป เช่น มีไข้(มีได้ทั้งไข้สูง หรือ ไข้ต่ำ) ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดท้อง ท้องเสีย แต่มักอ่อน เพลีย คลื่นไส้ และอาเจียนมากกว่า หลังจากนั้น 2-3 วัน หรือ ประมาณ1 สัปดาห์ จะเริ่มมีอาการตัว/ตาเหลือง(ดีซ่าน) ปัสสาวะสีเหลืองเข็ม และอุจจาระอาจมีสีซีด นอกจากนั้นอาจมีตับและ/หรือ ม้ามโตคลำได้ จากนั้นอาการตัว/ตาเหลืองจะค่อยๆลดลง โดยทั่วไปจะมีอาการอยู่ประมาณ 2-8 สัปดาห์
โรคไวรัสตับอักเสบ บี แตกต่างจากไวรัสตับอักเสบ เอ ที่พบได้ทั้ง การอักเสบแบบเฉียบพลัน คือ เกิดโรคและหายได้ภายในประมาณ 8 สัปดาห์ แต่มีคนอีกกลุ่ม ประมาณ 5-10%(แพทย์ไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่า ใครจะอยู่ในกลุ่มนี้) ภายหลังติดเชื้อผ่านไปแล้วตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ก็ยังพบเชื้อได้ในเลือด และในสารคัดหลัง โดยตัวเองไม่มีอาการแล้ว จึงเป็นคนแพร่เชื้อตลอดเวลา และคนกลุ่มนี้บางครั้ง อาจเกิดการติดเชื้อเฉียบพลันซ้ำซ้อนขึ้นอีกได้ เรียกว่า การอักเสบแบบเรื้อรัง ซึ่งยังไม่มีวิธีรักษาให้หายจากการอักเสบเรื้อรังนี้ได้ การรักษาปัจจุบันเพียงควบคุมไม่ให้ไวรัสแบ่งตัวเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้เซลล์ตับจะถูกทำลายตลอด เวลา การรักษาเพียงชะลอไม่ให้เกิดการทำลายมากจนเกิดอาการ ดังนั้น การอักเสบแบบเรื้อรัง จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด โรคตับแข็ง และโรคมะเร็งตับ
แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ บี ได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ บี ได้ด้วยวิธีการเช่นเดียวกับการวินิจฉัย โรคไวรัสตับอักเสบจากทุกสายพันธุ์ย่อย ได้แก่ จากประวัติอาการ ประวัติที่เสี่ยงต่อการสัมผ้สโรคดังกล่าวแล้ว การเคยได้รับเลือด ตรวจร่างกาย ตรวจเลือดดูการทำงานของตับและดูค่าสารภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ตามดุลพินิจของแพทย์
รักษาโรคไวรัสตับอักเสบ บี อย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ บี ยังเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะเพราะยาปฏิชีวนะฆ่าไวรัสไม่ได้ แต่ใช้ฆ่าแบคทีเรีย ซึ่งที่สำคัญ คือ พักการทำงานของตับ โดยการพักผ่อนให้มากๆ (ควรต้องหยุดงานอย่างน้อยประมาณ 3-4 สัปดาห์) นอกจากนั้น คือ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง ฟื้นตัวได้เร็ว ลดโอกาสติดเชื้อซ้ำซ้อน ลดการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น
- ดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ ไม่ควรต่ำกว่าวันละ 6-8 แก้ว(เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม)
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ ทุกวัน
- งดบุหรี่ และ แอลกอฮอล์ เพราะสารพิษในบุหรี่และแอลกอฮอล์ทำลายเซลล์ตับโดยตรง
- กินยาแต่ที่เฉพาะได้รับจากแพทย์ ไม่ซื้อยากินเอง เพราะเพิ่มโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาต่อเซลล์ตับสูงขึ้น อาจส่งผลให้ตับอักเสบมากขึ้น
อนึ่ง ในการรักษาโรคในระยะเรื้อรัง ปัจจุบันมีตัวยาหลายชนิด ทั้งฉีด และกิน ใช้เพื่อชะลอการแบ่งตัวของไวรัส ส่วนจะเลือกใช้ยาตัวใด ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
มีผลข้างเคียงจากไวรัสตับอักเสบ บี ไหม?
ผลข้างเคียงจากไวรัสตับอักเสบ บี คือ การเปลี่ยนเป็นไวรัสตับอักเสบ บีเรื้อรังดังกล่าวแล้ว โรคตับแข็ง และโรคมะเร็งตับ
โรคไวรัสตับอักเสบ บี รุนแรงไหม?
โรคไวรัสตับอักเสบ บี เมื่อเป็นการอักเสบเฉียบพลัน มักไม่รุนแรง แต่ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ หรือ ในเด็ก โรคอาจรุนแรง เซลล์ตับอาจถูกทำลายมากจนเกิดตับวายเฉียบพลัน และเสียชีวิตได้
แต่ในโรคอักเสบเรื้อรัง จัดเป็นโรครุนแรง เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับ ซึ่งจัดเป็นมะเร็งมีความรุนแรงสูง
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์เสมอ เพื่อรู้สาเหตุ เพื่อการรักษาดูแลตนเองได้ถูกต้อง
ควรดูแลตนเองอย่างไร ?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ บี คือ การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาล นอกจากนั้น เช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วในหัวข้อ การรักษา และที่สำคัญอีกประการ คือ เมื่อมีอาการต่างๆเลวลง หรือ มีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือ มีความกังวลในอาการ ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัด
ป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี ได้อย่างไร?
การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี ที่สำคัญ คือ การฉีดวัคซีน ซึ่งมีหลายชนิด และมีวิธีการในการฉีดแตกต่างกันในแต่ละชนิด ขึ้นกับข้อบ่งชี้ในการใช้(แพทย์จะเป็นผู้แนะนำ) โดยทั่วไป ฉีดเข็มแรกตั้งแต่แรกเกิด(เมื่อเป็นเด็กคลอดในโรงพยาบาล) แต่สามารถฉีดได้เลยในทุกอายุ เมื่อยังไม่เคยฉีด และประสงค์จะฉีด ควรปรึกษาแพทย์
ส่วนวิธีการอื่นๆ คือ หลักในการป้องกันการติดเชื้อทุกชนิด และในการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ซึ่งก็คือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) และการกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ นอกจากนั้น คือ ระมัดระวัง และหลีกเลี่ยง การสัมผัสเลือด และสารคัดหลั่งของผู้อื่น
ในผู้ที่สัมผัสผู้ป่วย ผู้ดูแลผู้ป่วย และกังวลว่าตนเองอาจติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ควรพบแพทย์ เพื่อขอคำปรึกษา ซึ่ง อาจเป็นการฉีดวัคซีน หรือ การได้รับสารภูมิคุ้มกันต้านทาน ทั้งนี้ขึ้นกับความเสี่ยง และความรุนแรงในการติดเชื้อ ซึ่งจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
ที่มา https://haamor.com/th/โรคไวรัสตับอักเสบบี/