โรคโปลิโอ (Poliomyelitis)


974 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

สมอง 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

แขนและขาอ่อนแรง 

บทนำ

โรคโปลิโอ หรือ Poliomyelitis หรือ Polio หรือ Infantile paralysis เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ ซึ่งในกลุ่มของผู้ที่มีอาการนั้น ส่วนใหญ่จะมีอาการเพียงเล็กน้อยและไม่จำเพาะ มีเพียงส่วนน้อยที่จะมีอาการของกล้ามเนื้ออ่อนแรง และเมื่อผ่านไปหลายๆปีหลังการรักษา ผู้ป่วยที่เคยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงนี้ อาจเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงซ้ำขึ้นอีกครั้ง รวมทั้งเกิดกล้ามเนื้อฝ่อลีบ และเกิดความพิการของข้อได้ โรคนี้ไม่มียารักษา แต่มีวัคซีนสำหรับป้องกันไม่ให้เป็นโรคได้

วัคซีนสำหรับป้องกันโรคโปลิโอถูกผลิตขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2498 โดย Dr. Jonas Salk แพทย์ชาวสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดฉีด แต่มีประสิทธิ ภาพไม่ดีนัก ในปี พ.ศ. 2504 ได้มีการค้นพบวัคซีนชนิดรับประทาน ซึ่งมีประสิทธิ ภาพดีกว่า จึงได้ใช้กันอย่างแพร่หลาย ทำให้อุบัติการณ์การเกิดโรคโปลิโอลดลงอย่างมาก โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี พศ. 2522 ก็ไม่พบรายงานผู้ป่วยใหม่อีก จนกระทั่งในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2540 เล็กน้อย ได้พบมีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้น 8-10 รายต่อปี ซึ่งคาดว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอที่อยู่ในวัคซีนชนิดรับ ประทาน ตั้งแต่นั้นมาทางประเทศสหรัฐอเมริกาจึงได้เปลี่ยนมาใช้วัคซีนชนิดฉีดที่ได้พัฒนาขึ้นมาใหม่ให้มีประสิทธิภาพกว่าวัคซีนชนิดฉีดรุ่นดั้งเดิม และนำมาทด แทนที่วัคซีนชนิดรับประทาน ดังนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ก็ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในสหรัฐอเมริกาอีกเลย

ในปี พ.ศ. 2531 องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศให้ทุกประเทศร่วมมือกวาดล้างโรคโปลิโอ ทำให้อัตราการป่วยทั่วโลกลดลงไปมากถึง 99% โดยลด ลงจาก 350,000 ราย (จาก 125 ประเทศทั่วโลก) ในปี พ.ศ. 2531 เหลือเพียง 820 รายใน 11 ประเทศ ในปี พศ. 2550 ซึ่งประเทศที่ยังพบโรคมากอยู่ คือ อินเดีย (400 กว่าราย) ปากีสถาน ไนจีเรีย และอัฟกานิสถาน

สำหรับประเทศไทย ไม่มีการรายงานผู้ป่วยใหม่มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว โดยรายสุดท้ายพบเมื่อปี พ.ศ. 2540 แต่เนื่องจากมีการอพยพผู้คนและแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก ทำให้มีการระบาดของโรคโปลิโออีกครั้ง โดยในปี พ.ศ. 2550 พบผู้ป่วยโปลิโอ 14 ราย

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคโปลิโอ?

โรคโปลิโอเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อ Poliovirus ซึ่งมีอยู่ 3 ชนิดย่อย (3 serotypes) ไวรัสโปลิโอเป็นไวรัสที่อยู่ในกลุ่ม Enterovirus ซึ่งเป็นไวรัสที่สามารถแบ่งตัวเจริญเติบโตอยู่ในลำไส้ และก่อโรคได้หลายโรค ตัวอย่างของไวรัสอื่นๆในกลุ่มนี้ เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรค มือ-เท้า- ปาก และไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

เนื่องจากไวรัสนี้เจริญเติบโตอยู่ในลำไส้ของผู้ป่วย เชื้อจึงถูกขับออกจากร่างกายมากับอุจจาระ และแพร่สู่ผู้อื่นผ่านการกินอาหาร และดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระของผู้ป่วยนั่นเอง ซึ่งเกิดจากการขับถ่ายที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และการไม่ล้างมือก่อนการหยิบจับอาหาร โรคนี้จึงมักพบในประเทศด้อยพัฒนา และกำลังพัฒนา ที่ขาดการดูแลเรื่องสุขอนามัยที่ดี

การติดเชื้อโปลิโอมักพบในวัยเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสติดเชื้อเท่าๆกัน

โรคโปลิโอมีกลไกการเกิดโรคอย่างไร?

เมื่อได้รับเชื้อโปลิโอจากการดื่มน้ำ หรือกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป เชื้อจะเดินทางเข้าสู่ต่อมทอนซิล (ต่อมน้ำเหลือง ที่อยู่ในลำคอบริเวณโคนลิ้น มีทั้งด้านซ้ายและด้านขวา) และแบ่งตัวเจริญเติบโต เชื้อที่เหลือจะเดินทางผ่านกระ เพาะอาหารลำไส้เล็ก และไปอาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ โดยไม่ได้ทำให้เยื่อเมือกบุกระเพาะอาหาร และลำไส้อักเสบ แต่เชื้อจะเดินทางลงสู่ชั้นใต้เยื่อเมือกบุลำไส้ที่มีเซลล์เม็ดเลือดขาวอยู่ แบ่งตัวเจริญเติบโต และเดินทางต่อไปยังต่อมน้ำเหลือง เข้าสู่ตับ และม้าม และแบ่งตัวเจริญเติบโตอีกครั้ง

เชื้อที่อยู่ในตับ และม้ามนี้ อาจกระจายเข้าสู่กระแสเลือด (โลหิต) และทำให้ผู้ป่วยมีอาการได้ ในผู้ป่วยบางคน เชื้ออาจกระจายเข้าสู่ไขสันหลัง และก้านสมองได้ โดยอาจเดินทางมาตากระแสเลือด และเข้าสู่ไขสันหลังโดยตรง หรืออาจเดินทางมาตากระแสเลือด เข้าสู่กล้ามเนื้อ เข้าสู่เส้นประสาทส่วนปลายในกล้ามเนื้อ แล้วจึงเดินทางไปตาเส้นประสาทเข้าสู่ไขสันหลังต่อไป ไม่ว่าเชื้อจะเข้าสู่ไขสันหลัง และก้านสมองโดยทางไหน เชื้อโปลิโอจะเข้าไปทำลายเซลล์ประสาทสั่งการ (Motor neuron) ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อต่างๆ ทั้งกล้ามเนื้อเรียบ (กล้ามเนื้อของอวัยวะภายใน เป็นกล้ามเนื้อที่สามารถทำงานได้เองโดยไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การกำกับของสมอง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ และกล้ามเนื้อของลำไส้) และกล้ามเนื้อลาย (กล้ามเนื้อของ แขน ขา) ทำให้กล้ามเนื้อต่างๆเหล่านี้เกิดอาการอ่อนแรงได้

โรคโปลิโอมีอาการอย่างไร?

โรคโปลิโอมีระยะฟักตัว ของโรค คือตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดอาการ ประมาณ 3-6 วัน ทั้งนี้แบ่งผู้ป่วยตามอาการออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

  1. ไม่ปรากฏอาการใดๆ ผู้ที่ติดเชื้อประมาณ 90-95% จะอยู่ในกลุ่มนี้
  2. กลุ่มมีอาการเพียงเล็กน้อย (Abortive poliomyelitis) ประมาณ 5-10% ของผู้ที่ติดเชื้อจะปรากฏอาการที่ไม่จำเพาะ ได้แก่ มีไข้ เบื่ออาหาร อาเจียน ปวดท้อง เมื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ปวดศีรษะ โดยเป็นอยู่ประมาณ 3-5 วัน แล้วจะหายเป็นปกติ
  3. กลุ่มมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Nonparalytic poliomyelitis) พบได้เพียง 1% ของผู้ที่ติดเชื้อ โดยจะมีอาการ ปวดศีรษะรุนแรง ปวดต้นคอ คอแข็ง และอาจมีอาการปวดหลัง ในผู้ป่วยบางคนโดยเฉพาะในเด็ก จะมีอาการเหมือนผู้ ป่วย Abortive poliomyelitis นำมาก่อนเกิดอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ ผู้ ป่วยในกลุ่มนี้จะหายเป็นปกติด้วยเช่นกัน
  4. กลุ่มมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Paralytic poliomyelitis) พบผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้น้อยมาก โดยเริ่มต้นผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนผู้ป่วยกลุ่ม Nonparalytic poliomyelitis หลังจากนั้นเป็นเวลาหลายวัน จะเริ่มมีอาการปวดกล้ามเนื้อต่างๆทั่วร่างกายอย่างรุนแรง และตามมาด้วยอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือเกิดขึ้นแบบฉับพลันทันที ในผู้ป่วยบางราย อาการของ Nonparalytic poliomyelitis จะหายสนิทก่อน หลังจากนั้น 1-2 วัน อาการไข้ก็จะกลับมาอีก และตามด้วยอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง

ทั้งนี้กล้ามเนื้อที่เกิดอาการอ่อนแรง จะเป็นแบบข้างซ้ายและขวาไม่สม มาตรกัน โดยกล้ามเนื้อที่พบเกิดอาการบ่อยที่สุดคือกล้ามเนื้อที่ขา แต่ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อของร่างกายส่วนไหนก็สามารถเกิดอาการขึ้นได้ทั้งนั้น เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถทำลายเซลล์ประสาทที่มีหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อเหล่านั้นได้ในหลายๆตำแหน่ง เช่น อาจทำให้มีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะไม่ออก หากกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่อ่อนแรง ผู้ ป่วยก็จะท้องผูก หรือถ้ากล้ามเนื้อเกี่ยวกับการหายใจมีการอ่อนแรง ผู้ป่วยก็จะมีอาการหายใจลำบาก ในกรณีที่ไวรัสไปทำลายเซลล์ประสาทสั่งการบริเวณก้านสมอง (ควบคุมเกี่ยวกับการกลืนอาหาร การพูด การหายใจ และการไหลเวียนเลือด) ผู้ป่วยจะมีอาการกลืนลำบาก พูดไม่ชัด หรือในรายที่รุนแรงอาจทำให้เกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนของเลือด ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการของระบบการไหลเวียนเลือดล้มเหลวได้ เช่น ภาวะช็อก

อนึ่ง ผู้ป่วยไม่ว่าจะมีอาการอยู่ในกลุ่มไหน เมื่อหายจากโรคแล้ว จะมีภูมิ คุ้มกันต่อเชื้อชนิดย่อย (Subtype) ที่ทำให้เกิดโรคไปตลอดชีวิต แต่ยังมีโอกาสติดเชื้อชนิดย่อยอื่นๆของเชื้อโปลิโอได้อีก

แพทย์วินิจฉัยโรคโปลิโอได้อย่างไร?

ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือ Abortive poliomyelitis ซึ่งมีอาการที่ไม่จำเพาะ ทั้งผู้ป่วยและแพทย์อาจไม่ได้นึกถึงว่าเกิดจากการติดเชื้อโปลิโอ แต่ในประเทศ หรือในพื้นที่ที่มีการระบาดเกิดขึ้น อาจต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการมาช่วยในการวินิจฉัย เพราะเป็นประโยชน์ในการควบคุมโรค

ผู้ป่วยกลุ่มมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ Nonparalytic poliomyelitis อาการจะเหมือนผู้ป่วยที่เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อโรคอื่นๆ ซึ่งแพทย์จะใช้การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการในการหาสาเหตุของเชื้ออื่นๆนั้นๆก่อนนึกถึงสาเหตุจากเชื้อโปลิโอเสมอ เนื่องจากโรคอื่นมียาสำหรับรักษา แต่โรคโปลิโอไม่มียา และสามารถหายเองได้ ยกเว้นแต่ในประเทศหรือในพื้นที่ที่มีการระบาดเกิดขึ้นเช่นกัน ที่ต้องใช้การตรวจหาเชื้อโปลิโอด้วย

สำหรับผู้ป่วยกลุ่มมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง Paralytic poliomyelitis แพทย์จะใช้การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการเพื่อแยกโรคอื่นๆ ที่อาจทำให้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ การตรวจที่จะช่วยยืนยันว่าเกิดจากเชื้อโปลิโอ ได้แก่ การเพาะเชื้อจากอุจจาระ จากน้ำไขสันหลัง และ/หรือจากลำคอ ร่วมกับการตรวจเลือดหาสารภูมิต้านทาน (Antibody) ที่จำเพาะต่อเชื้อโปลิโอหรืออาจใช้การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อด้วยเทคนิคที่เรียกว่า พีซีอาร์ (PCR, Polymerase chain reaction)

โรคโปลิโอมีผลข้างเคียงและมีความรุนแรงของโรคอย่างไร?

ผู้ป่วยกลุ่มอาการเล็กน้อย Abortive poliomyelitis และกลุ่มมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ Nonparaytic poliomyelitis อาการจะหายเป็นปกติไม่มีภาวะ แทรกซ้อน หรือผลข้างเคียงเกิดขึ้น

ผู้ป่วยกลุ่มมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง Paralytic poliomyelitis มีโอกาสเสียชีวิตได้สูงถึง 60% ถ้าเซลล์สั่งการในก้านสมองถูกทำลาย และทำให้กล้าม เนื้อที่ทำหน้าที่ในการหายใจ และในการไหลเวียนเลือดอ่อนแรง ผู้ป่วยจะเสียชีวิตจากภาวะหายใจล้มเหลว และระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว

ในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อต่างๆจะค่อยๆฟื้นตัวภายในเวลาเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน โดยที่ประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยอาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเล็กน้อยหลงเหลืออยู่บ้าง ผู้ป่วยที่มีอาการหลงเหลือนี้ มีโอกาสเกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า “กลุ่มอาการหลังเกิดโรคโปลิโอ (Postpolio syndrome)” ได้ โดยจะเกิดขึ้นเมื่อหลายๆปีผ่านไป โดยทั่วไปประมาณ 15-40 ปีผ่านไป อาการของกลุ่มอาการหลังเกิดโรคโปลิโอ คือ

  1. อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ส่วนใหญ่จะเกิดกับกล้ามเนื้อที่เคยอ่อนแรงมาก่อน บางครั้งอาจเกิดกับกล้ามเนื้อที่ไม่เคยอ่อนแรงมาก่อนได้ และจะเป็นแบบข้างซ้ายและขวาไม่สมมาตรกัน กล้ามเนื้อจะอ่อนแรงแบบค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดกล้ามเนื้อฝ่อลีบ และทำให้ข้อต่างๆเกิดการเสื่อม และบิดผิดรูป ซึ่งภาพที่เรามักจะคุ้นเคยว่าเป็นผู้ป่วยโรคโปลิโอ คือ ขาฝ่อลีบ ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพกพิการผิดรูป เดินไม่ได้นั่นเอง โดยอาการต่างๆที่เกิดจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง ได้แก่
    • เดินลำบาก หรือเดินไม่ได้ เกิดจากกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ข้อต่างๆ บิดผิดรูป หรือร่วมกับอาการปวดเจ็บกล้ามเนื้อ
    • กลืนลำบาก รวมทั้งอาจมีอาการพูดลำบากร่วมด้วย
    • หายใจได้ไม่เต็มที่ เกิดจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจอ่อนแรง และฝ่อลีบ เมื่อเป็นนานๆ จะเกิดปอดแฟบจุดเล็กๆ เป็นหย่อมๆ นอกจากนี้จะทำให้การขับเสมหะ และสิ่งแปลกปลอมที่หายใจเข้าไปทำได้ไม่มีประสิทธิภาพ อาจทำให้ปอดติดเชื้ออักเสบได้บ่อย
    • การหยุดหายใจขณะหลับเป็นพักๆ อาจเกิดจากการที่กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหาย ใจอ่อนแรงและฝ่อลีบ
    • การเกิดภาวะ Flat-back syndrome คือภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถยืนตรงๆได้ ซึ่งเกิดจากการที่ลำตัวเอนโค้งไปด้านหน้า (เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณลำตัวอ่อนแรง) ร่วมกับอาการปวดกล้ามเนื้อเอวและขา
  2. อาการปวดเจ็บกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อที่พบมีอาการได้บ่อย คือกล้ามเนื้อบริเวณ หัวไหล่ ขา สะโพก และเอว แต่กล้ามเนื้อที่มักมีอาการปวดรุนแรง คือกล้ามเนื้อบริเวณ ขา ข้อมือ ศีรษะ และเอว
  3. อาการอ่อนเพลีย เมื่อยล้า เมื่อออกแรงใช้กล้ามเนื้อทำงานต่างๆจะเกิดอาการเมื่อยล้า รู้สึกเพลีย ซึ่งจะเป็นมากในช่วงบ่ายๆ และการนั่งพัก หรือนอนพัก จะช่วยลดอาการลงได้

อนึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้จะค่อยเป็นค่อยไป และจะปรากฏอยู่ได้นานตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี ผู้ป่วยบางคน กล้ามเนื้ออาจฟื้นตัวได้ บางคนอาจมีอาการหลงเหลืออยู่บ้าง และบางคนอาจไม่หายเลย คือมีอาการไปตลอดชีวิต

รักษาโรคโปลิโออย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีรักษาจำเพาะต่อเชื้อโปลิโอ การรักษาหลัก คือ การรักษาแบบประคับประคองตาอาการ ได้แก่

  1. การให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด และหากกล้ามเนื้อแขนขา หรือลำ ตัวมีการอ่อนแรง จนผู้ป่วยไม่สามารถขยับได้ ก็จับพลิกตัว ยกแขนขาบ่อยๆ เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ การใช้เครื่องช่วยหายใจหากผู้ป่วยมีอาการหายใจลำ บาก หรือระบบการหายใจล้มเหลว การให้สารน้ำ และยากระตุ้นหลอดเลือดหากระบบการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว การใส่สายปัสสาวะหากปัสสาวะลำบาก และการให้ยาระบาย/ ยาแก้ท้องผูก หรือสวนทวารหนักหากอุจาระไม่ออก/ท้องผูกมาก เป็นต้น
  2. สำหรับผู้ป่วยกลุ่มอาการหลังเกิดโรคโปลิโอ (Postpolio syn drome) การรักษาหลักจะเน้นการกายภาพบำบัด ได้แก่ การใส่อุปกรณ์ช่วยยึด ลำตัว อุปกรณ์ช่วยในการเดิน อุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันข้อบิดผิดรูป อาจใช้การผ่าตัดช่วย หรือการออกกำลังกายชนิดที่เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยที่จะต้องได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัดเท่านั้น เพราะการออกกำลังกายที่ผิดรูปแบบ หรือที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนล้าเกินไป จะส่งผลเสียมากกว่าเกิดผลดี การฝึกพูดและฝึกกลืนในผู้ป่วยที่มีปัญหา การใช้เครื่องช่วยหายใจขณะหลับหากผู้ป่วยมีปัญหาหยุดหายใจขณะหลับ รวมทั้งการดูแลทางด้านอารมณ์ จิต ใจร่วมด้วย
  3. มีการศึกษาพบว่ายาบางอย่าง อาจช่วยลดอาการของผู้ป่วยที่เกิดกลุ่มอาการหลังเกิดโรคโปลิโอ (Postpolio syndrome)ได้ เช่น ยาที่เป็นสารภูมิต้านทาน หรือแอนติบอดี้ (Antibody หรือสาร Immunoglobulin) หรือ ยาPyridostigmine (ยากระตุ้นการทำงานของประสาทอัตโนมัติ) และยา Lamotri gine (ยาควบคุมการชักในโรคลมชัก) แต่ยังต้องรอการรับรองจากสถาบันทางการแพทย์ว่ายาได้ประโยชน์จริงต่อไป

ดูแลตนเอง และป้องกันโรคโปลิโออย่างไร?

การดูแลตนเอง และการป้องกันโรคโปลิโอ ที่สำคัญ คือ

  1. โรคนี้มีวัคซีนสำหรับป้องกัน วัคซีนที่ใช้อยู่ในประเทศไทยมีทั้งในรูปแบบฉีด และรูปแบบรับประทาน
    • วัคซีนรูปแบบฉีด ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนมาแล้ว หากในอนาคตเกิดได้ รับเชื้อโปลิโอ เชื้อจะลงสู่ลำไส้และเจริญเติบโตได้ แต่จะไม่สามารถลุกลามจากลำไส้เข้าสู่ร่างกาย จึงไม่ทำให้เกิดอาการต่างๆของโรคโปลิโอ แต่ยังสามารถขับ ถ่ายเชื้อที่อยู่ในลำไส้แพร่สู่ผู้อื่นได้ต่อไป จึงไม่เหมาะกับประเทศที่ยังมีการระบาดของโรคโปลิโอแต่เหมาะสำหรับประเทศที่ปลอดโรคมานาน และมีการดูแลเรื่องสุขอนามัยที่ดี
    • วัคซีนรูปแบบรับประทาน ผู้ที่เคยกินวัคซีนมาแล้ว หากในอนาคตเกิดได้รับเชื้อโปลิโอ จะสามารถป้องกันไม่ให้เชื้อเจริญเติบโตในลำไส้ได้ จึงเหมาะสำหรับการป้องกันการแพร่กระจายของโรค โดยเฉพาะในประเทศที่ยังมีการระบาดของโรค หรือยังมีการรายงานว่ายังมีโรค และการดูแลเรื่องสุขอนามัยยังไม่ดี อีกทั้งวัคซีนในรูปแบบรับประทานนี้มีราคาถูกกว่าแบบฉีด และสะดวกในการให้ กับเด็ก แต่ก็มีผลข้างเคียงที่น่ากลัวคือ อาจเป็นตัวทำให้เกิดโรคโปลิโอขึ้นมาเองก็ได้ เรียกว่า “Vaccine-associated paralytic poliomyelitis (VAPP)”โดยจะทำให้เกิดอาการเหมือนผู้ป่วยกลุ่มมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง Paralytic poliomyelitis โอกาสที่วัคซีนจะทำให้เป็นโรคโปลิโอเกิดขึ้นได้ประมาณ 1 คนใน 2.5 ล้านคนที่ได้รับวัคซีน แต่ถ้าผู้ได้รับวัคซีนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง จะมีโอกาสเกิดมากกว่าคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติประมาณ 2,000 เท่า
  2. ในประเทศไทย วัคซีนแบบรับประทาน จะให้ทั้งหมด 5 ครั้ง โดยให้เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 12-18 เดือน และครั้งสุดท้ายที่อายุ 4-6 ปี ส่วนวัคซีนแบบฉีด จะให้ทั้งหมด 4 ครั้งโดยให้เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน 6-12 เดือน และครั้งสุดท้ายที่อายุ 4-6 ปี ถ้าเคยได้วัคซีนในรูปแบบรับประทานมาก่อน แล้วจะเปลี่ยนเป็นแบบฉีด ก็สามารถนับต่อไปได้เลย ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ แต่ต้องได้รับอย่างน้อยทั้งหมด 4 ครั้ง ในทางกลับกัน ถ้าเคยได้วัคซีนแบบฉีดมาก่อน แล้วจะเปลี่ยนเป็นแบบรับประทานก็ย่อมได้ ในปัจจุบันวัคซีนโปลิโอแบบฉีด มีในรูปแบบวัคซีนรวมกับวัคซีนป้องกันโรคชนิดอื่นๆด้วย
  3. ในเด็กอายุ 6 ปีจนถึง 18 ปี ถ้าไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ให้ฉีด หรือรับประทานวัคซีนโปลิโอ 3 ครั้ง โดยครั้งที่สองให้ห่างจากครั้งแรก 1-2 เดือน ครั้งที่ 3 ให้ห่างจากครั้งที่สอง 6-12 เดือน สำหรับผู้ใหญ่ที่อายุเกิน 18 ปี อาจไม่มีความจำเป็นต้องให้วัคซีน เพราะโอกาสติดเชื้อมีน้อย ยกเว้นมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ หรือประ เทศที่ยังมีคนป่วยเป็นโรคโปลิโออยู่มาก ทำงานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโปลิโอ หรือเป็นงานที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคโปลิโอ หรือผู้ป่วยต่างชาติที่เดิน ทางมาจากประเทศที่ยังมีโรคโปลิโออยู่ โดยให้วัคซีน 3 ครั้งเช่นกัน และไม่จำ เป็นต้องให้วัคซีนกระตุ้นอีก
  4. ผู้ที่จะรับวัคซีน หากในบ้านมีคนเจ็บป่วย หรือมีบุคคลที่มีภูมิ คุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง หรือมีเด็กทารกที่ยังได้รับวัคซีนโปลิโอไม่ครบอยู่ ควรรับวัคซีนในรูปแบบฉีด ไม่ควรรับวัคซีนในรูปแบบรับประทาน เนื่องจากวัคซีนในรูปแบบรับประทาน เป็นเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อกินเข้าไป เชื้อก็จะอยู่ในลำไส้ และอาจแพร่สู่บุคคลดังกล่าวที่ไวต่อการติดเชื้อได้
  5. ถ้าได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคโปลิโอ ไม่ว่ามีอาการอยู่ในกลุ่มใด ถ้าแพทย์ให้กลับไปอยู่บ้าน ต้องระวังการแพร่เชื้อสู่บุคคลในบ้าน เพราะผู้ป่วยจะสามารถขับเชื้อออกมาทางอุจจาระได้นานถึงประมาณ 3 เดือนหลังติดเชื้อ และถ้าหากผู้ป่วยมีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องด้วยแล้ว จะสามารถแพร่เชื้อได้นานถึงประมาณ 1 ปี โดยให้ดูแลเรื่องการขับถ่ายให้ถูกสุขลักษณะ การล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ และก่อนหยิบจับอาหารเข้าปาก การกินอาหารปรุงสุกใหม่เสมอ การล้าง ผัก ผลไม้ให้สะอาดและปอกเปลือกผลไม้ก่อนกิน และหากบุคคลในบ้านคนใดยังไม่เคยรับวัคซีนโปลิโอ ก็ให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อรับวัค ซีนให้ครบ

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

การพบแพทย์ในเรื่องเกี่ยวกับโรคโปลิโอ คือ

  1. หลังได้รับวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน หากเด็กมีอาการไข้ อาเจียน คอแข็ง ไม่ค่อยดูดนม ไม่ค่อยขยับแขนขา หายใจลำบาก หายใจมีเสียงดัง ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ภายใน 24 ชั่วโมง หรือฉุกเฉินขึ้นกับความรุน แรงของอาการ และควรนำใบหลักฐานการได้รับวัคซีนไปด้วย
  2. หลังได้รับวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน หากบุคคลในบ้าน มีอาการดังกล่าวแล้วในหัวข้ออาการของโรคนี้ ควรรีบนำผู้ป่วยพบแพทย์เช่นกัน

ที่มา   https://haamor.com/th/โปลิโอ/

อัพเดทล่าสุด