ทั่วไป
โรคไวรัสตับอักเสบ เป็นโรคพบบ่อยโรคหนึ่งซึ่งเกิดจากตับติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซึ่งมีหลายสายพันธุ์ย่อย แต่ที่พบบ่อย ได้แก่ การติดเชื้อสายพันธุ์ชนิด เอ บี และซี แต่ในบทนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิด เอ เท่านั้น ซึ่งคือ โรคไวรัสตับอักเสบ เอ (Viral hepatitis A)
ไวรัสตับอักเสบ เอ เป็นโรคพบบ่อยทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศยังไม่พัฒนาและกำลังพัฒนา เพราะยังขาดการสาธารณสุขที่ดี โดยเฉพาะในเรื่องน้ำดื่มและน้ำใช้ เป็นโรคพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งนี้ เพศหญิงและเพศชายมีโอกาสเกิดโรคนี้ใกล้เคียงกัน

โรคไวรัสตับอักเสบ เอ เกิดจากอะไร? ติดต่อได้ไหม? อย่างไร?
โรคไวรัสตับอักเสบ เอ เกิดจากตับติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบ เอ (Hepatitis A Virus หรือ เรียกย่อว่า HAV) โดยเชื้อผ่านเข้าร่างกายทางปาก เข้าสู่กระแสเลือด แล้วจึงเข้าสู่ตับ เชื้อในตับจะปนเปื้อนในน้ำดีจากตับ และเข้าสู่ลำไส้ และปนมาในอุจจาระ เมื่อคนได้รับอุจจาระมีเชื้อซึ่งปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม จึงเกิดโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ดังนั้น ไวรัสตับอักเสบ เอ จึงเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน
เชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นเดือนในน้ำดื่มที่ไม่สะอาด น้ำทะเล น้ำเสีย และในดิน ไม่สามารถฆ่าให้ตายด้วย ผงซักฟอก สบู่ คลอโรฟอร์ม ความแห้งแล้ง และการแช่แข็ง แต่ฆ่าให้ตายได้ด้วยแสง ยูวี (UV, Ultraviolet light) หรือ แสงแดด คลอรีน ฟอร์มาลิน และด้วยอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 85°C (เซลเซียส) ขึ้นไป
ไวรัสตับอักเสบ เอ เป็นโรคติดต่อได้ง่ายจึงมีการระบาดได้ง่าย โดยสามารถติดต่อได้จากการกิน และ/หรือ ดื่ม อาหารและ/หรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อนี้อยู่ ซึ่งเชื้อมักอยู่ในอาหารที่ปรุงไม่สุก สุกๆดิบๆ สด อาหารทะเล โดยเฉพาะหอยลวก ปู ผักสด และน้ำดื่มที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะในน้ำแข็ง
โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักมีอาการภายหลังการได้รับเชื้อ ประมาณ 2-6 สัปดาห์ (ระยะฟักตัว) ในผู้ป่วยผู้ใหญ่สามารถแพร่เชื้อ (ทางอุจจาระ) ได้ โดยเริ่มตั้งแต่ประมาณ 10 วันก่อนเริ่มมีอาการ ไปจนถึงประมาณ 1 สัปดาห์หลังมีตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน) แต่ในผู้ป่วยเด็ก การแพร่เชื้อทางอุจจาระมีไปตลอดระยะเวลาที่เด็กยังมีอาการตา/ตัวเหลือง หรือ อาจนานถึง 6 เดือน (ในเด็กบางคน) อย่างไรก็ตามในช่วงระยะฟักตัว โรคอาจติดต่อทางการให้เลือดได้ (เป็นช่วงมีไวรัสในเลือด) แต่เป็นวิธีติดต่อที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก
ไวรัสตับอักเสบ เอ มีอาการอย่างไร?
โรคไวรัสตับอักเสบ เอ มักเป็นการอักเสบติดเชื้อเฉียบพลัน ไม่ค่อยเปลี่ยน เป็นการอักเสบเรื้อรัง หรือ โรคตับแข็ง และไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับ
ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ เอ มักมีอาการอยู่ทั้งหมดประมาณ 8 สัปดาห์ และมักจำเป็นต้องหยุดงานในช่วงมีอาการมาก เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 30 วัน
โดยในเด็กเล็กมักไม่มีอาการ แต่เป็นคนแพร่เชื้อ (เป็นพาหะโรค) ส่วนเด็กโต และในผู้ใหญ่ อาการที่พบบ่อย คือ มีอาการคล้ายไข้หวัด ได้แก่ มีไข้ (มีได้ทั้งไข้สูง หรือ ไข้ต่ำ) ปวดศีรษะ ปวดเนื้อตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องเสีย หลังจากนั้น 3-7 วัน เมื่ออาการคล้ายหวัดทุเลาลง จะมีตัว/ตาเหลือง (ดีซ่าน) มีปัสสาวะสีเข็ม และอุจจาระอาจมีสีซีด จากสารสีเหลือง (บิลิรูบิน หรือ Bilirubin)ในน้ำดี ในตับ ท้นเข้ากระแสเลือด (ร่างกายกำจัดสารนี้ออกจากร่างกายทางไต/ทางปัสสาวะ) ไม่ไหลลงลำไส้ตามปกติ หรือ ไหลลงได้น้อย (ปกติสีเหลืองของอุจจาระ เกิดจากสารตัวนี้) ทั้งนี้เพราะเซลล์ตับอักเสบบวม จึงอุดตันทางเดินน้ำดีในตับ แต่เมื่อการอักเสบของตับค่อยๆลดลง อาการตัว/ตาเหลืองจึงค่อยๆลดลงไปด้วยตามลำดับ
นอกจากนั้น อาจคลำพบมีตับ ม้ามโต และ/หรือ มีต่อมน้ำเหลืองด้านหลังลำคอโตคลำได้ เจ็บเล็กน้อย และในขณะมีตัว ตาเหลือง อาจมีอาการคันได้ จากสารสีเหลืองในเลือดก่อการระคายต่อผิวหนัง
แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ได้จาก ประวัติอาการ ประวัติการทำงาน การเดินทาง การกินอาหาร/น้ำดื่ม ตรวจร่างกายตรวจเลือดซีบีซี/CBC (ดูเม็ดเลือดขาว เพื่อแยกระหว่างติดเชื้อไวรัส หรือ ติดเชื้อแบคทีเรีย) ตรวจเลือดดูการทำงานของตับ ตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานโรคไวรัสตับชนิดต่างๆ และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์
รักษาโรคไวรัสตับอักเสบ เออย่างไร?
ในขณะนี้ ยังไม่มียารักษาโรคไวรัสตับอักเสบทุกชนิด รวมทั้งชนิดเอ และไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะยาปฏิชีวนะฆ่าได้เฉพาะแบคทีเรีย ฆ่าไวรัสไม่ได้ การรักษาจึงเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยอาการรุนแรง แพทย์อาจให้ตัวยาภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ซึ่งการใช้ยาตัวนี้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์
การรักษาประคับประคองตามอาการที่สำคัญ คือ
- พยายามพักการทำงานของตับ โดยพักผ่อนให้มากๆ (จึงจำเป็นต้องหยุดงาน)
- ดื่มน้ำให้มากกว่าปกติเพื่อขับสารสีเหลืองออกทางปัสสาวะ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว (เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม)
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ เพราะเพิ่มการทำลายเซลล์ตับ
- กินอาหารอ่อน พยายามอย่าให้ร่างกายขาดอาหาร
- กินยาบรรเทาอาการต่างๆเฉพาะตามแพทย์แนะนำเท่านั้น ไม่ซื้อยากินเอง เพราะยาอาจเพิ่มผลข้างเคียงต่อตับทำลายเซลล์ตับเพิ่มขึ้น
- เมื่อมีอาการคัน ใช้ยาทาบรรเทาอาการคันภายนอก เช่น ยาคาลาไมด์ และใช้โลชั่นภายหลังการอาบน้ำ
มีผลข้างเคียงจากโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ไหม?
ผลข้างเคียงจากโรคไวรัสตับอักเสบ เอ คือ การติดเชื้อซ้ำ จึงกลับมามีอาการต่างๆได้เหมือนเดิม หลังจากอาการต่างๆหายแล้ว ซึ่งพบได้ประมาณ 10-20%
ประมาณน้อยกว่า 1% อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอื่นๆตามมา เช่น โรคตับอ่อนอักเสบ ภาวะซีด ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ไตอักเสบหลอดเลือดอักเสบ สมอง หรือ ไขสันหลังอักเสบ
โรคไวรัสตับอักเสบ เอ รุนแรงไหม?
ไวรัสตับอักเสบ เอ เป็นโรคไม่รุนแรง มักหายได้เสมอ และดังกล่าวแล้ว มัก ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคตับแข็ง และโรคมะเร็งตับ รายที่รุนแรงมักพบใน ผู้สูง อายุ และในคนสุขภาพไม่แข็งแรงอยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้ไวรัสตับอักเสบ เอ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ประมาณ 0.5%
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ควรพบแพทย์เสมอ เมื่อมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารมาก ตัว/ตาเหลือง (ดีซ่าน)
ควรต้องรีบพบแพทย์ เมื่ออาการต่างๆเลวลง เช่น อาเจียนมาก อ่อนเพลียมาก กินไม่ได้ และ/หรือ มีไข้สูง
ควรต้องพบแพทย์ฉุกเฉิน เมื่อมีอาการทางสมอง เช่น ปวดศีรษะมาก คอ แข็ง และ/หรือ แขน/ขาอ่อนแรง
นอกจากผู้ป่วยแล้ว ผู้ดูแลผู้ป่วย ควรต้องพบแพทย์ ขอคำแนะนำในการดูแลตนเองเพราะอาจติดโรคได้ง่าย และเพื่อเรียนรู้วิธีป้องกันการแพร่เชื้อของผู้ป่วย
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ เอ?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ เอ คือ พักการทำงานของตับ ดังกล่าวแล้วในหัวข้อการรักษา นอกจากนั้น คือ การป้องกันโรคแพร่กระจายสู่ผู้อื่น และการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อช่วยให้ตับฟื้นตัวได้เร็วและได้ดี ซึ่งทั้งสองประการ คือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) กินอาหารสุกสะอาด ดื่มน้ำสะอาด รักษาความสะอาดเครื่องใช้ทุกชนิด แยกของใช้ส่วนตัวต่างๆ รวมทั้ง จาน ชาม และแก้วน้ำ และรักษาความสะอาดในการขับถ่าย
ป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ เอ อย่างไร?
การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ที่สำคัญ คือ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน
- กินอาหารสุกเสมอ ดื่มแต่น้ำสะอาดไว้ใจได้ และระมัดระวังการกินน้ำแข็ง
- ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น คนทำงานใน ร้านอาหาร สถานพยาบาล โรงเรียนอนุบาล และเมื่อไปท่องเที่ยวในประเทศที่ยังด้อยในการสาธารณสุข
การฉีดวัคซีนจะได้ผลเมื่อฉีดแล้วอย่างน้อยประมาณ 2 สัปดาห์ และ ฉีดกระตุ้นครั้งที่ 2 ประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปีหลังเข็มแรก ซึ่งจะให้ภูมิคุ้มกันได้อย่างน้อยประมาณ 20 ปี โดยก่อนฉีดวัคซีน แพทย์มักตรวจเลือดดูภูมิต้านทานโรคนี้ก่อน ถ้าพบมีความต้านทานโรคแล้วก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน
อนึ่งผู้เคยป่วยด้วยโรคนี้แล้ว จะมีภูมิต้านทานโรคนี้ไปจนตลอดชีวิต
- ในคนต้องดูแลผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ เอ และมีสุขภาพไม่แข็งแรง แพทย์อาจแนะนำให้ตัวยาเพิ่มภูมิคุ้มกันต้านทานโรคร่วมกับการฉีดวัคซีน เมื่อไม่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้มาก่อน ดังนั้นผู้ดูแลผู้ป่วย จึงควรต้องพบแพทย์เสมอเพื่อขอรับคำแนะนำ ดังกล่าวแล้ว
ที่มา https://haamor.com/th/โรคไวรัสตับอักเสบเอ/